xs
xsm
sm
md
lg

ก้าวต่อไปของ “โค้ชอ๊อด” เมื่อ “ลูกยาง” ต้องผลัดใบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“โค้ชอ๊อต” มีแผนรองรับเมื่อต้องผลัดใบ
ASTV ผู้จัดการรายวัน – ทัพวอลเลย์บอลสาวทีมชาติไทย สร้างชื่อกระหึ่มทวีปอีกครั้งด้วยการปราบ ญี่ปุ่น 3-0 เซต คว้าแชมป์ศึกลูกยางหญิงชิงแชมป์เอเชีย 2013 ได้สำเร็จเป็นสมัยที่ 2 ต่อจากครั้งแรกเมื่อปี 2009 ซึ่งต้องบอกว่าความสำเร็จที่หลั่งไหลเข้ามานั้นเกิดจากความพยายามและประสบการณ์กว่า 10 ปีที่ฝึกฝนพัฒนาร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้หากมองในอีกมุมจะเห็นได้ว่าอายุการใช้งานของนักกีฬาหลายคนในทีมชุดนี้กำลังอยู่ในช่วงโค้งสุดท้ายของอาชีพแล้วเช่นกัน ดังนั้นหากหวังจะสานต่อความสำเร็จให้หยั่งยืนในระยะยาว จึงจำเป็นต้องมีแผนเตรียมการตั้งแต่เนิ่นๆ

สำหรับวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยชุดนี้ ผู้เล่นหลักหลายคนต่างมีอายุเฉลี่ยวราว 28-30 ปีแล้วทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น 2 สาวที่คว้ารางวัลอย่าง “กัปตันกิ๊ฟ” วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ (29 ปี) ผู้เล่นยอดเยี่ยม กับ “ซาร่า” นุศรา ต้อมคำ (28 ปี) มือเซตยอดเยี่ยม ที่พ่วงดีกรีมือเซตดีที่สุดในโลก ปี 2012 หรือ “หน่อง” ปลื้มจิตร์ ถินขาว (30 ปี) บอลเร็วขวัญใจแฟนคลับ รวมถึงพี่ใหญ่ วรรณา บัวแก้ว ที่ปาเข้าไป 31 ปีแล้ว

โดย “โค้ชอ๊อต” เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร หัวหน้าผู้ฝึกสอนทัพลูกยางไทย ที่เป็นคนบุกเบิกและวางรากฐานให้กับตบสาวไทยมากว่า 16 ปี ยอมรับว่าหลายคนอาจจะไม่มีรายชื่อไปเล่น “ริโอ เกมส์” ก็เป็นได้ “สำหรับโอลิมปิก 2016 นั้นผมไม่รู้ว่าทีมชุดนี้จะติดมากน้อยกี่คน เพราะเราต้องดูสภาพร่างกายของนักกีฬาด้วย ตอนนี้ผู้เล่นหลายรายยังมีอาการบาดเจ็บติดตัว ดังนั้นเราก็ต้องพยายามช่วยเร่งฟื้นฟู แต่ก็ต้องขึ้นอยู่ที่ตัวผู้เล่นด้วยว่าจะดูแลรักษาร่างกายอย่างไร หลังจบแมตช์ที่โปรแกรมค่อนข้างถี่ยิบไหนจะต้องเล่นอาชีพอีก”

แต่ทั้งนี้ผู้ฝึกสอนร่างใหญ่ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจเตรียมแผนเพื่อหาผู้เล่นใหม่ขึ้นมาทดแทนแล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย “เรื่องนี้เรามีแผนรองรับไว้แล้วหากถึงวันที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง โดยได้แบ่งการเตรียมทีมเป็นเซอร์กิตๆ ละ 4 ปี เริ่มตั้งแต่ 2012, 2016 และ 2020 ซึ่งจากนี้ไปอีก 7 ปี เราจะเตรียมทีมสำหรับชุด โอลิมปิก เกมส์ ปี 2020 ซึ่งแผนการทั้งหมดถูกเตรียมไว้เสร็จแล้ว เหลือเพียงรอคุยกับทางสมาคมวอลเลย์บอลแห่งประเทศไทยเท่านั้น ไล่ตั้งแต่เรื่องการบริหารจัดการแข่งขันที่จะต้องมีระบบลีกตั้งแต่ อายุ 12 ปี, 14 ปี, 16 ปี และ 18 ปี เพื่อพัฒนาและเฟ้นหาเยาวชนที่จะขึ้นมาแทน ซึ่งในส่วนของนักกีฬานั้นก็ไม่ได้มีสเปกที่แน่นอน แต่ต้องยอมรับว่าการจะไปยืนในเวทีโลกได้ นักกีฬาตัวเตี้ยนั้นลำบาก ถ้าจะเล่นกับยุโรปความสูงนั้นสำคัญ เราต้องหานักกีฬาที่มีสภาพร่างกายดี และพัฒนาการฝึกซ้อมเรื่องเบสิกควบคู่ไปด้วย โดยจะดูจากการแข่งขันในรุ่นต่างๆ ข้างต้นที่กล่าวมา”

“เมื่อได้นักกีฬาแล้ว ก็ต้องมีแมตช์แข่งขันให้เล่น โดยอาจจะเน้นไปที่เกมอินวิเตชันหรือหาลีกเล็กๆ ในต่างประเทศให้ได้ลงเล่นอย่างต่อเนื่อง ทีมของเราเป็นทีมแห่งการเรียนรู้ ผู้เล่นจะได้ประสบการณ์จากการลงแข่งขัน เห็นได้จากในรายการชิงแชมป์เอเชียที่ผ่านมา ผู้เล่นได้เรียนรู้จากทีมแข็งๆ อย่าง จีน และ ญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นนั้นในรอบชิงชนะเลิศเขาเตรียมแผนส่งผู้เล่นหมุนเวียนกันลงมาถึง 3 ชุดด้วยกัน ทำให้นักกีฬาดาวรุ่งของไทยได้ศึกษาพัฒนาต่อยอดใช้ในอนาคต ซึ่งทุกคนที่ได้โอกาสลงสนามก็ทำผลงานได้ดีและจะเป็นกำลังสำคัญที่จะขึ้นมาทดแทนในอนาคต เช่น เป็นตัวเสริมในโอลิมปิก เกมส์ 2016 และเป็นตัวหลักในปี 2020 ได้” โค้ชอ๊อดร่ายยาว

กุนซือลูกยางวัย 47 ปี ยังการันตีว่านักกีฬาดาวรุ่งที่ได้รับโอกาสลงสนามในรายการที่ผ่านมาอย่าง อัจฉราพร คงยศ (18 ปี), ทัดดาว นึกแจ้ง (19 ปี), พรพรรณ เกิดปราชญ์ (19 ปี), ฐาปไพพรรณ ไชยศรี (23 ปี) รวมถึง แก้วกัลยา กมุลทะลา (19 ปี) กับ สนธยา แก้วบัณฑิต (22 ปี) ที่เป็นกำลังสำรอง จะขึ้นมาแทนชุดใหญ่ในอีก 3-4 ปีนี้ได้อย่างไร้ปัญหา

พร้อมกันนี้ยังทิ้งท้ายว่า นอกจากที่ร่ายเรียงมานั้นยังต้องเน้นการพัฒนาบุคลากรของสมาคมฯ เช่น เปิดอบรมผู้ฝึกสอนให้เป็นไปในระดับโลก รวมถึงพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา ที่จะใช้วิจัยในเรื่องสมรรถภาพร่างกายของผู้เล่น เช่น การเล่น การกระโดด และปัจจัยสำคัญที่จะทำให้สำเร็จได้คือการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น สปอนเซอร์, ต้นสังกัด ภาครัฐอย่างการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ที่ปัจจุบันนี้ยังไม่มีสนามฝึกซ้อมของสมาคมเอง ที่จะใช้ฝึกระดับเยาวชน ยุวชน และทีมชาติ ชุดบี
สาวไทยแชมป์เอเชียปี 2013
ตัวหลักหลายคนเริ่มโรยรา
ดาวรุ่งกำลังเก็บเกี่ยวประสบการณ์
กำลังโหลดความคิดเห็น