ASTVผู้จัดการรายวัน - ศึก โตโยต้า ไทย พรีเมียร์ ลีก ถือว่าเป็นเวทีที่เต็มไปด้วย เสือ สิงห์ กระทิง แรด สโมสรชั้นนำต่างโลดแล่นขับเคี่ยวกันภายใต้การบริหารของผู้ที่มีประสบการณ์โชกโชน และวางรากฐานกันมานานหลายปี แต่ฉบับนี้ MGR SPORT ขอพาไปรู้จักกับ 3 หัวเรือสายเลือดใหม่ไฟแรงที่มีดีกรีเป็นทายาทนักการเมืองพ่วงท้ายกับบทบาทใหม่บนเส้นทางลูกหนัง ซึ่งต่างมีแนวคิดและเป้าหมายคล้ายคลึงกัน
มิตติ ติยะไพรัช : ทายาทคนโต ยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตประธานรัฐสภา เข้ามานั่งแท่นประธานสโมสร เชียงราย ยูไนเต็ด เพียงแค่อายุ 23 ปี พร้อมพา “กว่างโซ้งมหาภัย” ทะยานจาก ดิวิชัน 2 มาโลดแล่นในลีกสูงสุดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน บุคลิกภายนอก “ฮั่น” ดูเป็นคนบ้าบอลและทุ่มเวลาให้กับเกมลูกหนัง เคยเหินฟ้าไปถึงประเทศอังกฤษ เพื่อศึกษาถึงแนวทางของสโมสรมืออาชีพระดับต่างชาติมาแล้ว โดยเผยว่า “จริงๆ ผมชอบฟุตบอลมาตั้งแต่เด็ก เรียกว่าบ้าเลยก็ว่าได้ จากนั้นมีผู้ใหญ่มาขอให้ช่วยกันทำ เชียงราย ยูไนเต็ด ผมกับพ่อจึงเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะพัฒนาวงการกีฬาของจังหวัด และเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น แม้หลายฝ่ายอาจจะมองว่าเป็นนักการเมืองเข้ามาหวังผลหรือเปล่า แต่ผมบอกได้ว่าไม่ใช่”
โดยสิ่งที่เป็นเครื่องการันตีถึงความคลั่งไคล้เกมลูกหนังของประธานหนุ่มรายนี้ คือการทุ่มเงินก้อนโต สร้างสนาม ยูไนเต็ด สเตเดียม ที่มีความจุ 13,000 คน เพื่อเป็นรังเหย้าแห่งใหม่ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่อันดับ 1 เอเชีย “ผมรู้ว่าความเป็นไปได้ค่อนข้างลำบากมาก แต่ก็ตั้งใจที่จะทำไปเรื่อยๆ แล้วทำให้ดีที่สุด ซึ่งทำให้เราต้องทำงานหนักทั้งการบริหารและจัดตัวผู้เล่น ซึ่งแรกๆ ผมก็ทำเองเกือบทั้งหมด เช่น การหานักฟุตบอล ประชาสัมพันธ์ ซึ่งเรื่องนี้คุณพ่อก็ไม่ได้เข้ามายุ่งเลย จะเข้ามาช่วยก็ตอนที่ไปช่วยหาสปอนเซอร์เท่านั้น ผมไม่ได้ทำเพราะสนุกอย่างเดียว แต่ต้องประสบความสำเร็จด้วย เราพยายามทำงานอย่างหนักเพื่อที่วันหนึ่งอยากจะไปถึงจุดนั้น แม้ว่าตอนนี้ยังอยู่อีกไกลก็ตาม แต่ของอย่างนี้ต้องค่อยๆ พัฒนาระยะยาว 5-10 ปี ซึ่งฤดูกาลนี้ขอติด 1 ใน 6 ก่อน”
ธนวัชร์ นิติกาญจนา : ผู้จัดการทีมวัย 29 ปี คีย์แมนคนสำคัญที่พา ราชบุรี มิตรผล เอฟซี จากทีมเล็กๆ ในลีกภูมิภาค ที่มีแฟนบอลไม่กี่ร้อยคน สู่น้องใหม่ศึก โตโยต้า ไทย พรีเมียร์ ลีก 2013 ซึ่งออกสตาร์ทด้วยผลงานรั้งกลางตาราง ซึ่งใครที่ได้ไปชมเกมก็มักจะต้องเห็นภาพที่ลุ้นลูกทีมติดขอบสนามเป็นประจำ ซึ่ง “ฟลุ๊ค” ย้อนความถึงวันแรกที่เข้ามารับงานนี้ว่าต้องการทำเพื่อจังหวัดเพียงอย่างเดียว “ก่อนหน้านี้มีผู้ใหญ่ในจังหวัดมาติดต่อให้คุณแม่ (บุญยิ่ง นิติกาญจนา) ส.ส.ราชบุรี ทำทีมฟุตบอลราชบุรี และเนื่องจากคุณแม่ไม่รู้เรื่องฟุตบอลเลยจึงถามผม ส่วนตัวก็สนใจที่จะลองทำดู เพราะเป็นการสร้างชื่อเสียงให้จังหวัดและครอบครัว”
พร้อมกันนี้บุตรชายประธานสโมสรได้เผยถึงสิ่งที่ทำให้ “ราชันมังกร” ก้าวมาถึงระดับนี้ได้ว่าเพราะผลงานเท่านั้น “แม้จะมีการประชาสัมพันธ์มากขนาดไหน แต่หากผลงานในสนามไม่ดี แฟนบอลก็ไม่ติดตาม แต่ราชบุรีแสดงให้เห็นแล้วด้วยแชมป์ ดิวิชัน 1 และ 2 ซึ่งเมื่อมีผลงานสปอนเซอร์ก็จะเข้ามาสนับสนุนเอง จากเดิมที่มีเพียง 10 กว่าล้านบาทต่อปี มาเป็นเกือบ 50 ล้านบาท นอกเหนือจากนั้น ตัวนักฟุตบอลเองนอกจากฝีเท้าจะโอเคแล้ว ยังต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีด้วย ส่วนอนาคตจากนี้ผมหวังไปเล่นถ้วยเอเชียสักครั้ง ผลงานในลีกตอนนี้ต้องยอมรับว่ากระดูกเรายังใหม่ยังมีอะไรที่ต้องปรับจูนอีกเยอะ จึงต้องลุ้นในบอลถ้วย ซึ่งซีซันที่แล้วเราเคยพาทีมเข้าชิงรายการ โตโยต้า ลีกคัพ จึงยังพอได้ลุ้น ผมพูดได้ว่าลองมาทุกอย่างแล้วทั้ง เจ็ตสกี หรือซูเปอร์คาร์ แต่ก็ไม่มีสิ่งไหนเทียบทำทีมฟุตบอล มันเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพราะไม่ใช่แค่ตัวผมแต่เป็นของทั้งจังหวัด”
วราวุธ ศิลปอาชา : สร้างปรากฏการณ์ด้วยการพา “น้องใหม่” สุพรรณบุรี เอฟซี เป็นม้ามืดบินสูง 9 นัดแพ้แค่นัดเดียว แต่ “ท็อป” กลับไม่หวังไกลถึงขั้นคว้าโทรฟีตั้งแต่ฤดูกาลแรก “วันนี้เรามาไกลกว่าที่หวัง แต่เพิ่งเปิดซีซันเท่านั้น จึงหวังแค่จบกลางตารางก็พอ ขอเรียนรู้บรรยากาศ ไทย พรีเมียร์ ลีก สัก 1 ปีก่อน สุพรรณบุรี เป็นทีมที่เล่นด้วยใจ เน้นเกมรับเป็นหลัก จุดเด่นของเราคือการดูแลกันเหมือนพี่น้อง ผมบริหารทีมแบบให้ใจ ใครมีปัญหาอะไรก็คอยช่วยแก้ไข ทำให้สิ่งที่ได้กลับมาคือหัวใจของผู้เล่นและเมื่อนักเตะมีความสบายใจพอลงสนามก็ไม่ต้องกังวล”
“ผมเข้ามาทำทีมเป็นปีที่ 3 แล้ว ตอนแรกยังไม่ค่อยรู้อะไรมาก แต่วันนี้ได้รู้เป้าหมายที่แท้จริงแล้วว่าไม่ต้องการถ้วยหรือแชมป์อะไร แต่อยากจะใช้ฟุตบอลเป็นเครื่องมือในการพัฒนาจังหวัดสุพรรณบุรี ให้ก้าวไปอีกขั้นต่อจากคุณพ่อ (บรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 21) ได้ทำมา เราไม่จำเป็นต้องวัดกันด้วยผลงาน ผลการแข่งขันเป็นผลพลอยได้ แต่เรื่องหัวใจและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวเป็นเป้าหมายหลัก หากเราสามารถรวมความสามัคคีของคนทั้งจังหวัดมาเชียร์ฟุตบอลได้ สำหรับผมถือเป็นชัยชนะที่แท้จริงแล้ว งบประมาณที่ใช้ก็จะคงที่ราว 80-90 ล้านต่อปีไปเรื่อยๆ”
“จากนี้ต้องการให้จังหวัดเป็นที่รู้จัก ซึ่งเราสามารถทำได้หลายทางเช่น ผู้เล่นไปค้าแข้งต่างประเทศหรือเซ็นสัญญาเป็นพันธมิตรกับทีมต่างชาติเพื่อแลกเปลี่ยนผู้เล่น นั่นจะเป็นอีกวิธีที่จะทำให้สุพรรณบุรีโกอินเตอร์และบอกได้ว่าจากนี้ทุกคนจะได้เห็นนักเตะฝีเท้าดีที่มาจากจังหวัดเราเหมือนในอดีต” วราวุธ ร่ายยาว