xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อ "มวยไทย" กำลังจะตาย?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สมชาติ เจริญวัชรวิทย์ ชี้ไร้คนดูรุ่นจิ๋ว
ASTV ผู้จัดการรายวัน - ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้กระแสมวยไทยกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้งไม่เว้นแม้กระทั่งผู้หญิงที่สามารถพบเห็นได้ตามค่ายทั่วไป บ้างฝึกเพื่อเป็นการออกกำลังกาย บ้างเพื่อป้องกันตัว รวมถึงล่าสุดผู้ชมทุกเพศทุกวัยอัดแน่นเต็มเวทีราชดำเนินเพื่อชม สมรักษ์ คำสิงห์ ยืนแลกอาวุธครบ 5 ยกล้างตาเอาชนะ จอมโหด หมอเบสกมลา ศึก "เพชรวิเศษ" เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2556 คว้าเงินเดิมพันจำนวน 6 ล้านบาทไปครอง อย่างไรก็ตามปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเพียงเปลือกนอกของแก่นแท้ศิลปะป้องกันตัวประจำชาติไทย คือกระแสเพียงแค่ชั่วข้ามคืนจนคนที่คลุกคลีอยู่ในวงการเริ่มแสดงความเป็นห่วง

มวยไทยถือว่ามีมนต์เสน่ห์ที่ทำให้ชาวต่างชาติเหินฟ้ามาปักหลักฝึกปรือแรมปีรวมถึงขึ้นเวทีดวลกับเจ้าของต้นตำรับบนเวทีอย่างถึงพริกถึงขิง ไม่ว่าจะเป็นอาวุธจากทุกส่วนของร่างกาย หมัด เข่า ศอก งดงามแต่แฝงไปด้วยอานุภาพที่อาจจะทำให้ถึงขั้นเลือดตกยางออก ในอดีตเราเคยมีซูเปอร์สตาร์ที่สร้างชื่อและยังเป็นที่จดจำได้อย่างแม่นยำถึงทุกวันนี้มากมาย อาทิ สามารถ พยัคฆ์อรุณ, "แรมโบ้" พงษ์ศิริ พ.ร่วมฤดี, วีระพล สหพรหม, แสนไกล ศิษย์ครูอ๊อด, อภิเดช ศิษย์หิรัญ หรือที่ค่าตัวสูงสุด 3.5 แสนบาทอย่าง แก่นศักดิ์ ส.เพลินจิต

แต่ปัจจุบันมวยแม่เหล็กดังกล่าวเริ่มลดน้อยลงและอยู่ในที่สนใจวงแคบอย่างแค่เวที ลุมพินี และ ราชดำเนิน เท่านั้น จนโปรโมเตอร์ต้องปรับกลยุทธ์ดันทัวร์นาเมนต์เกิดใหม่ขึ้นมาอย่างมากมายที่ประสบความสำเร็จสุดๆ คงหนีไม่พ้น "ไทย ไฟต์" นำโดย บัวขาว ป.ประมุข หรือการนำรุ่นเก๋าอย่าง สมรักษ์ คำสิงห์, ยอดวันเผด็จ สุวรรณวิจิตร และ จอมโหด เกียรติอดิศักดิ์ มาดวลกันเองเพื่อเรียกกระแสจากคนดูด้วยเงินเดิมพันจำนวน 7 หลัก

“ชาติซ้าย” สมชาติ เจริญวัชรวิทย์ นายกสมาคมมวยอาชีพแห่งประเทศไทย มองว่าสิ่งที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ไม่ใช่วิถีทีแท้จริงที่มีคนดูเพราะตามกระแสมากกว่าไม่เหมือนอดีตที่เท้าความให้ฟังว่า “ผมเห็นด้วยนะที่ว่ามวยไทยในประเทศกำลังจะตาย สาเหตุสำคัญคือปัจจุบันไม่มีทายาทคนดู สมัยก่อนตอนผมเด็กๆ ซื้อบัตรดูมวยแค่ 1 บาท เนื่องจากเป็นนักเรียนไม่มีเงินสนามมวยจึงลดให้ พอว่างเมื่อไหร่ก็ไปดูได้ไม่ลำบาก แต่สมัยนี้ค่าบัตรแต่ละครั้งหลักร้อยเด็กนักเรียนจึงไม่สามารถที่จะเข้าไปดูได้ จนนำมาซึ่งนักมวยที่ชกแต่ไม่มีคนเชียร์ มวยสมัยก่อนสนุก มีอาวุธที่เด็ดขาด แฟนคลับก็ติดตามอยู่แล้ว อย่าง อดุลย์ ศรีโสธร ที่เก่งจริงบวกกับเจ้าตัวเป็นเด็กช่างกล เวลาขึ้นชกแต่ละครั้งเพื่อนฝูงในโรงเรียนก็สามารถเฮกันเข้ามาเชียร์ถึงขอบเวทีได้ เพราะบัตรราคาถูก เหมือนกับแฟนคลับฟุตบอลอย่างไงอย่างนั้น แต่สมัยนี้ไม่มีโปรโมเตอร์ต่างคนต่างจัดไม่ร่วมมือกัน จัดชกเฉพาะนักมวยในค่ายของตนเอง ซึ่งสมัยก่อนสามารถเจอกันได้ทุกคน จนเริ่มมีการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง กรรมการก็ไม่ค่อยสุจริต”

ด้าน “เจ้าบาส” สมรักษ์ คำสิงห์ ฮีโรเหรียญทองโอลิมปิกที่ ซิดนีย์ ปี 1996 ที่หวนกลับมาชกมวยไทยอีกครั้ง กล่าวเสริมถึงระบบการจัดการโดยเฉพาะกรรมการที่ขนาด "ไทย ไฟต์" ยังโดนกระแสวิจารณ์หนาหู “ระบบตัดสินแย่คนดูเลยเริ่มเบื่อ เรามองว่าเราชนะแต่สุดท้ายกรรมการกลับให้แพ้ ทุกวันนี้มวยไทยไม่ต้องเน้นลีลา แค่อึดทนยืนครบยกได้ส่วนมากก็ชนะแล้ว ศิลปะมันหายไปและที่สำคัญมีเส้นสายกันเยอะเนื่องจากมีการพนัน กรรมการก็ตัดสินแปลกๆ มีมวยฝาก ผมสรุปง่ายๆ เลยว่าทุกวันนี้สายตา มันสู้สายตรงไม่ได้ คนที่ชอบดูมวยเป็นศิลปะพอมาเจอแบบนี้จึงไม่อยากเข้ามาดู ขนาดผมเองทำมวยยังเบื่อเลย จะโทษเด็กว่าเก่งน้อยกว่าสมัยก่อนก็ไม่ได้ ทุกคนต่างทำเต็มที่ แต่ค่ายมวยกลับฝึกเพื่อที่จะให้ชนะอย่างเดียวให้ตรงกับกรรมการตัดสิน โดยไม่มองถึงความเป็นมวยไทย”

ขณะที่ ดร.พงษ์ วิเศษไพฑูรย์ ประธานมูลนิธิสวัสดิการนักกีฬามวย มองว่าวงการไม่ได้ซบเซา เพียงแต่รูปแบบแค่เปลี่ยนไปจากเดิม "ผมว่าทุกวันนี้ก็ไม่ซบเซานะ มีนักมวยเดินทางไปชกหากินต่างประเทศมากมาย แต่แฟนมวยเมืองไทยอาจร่อยหรอลงไปบ้าง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจไม่สู้จะดี แต่หากวันไหนมีรายการดีๆ จัดมวยประกบคู่ดีๆ แฟนมวยทั้งขาจรและขาประจำจะเนื่องแน่น เพราะคนไทยชื่นชอบชีวิตการต่อสู้อยู่แล้ว ขอเพียงแค่ประกบคู่ให้ถูก มวยแม่เหล็กไม่หายหรอก รุ่นเก่าไป รุ่นใหม่ก็มา สิงห์ดำ เกียรติหมู่ 9, สามเอ ไก่ย่างห้าดาว, เพชรบุญชู เอฟ.เอ.กรุ๊ป มวยเงินแสนทั้งนั้น ชื่อเสียงไม่แพ้กัน สมรักษ์ อาจจะดีกว่าเพราะเป็นฮีโรโอลิมปิกใครๆก็อยากดูเขาชก แต่ความจริงดาวรุ่งพวกนั้นต่อยไม่แพ้กันหรอก ได้เสียทุกคู่ และหากมีการแลกมวยกันระหว่างศึกต่างๆ จะทำให้แฟนมวยชื่นชอบแน่นอน"

สุดท้าย "น้องโบ๊ท" ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ โปรโมเตอร์หนุ่มไฟแรง ทายาท "เสี่ยเน้า" วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ ผู้จัดมวยชื่อดัง ที่พร้อมจะพลิกโฉมวงการให้ได้รับความนิยมมากขึ้น "ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้ปัญหาใหญ่ของวงการมวยไทย คือ การพนัน คนที่สนใจจำนวนมากไม่กล้าเข้ามาชม เพราะมีภาพลึกๆในอดีตติดอยู่ พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกมาดูมวย เนื่องจากมีเรื่องของการพนัน และนักเลงอันธพาล เพราะฉะนั้นเราจึงต้องเพิ่มคนรุ่นใหม่เข้ามาในวงการ ไม่เน้นการพนัน เน้นการสร้างสรรค์ ให้มองว่าจะทำอย่างไรให้ผลประโยชน์ของวงการมวยเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทุกคนหมดเวลาที่จะทะเลาะกันแล้ว ต้องอยู่ด้วยความสามัคคี มีอะไรก็แลกเปลี่ยนกัน มองถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก สมัยก่อนแบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่าแต่ผมเข้ามาพร้อมที่จะเปิดรับ ไม่ทะเลาะกับใคร เคารพทุกคนและพร้อมที่จะร่วมมือ ทุกวันนี้สนามมวยหลักๆมีแค่ 2 สนาม คือ ลุมพินี และ ราชดำเนิน เพราะฉะนั้นต้องพึ่งพากัน"

"คนนอกอาจจะมองว่าทุกวันนี้การเข้าไปเวทีมวยเชย มีกีฬาอื่นเช่น ฟุตบอล ที่นิยมมากกว่า ในฐานะที่เราเป็นโปรโมเตอร์ จึงต้องผลักดันให้ดีขึ้น ทุกวันนี้ภาพลักษณ์ของนักมวยนั้นสำคัญทั้ง หน้าตา สไตล์ และ คาแร็คเตอร์ เราต้องหาจุดขายของแต่ละคน รวมถึงปรับปรุงสิ่งต่างๆให้ดีขึ้น ทันสมัยมากขึ้น เช่น การแต่งตัว อุปกรณ์ที่ใช้ เพราะยิ่งภาพลักษณ์ดีฝีมือดีก็ยิ่งดัง มันต้องควบคู่กันไป ซึ่งถ้าเกิดมันโดน สื่อก็จะนำไปเล่นเอง ทุกวันนี้ผมใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุค ทวิตเตอร์ อินสตราแกรม ที่เข้าถึงวัยรุ่นมากกว่า เพราะคนรุ่นใหม่สมัยนี้ไม่ได้เปิดหนังสือมวยหรือวิทยุฟัง คนที่สนใจลองเข้ามาดูกันก่อน ถ้าชอบก็ดูต่อไป ถ้าไม่ชอบก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ลองเข้ามาสัมผัสดูก่อนว่านี่คือศิลปะของคุณ หากวันหนึ่งหายไปคุณจะมาเสียใจภายหลัง" โปรโมเตอร์วัย 25 ปี ร่ายยาว

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงทุกอย่างก็ต้องปรับตัวตามไม่เว้นแม้กระทั่งวงการมวยไทยบ้านเรา แต่จะทำอย่างไรเพื่อที่จะให้ยั่งยืนต่อไปและไม่สูญเสียเอกลักษณ์ที่แท้จริง คือปัญหาที่หลายฝ่ายต้องร่วมมือกัน เพราะต่างก็มีความตั้งใจที่อยากจะปลุกกระแสให้กลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง ทว่าก็ต้องอยู่บนพื้นฐาน จรรยาบรรณ และความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่หลอกคนดู ระบบการจัดการก็สำคัญไม่น้อยทั้งภาครัฐ, โปรโมเตอร์ และสมาคมต่างๆ ที่มีความตั้งใจมุ่งมั่น ต้องหันหน้าเข้าหากันจัดระบบระเบียบออกกฎหมายให้เป็นเรื่องเป็นราวขจัดการพนันตัดสินให้จะแจ้งเพื่อให้ศิลปะประจำชาติแขนงนี้ยังคงอยู่ต่อไป
สมรักษ์ คำสิงห์ เบื่อหน่ายกรรมการ
ดร.พงษ์ วิเศษไพฑูรย์ ยังเชื่อมั่นในกีฬามวย
ณัฐเดช วชิรรัตนวงศ์ หวังพลิกโฉมวงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น