xs
xsm
sm
md
lg

ไขวิกฤติกำปั้นไทย แชมป์โลกสูญพันธุ์?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คมพยัคฆ์ ซีพีเฟรชมาร์ท ไฟต์พ่ายจังโก้
ASTVผู้จัดการรายวัน - ผลพวงจากการที่ คมพยัคฆ์ ซีพีเฟรชมาร์ท เข็มขัดแชมป์โลกรุ่นไลท์ฟลายเวท 108 ปอนด์ กระเด็นหลังบุกพ่าย เอเดรียน เฮอร์นานเดซ ที่เม็กซิโก ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยเหลือแชมป์มวยโลกเพียงคนเดียวคือ เทพฤทธิ์ ศิษย์หมอเส็ง ในรุ่นซูเปอร์ฟลายเวท 115 ปอนด์ จึงถือเป็นวิกฤติกำปั้นไทย ซึ่งทีมข่าว MGR Sport สอบถามเหล่ากูรูและก็ได้คำตอบที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหา ณ ปัจจุบัน ดังต่อไปนี้

"แชแม้" นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ - โปรโมเตอร์คนดัง

ทุกอย่างเป็นไปตามกาลเวลา มันอาจถึงเวลาแล้วก็ได้ที่จะใช้คำว่า "สูญพันธุ์" แชมป์มวยโลกของไทย ในเมื่อเราไม่สามารถหานักมวยที่มีความสามารถ มีพรสวรรค์ เก่งจริงที่จะปั้นขึ้นมาเป็นดาวค้างฟ้าเช่นที่เคยมี เขาทราย แกแล็คซี่ เมื่อไม่มีเมล็ดพันธุ์ที่ดีพอ โปรโมเตอร์ก็ผลักดันมวยลำบากเหมือนกัน ในฐานะที่ผมคร่ำวอดในวงการมา 42 ปี แม้ผมเป็นนักธุรกิจคนหนึ่ง แต่ผมก็ไม่ได้ใช้กำลังภายในชูใครขึ้นมาสุ่มสี่สุ่มห้าเหมือนทุกวันนี้ ผมคงไม่สามารถสอนโปรโมเตอร์ท่านอื่นได้ เทคนิคการทำมวยสอนกันไม่ได้จริงๆ ต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ ทว่า ณ วันนี้โปรโมเตอร์หลายท่านเห็นมวยพอมีเชิงหน่อย ก็จัดหาโปรแกรมให้ขึ้นชก โดยอาศัยความสนิทสนมกับใครก็ตามที่ช่วยหาเวลาถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ได้ จากนั้นก็ไปติดต่อคู่ต่อสู้ที่อ่อนชั้นกว่ามาต่อยเพื่อไต่บันไดขึ้นไป พอมีชื่อเสียงก็ดันขึ้นไปชิงแชมป์ ได้แชมป์มาสื่อก็ประโคมชื่นชม บางครั้งก็เกิดจริงไป อย่างไรก็ตาม เมื่อฝีมือไม่ถึงเมื่อไปสู่เวทีชิงแชมป์โลกสถาบัน "ดับเบิลยูบีเอ" (WBA) หรือ "ดับเบิลยูบีซี (WBC) ทุกอย่างมันก็ฟ้องด้วยผลการแข่งขัน ไม่ใช่ว่าผมตำหนิใคร เข้าใจด้วยซ้ำถึงสถานการณ์มวยบ้านเรา ในฐานะคนไทยไม่ว่าใครสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดี อย่างไรก็ดี ผมอยากพูดว่าบางครั้ง สามัญสำนึกในการเป็นโปรโมเตอร์ต้องคำนึงถึงชื่อเสียงประเทศมากกว่าเรื่องผลประโยชน์ด้วย

สามารถ พยัคฆ์อรุณ - แชมป์ซูเปอร์แบนตัมเวท สภามวยโลก

มวยสากลของไทยตกต่ำมาได้ระยะหนึ่งแล้ว "เจ้าหนึ่ง" ฉัตรชัย อีลิทยิม เป็นแชมป์โลกคนสุดท้ายที่ผมได้ติดตามผลงาน ทรรศะส่วนตัวมองว่าทุกวันนี้เราไม่มีมวยเก่งจริง จะหานักมวยหมัดหนักอย่าง แสนศักดิ์ เมืองสุรินทร์ หรือ เขาทราย ก็ไม่มีแล้ว ให้หามวยเชิงดีๆ อย่าง สด จิตรลดา หรือแม้กระทั่งตัวผมเอง ก็ไม่มีแล้วเช่นกัน มวยสมัยนี้มีแค่หมัดหนึ่งสอง เดินต่อยท้องคู่แข่งเท่านั้น ในส่วนโปรโมเตอร์เราเข้าใจว่าอยากจัดมวยขึ้นมาต่อย แต่มันกลายเป็นเรื่องของธุรกิจมากกว่าคำว่ากีฬา กลายเป็นเอามวยมาต้มคนดู เอาคู่แข่งอ่อนชั้นมาต้อน ผลักดันขึ้นต่อยในสมาคมมวยภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก หรือ "พาบ้า" (PABA) แม้กระชากแชมป์มา สุดท้ายพอได้ขึ้นไปต่อยสถาบันสภามวยโลกก็เสียแชมป์เมื่อต้องไปเยือนญี่ปุ่นหรือเม็กซิโก มันก็ไม่มีความศรัทธาเกิดขึ้น ไม่เหมือนสมัยที่วงการรุ่งเรือง แฟนๆ นับพันนับหมื่นยอมจ่ายค่าบัตร 1-2 พันบาทเพื่อไปเชียร์ที่สนามกีฬาแห่งชาติ ส่วนวิธีแก้มันก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องเริ่มจากการหานักมวยมีพรสวรรค์มาเจียระไน นักมวยไทยหลายคนหน่วยก้านดี แต่ก็ต้องใช้เวลาปั้น ซึ่งมันก็ไม่คุ้มค่า มวยไทยบางคนต่อยครั้งหนึ่งค่าจ้างหลักแสน คงไม่มาเสียเวลากับการต่อยมวยสากลที่ไฟต์หนึ่งบางทีได้ไม่กี่หมื่น แต่ถ้าเกิดมีเพชรเม็ดงามขึ้นจริง หากผมเป็นโปรโมเตอร์คงต้องไปหากลุ่มทุนกับต่างชาติ ให้พวกมะกันผลักดันสร้างชื่อ จัดหาคู่ชกดีๆ ให้ขึ้นเวที หากเราเก่งจริงก็ต้องสู้ได้ หากจะพึ่งโปรโมเตอร์ไทยที่ ณ ปัจจุบัน มองแค่ผลประโยชน์ตรงหน้า การพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นไม่ได้แน่นอน

ลักษมณ์ นันทิวัชรินทร์ - คอลัมนิสต์ประจำ MGR Sport

ที่วงการมวยสากลของไทยตกต่ำ ส่วนหนึ่งต้องยอมรับว่ากระแสกีฬาโลกผันไปที่ฟุตบอล กอล์ฟ หรือ เทนนิส ที่ดูดสปอนเซอร์รายใหญ่และพื้นที่สื่อไปหมด ยิ่งมีพวกการต่อสู้แขนงใหม่อย่างศิลปะการต่อสู้แบบผสม (Mixed Martial Arts) ที่ดูสนุกเร้าใจกว่าจึงเบียดมวยสากลตกขอบโดยปริยาย แต่คงต้องย้อนดูตัวเองด้วย เนื่องจากทุกวันนี้หามวยเด่นเก่งจริงแทบไม่ได้เลย โปรโมเตอร์ก็ไม่กล้าดันไปปะมือกับต่างชาติฝีมือระดับโลก จึงเห็นว่าวนเวียนดึงมวยจากบ้านใกล้เรือนเคียงมาต่อยเท่านั้น ส่วนที่จะทำอย่างไรให้มวยสากลของไทยกลับมาเฟื่องฟูได้อีกครั้ง ภาครัฐและเอกชนสามารถช่วยได้ โดยเฉพาะรัฐบาลที่ต้องผลักดันเรื่องบุคลากร นักวิทยาศาสตร์การกีฬา หรือจัดให้มีหลักสูตรมวยสากลเป็นทางเลือกในการศึกษาไทย เพื่อนำมาเลือกปั้นได้มากขึ้น เมื่อขึ้นมาต่อยอาชีพได้ก็ต้องช่วยเหลือเรื่องภาษีของนักกีฬา การออกกฎดูแลเรื่องสัญญาระหว่างนักมวยกับค่ายให้มีความยุติธรรม ไม่ให้มีกรณีสัญญาทาสเกิดขึ้นอีก ขณะที่ภาคเอกชนมีส่วนสำคัญยกระดับวงการมวยขึ้นได้ โดยนำเอาหลักการตลาด "4P" มาใช้ เริ่มตั้งแต่ตัวสินค้า คือ นักมวย ต้องให้มีคุณภาพ บุคลิกโดนใจ ส่วนช่องทางการตลาด ทำอย่างไรให้สามารถหาเวลาถ่ายทอดสดได้ดีกว่าช่วงบ่าย 3 โมงเย็น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มแฟนมวยได้มากขึ้น ขณะที่เรื่องของราคา ตอนนี้การจัดมวยส่วนใหญ่มีสปอนเซอร์ช่วย จึงให้คนเข้ามาดูฟรีได้ แต่ในทางกลับกันมันทำให้ภาพลักษณ์ของสินค้าดูคุณภาพต่ำไปเลย ต้องมาวางกลยุทธกันให้ดีว่าเราจะผลักดันมวยอย่างไรให้เป็นสินค้าขึ้นห้างได้ และเรื่องการโปรโมต ถ้าสร้างนักมวยฝีมือดี มีคุณสมบัติพิเศษก็ติดตลาดได้เร็ว จะโปรโมตแข่งที่ไหนก็มีคนสนใจ เหล่านี้น่าจะช่วยพลิกฟื้นวงการมวยสากลของไทยได้ไม่มากก็น้อย
นิวัฒน์ เหล่าสุวรรณวัฒน์ (คนซ้าย)
 สามารถ พยัคฆ์อรุณ (ขอบคุณภาพจากเฟซบุค Poptheeratham gym)
ลักษมณ์ นันทิวัชรินทร์
กำลังโหลดความคิดเห็น