คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บรรดาผู้ตัดสิน 87 คนทนไม่ไหวร่วมกันประกาศยุติการทำหน้าที่ในการแข่งขันฟุตบอลที่เป็นรายการของ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม - 9 พฤศจิกายน 2555
สาเหตุมาจาก 2 เรื่องสำคัญคือ การติดค้างเงินค่าจ้างในการปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันฟุตบอล อันนี้ไม่ได้จ่ายให้พวกเขามาตั้งแต่เปิดฤดูกาล 2555 โดยเฉพาะเกมใน ยามาฮ่า ลีก วัน และ ลีกภูมิภาค ดิวิเชิ่น 2 ส่วนใน ไทย พรีเมียร์ ลีก นั้น คงติดค้างแค่เดือนสิงหาคม และ กันยายน ที่ผ่านมาเท่านั้น
ในปัจจุบัน เงินที่ผู้ตัดสินจะได้รับในการลงทำหน้าที่แต่ละเกมนั้นก็เป็นจำนวนมากอยู่ พอที่จะทำให้พวกเขายึดเป็นรายได้หลักได้เลย ผมอยากจะยกตัวอย่างแม็ทช์ใน ไทยพรีเมียร์ลีก และ ยามาฮ่า ลีก วัน ที่แข่งขันกันใน กรุงเทพมหานคร นั้น แต่ละนัดผู้ตัดสินจะได้รับร่วมหมื่นบาท แบ่งเป็นเงินจาก สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย 7,400 บาท และจากทาง การกีฬาแห่งประเทศไทย อีก 1,800 บาท อันนี้ยังไม่รวมค่าพาหนะเดินทางครับ ในขณะที่ผู้ช่วยผู้ตัดสินได้รับจำนวนหย่อนลงมาเล็กน้อยจาก สมาคมฯ 5,750 บาท และจาก กกท. 1,400 บาท ส่วนผู้ตัดสินที่ 4 รับจาก สมาคมฯ 4,700 บาท จาก กกท. 800 บาท
นี่ถ้าเป็นเกมในต่างจังหวัดที่ห่างไกลก็ต้องมีค่าโรงแรมที่พักและค่าเดินทางเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งแต่ก่อนนี้ ผมจำได้ว่าเขาอนุมัติให้ค่าที่พักคนละ 1,000 บาทต่อคืน ค่าเดินทางก็แล้วแต่ว่าใกล้หรือไกล แต่อย่างน้อยต้องได้นั่งรถทัวร์ปรับอากาศชั้น 1 และเบี้ยเลี้ยงอีกคนละ 300 บาท ต่อคน ต่อวัน ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลายคนเลือกนั่งเครื่องบินไปด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเบิกได้หรือไม่ก็ตาม เพราะมันประหยัดเวลา และถนอมเรี่ยวแรงเก็บไว้ใช้ในการทำหน้าที่ด้วย
ส่วนอีกเรื่องก็เป็นการดำเนินการที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะในบรรดาผู้ตัดสินนั้น มันก็มีผู้ตัดสินที่เป็นพรรคพวกของตน ซึ่งล้วนมาจากสถาบันเดียวกันกับผู้ที่มีอำนาจในคณะกรรมการแต่งตั้งและติดตามผลการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน ส่วนคนที่ไม่ใช่พวกก็คือ ผู้ตัดสินส่วนใหญ่ที่เหลือ ซึ่งหลายคนบ่นออกมาว่า การพิจารณาให้ลงทำหน้าที่นั้นค่อนข้างลำเอียง ไม่ได้ดูจากผลงานการตัดสิน ไม่มีการจัดอันดับ หากใครไม่ใช่พวก เมื่อมีข้อผิดพลาดก็โดนกันเต็มๆ ในขณะที่คนที่เป็นพรรคพวกของตนมักได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ
เรื่องความไม่เท่าเทียมกันนั้น มีคนยกตัวอย่างให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งเมื่อมีการประเมินผู้ตัดสินตามมาตรฐานของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า หากใครไม่ผ่านเกณฑ์แล้วดันไม่ใช่พวก ก็ถือว่าเอ็งไม่ผ่าน แต่ถ้าคนนั้นเป็นพรรคพวกของตัวก็จะมีข้ออ้างหยิบยกมาช่วยเหลือ เช่น วันนี้ฝนตก สภาพภูมิอากาศเป็นอุปสรรคต่อการประเมินแบบปกติ ดังนั้น ไอ้ที่ไม่ผ่าน อันนี้ไม่นับ เดี๋ยววันหลังจะนัดมาประเมินใหม่
กลับมาเรื่องเงินของผู้ตัดสิน ยามาฮ่า ลีก วัน และ ลีกภูมิภาค ดิวิเชิ่น 2 ที่ติดค้างมาตั้งแต่เปิดฤดูกาล เงินยังไม่ออก หากการเจรจาเรียกร้องไม่เป็นผล คงต้องเหลือผู้ตัดสินทางซีกที่เป็นพรรคพวกของคณะกรรมการฯเพียง 30-40 คน ซึ่งล่าสุดหลังจากที่มีการรวมกลุ่มผู้ตัดสิน 87 คนเพื่อเข้าเจรจาเรียกร้องดังกล่าว โดยมีผู้ตัดสินชี่อคุ้นๆเป็นที่รู้จักรวมอยู่ด้วยหลายคน เช่น ชัยยะ มหาปราบ อภิสิทธิ์ อ้นรักษ์ ประธาน นาสว่าง ปรีชา กางรัมย์ สุรศักดิ์ คุณดิลกสิโรดม ทวีป อินทร์แก้ว มานพ ปานสาคร และ อรรถกร เวชการ เป็นต้น ทาง เสธ.ตุ้ม พลตรี ชินเสน ทองโกมล ประธานคณะกรรมการแต่งตั้งและติดตามผลการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินยอมตกลง โดยส่งอีเมลถึงผู้ตัดสินแจ้งว่าจะทำการชำระเงินให้ภายในเวลา 16.00 น. ของเมื่อวานนี้
ผมว่า เรื่องเงินนั้น มันน่าจะหมดสมัยไปนานแล้วที่จะติดค้าง แปะโป้งไว้ก่อนเป็นแรมปี น่าจะเห็นใจผู้ปฏิบัติงานครับ ใครๆก็อยากได้ค่าจ้างตรงเวลา ไม่เช่นนั้นจะเอาอะไรกิน ต้องเดือดร้อนขอหยิบขอยืมจากแหล่งอื่นอันเป็นที่มาของปัญหาอื่นๆตามมาอีก นั่นเป็นเรื่องที่ทางคณะกรรมการฯ ต้องไปหาทางจัดระเบียบให้เรียบร้อยครับ แต่เรื่องสำคัญที่สั่นสะเทือนภายในวงการผู้ตัดสินอีกเรื่องก็คือ ความเที่ยงธรรม เท่าเทียมกัน เรื่องนี้ต้องให้มีหลักเกณฑ์ชัดเจน ใครไม่ทันเกม ตัดสินมั่วๆ ตาถั่วบ่อยๆ กินสินบน ไม่ปรับปรุงฝีมือ ไม่ว่าพวกไหนต้องให้คุณ ให้โทษ เท่าเทียมกัน เพื่อพัฒนาผู้ตัดสินให้ทุกฝ่ายยอมรับ เชื่อถือ ศรัทธาครับ
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา บรรดาผู้ตัดสิน 87 คนทนไม่ไหวร่วมกันประกาศยุติการทำหน้าที่ในการแข่งขันฟุตบอลที่เป็นรายการของ สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย เป็นเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 9 ตุลาคม - 9 พฤศจิกายน 2555
สาเหตุมาจาก 2 เรื่องสำคัญคือ การติดค้างเงินค่าจ้างในการปฏิบัติหน้าที่ในการแข่งขันฟุตบอล อันนี้ไม่ได้จ่ายให้พวกเขามาตั้งแต่เปิดฤดูกาล 2555 โดยเฉพาะเกมใน ยามาฮ่า ลีก วัน และ ลีกภูมิภาค ดิวิเชิ่น 2 ส่วนใน ไทย พรีเมียร์ ลีก นั้น คงติดค้างแค่เดือนสิงหาคม และ กันยายน ที่ผ่านมาเท่านั้น
ในปัจจุบัน เงินที่ผู้ตัดสินจะได้รับในการลงทำหน้าที่แต่ละเกมนั้นก็เป็นจำนวนมากอยู่ พอที่จะทำให้พวกเขายึดเป็นรายได้หลักได้เลย ผมอยากจะยกตัวอย่างแม็ทช์ใน ไทยพรีเมียร์ลีก และ ยามาฮ่า ลีก วัน ที่แข่งขันกันใน กรุงเทพมหานคร นั้น แต่ละนัดผู้ตัดสินจะได้รับร่วมหมื่นบาท แบ่งเป็นเงินจาก สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย 7,400 บาท และจากทาง การกีฬาแห่งประเทศไทย อีก 1,800 บาท อันนี้ยังไม่รวมค่าพาหนะเดินทางครับ ในขณะที่ผู้ช่วยผู้ตัดสินได้รับจำนวนหย่อนลงมาเล็กน้อยจาก สมาคมฯ 5,750 บาท และจาก กกท. 1,400 บาท ส่วนผู้ตัดสินที่ 4 รับจาก สมาคมฯ 4,700 บาท จาก กกท. 800 บาท
นี่ถ้าเป็นเกมในต่างจังหวัดที่ห่างไกลก็ต้องมีค่าโรงแรมที่พักและค่าเดินทางเพิ่มเข้ามาอีก ซึ่งแต่ก่อนนี้ ผมจำได้ว่าเขาอนุมัติให้ค่าที่พักคนละ 1,000 บาทต่อคืน ค่าเดินทางก็แล้วแต่ว่าใกล้หรือไกล แต่อย่างน้อยต้องได้นั่งรถทัวร์ปรับอากาศชั้น 1 และเบี้ยเลี้ยงอีกคนละ 300 บาท ต่อคน ต่อวัน ทั้งนี้ ในปัจจุบันหลายคนเลือกนั่งเครื่องบินไปด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเบิกได้หรือไม่ก็ตาม เพราะมันประหยัดเวลา และถนอมเรี่ยวแรงเก็บไว้ใช้ในการทำหน้าที่ด้วย
ส่วนอีกเรื่องก็เป็นการดำเนินการที่ไม่เท่าเทียมกัน เพราะในบรรดาผู้ตัดสินนั้น มันก็มีผู้ตัดสินที่เป็นพรรคพวกของตน ซึ่งล้วนมาจากสถาบันเดียวกันกับผู้ที่มีอำนาจในคณะกรรมการแต่งตั้งและติดตามผลการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน ส่วนคนที่ไม่ใช่พวกก็คือ ผู้ตัดสินส่วนใหญ่ที่เหลือ ซึ่งหลายคนบ่นออกมาว่า การพิจารณาให้ลงทำหน้าที่นั้นค่อนข้างลำเอียง ไม่ได้ดูจากผลงานการตัดสิน ไม่มีการจัดอันดับ หากใครไม่ใช่พวก เมื่อมีข้อผิดพลาดก็โดนกันเต็มๆ ในขณะที่คนที่เป็นพรรคพวกของตนมักได้รับการปกป้องเป็นพิเศษ
เรื่องความไม่เท่าเทียมกันนั้น มีคนยกตัวอย่างให้ผมฟังว่า ครั้งหนึ่งเมื่อมีการประเมินผู้ตัดสินตามมาตรฐานของ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า หากใครไม่ผ่านเกณฑ์แล้วดันไม่ใช่พวก ก็ถือว่าเอ็งไม่ผ่าน แต่ถ้าคนนั้นเป็นพรรคพวกของตัวก็จะมีข้ออ้างหยิบยกมาช่วยเหลือ เช่น วันนี้ฝนตก สภาพภูมิอากาศเป็นอุปสรรคต่อการประเมินแบบปกติ ดังนั้น ไอ้ที่ไม่ผ่าน อันนี้ไม่นับ เดี๋ยววันหลังจะนัดมาประเมินใหม่
กลับมาเรื่องเงินของผู้ตัดสิน ยามาฮ่า ลีก วัน และ ลีกภูมิภาค ดิวิเชิ่น 2 ที่ติดค้างมาตั้งแต่เปิดฤดูกาล เงินยังไม่ออก หากการเจรจาเรียกร้องไม่เป็นผล คงต้องเหลือผู้ตัดสินทางซีกที่เป็นพรรคพวกของคณะกรรมการฯเพียง 30-40 คน ซึ่งล่าสุดหลังจากที่มีการรวมกลุ่มผู้ตัดสิน 87 คนเพื่อเข้าเจรจาเรียกร้องดังกล่าว โดยมีผู้ตัดสินชี่อคุ้นๆเป็นที่รู้จักรวมอยู่ด้วยหลายคน เช่น ชัยยะ มหาปราบ อภิสิทธิ์ อ้นรักษ์ ประธาน นาสว่าง ปรีชา กางรัมย์ สุรศักดิ์ คุณดิลกสิโรดม ทวีป อินทร์แก้ว มานพ ปานสาคร และ อรรถกร เวชการ เป็นต้น ทาง เสธ.ตุ้ม พลตรี ชินเสน ทองโกมล ประธานคณะกรรมการแต่งตั้งและติดตามผลการทำหน้าที่ของผู้ตัดสินยอมตกลง โดยส่งอีเมลถึงผู้ตัดสินแจ้งว่าจะทำการชำระเงินให้ภายในเวลา 16.00 น. ของเมื่อวานนี้
ผมว่า เรื่องเงินนั้น มันน่าจะหมดสมัยไปนานแล้วที่จะติดค้าง แปะโป้งไว้ก่อนเป็นแรมปี น่าจะเห็นใจผู้ปฏิบัติงานครับ ใครๆก็อยากได้ค่าจ้างตรงเวลา ไม่เช่นนั้นจะเอาอะไรกิน ต้องเดือดร้อนขอหยิบขอยืมจากแหล่งอื่นอันเป็นที่มาของปัญหาอื่นๆตามมาอีก นั่นเป็นเรื่องที่ทางคณะกรรมการฯ ต้องไปหาทางจัดระเบียบให้เรียบร้อยครับ แต่เรื่องสำคัญที่สั่นสะเทือนภายในวงการผู้ตัดสินอีกเรื่องก็คือ ความเที่ยงธรรม เท่าเทียมกัน เรื่องนี้ต้องให้มีหลักเกณฑ์ชัดเจน ใครไม่ทันเกม ตัดสินมั่วๆ ตาถั่วบ่อยๆ กินสินบน ไม่ปรับปรุงฝีมือ ไม่ว่าพวกไหนต้องให้คุณ ให้โทษ เท่าเทียมกัน เพื่อพัฒนาผู้ตัดสินให้ทุกฝ่ายยอมรับ เชื่อถือ ศรัทธาครับ