xs
xsm
sm
md
lg

ฟุตบอลไทย R&D หรือ D&R / กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน ราชวังสัน

ศัพท์ทางธุรกิจ “ อาร์ แอนด์ ดี” ( R&D ) คือ Research & Development แปลว่า การวิจัยและพัฒนา หมายถึงการทำวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของตัวสินค้า แต่ถ้าใครไม่มีการทำวิจัยก็คงไปลอกเลียนเขามา มันก็จะเป็น ซี แอนด์ ดี ( C&D ) คือ ค็อพพี่ และ พัฒนา ( Copy & Development ) อย่างที่ ญี่ปุ่น ทำมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างน้อยมันก็ยังเป็นการพัฒนาในสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น

การเกิดมี บริษัท ไทย พรีเมียร์ลีก จำกัด ขึ้นมาบริหารจัดการแข่งขันฟุตบอลลีกของไทยแทน สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย นั้น มันก็ถอดแบบมาจากของอังกฤษนี่แหละ จะถือว่าเป็นการลอกเลียนมาก็น่าจะใช่ แต่อาจไม่ทั้งหมด เพราะผู้ถือหุ้นดันเป็นกลุ่มบุคคลของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยซะเอง ตอนนี้เงินยังน้อย แต่ต่อไปมหาศาลแน่นอนครับ

ตัวเลขจำนวนเงินค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลทางโทรทัศน์ที่เข้ามาสนับสนุนวงการฟุตบอลของอังกฤษในฤดูกาล 1986-87 อยู่ที่ 3.15 ล้าน พาวน์ด แต่พอถึงฤดูกาล 1988-89 ราคาไหลไปถึง 11 ล้าน พาวน์ด ทำให้หลายทีมยักษ์เริ่มมองเห็นรายได้ตั๋งๆตรงนี้ เพราะความจริงมันก็เป็นทีมในลีกสูงสุดหรือ ดิวิเชิ่น 1 ขณะนั้นต่างหากที่เป็นแม่เหล็กเรียกคนดู เรื่องอะไรจะต้องนำเงินไปหารแบ่งให้ทีมในดิวิเชิ่นรองๆลงไปด้วย ดังนั้น 10 สโมสรจึงผนึกกำลังเรียกเงินส่วนแบ่งที่มากกว่าโดยขู่จะแยกตัวไปตั้ง ซุพเพ่อร์ ลีก แต่สุดท้ายก็ยังถูกรั้งเอาไว้ได้

ในที่สุด วันที่ 17 กรกฎาคม 1991 บรรดาสโมสรในลีกสูงสุดก็ร่วมลงนามใน ข้อตกลงของสมาชิกผู้ก่อตั้ง เพื่อนำไปสู่การตั้ง เอ็ฟเอ เพรอมิเอ ลีก ( FA Premier League ) ซึ่งจะเป็นองค์กรที่มีดำเนินการทางธุรกิจเป็นอิสระจาก สมาคมฟุตบอล ( Football Association ) และ ฟุตบอลลีก ( Football League ) อันนี้ส่งผลให้ เอ็ฟเอ เพรอมิเอ ลีก ได้รับสิทธิ์ในการไปเจรจาค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดการแข่งขันทางโทรทัศน์และค่าสิทธิประโยชน์อื่นๆจากผู้สนับสนุนเองเลย จนวันที่ 27 พฤษภาคม 1992 จึงตั้งเป็นบริษัทจำกัด มีสำนักงานแยกจาก สมาคมฟุตบอล อย่างชัดเจน

จาก เอ็ฟเอ เพรอมิเอ ลีก ซึ่งมีการดำเนินการในรูปบริษัทจำกัด ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น บริษัท เพรอมิเอ ลีก จำกัด ในปี 2007 ซึ่งเขามี 20 สโมสรสมาชิกเป็นเจ้าของ แต่ละสโมสรก็เป็นผู้ถือหุ้นและมีสิทธิ์ออกเสียงคนละ 1 เสียงเท่าๆกัน พวกเขาจะเลือกตัวแทนคนหนึ่งขึ้นเป็นประธาน และมีกรรมการบริหารทำหน้าที่บริหารงานประจำวัน โดย เอ็ฟเอ จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยว เพราะความที่เป็นสมาคม เรื่องของเงินๆทองๆที่เป็นการแสวงหาผลกำไร สมาคมไม่เกี่ยวครับ ก็อนุมัติมอบสิทธิ์ให้บรรดาสโมสรในลีกสูงสุดไปลุยกันเอง

เงินรายได้นั้น จำนวนครึ่งหนึ่งเอา 20 สโมสรมาหารแบ่งกันเลยครับ อีก 25 เพอร์เซ็นท์ ก็ยังแบ่งให้ 20 ทีมนั่นแหละ เพียงแต่มากน้อยลดหลั่นไปตามอันดับของตน ทีมที่อยู่อันดับหนึ่งก็จะได้ 20 เท่าของทีมอันดับบ๊วย และอีก 1 ใน 4 ของรายได้ก็เป็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดโดยเฉพาะคู่ที่มีการถ่ายทอดนะครับ

รายได้เรื่องลิขสิทธิ์ถ่ายทอดโทรทัศน์ในปัจจุบันเป็นก้อนมหึมาจริงๆ ฤดูกาล 2010-11 2011-12 และ 2012-13 รวม 3 ฤดูกาลนั้นกระเถิบขึ้นมาแตะ 3 พันล้าน พาวน์ด แต่ที่น่าสนใจก็คือ ตอนนี้ บริษัท เพรอมิเอ ลีก บรรลุข้อตกลงสำหรับฤดูกาลหน้า 2013-2014 แล้ว ซึ่งลำพังเพียงแค่ฤดูกาลเดียวก็ซัดไป 3 พันล้าน อันนี้แน่นอนว่า แต่ละสโมสรที่ได้รับเงินส่วนแบ่งเนื้อๆ พวกเขาก็ย่อมนำไปพัฒนาสโมสรได้อย่างเต็มที่ ยกระดับ พัฒนาฝีเท้า สร้างอะคาเดมี่ ส่งผลถึงการสร้างงาน แก้ปัญหาเยาวชน และอื่นๆอีกมากมาย มันย่อมเป็นผลดีแก่เศรษฐกิจของชาติอย่างแน่นอน

การบริหารจัดการการแข่งขันฟุตบอลของไทยนั้น ผมว่า จะใช้ อาร์ แอนด์ ดี นั้นทำไม่ได้ จึงต้องเลือกวิธี ซี แอนด์ ดี แต่ดันเอามาทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน มันก็ย่อมสวนทางต่อการพัฒนาอย่างสิ้นเชิง อย่างนี้ผมเรียกว่า ดี แอนด์ อาร์ ( D&R ) คือ Duplicate & Regression ลอกเลียน และ เสื่อมถอย ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น