ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ช่วงสุดสัปดาห์นี้โปรแกรมการแข่งขันกอล์ฟ เฟดเอ็กซ์ คัพ ซีรีส์ ที่กำลังขับเขี้ยวกับอย่างเข้มข้นมาตลอด 3 สนาม ได้ฤกษ์หยุดพักเปิดทางใหับรรดาก้านเหล็กระดับพระกาฬทั้ง 30คนสุดท้าย ได้มีเวลาพักหายใจเล็กน้อย ก่อนจะมาลุยกันต่อในรายการเพลย์ออฟ สนามสุดท้าย ที่ศึก “ทัวร์ ออฟแชมเปียน” เพื่อชิงเงินรางวัลมหาศาล 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 320 ล้านบาท) และจากนั้น 1 สัปดาห์ให้หลังวันที่ 28-30 ก.ย. จะเป็นคิวของการแข่งขันกอล์ฟประเภททีมที่ได้รับการจับตามองมากที่สุดรายการหนึ่งของโลก “ไรเดอร์ คัพ”
โดยในปีนี้ ไรเดอร์ คัพ ครั้งที่ 39ถึงคิวหมุนเวียนกลับไปเป็นเจ้าภาพสหรัฐฯ รับหน้าเสื่อจัดอีกครั้ง ที่ สนาม เมดินาห์ กอล์ฟ คลับ เมืองชิคาโก ในรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งนับตั้งแต่โปรเจคดวลวงสวิงประเภททีมถือกำเนิดขึ้นเมื่อปี 1927 ระเบียบและแบบแผนต่างๆ ได้ถูกปรับเปลี่ยนแก้ไขตามความเหมาะสมจนมาลงตัวอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ และนี่คือ5 เรื่องน่ารู้กับศึกกอล์ฟไรเดอร์ คัพ
1. ไรเดอร์ คัพ ไม่ถูกกับความรุนแรง - รูปแบบการแข่งขันกอล์ฟประเภททีมอันเลื่องชื่ออุบัติขึ้นโดย ซามูเอล ไรเดอร์ นักธุรกิจหนุ่มชาวเมืองผู้ดี ที่ปิ๊งไอเดียบริจาคถ้วยรางวัลหมีเพื่อการแข่งขันกอล์ฟการกุศล จนได้ฤกษ์ถือกำเนิดขึ้นมาอย่างเป็นทางการในปี 1927 และจากนั้นทุกๆ สองปีมีการจัดแข่งกันเรื่อยมา
ทว่าศึกกอล์ฟรายการนี้ก็มาถูกความรุนแรงที่ว่าไว้ทำให้ต้องเว้นวรรคพักช่วงแข่งถึง 2 ครั้งเริ่มที่ยุคสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยหยุดยาวถึง 6 ปี ตั้งแต่ปี 1939-1945 และสงครามสงบบ้านเมืองเป็นปกติ ก้านเหล็กจึงส่งสาส์นชวนกันกลับมาแข่งกันต่ออีกครั้ง และหนที่ 2 ต้องมาถูกเบรกอีกครั้งในปี 2001 จากเหตุการณ์ก่อการร้ายที่โด่งดังไปทั่วโลกในเมืองลุงแซม
2. ต้นฉบับทีมแข่งขัน - แต่เดิมรูปแบบการแข่งกอล์ฟ ไรเดอร์ คัพ เป็นการดวลกันระหว่าง 2 ทีมที่ศักดิ์ศรีค้ำคออย่าง ทีมสหรัฐอเมริกา และทีมสหราชอาณาจักร ซึ่งมีนักกอล์ฟชาวไอริชถูกเชิญเข้ามาร่วมแข่งภายใต้ธงแจ็คยูเนียนด้วยในปี 1947 และเมื่อดำเนินถึงปี 1973, 1975แ ละ 1977 ชื่อทีมถูกเปลี่ยนเป็น สหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ ก่อนจะได้รับความสนใจจากบรรดาก้านเหล็กในยุโรปเพิ่มมากขึ้นและต่อยอดเพิ่มขึ้นมาเป็นทีมยุโรป ที่มี โฆเซ มาเรีย โอลาซาบัล นำทีมในปี 2012
3. ความทรงจำครั้งแรก - ปฐมบทของ ไรเดอร์ คัพ เกิดขึ้นเมื่อปี 1927 หรือเมื่อ 85 ปีก่อน โดยจัดแข่งขึ้นที่สนาม วอร์เชสเตอร์ คันทรี คลับ ในเมือง วอร์เชสเตอร์ รัฐแมสซาชูเซตส์ ณ แผ่นดินมะกัน โดยทีมสหรัฐฯ นำมาด้วยตำนานกัปตันอย่าง วอลเตอร์ ฮาเกน เจ้าของแชมป์เมเจอร์ 11 สมัย ส่วนฝั่งสหราชอาณาจักรมีหัวเรือใหญ่อย่าง เอดเวิร์ด เทด เรย์ นำทีม ซึ่งผลปรากฏว่าก้านเหล็กชาวเมืองลุงแซมโชว์ความสามัคคีเอาชนะไปแบบขาดลอย 9 ครึ่ง ต่อ 2 ครึ่ง
4. แบบฉบับการแข่งดั่งเดิม - เดิมทีเดียวในช่วงแรกของการประชันวงสวิงระหว่างทีมสหรัฐฯและสหราชอาณาจักร จะแข่งกันเพียง 2 วันในวันศุกร์และเสาร์เท่านั้นเป็นอันว่าทราบผลผู้ชนะ โดยในวันแรกจะแข่งแบบโฟร์ซัมส์ ประกบคู่แข่ง (ฝ่ายเดียวกันผลัดกันตีในลูกเดียวกัน) จากนั้นวันที่ 2 เป็นการดวลวงสวิงแบบเดี่ยวๆ ทั้ง 12 คู่เหมือนเช่นทุกวันนี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังมีการขยายปฏิทินแข่งเพิ่มเป็น 3 วัน เพื่อเพิ่มความสนุกและตื่นเต้น โดยเพิ่มรูปแบบการแข่งแมตช์เพลย์แบบโฟร์บอลประกบคู่ (ฝ่ายเดียวกันตีคนละลูก นับคะแนนที่ดีที่สุด) ในช่วง2 วันแรกเป็นการดวลแมตช์เพลย์ล้วนๆ สลับแข่งระหว่างโฟร์บอลและโฟร์ซัม ซึ่งต้องใช้การวางแผนประกบคู่ตามความเหมาะสมของกัปตันทั้งสองทีม ก่อนที่วันสุดท้ายจะเข้าสู่การแข่งในประเภทเดี่ยวจำนวน 12 คู่ตามธรรมเนียมเก่าแก่แบบสโตรกเพลย์
5. เริ่มต้นทีมยุโรปยุคแห่งความยิ่งใหญ่ - ในปี 1979 ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญในศึกกอล์ฟประเภททีมรายการเก่าแก่ เมื่อมีบรรดาก้านเหล็กชื่อดังทั่วยุโรปเริ่มให้ความสนใจกับ ไรเดอร์ คัพ มากยิ่งขึ้นและเข้ามาผนึกกำลังช่วยสหราชอาณาจักรแข็งแกร่งจนสามารถสู้กับยอดโปรเมืองลุงแซมได้สูสี กระทั่งคว้าชัยชนะครั้งแรกในปี 1985 ทว่าที่เลวร้ายกว่านั้นจนถึงปัจจุบันนี้ทีมกอล์ฟเมืองมะกันสะกดคำว่าชนะเป็นแค่ 4 ครั้งเท่านั้น ที่เหลือไม่เสมอก็ลงเอยด้วยความปราชัย
ในปี 1991 กับการแข่งครั้งที่ 29ถือได้ว่าเป็นยุคเฟื่องฟู เพราะการจัดขึ้นที่สังเวียน เคียวาห์ ไอส์แลนด์ กอล์ฟ รีสอร์ท ณ เมืองเคียวาห์ ไอส์แลนด์ รัฐเซาท์แคโรไลนา ในภูมิประเทศที่เป็นสนามกอล์ฟติดทะเล จนได้รับฉายาว่าเป็นศึกสงครามริมชายฝั่ง เป็นที่ถูกกล่าวถึงมากที่สุดในบรรดาการแข่งกว่า 30 ครั้ง และเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้ ไรเดอร์ คัพ ได้รับความนิยมมาจนถึงทุกวันนี้
เรื่องโดย : ปภังกรณ์ นิลวรกุล