เอเยนซี-วิ่งกันฝุ่นตลบสำหรับวันสุดท้ายของตลาดซื้อ-ขายนักเตะช่วงซัมเมอร์ที่รูดม่านไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยเฉพาะ พรีเมียร์ชิป อังกฤษ เงินสะพัดใช้จ่ายรวมกันไปทั้งสิ้น 490 ล้านปอนด์ (ประมาณ 24,500 ล้านบาท) ขณะที่แชมป์นักช็อปตกเป็นของ ปารีส แซงต์-แชร์กแมง สโมสรเงินหนาประจำเวที ลีก เอิง ฝรั่งเศส ใช้ไปสมฐานะ 113 ล้านปอนด์ (ประมาณ 5,650 ล้านบาท) ด้าน สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป แสดงความพอใจหลังตัวเลขที่ออกมาบ่งชี้ว่า กฎควบคุมรายจ่าย (Financial Fair Play) มีความศักดิ์สิทธิ์ แม้จะเพิ่งคลอดออกมาก็ตาม
เริ่มต้นด้วย พรีเมียร์ชิป ทั้ง เชลซี, ท็อตแนม ฮ็อทสเปอร์, แมนเชสเตอร์ ซิตี, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ อาร์เซนอล ต่างเสริมทัพเกิน 30 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) แพงที่สุดคือ เอเดน ฮาซาร์ด เพลย์เมกเกอร์ทีมชาติเบลเยี่ยมโยกจาก ลีลล์ สู่ถิ่น สแตมฟอร์ด บริดจ์ ด้วยค่าตัว 32 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,600 ล้านบาท) รวมทั้งหมด 6 แข้งใช้ไป 81 ล้านปอนด์ (ประมาณ 4 พันล้านบาท) ขณะที่ "เรือใบสีฟ้า" วันสุดท้ายเร่งมือคว้ารวดเดียว 4 แข้ง ฆาบี การ์เซีย, สกอตต์ ซินแคลร์, ไมคอน และ มาติยา นาสตาซิช ใช้ไป 49.2 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2,500 ล้านบาท)
โดยวันสุดท้ายเมื่อ 31 สิงหาคมทุกทีมเร่งมือจ่ายไปวันเดียว 110 ล้านปอนด์ (ประมาณ 5,500 ล้านบาท) มากกว่าปีก่อน 10 ล้านปอนด์ (ประมาณ 500 ล้านบาท) โดยรวมทั้งสิ้น 20 สโมสรอังกฤษใช้ไป 490 ล้านปอนด์มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5 ล้านปอนด์ (ประมาณ 250 ล้านบาท) ถือว่าเข้าใกล้สถิติสูงสุดปี 2008 ที่ใช้ไปทั้งสิ้น 500 ล้านปอนด์ (ประมาณ 25,000 ล้านบาท) จากการเปิดเผยของ "ดีลอยต์" (Deloitte) บริษัทตรวจสอบบัญชีระดับโลก
สรุปเวที พรีเมียร์ชิป เงิน 300 ล้านปอนด์ (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) ถูกจ่ายให้สโมสรจากต่างประเทศเพื่อแลกกับนักเตะและอีก 50 ล้านปอนด์ (ประมาณ 2,500 ล้านบาท) ถูกกระจายซื้อผู้เล่นจาก ดิวิชัน ต่างๆ เชลซี นอกจาก ฮาซาร์ด ยังมีนักเตะซื้อแพงสุดติดท็อปไฟว์อีกคนคือ ออสการ์ กองกลางจาก อินเตอร์นาซิอองนาล 25 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,250 ล้านบาท) ขณะที่ขายนักเตะไม่ได้เลย ส่วนทีมที่ทำกำไรมากสุดคือ ฟูแลม ขายผู้เล่นได้ถึง 21 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,100 ล้านบาท) ส่วนทีมที่ซื้อมากที่สุด 10 รายคือ ควีนส์ ปาร์ค เรนเจอร์ส
ด้าน ปารีส แซงต์-แชร์กแมง ที่มีเงินของกลุ่มทุนกาตาร์หนุนหลังจ่ายไปสูงที่สุด 113 ล้านปอนด์ มากสุดคือ ติอาโก ซิลวา จาก เอซี มิลาน ที่ขึ้นชั้นกองหลังค่าตัวแพงที่สุดในโลก 33.2 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,660 ล้านบาท) นอกจากนี้ยังมี ซลาตัน อิบราฮิโมวิช, เอซกีเอล ลาเวซซี, เกรกอรี ฟาน เดอ วิล และ มาร์โก เวอร์รัตติ โยกไปเวที บุนเดสลีกา เยอรมนี บาเยิร์น มิวนิค ทำสถิติเสริมทัพแพงที่สุดเมืองเบียร์ ฆาบี มาร์ติเนซ กองกลางทีมชาติสเปนจาก แอธเลติก บิลเบา 31.7 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,585 ล้านบาท) นอกจากนี้ยังมี มาริโอ มานด์ซูคิช กองหน้าทีมชาติโครเอเชีย และ เซอร์ดาน ชากิรี แนวรุกชาวสวิส
ฟาก ลา ลีกา สเปน รีล มาดริด เสริมตัวเด็ดแค่ ลูกา โมดริช เพลย์เมกเกอร์จาก สเปอร์ส 30 ล้านปอนด์ (ประมาณ 1,500 ล้านบาท) บาร์เซโลนา ก็ขยับไม่มากได้ ฆอร์ดี อัลบา แบ็กซ้ายจาก บาเลนเซีย 11.2 ล้านปอนด์ (ประมาณ 560 ล้านบาท) และ อเล็กซ์ ซง กองกลางจาก อาร์เซนอล 15 ล้านปอนด์ (ประมาณ 750 ล้านบาท) ปิดท้ายด้วย กัลโช เซเรีย อา อิตาลี การโยกย้ายไม่ฮือฮาส่วนใหญ่สลับค่ายกันในประเทศ ยูเวนตุส ซิว ควาดโว อซาโมอาห์ แนวรุกจาก อูดิเนเซ 8 ล้านปอนด์ (ประมาณ 400 ล้านบาท) เอซี มิลาน ได้ จามเปาโล ปาสซินี แต่ก็ปล่อย อันโตนิโอ คาสซาโน ให้ อินเตอร์ มิลาน เป็นหนึ่งในข้อแลกเปลี่ยน
จานนี อินแฟนติโน เลขาธิการของ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (ยูฟา) ให้สัมภาษณ์แสดงความพอใจตัวเลขจับจ่ายชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มที่ดีสำหรับกฎควบคุมรายจ่ายของสโมสร อย่างไรก็ตามเตือนยอดขาดทุนสะสมยังคงสูงเกินไป "แนวทางปฎิบัตินี้ได้เริ่มขึ้นแล้วมีสัญญาณชะลอตัวเกี่ยวกับกิจกรรมการซื้อ-ขายนักเตะ บรรดาสโมสรต่างๆ ดูแลเรื่องการเงินแสดงถึงการเคลื่อนไหวของกฎควบคุมรายจ่ายด้านการเงินอย่างชัดเจนและส่งผลในแง่บวก การขาดทุนมีเสถียรภาพ แต่ยังอยู่ในระดับที่เป็นอันตราย"
ส่วน มิเชล พลาตินี ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป แสดงจุดยืนชัดเจนคว่ำบาตรสโมสรที่มีรายจ่ายมากกว่ารายรับด้วยการคลอดกฎควบคุมรายจ่าย (Financial Fair Play) โดยจะเห็นว่าตลาดซื้อ-ขายนักเตะรอบสองเดือนมกราคมปี 2012 เริ่มเงียบเหงากว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2011 โดยมียอดรายจ่ายลดลง 36 เปอร์เซนต์ นอกจากนี้ช่วงปีใหม่ 4 ฤดูกาลหลังยังมีตัวเลขที่ต่ำลง 20 เปอร์เซนต์ กล่าวว่า "สำหรับช่วงเวลาของการตั้งระบบจะอยู่ราว 3 หรือ 4 ปี จุดเริ่มต้นนี้ถือว่าผ่านไปแล้วและเราต้องการเห็นว่าได้ดำเนินต่อไป"
อินแฟนติโน กล่าวอีกว่า "ถือเป็นการกระตุ้นทุกทีม โดยยังคงมีตัวเลขสีแดงปรากฎในบัญชีการซื้อขายที่สูงไม่น้อย แต่ แต่อย่างน้อยเราก็อยู่ในจุดที่เริ่มต้นจะเดินไปในทิศทางที่ถูกต้อง ทั้งหมดไม่ใช่แค่คำขู่ แต่คือการส่งสัญญาณชัดเจนให้แต่ละสโมสรตื่นตัวและกังวล พวกเขาทราบถึงกฎรวมถึงการลงโทษเป็นอย่างดีหากจ่ายเกินกว่ากำหนด" โดยกฎควบคุมรายจ่ายจะมีผลอย่างเต็มรูปแบบปี 2014 ยูฟา มีความตั้งใจจะปฎิวัติฟุตบอลยุโรปเพื่อหยุดสโมสรไม่ให้เผชิญวิกฤติทางด้านการเงิน