ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - วิธีการจัดอันดับโลกของนักกอล์ฟอาชีพกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังเกิดปรากฏการณ์ที่ ลุก โดนัลด์ โปรชาวอังกฤษ และ รอรีย์ แม็คอิลรอย ก้านเหล็กดาวรุ่งชาวไอร์แลนด์เหนือ สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเป็นมือ 1 ของโลกเกือบทุกสัปดาห์ ไม่ต่างอะไรกับการเล่นเก้าอี้ดนตรี
ความจริงแล้วประเด็นนี้ถูกหยิบยกมาพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ นับแต่การหล่นจากบัลลังก์มือ 1 ของ “พญาเสือ” ไทเกอร์ วูดส์ ยอดโปรอเมริกัน เมื่อเกือบ 2 ปีที่แล้ว โดยมี ลี เวสต์วูด อีกหนึ่งก้านเหล็กเมืองผู้ดี มาร์ติน คายเมอร์ สวิงชาวเยอรมัน โดนัลด์ และ แม็คอิลรอย ผลัดกันขึ้นมาเชยชม
เมื่อประมาณกลางเดือนเมษายนตอนที่ แม็คอิลรอย ขึ้นมาเป็นมือ 1 ของโลกแทน โดนัลด์ ทั้งที่กำลังอยู่ระหว่างการพักหลังจากเสร็จศึกเดอะ มาสเตอร์ส กอล์ฟเมเจอร์แรกของปี โปรวัย 23 ปีแฟนหนุ่มของ คาโรไลน์ วอซเนียคกี นักเทนนิสสาวสวยชาวเดนมาร์ก ทวีตข้อความว่า “กลับมาเป็นมือหนึ่งของโลกอีกครั้งโดยไม่ต้องแตะไม้กอล์ฟเลย ถ้ามันง่ายอย่างนี้ไปตลอดก็ดีนะสิ” นี่อาจเป็นความเห็นที่สะท้อนให้เห็นข้อบกพร่องบางอย่างของวิธีการจัดอันดับโลก โดยล่าสุด การประกาศอันดับโลกเมื่อวันจันทร์ที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา โดนัลด์ ก็กลับขึ้นครองมือ 1 ของโลกอีกครั้ง
วีธีการจัดอันดับโลกไม่ใช่ปัญหาแค่บรรดานักกอล์ฟหัวแถวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อนักกอล์ฟอันดับต่ำลงมา อย่างที่เราทราบกันดีว่าโปรอันดับ 1 ถึง 50 ของโลกจะได้รับสิทธิพิเศษที่เหนือกว่าอันดับต่ำกว่า เห็นได้ชัดคือสิทธิ์เข้าแข่งขันรายการระดับเมเจอร์ รายการของเวิลด์ กอล์ฟ แชมเปียนชิป หรือทัวร์นาเมนท์พิเศษที่จำกัดจำนวนผู้เล่น
รายการใหญ่เหล่านี้มีเงินรางวัลก้อนใหญ่ ตามสถิติมีรายงานออกมาว่านักกอล์ฟที่ทำอันดับ 31 ถึง 50 ของโลกเมื่อสิ้นปีที่แล้ว ได้รับเงินรางวัลเฉลี่ย 47 เปอร์เซ็นต์สูงกว่านักกอล์ฟอันดับ 51 ถึง 70 ของโลกจากการที่ได้ลงแข่งขันเดอะ มาสเตอร์ส เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
สำหรับปัจจุบันวิธีการคิดคะแนนอันดับโลก คำนวณจากผลงานของนักกอล์ฟที่ลงแข่งขันในทัวร์นาเมนต์ต่างๆ ทั่วโลก อาทิ พีจีเอ ทัวร์ (สหรัฐอเมริกา) ยูโรเปียน ทัวร์ (ยุโรป) เอเชียน ทัวร์ (เอเชีย) หรือ เจแปน ทัวร์ (ญี่ปุ่น) เป็นต้น ตลอดระยะเวลา 2 ปี โดยรายการระดับเมเจอร์ ผู้ชนะจะได้รับ 100 คะแนนแล้วลดหลั่นลงมากระทั่งน้อยที่สุดแชมป์ได้ 4 คะแนน
แต่ปัญหาคือ บางรายการมีคะแนนบวกเพิ่มพิเศษในกรณีถ้ามีนักกอล์ฟมืออันดับโลกสูงเล่นหลายคน หรือมีเงินรางวัลก้อนใหญ่ ตัวอย่างเช่น รายการที่เป็น “เรือธง” (Flagship) ของทัวร์นาเมนต์เล็กๆ อย่าง เจแปน ทัวร์ หรือ เอเชียน ทัวร์ ซึ่งแชมป์จะได้รับ 32 คะแนน แต่ถ้ามีคะแนนพิเศษเพิ่ม อาจทำให้รายการเหล่านี้มีคะแนนอันดับโลกใกล้เคียงกับรายการระดับเมเจอร์
ตัวอย่างที่ถูกหยิบยกมาอ้างถึง เช่น ฟรานเชสโก โมลินารี โปรชาวอิตาเลียน คว้าแชมป์รายการดับเบิลยูจีซี-เอชเอสบีซี แชมเปียนส์ ที่ประเทศจีน เมื่อปี 2010 แต่ได้รับ 68 คะแนน มากกว่า หลุยส์ อุสต์ไฮเซน ก้านเหล็กชาวแอฟริกาใต้ รองแชมป์เดอะ มาสเตอร์ส ปีนี้ที่แพ้เพลย์ออฟต่อ บับบา วัตสัน สวิงมะกันเสียอีก หรือกรณี กอนซาโล เฟร์นานเดซ-กาสตาโญ โปรชาวสแปนิช ได้ 46 คะแนน จากการคว้าแชมป์สิงคโปร์ โอเพน เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จนทำให้เขาขยับอันดับโลกเกือบ 70 ขั้น เพราะคะแนนเท่ากับการคว้าอันดับ 3 ในยูเอส โอเพนเลยทีเดียว
ด้าน เวิลด์ กอล์ฟ แรงกิง พยายามปกป้องวิธีการคิดคะแนนของตัวเอง โดยระบุสาเหตุที่มอบคะแนนสูงให้ทัวร์เล็กๆ ก็เพื่อขยายความนิยมของกีฬากอล์ฟให้เติบโตระดับโลกมากขึ้น ขณะเดียวกัน มีฝ่ายเสนอให้ปรับปรุงวิธีการคำนวณด้วยนำเอาวิทยาศาสตร์มาใช้ โดยอาจใช้วิธีเปรียบเทียบสถิติการเล่นของนักกอล์ฟทุกคนต่อกัน เพราะแต่ละทัวร์และแต่ละสนามมีความยากง่ายไม่เท่ากันเพื่อให้เกิดความยุติธรรมมากขึ้น
เรื่อง วุฒิวรรณ วิศาลวรรณ์