xs
xsm
sm
md
lg

FIFA Club World Cup / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

การแข่งขันฟุตบอลชิงแช้มป์สโมสรทวีปยุโรปเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 1955 หลังจากนั้นทวีปอเมริกาใต้ก็เริ่มมีการแข่งขันชิงแช้มป์ของทวีปตนบ้างในปี 1960 ในยุคนั้นฟุตบอลของ 2 ทวีปนี้ถือเป็นยักษ์ใหญ่ของโลก เปรียบกับในทวีปอื่นๆที่ยังด้อยพัฒนาถือว่าห่างชั้นกันมาก ดังนั้นเมื่อจะจัดชิงแช้มป์สโมสรโลกจึงเอาเพียงทีมแช้มป์ของ 2 ทวีปนี้มาพบกันก็พอแล้ว เมื่อ สหสมาคมฟุตบอลยุโรป ( UEFA ) และ สมาพันธ์ฟุตบอลอเมริกาใต้ ( CONMEBOL ) ตกลงให้การรับรองก็ไม่มีปัญหา แม้จะไม่เกี่ยวกับ สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ ( FIFA ) เลยก็ตาม ฟุตบอลชิงแช้มป์สโมสรยุโรปและอเมริกาใต้ ( Intercontinental Cup ) จึงถือกำเนิดขึ้นมาในปี 1960

ที่บริเวณฐานของถ้วยรางวัลมีภาพแผนที่ทวีปอเมริกาใต้และทวีปยุโรป นอกจากนั้นบริเวณขอบวงแหวนที่รองรับลูกบอลยังมีคำจารึกเป็นภาษาฝรั่งเศสว่า Coupe Europeenne-Sudamericaine ซึ่งหมายถึง European-South American Cup บ่งบอกว่าเป็นแช้มป์ของ 2 ทวีปนี้นั่นเอง

ตอนนั้นการแข่งขันยังเป็นแบบเหย้า-เยือน 2 นัด จนถึงปี 1980 โตโยต้า เข้ามาเป็นผู้สนับสนุนรายการ ชื่อรายการถูกเปลี่ยนเป็น โตโยต้า คัพ ( Toyota Cup ) และรูปแบบการแข่งขันก็เหลือเพียงพบกันบนสนามเป็นกลางคือที่ ประเทศญี่ปุ่น นัดเดียวรู้เรื่องไปเลย แถมทางผู้สนับสนุนรายการยังทำถ้วยรางวัลใบที่ 2 เรียกว่า โตโยต้า คัพ เพื่อมอบควบคู่กันไปกับถ้วยใบแรก แต่อันนี้มอบให้ รองกัปตันทีม ที่ชนะการแข่งขัน รายการนี้ยืนยาวมาจนถึงปี 2004

ระหว่างนั้น ฟีฟ่า เริ่มจัดการแข่งขันฟุตบอลชิงแช้มป์สโมสรโลก ( FIFA Club World Cup ) เป็นรายการคู่ขนานกันไปด้วย โดยครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2000 ที่ประเทศบราซิว รายการนี้นำเอาแช้มป์ของแต่ละทวีป รวม 6 ทวีปมาร่วมการแข่งขัน บวกกับ ทีมแช้มป์ Intercontinental Cup และทีมสโมสรของเจ้าภาพ รวมเป็น 8 ทีม

ขนาด แมนเชสเต้อร์ ยูนายเถ็ด ถึงกับถอนตัวออกจากรายการ เอ็ฟเอ คัพ ถ้วยใบสำคัญของประเทศอังกฤษ เพื่อมาร่วมแข่งรายการนี้ เพราะตารางการแข่งขันดันไปทับซ้อนกัน เรื่องพวกนี้ทำให้บรรยากาศความสัมพันธ์ระหว่าง ยูเอ็ฟฟ่า กับ ฟีฟ่า ไม่ค่อยราบรื่น เหมือนกับว่าทั้ง 2 องค์กรนี้กำลังพยายามแย่งชิงอำนาจการควบคุมฟุตบอลระดับสโมสรทั่วโลก

ฟีฟ่า คลับ เวิร์ลด์ คัพ วางคิวหนต่อไปเอาไว้ที่ ประเทศสเปน ในปี 2001 ซึ่งจะมีทีมเข้าร่วมถึง 12 ทีม แต่ก็เกิดเหตุหลายประการ โดย 1 ในนั้นคือ การล้มละลายไปพร้อมๆกับเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับเงินใต้โต๊ะของ ISL บริษัทที่ดูแลด้านการตลาดในฐานะบริษัทพันธมิตรของ ฟีฟ่า และแม้ว่าจะมีความพยายามเลื่อนไปจัดในปี 2003 แต่กระนั้นก็เกิดล้มไม่เป็นท่าอีก

ในที่สุด ฟีฟ่า ตัดสินใจเจรจากับ ยูเอ็ฟฟ่า เพื่อรวมการแข่งขันชิงแช้มป์สโมสรโลกให้เป็นรายการเดียว ทำให้เกิดการแข่งขันในชื่อ Club World Championship Toyota Cup ในปี 2005 โดย ประเทศญี่ปุ่น ได้รับเกียรติเป็นเจ้าภาพ พร้อมๆกับการนำเสนอถ้วยแช้มป์ใบใหม่ รูปแบบการจัดการแข่งขันก็ถูกจัดให้กระชับ ไม่เยิ่นเย้อ เพื่อลดปัญหาที่เคยมีมาในอดีตโดยเฉพาะเรื่องที่จะไปกินเวลา ทับซ้อน จนกระทบการแข่งขันลีกในแต่ละประเทศ โดยจัดให้แช้มป์จาก UEFA และ CONMEBOL ไปยืนรอในรอบรองชนะเลิศเลย

ปีรุ่งขึ้น รายการนี้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ฟีฟ่า คลับ เวิร์ลด์ คัพ อย่างในปัจจุบัน และตั้งแต่ปี 2007 ก็เริ่มให้ทีมตัวแทนจาก สมาพันธ์ฟุตบอล โอเชินเนีย ( OFC ) มาเตะ เพลย์-อ็อฟ กับทีมจากชาติเจ้าภาพก่อน เพื่อหาทีมเข้ารอบก่อนรองชนะเลิศไปพบกับอีก 3 ทีมจาก ทวีปอเมริกาเหนือ อัฟริกา และ เอเชีย

ปีนี้ ฟีฟ่า คลับ เวิร์ลด์ คัพ 2011 ยังคงจัดขึ้นที่ ประเทศญี่ปุ่น นี่กำลังเดินทางมาถึงรอบรองชนะเลิศแล้ว โดย คาชิวะ เรซอล ( Kashiwa Reysol ) ของ ญี่ปุ่น ชาติเจ้าภาพที่กรุยทางมาจากรอบเพลย์-อ็อฟ พบกับ ซานโตช ( Santos ) จาก บราซิว และ อัล ซาด ( Al-Sadd ) จาก กาตาร์ พบกับ บารเซโลน่า จาก สเปน ชิงชนะเลิศกันวันอาทิตย์ที่ 18 ธันวาคมนี้ ใครได้แช้มป์ รับเงินรางวัล 5 ล้าน ยูเอส ดอลเล่อร์ส หรือประมาณ 150 ล้านบาทครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น