ASTVผู้จัดการรายวัน -แม้ว่ากระแสฟุตบอลอาชีพอย่าง "ไทยพรีเมียร์ลีก" กำลังได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ทว่ายังมีสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาของบรรดานักเตะในลีกบ้านเรา นั่นคือ "สัญญาทาส" ที่มีการเอาเปรียบผู้เล่นในการเซ็นสัญญาเบื้องต้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาค่าเหนื่อย ระยะสัญญา หรือเงื่อนไขปลีกย่อยต่างๆ ในการลงนาม ขณะที่ยังมีอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นปัญหามายาวนานในวงการลูกหนังไทยตั้งแต่สมัยก่อน เรียกว่า"สัญญาใจ" ซึ่งอาศัยความไว้เนื้อเชื่อใจกันของผู้เล่นกับต้นสังกัดเป็นหลัก ทว่าเมื่อเกิดปัญหาการฟ้องร้องขึ้นมา ส่วนใหญ่จะเป็นผู้เล่นที่เป็นฝ่ายเสียเปรียบ เนื่องจากไม่มีหนังสือสัญญาอย่างเป็นทางการ
ปัญหาดังกล่าวดูเหมือนจะหยั่งรากลึกยาวนานในสังคมลูกหนังไทย โดย "เดอะเซนต์" อรรณพ สิงห์โตทอง ผู้จัดการทั่วไปทีมชลบุรี เอฟซี ได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขว่า "ความจริงแล้วเราควรจะมีสมาคมหรือสหภาพนักฟุตบอลอาชีพ หรือผู้ฝึกสอน มาตั้งนานแล้ว เนื่องจากไทยพรีเมียร์ลีกกำลังเข้าสู่ระบบอาชีพอย่างชัดเจน จึงควรต้องมีสักองค์กรที่ตั้งขึ้นมาโดยมีข้อบังคับกลางเป็นหลัก เพื่อดูแลเกี่ยวกับการโอนย้าย สัญญาที่เป็นลายลักษณ์อักษร รักษาสิทธิประโยชน์และสามารถเรียกร้องควมเป็นธรรมได้ เพื่อป้องกันปัญหาการยกเลิกสัญญากลางอากาศ เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันนี้เมืองไทยยังเป็นระบบอุปถัมภ์ จึงทำให้ผู้เล่นและผู้ฝึกสอนส่วนใหญ่ถูกเอาเปรียบจากสโมสรต้นสังกัดรวมถึงสัญญาทาสต่างๆ ที่นอกจากให้ค่าเหนื่อยน้อยเกินความเป็นจริง หรือมีสัญญาในยาวเกินไป ขณะเดียวกันยังมีการเอาเปรียบนักกีฬาที่อาจจะเรียกให้สวยหรูว่า "สัญญาใจ" ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เลื่อนลอย"
โดย "คนโตเมืองชล" กล่าวถึงเหตุผลที่ควรจัดตั้ง "สมาคมหรือสหภาพนักฟุตบอลอาชีพ" ว่า "ในปัจจุบันยอมรับว่าสัญญาทาสยังคงมีอยู่ แต่หลายสิ่งได้เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ทว่าปัญหาสำคัญตอนนี้ยังมีเรื่องของสัญญาใจที่คุยกันเพียงลมปาก แต่ไม่มีหลักฐาน ตอนยังฟอร์มดีก็มีประโยชน์ หากว่าฟอร์มแย่ก็เฉดหัวส่ง ซึ่งถือเป็นผลเสียของระบบฟุตบอลอาชีพโดยการจัดตั้งองค์กรนี้ยังสามารถเป็นที่พึ่งให้แก่นักเตะได้ในกรณีที่เกิดปัญหากับสโมสรต้นสังกัดเอาเปรียบ ดังนั้นจึงเป็นผลดีมากกว่าผลเสียในการก่อตั้ง เหมือนในแถบยุโรปที่สามารถเป็นกระบอกเสียงต่อสู้กับอำนาจมืดเหล่านี้ได้ ในส่วนสำหรับความเป็นไปได้นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับเหล่านักเตะทั้งหลายว่าต้องการให้เกิดองค์กรที่สามารถดูแลสัญญา รักษาสิทธิประโยชน์ และป้องกันการคุกคาม การเอารัดเอาเปรียบของเขาเองหรือไม่ โดยทางสโมสรชลบุรี เอฟซี ยินดีสนับสนุนเรื่องนี้ เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้วงการลูกหนังไทยมีการพัฒนาไปอีกขั้น อย่างไรก็ตามทั้งหมดนี้จะประสิทธิผลได้ก็ขึ้นอยู่กับว่าสโมสรต้นสังกัดหรือสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ให้การยอมรับหรือไม่"
สำหรับความต้องการในการจัดตั้ง "สมาคมหรือสหภาพนักฟุตบอลอาชีพ" ของนักเตะไทยนั้น "หนุ่มโอ๊ต" ณัฐพร พันธุ์ฤทธิ์ ปราการหลังจอมแกร่งแห่งสโมสรเมืองทองฯ ยูไนเต็ด ในฐานะกัปตันทีมชาติไทย เผยว่า "ถือเป็นสิ่งดีเหมาะสมกับความเป็นลีกมืออาชีพในเมืองไทย เพราะกรณีที่นักเตะมีปัญหากับสโมสรต้นสังกัดก็จะได้ปรึกษา หารือ กับทางที่ปรึกษาของสมาคมนักเตะฯ ได้อย่างทันที ไม่ต้องกลัวว่าจะถูกเอาเปรียบหรือเบี้ยวสัญญา อีกทั้งนักเตะยังสามารถเป็นอีกหนึ่งเสียงที่สามารถกำหนดเส้นทางเดินของตัวเองได้ ซึ่งผมก็อยากให้วงการฟุตบอลไทยก้าวหน้าเหมือนอย่างที่มีการจัดตั้งหน่วยงานเพื่อมาดูแลผู้เล่นเหมือนในลีกชั้นนำของโลกเช่นกัน"
อย่างไรก็ตาม ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง ประธานบริษัทไทยพรีเมียร์ลีกจำกัด ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารทีมชาติไทย กล่าวถึงความเป็นได้ในการจัดตั้ง "สมาคมหรือสหภาพนักฟุตบอลอาชีพ" ว่า "ต้องบอกก่อนว่าเรื่องนี้ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ หากอยากให้เกิดการจัดตั้งขึ้นจะต้องอยู่ในรูปแบบสหภาพไม่ใช่สมาคม โดยการจัดตั้งสหภาพนั้นเป็นสิทธิ์โดยชอบธรรมที่ทุกคนสามารถปฏิบัติได้ทุกเมื่อ เพื่อวัตถุประสงค์ในการขอความคุ้มครองและเรียกร้องสิทธิประโยชน์ต่างๆ ทั้งนี้หากนักเตะต้องการจัดตั้งขึ้นนั้น ต้องดำเนินการโดยไปขอจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงานเป็นสหภาพนักเตะ หากทำได้ก็นับเป็นเรื่องดี เพราะจะได้ช่วยเหลือนักเตะเมื่อถึงคราวที่มีปัญหา อย่างไรก็ตามต้องถามก่อนว่าปัจจุบันนี้นักเตะมีปัญหากับสโมสรต้นสังกัดหรืออย่างไร จึงต้องมีการเรียกร้องให้จัดตั้งสมาคมนักเตะ เพราะเท่าที่ทราบการโอนย้ายนักเตะแต่ละครั้งสโมสรเหล่านั้นต่างติดต่อผ่านทางเอเยนต์เสมอจึงไม่น่ามีปัญหาแต่อย่างใด"
ท้ายที่สุดไม่ว่าบทสรุปจะเป็นอย่างไร การที่คนกีฬาไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารทีมชื่อดังหรือนักเตะจากสโมสรชั้นนำของประเทศต่างมีความเห็นพ้องและเรียกร้องให้เกิดการก่อตั้ง "สมาคมหรือสหภาพนักฟุตบอลอาชีพ" สะท้อนอีกแง่มุมหนึ่งของวงการลูกหนังไทยให้เห็นว่า ไม่ว่ากระแสฟุตบอลจะแรงแค่ไหน ยังมีอีกมุมที่ความถูกต้องก้าวไปไม่ถึง