xs
xsm
sm
md
lg

"วินฟรีด เชเฟอร์" อัศวินกู้วิกฤติ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วินฟรีด เชเฟอร์ ว่าที่กุนซือไทยคนใหม่
ASTV ผู้จัดการรายวัน – นับว่ามาแรงแซงโค้งทีเดียวสำหรับ “วินฟรีด เชเฟอร์” โค้ชชาวเยอรมัน วัย 61 ปีที่ก้าวเข้ามานั่งแท่นกุนซือทัพลูกหนังทีมชาติไทยต่อจาก ไบรอัน ร็อบสัน ซึ่งขออำลาไปด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ โดย “วินนี” ที่ส่งหนังสือเสนอตัวเข้ามายังสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เมื่อสัปดาห์ก่อนได้มีโอกาสคุยกับ วรวีร์ มะกูดี ซึ่งเพิ่งรั้งตำแหน่งนายกลูกหนังไทยเป็นสมัยที่ 3 ก่อนจะตกลงเซ็นสัญญาว่าจ้างเป็นเวลา 3 ปีแบบสายฟ้าแลบ

ด้าน “บังยี” ให้เหตุผลถึงการหันมาติดต่อกับ เชเฟอร์ ว่าเป็นเพราะโค้ชชาวไทยที่ตั้งใจแต่แรกว่าจะดึงเข้ามาทำทีมยังคงติดสัญญากับสโมสรต้นสังกัด ทั้ง สุรชัย จตุรภัทรพงศ์ (บางกอกกล๊าส) หรือ เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง (บีบีซียู) ตลอดจนได้รับข้อเสนอแนะจากแฟนบอลที่ส่งอีเมล์เข้ามาที่ worawi_m@hotmail.com ว่าอยากได้กุนซือต่างชาติ เมื่อรวมกับการเสนอตัวเข้ามาเองและประวัติการทำงานที่ผ่านมาจึงเบนเข็มมาเจรจาอย่างเต็มตัว

สำหรับ วินฟรีด เชเฟอร์ เริ่มงานโค้ชบนเวทีบุนเดสลีกาด้วยการเป็นแมวมองให้กับ โบรุสเซีย มึนเชนกลัดบัค ก่อนผันตัวมาเป็นเฮดโค้ชที่ คาร์ลสรูห์ (ปี 1986-1998) ซึ่งมีส่วนปั้นดาวรุ่งอย่าง โอลิเวอร์ คาห์น, เมห์เม็ต โชล, เยนส์ โนว็อทนี และ มิชาเอล ทาร์นาท จนก้าวขึ้นไปติดทีมชาติเยอรมนีชุดใหญ่ จากนั้นก็ไปคุมทีม สตุตการ์ท และ โบรุสเซีย เบอร์ลิน จนกระทั่งได้ทำทีมชาติแคเมอรูนในปี 2000 ซึ่งก็พา “หมอผี” คว้าแชมป์แอฟริกัน เนชันส์ คัพ 2002, ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลก2002 รอบสุดท้าย และคว้ารองแชมป์ฟีฟ่า คอนเฟเดอเรชันส์ คัพ 2003 รวมทั้งมีส่วนช่วยพัฒนาฝีเท้าให้กับ ซามูเอล เอโต จนได้ย้ายไปอยู่กับ รีล มายอร์กา (ปี 2000) และ บาร์เซโลนา (ปี 2004)

ต่อมาปี 2005 “วินนี” รับงานระดับสโมสรอีกครั้งกับ อัล อาห์ลี ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งพาทีมคว้าแชมป์ลีกได้ในปี 2006 ก่อนย้ายมาคุม อัล ไอน์ ซึ่งนำทีมคว้าแชมป์เอมิเรตส์ คัพ 2009, แชมป์ยูเออี เพรสซิเดนท์ คัพ 2009 และยูเออี ซูเปอร์ คัพ ปี 2010 ก่อนรับงานล่าสุดกับ เอฟเค บากู พาทีมจบอันดับ 6 ของลีกอาเซอร์ไบจัน

จากประวัติการทำทีมข้างต้น แฟนบอลชาวไทยส่วนใหญ่อาจจะพอใจที่ได้ผู้ฝึกสอนชาวต่างชาติที่ดูดีมีระดับ แต่ วิทยา เลาหกุล ซึ่งเคยค้าแข้งที่เมืองเบียร์กับ แฮร์ธา เบอร์ลิน และ ซาร์บรูคเคน กลับมองต่างมุมว่า “เราใช้โค้ชคนไทยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเสียเงินมากเพื่อจ้างโค้ชชาวต่างชาติ เชเฟอร์ อาจจะมีชื่อเสียงแต่ผมคิดว่าที่ เยอรมนี ยังมีคนเก่งกว่านี้อีก หรือหากได้โค้ชชาวสเปนหรือฮอลแลนด์ก็อาจจะเข้ากับสไตล์นักเตะไทยมากกว่า”

“ผมไม่ได้บอกว่า เชเฟอร์ ไม่เก่ง เพราะโค้ชแต่ละคนต่างก็มีความสามารถ แต่สิ่งสำคัญคือถ้าเราดึงมาแล้ว เขาต้องรู้ว่าผู้เล่นคนไหนเล่นอย่างไรบ้าง ที่สำคัญต้องมีแผนการทำทีมที่ชัดเจน ตลอดจนมีจิตวิทยาที่ดีในการคุมนักเตะ นอกจากนั้น สมาคมฯ ต้องมีประธานฝ่ายเทคนิคที่เก่งคอยสอดส่อง เข้ามาดูแล้วรู้ว่าการทำทีมของโค้ชเป็นไปในทิศทางไหน ตลอดจนลงไปดูแลการทำทีมชาติระดับเยาวชน แต่ถ้าจ้างมาคุมทีมชาติชุดใหญ่เพียงอย่างเดียวก็ไม่ต่างกับการสร้างบ้านเฉพาะหลังคาโดยไม่วางเสาเข็ม เราก็ไม่ได้ประโยชน์ในระยะยาว” โค้ชเฮง กล่าว

ที่ผ่านมามีโค้ชชาวเยอรมันถึง 9 คนที่เคยรับบทควาญช้างศึก แต่คนที่สร้างผลงานชนิดจับต้องได้มีเพียง โบการ์ด ซีเซ่ (เหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 13 พ.ศ.2528), ปีเตอร์ สตูบเบ (เอเชียน คัพ รอบสุดท้าย พ.ศ.2535 ผลงานเสมอ กาตาร์, จีน แพ้ ซาอุดิอารเบีย และ เหรียญทองซีเกมส์ ครั้งที่ 17 พ.ศ.2536) เท่านั้น ซึ่ง “เฮงซัง” ยังทิ้งท้ายอีกว่าโค้ชเหล่านั้นเข้ามาแล้วก็จากไปโดยที่ไม่ได้ปูวางรากฐานหรือรูปแบบการเล่นที่ ไทย สามารถนำมาใช้ได้หลังพ้นจากตำแหน่งเอาไว้ให้ ส่วน เดทท์มาร์ คราเมอร์ ปรมาจารย์ลูกหนังผู้พา บาเยิร์น มิวนิค คว้าแชมป์ยูโรเปียน คัพ 2 สมัย (ปี 1975 และ 1976) ที่เคยรับงานประธานฝ่ายเทคนิคในสมัยที่ วิทยา เลาหกุล เป็นเฮดโค้ชก็โบกมือลากลับบ้านไปดื้อๆ ก่อนลุยซีเกมส์ ครั้งที่ 19 พ.ศ.2540 เพราะรับไม่ได้กับการบริหารที่ไม่เป็นมืออาชีพของสมาคมฯ

อีกประเด็นที่น่าจับตามอง คือ ค่าจ้างของ วินฟรีด เชเฟอร์ ซึ่งอาจอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่กุนซืออิมพอร์ต 2 คนก่อนหน้านี้อย่าง ปีเตอร์ รีด (60 ล้านบาทต่อปี) และ ไบรอัน ร็อบสัน (33 ล้านบาทต่อปี) ได้รับ แต่หากปราศจากการวางแผนงานที่ดีในการเตรียมทีมอาจเป็นการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” อีกครั้ง หลังมีบทเรียนราคาแพงมาแล้วในระยะหลัง โดยด่านแรกที่รอทดสอบกึ๋น “วินนี” อยู่เป็นงานช้างอย่าง ฟุตบอลโลก 2014 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบสอง ซึ่งรอพบผู้ชนะระหว่าง ปาเลสไตน์ กับ อัฟกานิสถาน ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้
“บังยี” ตัดชอยซ์เรียบร้อยแล้ว?
“โค้ชเฮง” แนะสมาคมฯต้องมีประธานเทคนิค
“ช้างศึก” มีคิวเตะฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกรออยู่
กำลังโหลดความคิดเห็น