ASTVผู้จัดการรายวัน - ภายหลังการลงจากเก้าอี้กุนซือทีมชาติไทยของ ไบรอัน ร็อบสัน ตำนานกองกลางของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และทีมชาติอังกฤษ วัย 54 ปี เมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วยสาเหตุด้านปัญหาสุขภาพตามที่เจ้าตัวออกมาแถลง (หรืออาจเป็นเหตุผลอื่น ?) ทำให้เกิดคำถามตามมาในวงการลูกหนังบ้านเราว่าตำแหน่งหัวหน้าผู้ฝึกสอนของขุนพลช้างศึกชุดใหญ่ควรจะเลือกใช้บริการใครระหว่าง "โค้ชไทย" หรือ "ชาวต่างชาติ"
หากดูจากสถิติชนะ 10 เสมอ 8 แพ้ 8 ตลอด 26 นัด กับผลงานไม่ผ่านรอบคัดเลือก เอเชียนคัพ 2011 และตกรอบแรกอาเซียนคัพ 2011 โดยไม่ชนะใครที่ “ร็อบโบ” ฝากไว้ มีหลายกระแสมองว่าถึงเวลาผลักดันโค้ชสายเลือดไทยแท้ขึ้นรั้งบังเหียน แต่เมื่อดูกรณีของ ปีเตอร์ วิธ ที่เคยนำทีมชาติไทยคว้าอันดับ 4 เอเชียนเกมส์ 2 สมัย, เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้ายของศึกฟุตบอลโลก 2002 รอบคัดเลือกโซนเอเชียแล้ว การได้โค้ชนอกฝีมือดีเข้ามาก็ยังเป็นทางเลือกที่น่าลองอีกสักตั้ง ล่าสุดก็มีข่าว ออสวัลโด อาร์ดิเลส (อาร์เจนตินา), วินฟรีด เชเฟอร์ (เยอรมนี) และ โรเบิร์ต ยาสเพิร์ท (เยอรมนี) เสนอตัวขอรับเผือกร้อนชิ้นนี้
ในส่วนของนักเตะ ปราการหลังตัวหลักของทีมชาติไทยอย่าง ณัฐพร พันธุ์ฤทธิ์ แสดงความคิดเห็นว่า "ข้อดีของโค้ชไทย คือ รู้ข้อมูลของผู้เล่นเป็นอย่างดีและสื่อสารกันได้ง่าย แต่ก็ใช่ว่าผู้เล่นที่ติดทีมชาติจะมีอคติกับโค้ชต่างชาติ ซึ่งเราพร้อมที่จะร่วมงานกับโค้ชทุกคน ถ้าเราจ้างโค้ชต่างชาติแล้วมีผู้ช่วยโค้ชชาวไทยเป็นคนกลางก็จะช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ในสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ว่าจะเลือกใครเข้ามา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่เรามีเกมฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก รออยู่ในเดือนหน้า"
ด้าน วิทยา เลาหกุล อดีตนักเตะและกุนซือทีมชาติไทย ซึ่งมีประสบการณ์ทั้งในและต่างแดนอย่างโชกโชน มองถึงเรื่องนี้ว่า "อันที่จริงเราจะใช้วิธีเดียวกับทีมชาติญี่ปุ่นที่เคยดึง ทาเคชิ โอกาดะ มาทำหน้าที่หลังจากคว้าแชมป์ลีกในระดับสโมสรก็ได้ ซึ่งการใช้บริการคนที่มีดีกรีแชมป์ไทยพรีเมียร์ลีกอย่าง อรรถพล ปุษปาคม หรือ เรเน เดอซาเยียร์ ก็เป็นหนทางที่ดี ส่วนตัวผมเชื่อว่าโค้ชไทยก็มีความสามารถไม่แพ้โค้ชต่างชาติและน่าจะเหมาะสมที่สุด เนื่องจากรู้จักผู้เล่นไทยด้วยกันเองเป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีคนรุ่นใหม่ที่มีฝีมือหลายคนทั้ง สุรชัย จตุรภัทรพงศ์, เกียรติศักดิ์ เสนาเมือง, สะสม พบประเสริฐ หรือ ธวัชชัย ดำรงอ่องตระกูล"
"โค้ชเฮง" กล่าวต่อว่า “ผมไม่ได้บอกว่าโค้ชต่างชาติไม่เหมาะสม แต่ถ้าจ้างมาแล้วก็ต้องมีเวลาคลุกคลีกับผู้เล่นอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากสมาคมฟุตบอลฯ ด้วย ซึ่งสาเหตุจริงๆ ที่ ไบรอัน ร็อบสัน ขอลาออกเพราะไม่มีการจัดเกมทีมชาติให้เขา ซึ่งคล้ายกับกรณีของ เดทท์มาร์ คราเมอร์ ปรมาจารย์ลูกหนังชาวเยอรมัน (พา บาเยิร์น มิวนิค คว้าแชมป์ยูโรเปียน คัพ ปี 1975 และปี 1976) ที่โบกมือลาไปดื้อๆ เพราะรับไม่ได้กับการบริหารจัดการที่ไม่เป็นมืออาชีพ ดังนั้น สมาคมฯ ต้องกำหนดโครงสร้างแผนงานของทีมชาติไทยให้ชัดเจน โดยอาจดึงชาวต่างชาติมาเป็นประธานพัฒนาเทคนิค รวมถึงให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยเหมือนที่ผ่านมา”
ทั้งหมดที่กล่าวมาถือเป็นโจทย์ใหญ่อีกโจทย์หนึ่งที่นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ซึ่งจะได้รับการเลือกตั้งในวันที่ 17 มิถุนายนนี้ ต้องกลับไปทบทวนอย่างละเอียดก่อนตัดสินใจแต่งตั้งกุนซือทีมชาติไทย เนื่องจากมีโปรแกรมสำคัญอย่าง ฟุตบอลโลก 2014 รอบคัดเลือกโซนเอเชีย รอบสอง นัดแรก ในวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ซึ่งรอพบผู้ชนะระหว่าง ปาเลสไตน์ กับ ปากีสถาน เป็นด่านทดสอบฝีมือผู้ขี่หลังช้างศึกคนใหม่อยู่ แต่หากข่าวลือในช่วงแรกที่ว่าจะดึง ปีเตอร์ วิธ หรือ ชาญวิทย์ ผลชีวิน กลับมาอีกครั้งเกิดขึ้นจริงก็คงไม่ต่างอะไรกับการพายเรือในอ่างซึ่งได้แต่วนเวียนอยู่ที่เดิม