xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้ง "ลูกหนังไทย" เปลี่ยนระบบเพื่อใคร?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วรวีร์ มะกูดี
ASTVผู้จัดการรายวัน - ช่วงเดือนมีนาคม 2554 ถือเป็นกำหนดเส้นตายที่สมาคมกีฬาต่างๆ ในประเทศไทยจะต้องทำการเลือกตั้งนายกสมาคมเสร็จสิ้น หลังทำงานมาครบวาระ 2 ปี ซึ่งสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย ก็เป็นหนึ่งในจำนวนนั้นเช่นกัน

สืบเนื่องจากประเด็นที่ "บังยี" วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ เปิดเผยภายหลังเดินทางไปร่วมประชุมสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ "ฟีฟา" ที่นครซูริก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ระหว่างวันที่ 1-6 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งประเด็นสำคัญอยู่ที่ "ฟีฟา" ได้กำหนดข้อบังคับมาตรฐานในการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลทั่วโลกให้เป็นในทิศทางเดียวกัน สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ จึงต้องปรับธรรมนูญการเลือกตั้งกรรมการบริหาร รวมทั้งตำแหน่งนายกสมาคมให้สอดคล้องกับระบบสากล

โดยรายละเอียดสำคัญของธรรมนูญใหม่ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการทั้ง 19 ตำแหน่งต้องมาจากการเลือกตั้ง ตั้งแต่นายกสมาคม, อุปนายกสมาคม และคณะกรรมการบริหาร โดยต้องมีอุปนายกสมาคมเป็นสุภาพสตรี 1 คน 2.ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งมาจากทุกภาคส่วน ประกอบด้วย สโมสรในไทยพรีเมียร์ลีก 18 เสียง, ดิวิชัน 1 18 เสียง, ลีกภูมิภาค ดิวิชัน 2 ทั้ง 5 ภาค ตัวแทนภาคละ 2 เสียง รวม 10 เสียง, กลุ่มทีมสมัครเล่น ถ้วยพระราชทานประเภท ข, ค, ง รวม 6 เสียง, ผู้แทนผู้เล่น 1 เสียง, ผู้แทนผู้ฝึกสอน 1 เสียง, ผู้แทนผู้ตัดสิน 1 เสียง, ผู้แทนฟุตบอลหญิง 1 เสียง, ผู้แทนฟุตซอลและบีชซอคเกอร์ 1 เสียง และผู้แทนจากแฟนบอล 1 เสียง

พร้อมกันนี้ "บังยี" ยังได้ยืนยันว่าการเปลี่ยนแปลงธรรมนูญตามรูปแบบดังกล่าวไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.การกีฬาแห่งประเทศไทย ซึ่งได้ศึกษามาอย่างถี่ถ้วนแล้ว นอกจากนั้นยังเป็นไปตามมติเห็นชอบของที่ประชุมของสโมสรสมาชิก และได้ทำหนังสือแจ้ง กกท. อย่างเป็นทางการ รวมถึงปรึกษากับนายกนกพันธุ์ จุลเกษม ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทยเรียบร้อยแล้ว ซึ่งกำลังรอหลักฐานยืนยันแม่แบบธรรมนูญใหม่จากทาง "ฟีฟา" ที่จะส่งมาภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจึงจะเข้าสู่ขั้นตอนในการให้สโมสรสมาชิกรับรองและยื่นให้ กกท. ได้รับทราบ ก่อนกำหนดวันเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลฯ ต่อไป

ขณะที่ "บิ๊กหนุ่ม" กนกพันธุ์ จุลเกษม ผู้ว่า กกท. กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนธรรมนูญเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฟุตบอลฯ ตามที่ นายวรวีร์ กล่าวข้างต้นว่า ในส่วนของหลักการนั้นขึ้นอยู่กับสโมสรสมาชิกที่จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ หากสโมสรสมาชิกส่วนใหญ่รับรองในที่ประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือที่ประชุมใหญ่วาระพิเศษ (วิสามัญ) ในการแก้ไขธรรมนูญก็สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม กกท. ยังไม่ได้รับหลักฐานเรื่องวาระการประชุมจากสมาคมฟุตบอลฯ ซึ่ง "บังยี" ระบุว่ามีการจัดประชุมไปเมื่อปี พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา

"โดยหลักการแล้วการแก้ไขธรรมนูญการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาสามารถทำได้ โดยต้องผ่านการเห็นชอบของสมาชิกสโมสรในที่ประชุมว่าแก้ไขอย่างไร เพื่ออะไร จากนั้นต้องส่งเรื่องมาที่ประชุมใหญ่ประจำปี เพื่อรับรองการประชุม ซึ่งก็ได้มีการปรึกษาหารือกันในเบื้องต้น แต่ผมยังไม่เห็นผลรายงานวาระที่ประชุมครั้งที่ผ่านมาของสมาคมฟุตบอลฯเลย"

นอกจากนี้ "บิ๊กหนุ่ม" กล่าวชี้แจงถึงการเลือกตั้งนายกสมาคมกีฬาในประเทศไทยด้วยว่า "ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ในบ้านเราใช้การเลือกตั้งระบบประธานาธิบดี คือ การเลือกตั้งนายกสมาคมเพียงคนเดียว ก่อนที่จะให้ตัวนายกสมาคมเลือกคณะกรรมการบริหารมาร่วมทำงานทั้ง 18 คน แต่อีกระบบคือการเลือกตั้งระบบรัฐสภา อย่างที่สมาคมฟุตบอลฯ จะนำมาใช้ ด้วยการเลือกกรรมการบริหารก่อน 19 คน แล้วให้ทั้ง 19 คนเลือกนายกสมาคมฯ อีกครั้ง ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้ง 2 แบบ แต่ต้องมีการประชุมกันภายในก่อน ค่อยยื่นเรื่องมาที่ กกท."

ซึ่งจากการคาดการณ์แล้วสมาคมลูกหนังไทยจำเป็นต้องมีการเรียกประชุมสมาชิกเพื่อลงมติเห็นชอบการเลือกตั้งธรรมนูญใหม่เสียก่อน จึงจะเลือกตั้งนายกสมาคมฯ กันได้ และอาจไม่ทันกำหนดเส้นตายของ กกท.ที่ให้ทุกสมาคมต้องได้นายกสมาคมคนใหม่ภายในเดือนมีนาคม 2554 อย่างไรก็ตาม "บิ๊กหนุ่ม" เชื่อว่าหากสมาคมลูกหนังไทยจะเลือกตั้งผู้นำคนใหม่เลยเส้นตายดังกล่าว "ผมคิดว่าคงไม่มีปัญหาอะไร แต่สมาคมฟุตบอลฯ จำเป็นต้องชี้แจงเหตุผลที่ไม่มีกำหนดเลือกตั้งนายกสมาคมในช่วงเดือนมีนาคมนี้ ว่ามีความเหมาะสมเพียงใด ซึ่งก็ไม่ใช่ปัญหาใหญ่แต่อย่างใด"

อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนธรรมนูญการเลือกตั้งของสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือไม่ เนื่องจากแต่เดิมมาทุกสโมสรที่ขึ้นกับสมาคมฟุตบอลฯ ต่างก็มี 1 เสียงในการเลือกตั้งเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นสโมสรอาชีพ หรือสโมสรระดับสมัครเล่นที่มีจำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องยากในการล็อบบี แต่ปัจจุบันสโมสรในระดับลีกภูมิภาค ดิวิชัน 2 ทั้ง 5 ภาค จะมีสิทธิ์มีเสียงเพียงแค่ 10 เสียง รวมถึงทีมสมัครเล่นที่ลงแข่งขันในถ้วยพระราชทานประเภท ข, ค, ง มีเพียง 6 เสียงเท่านั้น ขณะที่ตัวแทนจากผู้ตัดสินก็มีเพียง 1 เสียง จึงมีข้อสังเกตว่าเป็นการเตะสกัดการลงชิงชัยของอดีตประมุขเก่าอย่าง "วีเจ" วิจิตร เกตุแก้ว ที่มีฐานเสียงในแวดวงผู้ตัดสินเป็นจำนวนมากด้วยหรือไม่?
กนกพันธุ์ จุลเกษม
วีเจ ถูกสกัดด้วยธรรมนูญการเลือกตั้งใหม่
กำลังโหลดความคิดเห็น