xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรำลึก ฟุตบอลโอลิมพิคไทย / กษิติ กมลนาวิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ EYE ON SPORTS โดย กษิติ กมลนาวิน

นับตั้งแต่ปี 1956 ที่ เมืองเมลเบิร์น ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ฟุตบอลทีมชาติไทยได้เข้าร่วมรอบสุดท้ายใน โอลิมพิค เกมส์ และหนที่ 2 ในปี 1968 ที่ เมฮีโก ซิตี เป็นเวลาร่วมครึ่งศตวรรษแล้วที่เราไม่มีโอกาสนำธงชาติไทยไปโบกสะบัด ลอนเดิน เกมส์ 2012 จะเป็นอีกครั้งที่ทีมชาติไทยพร้อมสรรพสำหรับการนำทีมไปสู่ระดับโลก

เมื่อ เมลเบิร์น ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน โอลิมพิค เกมส์ ครั้งที่ 16 ก่อนหน้านั้น มีสงครามเกาหลี และในช่วงปลายเดือนตุลาคม 1956 เกิด วิกฤตการณ์คลองซูเอซ ขึ้นอีก อิสราเอล อังกฤษ และ ฝรั่งเศส บุกเข้าโจมตี อีจิพท์ ทำให้ทั้ง อีจิพท์ อีรัก และ เลบานอน ประกาศไม่เข้าร่วม โอลิมพิค เกมส์ นอกจากนั้น สหภาพโซเวียต ยังเข้าแทรกแซงในการปฏิวัติที่ ฮังการี อีกด้วย เมื่อ โซเวียต เข้ามาแหลใน โอลิมพิค เกมส์ ครั้งนี้ เนเธอร์แลนด์ส สเปน และ สวิส จึงประท้วงด้วยการประกาศถอนตัวจากการแข่งขัน ส่วน จีนแผ่นดินใหญ่ ก็งอนถอนยวงออกไปเพราะเจ้าภาพดึงดันปล่อยให้ ไต้หวัน เข้าร่วมในนาม ฟอรโมซา

โอลิมพิค เกมส์ ครั้งนี้ เมลเบิร์น จัดการแข่งขันช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน อากาศยังหนาวอยู่ ทีมชาติไทยที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมโดยไม่ต้องผ่านรอบคัดเลือก มีการคัดตัวนักเตะจาก 150 คนให้เหลือ 18 คน ฝึกซ้อมอย่างหนักตลอดระยะเวลา 7 เดือน แต่เนื่องจากงบประมาณไม่เพียงพอจึงต้องตัดออกไปอีก 5 คน ให้มีนักเตะสำรองเพียง 2 คนเท่านั้น เมื่อเดินทางไปถึงเสื้อกันหนาวก็ไม่มี ต้องไปซื้อเสื้อกันฝนมาใส่แทน ซึ่งมันก็ไม่ได้ช่วยอะไรเลย และสมัยนั้นฝรั่งตัวสูงใหญ่กว่าไทยมาก ใครๆที่ได้เห็นยังรู้สึกขำในความบักหนานของทีมไทยอีกด้วย

เมื่อจับสลากประกบคู่ในรอบแรก ซึ่งมี 16 ทีม แข่งกันแบบน็อคเอาท์นัดเดียว 8 คู่ แต่มีการถอนตัวออกไปเยอะ ดังนั้นจึงมีการแข่งขันเพียง 3 คู่เท่านั้น และ 1 ในนั้นคือ ทีมชาติไทย ที่ต้องเจอกับ อังกฤษ ต้นตำหรับฟุตบอลสมัยใหม่ ซึ่งสมัยนั้นยังเป็นทีมรวมทั้ง สก็อทแลนด์ เวลส์ อายร์แลนด์เหนือ และ อังกฤษ ในนาม สหราชอาณาจักร แล้วผลการแข่งขันก็แพ้ขาด 9-0 ตกรอบแรกสนิท และสกอร์ห่างเป็นสถิติของการแข่งขันฟุตบอล โอลิมพิค เกมส์ ครั้งนั้นด้วย

เมฮีโก 68 เป็นครั้งที่ 2 ที่นักเตะไทยได้เข้าร่วมการแข่งขัน มี นิวัติ ศรีสวัสดิ์ ชัชชัย พหลแพทย์ สราวุธ ประทีปากรชัย เชาว์ อ่อนเอี่ยม ณรงค์ สังข์สุวรรณ สนอง ไชยยงค์ อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค เป็นต้น มีทีมร่วมแข่งขัน 16 ทีมเช่นกัน คราวนี้แบ่งออกเป็น 4 สาย แข่งแบบพบกันหมดในสายแล้วคัดเอาสายละ 2 ทีมเข้ารอบน็อคเอาท์ ซึ่ง ไทย ถูกจัดอยู่ในสาย D ร่วมกับ บุลกาเรีย เช็กโกสโลวาเกีย และ กัวเตมาลา ดูท่าว่าสายนี้น่าจะอ่อนที่สุด

ลงสนามนัดแรก ทีมชาติไทย เจอทีมแกร่งที่สุดในสายคือ บุลกาเรีย ซึ่งเราสามารถต้านทานไว้ได้อย่างน่าพอใจ จบครึ่งแรกโดนนำเพียง 1 ประตู แต่ก็อย่างว่าครับ ฟุตบอลไทยสมัยนั้น เรื่องเรี่ยวแรงเรายังขาด ยืนไม่ครบ 90 นาทีก็โรย ครึ่งหลังถึงกับยุ่ย โดนไปอีก 6 จบเกม ไทย แพ้ 0-7

นัดที่สอง ฟังชื่อชั้นค่อยอุ่นใจหน่อย กัวเตมาลา ประเทศในอเมริกากลาง เล็กกว่าไทยตั้ง 5 เท่า แต่นัดแรกดันชนะ เช็กโกสโลวาเกีย มาซะอีก เราโดนยิงนำไปก่อน แต่ก็สามารถตีเสมอได้จาก อุดมศิลป์ สอนบุตรนาค เป็น 1-1 นึกว่าพอสู้ได้ แต่เมื่อกลับมาเล่นในครึ่งหลัง ก็เข้ารูปหมูสนามตามเดิม โดนไปอีก 3 แพ้ 1-4 หมดโอกาสลุ้นเข้ารอบ 2 นัดสุดท้ายเจอกับ เช็กโกสโลวาเกีย ที่ยังมีลุ้นเข้ารอบ เพราะคะแนนยังไม่ห่างกันมาก เนื่องจากยุคนั้นทีมชนะได้เพียง 2 คะแนนเท่านั้น และก็ตามฟอร์ม เช็กโก ถล่มไทย 8-0 เป็นสถิติใน โอลิมพิค เกมส์ หนนั้น

ผ่านมาครึ่งศตวรรษ บัดนี้ ลีกไทยพัฒนาขึ้นมาก ตัวเลือกมีมากขึ้น การมีนักเตะต่างชาติในลีกไทย ทำให้เรามีโอกาสทดสอบฝีเท้าและเก็บเกี่ยวประสบการณ์กับนักเตะต่างชาติอยู่เป็นประจำ นักกีฬาสมัยนี้มีร่างกายแข็งแกร่งกว่าสมัยก่อนด้วยวิทยาศาสตร์การกีฬา โภชนาการที่เปลี่ยนแปลงไปจนทัดเทียมนานาชาติ ทักษะ เทคนิค และ แท็คติค เหนือกว่าก่อนอย่างเห็นได้ชัด วันนี้ไม่มีแล้วครับที่ทีมชาติไทยจะแพ้ด้วยสกอร์มโหฬาร แต่จะสู้กับทีมไหนๆได้อย่างมีลุ้น นี่เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ทีมไทยจะได้ไปไกลอย่างที่ฝัน ร่วมชม ร่วมเชียร์ ทีมชาติไทย ไป โอลิมพิค เกมส์ 2012 วันนี้ หกโมงเย็น ที่สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ ครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น