"บิ๊กหนุ่ม" กนกพันธ์ จุลเกษม ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย ยอมรับวิวัฒนาการกีฬาอาชีพต้องใช้เวลาในการเร่งสร้างวัฒนธรรมป้องกันฮูลิแกนแก่เยาวชนในการชมฟุตบอลอย่างเป็นมืออาชีพเพื่อก้าวมาเป็นแฟนคลับที่ดีของสโมสรรุ่นต่อไป พร้อมเร่งสร้างสนามกีฬาเพื่อรองรับการแข่งขันอีกทั้งกองเชียร์และผู้บริหารทีมต้องให้เกียรติผู้ตัดสินมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงในสนามบ่อยครั้งจากฤดูกาลการแข่งขันฟุตบอลอาชีพทั้งไทยพรีเมียร์ลีก จนกระทั่งระดับภูมิภาค โดย "บิ๊กหนุ่ม" กนกพันธ์ จุลเกษม ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เผยถึงมาตรการคุมเข้มปัญหาข้อวิวาทในสนามฟุตบอลว่า "ในปัจจุบันเรามีมาตรการใช้สำหรับแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการแก้ปัญหาในระยะยาวเนื่องจากในประเทศไทยยังไม่รู้จักคำว่าฟุตบอลอาชีพ อีกทั้งยังไม่เคยสร้างวัฒนธรรมการชมการเชียร์อย่างเป็นมืออาชีพจริงๆ ซึ่งตามธรรมชาติของกีฬาต้องมีการแข่งขันทุกสัปดาห์ตลอดทั้งปีมีเว้นว่างสำหรับช่วงพักเลก เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างเป็นวัฏจักรที่หมุนเวียน ไม่เพียงแต่ว่าจะแข่งขันจบแล้วก็แล้วต่อกัน ดังนั้นเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นควรที่จะมีการแก้ปัญหาเบื้องต้นในเรื่องของวัฒธรรมการชมต้องปลูกฝังให้กับเยาวชนในบ้านเรารับทราบและเข้าใจปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้เกิดความถูกต้อง เพื่อป้องกันให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นน้อยที่สุดจนกระทั่งหมดไป"
"ยกตัวอย่างลีกฟุตบอลในแถบยุโรปที่มีฮูลิแกนเขาใช้ระยะเวลากว่า 100 ปีในการที่จะให้กองเชียร์เข้าใจกฏ กติกาการเชียร์ฟุตบอล พร้อมมีมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา หรือในแถบเอเชีย อาทิ เกาหลี และ ญี่ปุ่นที่สามารถสร้างฟุตบอลอาชีพสำเร็จได้ภายใน 16 ปี จากที่เขียนแผนดำเนินการเป็น 100 ปี ซึ่งปัญหาดังกล่าวต้องใช้ระยะเวลาในการแก้ไข เนื่องจากฟุตบอลอาชีพบ้านเราเพิ่งเติบโตได้เพียง 5-6 ปี จึงยังไม่มีความพร้อมในด้านนี้ให้กับแฟนคลับ ขณะเดียวกันสื่อต่างๆ ไม่ควรไปตอกย้ำสิ่งที่ไม่ดีเหล่านั้นออกมาเผยแพร่อีกครั้ง ทว่าควรที่จะนำเสนอสิ่งดีๆ เกี่ยวกับกีฬาให้ประชาชนได้มีความปลื้มปิติมากกว่านี้"
นอกจากนี้ "บิ๊กหนุ่ม" แนะวิธีการคิดหลังจบเกมการแข่งขันว่า "แน่นอนว่ากองเชียร์ทั้งสองฝ่ายต่างจงรักภักดีต่อทีมดังนั้นหากทีมที่เชียร์ไม่สามารถเอาชนะคู่ต่อสู้ได้ ต้องคิดในทางกลับกันว่าลีกเรามีการแข่งขันทุกสัปดาห์ แมตช์นี้แพ้แต่แมตช์หน้าอาจนำ 3 แต้มกลับคืนมาก็ได้ อย่างไรก็ตามการปลูกฝังแต่เพียงแฟนคลับนั้นยังไม่เพียงพอ ต้องปลูกฝังถึงระดับเยาวชนด้วยเพื่อให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นแฟนคลับที่ดีของสโมสรต่อไป ต้องยอมรับว่าทาง กกท. ไม่สามารถทำฝ่ายเดียวได้สำเร็จ ทางสมาคมฟุตบอลเองก็ไม่สามารถทำได้เช่นกัน ดังนั้นต้องอาศัยสโมสรสมาชิกทั้งหลายที่ส่งทีมร่วมแข่งขันทำการความเข้าใจในทิศทางเดียวกัน เพื่อให้ปัญหาลดน้อยลงไป"
"ส่วนมาตรการด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสนามในบ้านเรามีสนามแข่งขันที่ได้มาตรฐานเพียงไม่กี่สนาม ดังนั้นทางภาครัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการพัฒนาสถานกีฬาอยู่เสมอ โดยในปี 2554 ได้มาอีก 5 สนาม ซึ่งในอนาคตอาจจะได้ครบทั้งประเทศ เพื่อรองรับการแข่งขันฟุตบอลอาชีพที่เพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญมาตรการผู้ตัดสินยังมีบุคคลที่ได้มาตรฐานไม่เพียงพออีกทั้งค่าตอบแทนไม่มาก สิ่งนี้เป็นส่วนที่ต้องรีบพัฒนาปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าในการตัดสินด้วยเกียรติภูมิหรือความภาคภูมิใจจำเป็นต้องเร่งให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ผู้ตัดสินที่ได้รับเลือกในแต่ละแมตช์สามารถชี้เป็นชี้ตายในสนามได้เมื่อตัดสินแล้วต้องเกิดการยอมรับ กองเชียร์และผู้บริหารของทีมต้องรับทราบและให้เกียรติผู้ตัดสินมากยิ่งขึ้นนี่คือวิวัฒนาการในการพัฒนากีฬาอาชีพทุกสิ่งที่กล่าวมานั้นต้องใช้เวลาเพราะไม่สามารถทำให้สำเร็จในเวลา 2-3 ปีได้" ผู้ว่า กกท.กล่าว