เชียงราย - การกีฬาแห่งประเทศไทย ส่งทีมวิจัยลง 5 จังหวัด 5 ภูมิภาค เจาะปมปัญหาการพัฒนาฟุตบอลอาชีพ-หาช่องให้ท้องถิ่นร่วมหนุนในอนาคต พบบอลเชียงราย มีปัญหาขัดแย้งหนัก
รายงานข่าวจากจังหวัดเชียงราย แจ้งว่า นายพีระ ฟองดาวิวัฒน์ รองผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) และคณะได้เดินทางไปพบปะกับ นางรัตนา จงสุทธนามณี นายก อบจ.เชียงราย และตัวแทนจากสโมสรฟุตบอลเชียงราย ยูไนเต็ด และเชียงราย เอฟซี ซึ่งเป็นทีมฟุตบอลอาชีพของเชียงราย วันนี้ ที่ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย เพื่อขอข้อมูลและจัดทำการวิจัยเพื่อพัฒนาวงการอาชีพกีฬาต่อไป โดยครั้งนี้ทาง กกท.ได้มอบหมายให้ ดร.พิสัณห์ นุ่นเกลี้ยง เป็นผู้ทำการวิจัยดังกล่าว
นายพีระ กล่าวว่า ปัจจุบันวงการกีฬาอาชีพไทยพัฒนาแบบก้าวกระโดด โดยเฉพาะฟุตบอลที่มีอยู่หลายระดับ ตั้งแต่ไทยพรีเมียร์ลีก ดิวิชัน 1 และ ดิวิชัน 2 ดังนั้น เพื่อให้มีการพัฒนาไปอย่างเป็นระบบและยั่งยืน โดยไม่ทำให้เกิดปัญหาอย่างที่เราเห็นกันอยู่ในบางสนามที่มีเหตุการณ์คุกรุ่น ทาง กกท.จึงทำการวิจัยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นต่อกีฬาอาชีพในจังหวัดเป้าหมายนำร่องจำนวน 5 จังหวัด 5 ภาคทั่วประเทศ สำหรับภาคเหนือเลือกเชียงราย เพราะมีการพัฒนาอย่างมาก
นายพีระ กล่าวอีกว่า การวิจัยจะมีการเก็บข้อมูลเชิงลึกทั้งการพัฒนา สภาพปัจจุบัน อุปสรรคปัญหา แนวทาง ฯลฯ โดยจะสัมภาษณ์ผู้บริหารท้องถิ่นแบบเจาะลึก จากนั้นรวบรวมข้อมูล เพื่อดูว่ามีปัญหาใดบ้าง เช่น กฎหมายของท้องถิ่นในการจะเข้าไปช่วยเหลือ ฯลฯ หากขัดข้องทาง กกท.ก็จะเสนอให้มีการแก้ไข
เช่น เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร เสนอให้เป็นมติคณะรัฐมนตรี เป็นต้น ทั้งนี้ ในอนาคตอันใกล้นี้ร่างพระราชบัญญัติอาชีพกีฬาจะมีการบังคับใช้ ซึ่งนั่นหมายถึงว่าท้องถิ่นจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมมากขึ้น ครั้งนี้จึงเป็นการนำร่องเพื่อก้าวไปสู่จุดดังกล่าว
ด้าน ดร.พิสัณห์ กล่าวว่า ผลการวิจัยเชิงประจักษ์ระบุว่าการกีฬาอาชีพจะไปไม่ได้ไกลหากไม่มีท้องถิ่นให้การสนับสนุน ขณะที่ในปัจจุบันส่วนท้องถิ่นได้รับการกระจายงบประมาณใกล้จะถึง 60% ในเร็วๆ นี้ จึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวงการอย่างมาก
ซึ่งที่ผ่านมา ตนได้เก็บข้อมูลมาเกือบ 1 ปีแล้ว พบว่า กกท.ได้สนับสนุนด้านงบประมาณให้ปีละประมาณ 400 ล้านบาท ส่วนในส่วนท้องถิ่นก็พบว่ามีปัญหาหลายเรื่อง เช่น ไม่มั่นใจว่าจะสนับสนุนงบประมาณได้อย่างไร บางแห่งถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าตรวจสอบ เป็นต้น
ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้จึงต้องการสร้างตัวแบบหรือโมเดลขึ้นมา 5 โมเดลทั่วประเทศไทย เพื่อให้ได้แนวทางที่เหมาะสม โดยมีประเด็นที่จะต้องดำเนินการ 5 ประเด็นคือ นโยบายผู้บริหารท้องถิ่นที่มีต่อการส่งเสริมกีฬาอาชีพ อุปสรรคที่ทีมกีฬาอาชีพประสบอยู่ สัมภาษณ์เจาะลึกการทำงานของท้องถิ่นที่มีต่อการส่งเสริมกีฬาอาชีพ การสนับสนุนกีฬาอาชีพของท้องถิ่นที่ผ่านมา และการมีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬาอาชีพ
ด้าน นางรัตนา กล่าวว่า ตนยืนยันว่า ทุกท้องถิ่นต้องการพัฒนาวงการกีฬาของไทยและในส่วนของ อบจ.เชียงราย ก็เคยเข้าไปพัฒนาสนามกีฬากลางจนเปลี่ยนสภาพมาดีขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน เช่น สนามหญ้า ลู่ยางสังเคราะห์ ฯลฯ แต่ก็ไม่เคยคิดว่าจะเกิดปัญหาเหมือนที่มีอยู่ในปัจจุบัน แต่ในกรณีของฟุตบอลอาชีพก็ให้การสนับสนุนตามกรอบระเบียบกฎหมายที่กำหนด เพราะ อบจ.ก็มีหน้าที่ในการดูแล พัฒนา และแก้ไขปัญหาอีกหลายด้าน เช่น สิ่งแวดล้อม การศึกษา อาชีพ ฯลฯ แต่ปรากฏว่าที่ผ่านมามีความไม่ชัดเจนเพราะมีการทำให้เกิดความเข้าใจผิดอยู่เสมอ จึงอยากให้ทุกฝ่ายออกมาให้ข้อมูลกับคณะวิจัยจะเป็นการดีมาก
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า ในปัจจุบันมีความไม่ลงตัวระหว่างทีมสโมสรฟุตบอลอาชีพบางทีมกับฝ่ายบริหาร อบจ.เชียงราย โดยก่อนหน้านี้สโมสรเชียงรายยูไนเต็ด ซึ่งมี นายมิตติ ติยะไพรัช ประธานสโมสร บุตรชายของ นายยงยุทธ ติยะไพรัช นักการเมืองชื่อดังขั้วฝ่ายตรงข้ามกับฝ่ายบริหาร อบจ.เชียงราย ในปัจจุบัน ได้ใช้สนามกีฬากลางที่ดูแลโดย อบจ.เชียงราย แต่มีกระแสเรื่องความขัดแย้งกันในทางหลักการอยู่เนืองๆ โดยเฉพาะการให้การสนับสนุนของส่วนท้องถิ่นต่อสโมสร กระทั่งเชียงราย ยูไนเต็ด ขึ้นสู่ไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ปรากฏว่า สนามกีฬายังไม่ตรงกับมาตรฐานที่กำหนด
จึงมีกระแสเรียกร้องให้ อบจ.เชียงราย ทุ่มงบประมาณเข้าไปปรับปรุง แต่เมื่อ อบจ.เชียงราย ไม่สามารถทำได้ทำให้เกิดความขัดแย้งโดยทางลึก กระทั่งทีมออกไปสร้างสนามใหม่เป็นของตัวเองที่หน้าท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย ต.บ้านดู่ อ.เมือง โดยปัจจุบันได้ใช้สนามของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ต.ท่าสุด อ.เมือง เป็นการชั่วคราว ซึ่งเรื่องนี้ทางฝ่ายบริหารของ กกท.แจ้งว่า รับทราบปัญหานี้ดีแต่ก็ยืนยันจะทำการวิจัยต่อไป