ลำปาง - เครือข่ายผู้ป่วยแม่เมาะ เข้ายื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เรียกร้องรัฐเร่งดำเนินการแก้ 5 ปมปัญหาใหญ่ หลังยอมอพยพออกจากพื้นที่ที่มีมลพิษ ไปอยู่ที่ใหม่แต่กลับถูกละเลย แถมชาวบ้านเข้าไม่ถึงกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้า ทั้งที่เป็นกองทุนฯ ที่ตั้งขึ้นมาช่วยผู้ได้รับผลกระทบ
นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์ เลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วย อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 09.00 น.วันนี้ (28 ก.พ.)เครือข่ายสิทธิผู้ป่วย อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง นำโดยนายอินหวัน เต็มสืบ รองเลขาธิการเครือข่ายสิทธิผู้ป่วย อ.แม่เมาะ พร้อมด้วยผู้ป่วยรวม 10 คน ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ที่กรุงเทพฯ เพื่อให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่รองรับการอพยพ “ชุมชนม่อนหินฟู” หมู่ที่ 5 ต.สบป้าด อ.แม่ ซึ่งเป็นชุมชนที่ถูกอพยพออกจากพื้นที่เดิมตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2551 จาก 4 หมู่บ้าน คือ บ้านหัวฝายหมู่ที่ 1, บ้านหัวฝายหมู่ที่ 8 ต.บ้านดง,บ้านห้วยเป็ดหมู่ที่ 1 และบ้านห้วยคิง หมู่ที่ 6 ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ หลังได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองของโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินลิกไนต์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)
นางมะลิวรรณ กล่าวว่า การอพยพดังกล่าว ดำเนินการโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแ ละหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ใช้งบประมาณ จาก กฟผ. เฉพาะพื้นที่ชุมชนม่อนหินฟู กว่า 50 ล้านบาท ไม่รวมชุมชนใกล้เคียง อีกไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท แต่รัฐไม่ได้จัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานอันมีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตตามที่สัญญาไว้กับชาวบ้าน ทำให้เกิดปัญหาต่อการดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่รองรับการอพยพอันเป็นชุมชนใหม่ของชาวบ้าน ที่รัฐเป็นผู้ดำเนินการ
ด้านนายอินหวัน เต็มสืบ ได้ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ว่า วันนี้ พร้อมด้วยตัวแทนผู้ป่วย 10 คน ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยนายกฯ เป็นผู้มารับหนังสือด้วยตนเองพร้อมกับได้ซักถามถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนประเด็นหลักที่เข้ายื่นเรื่องให้นายกรัฐมนตรีได้ช่วยเหลือคือ
1.การออกเอกสารสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านที่อพยพมาอยู่ในที่อยู่ใหม่ได้สร้างบ้านเสร็จทั้งหมดแล้วแต่ยังไม่มีเอกสารสิทธิในที่ดินดังกล่าว จึงต้องการให้รัฐบาลออก “โฉนด” ให้แก่ชาวบ้าน จำนวน 493 ครอบครัว รวมถึงให้รัฐจัดสรรที่ดินทำกินให้
2.เรื่องการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่มีงบประมาณกว่า 370 ล้านบาทต่อปี กลุ่มเครือข่ายผู้ป่วยและชาวบ้านอีกจำนวนมากก็เข้าไม่ถึงกองทุนนี้ เพราะที่ผ่านมา ถูกบริหารจัดการโดยคณะกรรมการที่ไม่เข้าใจไม่มีความรู้ทางด้านผลกระทบที่เกิดขึ้น ซึ่งเต็มไปด้วยปัญหาข้อร้องเรียนมากมายต่อการใช้งบประมาณจากกองทุนฯนี้ ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบโดยตรงกลับเข้าไม่ถึง ซึ่งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่แท้จริงของการจัดตั้งกองทุนฯ จึงขอให้จัดสรรงบประมาณจำนวน 20%ของงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้าจังหวัดลำปางในแต่ละปีจนกว่ากองทุนจะหมดลง เพื่อให้ราษฎรที่ได้รับผลกระทบฯโดยที่ทางการแพทย์รับรองแล้ว อีกทั้งเป็นผู้ที่มีรายชื่อผ่านการพิจารณาจากศาลปกครองได้บริหารจัดการกันเอง ทั้งนี้ต้องปลอดจากการอำนาจการเมืองใดๆทั้งสิ้น เพื่อเป็นไปตามวัตถุประสงค์กองทุนฯ
3. ให้รัฐบาลเร่งรัดสั่งการให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ดำเนินการจัดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้แล้วเสร็จครบตามที่สัญญาไว้กับชาวบ้านตามมติ คณะรัฐมนตรี 15 มกราคม 2551 เนื่องจากในปัจจุบันแม้แต่เรื่องน้ำประปา ชาวบ้านก็ได้รับความเดือดร้อน เนื่องจากใช้ไม่ได้ ชาวบ้านต้องซื้อน้ำดื่ม น้ำใช้ การเกษตรไม่สามารถทำได้
4.ให้ดำเนินการกับผู้ทำผิดกฎหมายในพื้นที่รองรับการอพยพทั้งหมด และให้ผลักดันผู้บุกรุกครอบครองที่ไม่มีชื่อในกลุ่มผู้อพยพตามมติคณะรัฐมนตรีออกจากพื้นที่รองรับการอพยพ เพื่อจัดสร้างเป็นสวนสาธารณะและแหล่งพักผ่อนของชุมชน ให้ดำเนินการตั้งคณะกรรมการเพื่อฟื้นฟู เยียวยาที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ให้เป็นหมู่บ้านสีเขียว
และ 5. ให้มีการจัดตั้งหมู่บ้านใหม่ตามระเบียบของกรมการปกครอง เพื่อสิทธิต่างๆที่ชาวบ้านพึงได้รับจากภาครัฐ โดย “ชุมชนม่อนหินฟู” นี้อยู่ในกรณีพิเศษ อันเนื่องมาจากรัฐเป็นผู้จัดตั้งทั้งหมดโดยเร็ว
นายอินหวัน บอกว่า ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี ได้รับปากกับตัวแทนที่เข้ายื่นหนังสือว่าจะเร่งติดตามเรื่องดังกล่าวให้โดยเฉพาะเรื่องเงินกองทุนฯ และเรื่องสาธารณูปโภคที่ชาวบ้านกำลังได้รับความเดือดร้อนในขณะนี้