ASTV ผู้จัดการรายวัน - เป็นประเด็น “ทอล์ก ออฟ เดอะทาวน์” ไปเสียแล้วสำหรับ ดาร์บีแมตช์ เมืองแมนเชสเตอร์ เมื่อคอบอลพรีเมียร์ลีก อังกฤษ เสียงแตกเป็น 2 ฝ่ายถึงการทำหน้าที่ของผู้ตัดสิน มาร์ติน แอตกินสัน ที่ทดเวลาบาดเจ็บล่วงเลยถึงนาทีที่ 96 เป็นผลให้ ไมเคิล โอเวน หลุดเข้าไปสังหารประตูชัยช่วย “ผีแดง” แมนฯ ยูไนเต็ด เปิดรังบดเอาชนะ “เรือใบสีฟ้า” แมนฯ ซิตี 4-3 เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ดังนั้นทีมข่าว ASTV ผู้จัดการรายวันจึงต่อสายตรงไปยัง “ผศ.ชูชัย บัวบูชา” อดีตผู้ตัดสินฟีฟ่า ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการผู้ตัดสินไทย เพื่อมาไขความกระจ่าง
หลังเกมการแข่งขันระหว่าง แมนฯ ยูไนเต็ด กับ แมนฯ ซิตี จบลง กระแสความคิดเห็นในบอร์ดกีฬาของ www.manager.co.th มีเข้ามาอย่างล้นหลาม บ้างเห็นควรที่ แอตกินสัน ทดเวลาบาดเจ็บเพิ่มจาก 4 นาที ไปเป็น 5 นาทีครึ่ง แต่ก็มีไม่น้อยที่ไม่พอใจการตัดสินใจดังกล่าว โดยความเห็นที่ 569 จากการโพสต์ในนาม A ชี้ว่า แมนฯ ซิตี ใช้เวลา 1.01 นาที กับการฉลองประตูตีเสมอ 3-3 ของ เคร็ก เบลลามี ช่วงนาทีสุดท้าย อีกทั้ง แมนฯ ยูไนเต็ด มีการเปลี่ยนเอา ไมเคิล คาร์ริค ลงมาแทน อันแดร์สัน ช่วงทดเวลาบาดเจ็บอีก ผู้ตัดสิน (แอตกินสัน) จึงมีสิทธิที่จะทดเวลาเพิ่มได้หากมีการอู้ไม่ว่าจะเป็นกรณีการฉลองหรืออื่นๆ แม้ผู้ตัดสินที่ 4 ชูป้ายทดเวลาแค่ 4 นาทีก็ตาม
อย่างไรก็ดี มีแฟนฟุตบอลโต้แย้งประเด็นดังกล่าวมาว่า การเปลี่ยนตัวในช่วงทดเวลาบาดเจ็บจะไม่นำมาบวกเพิ่มในช่วงทดเจ็บ มิเช่นนั้นหากทั้งสองทีมมีการเปลี่ยนตัวกันฝั่งละ 3 คน ไม่ต้องทดเพิ่มกันอีก 3 นาทีอย่างนั้นหรือ
เรื่องนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ชูชัย บัวบูชา ซึ่งเคยลงทำการตัดสินภายใต้การรับรองของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ชี้แจงดังนี้ “ผู้ตัดสินทุกคนจะรับทราบดีอยู่แล้วว่าในเกมที่ตนลงเป่าควรมีการทดเวลาบาดเจ็บมากน้อยแค่ไหน ก่อนส่งสัญญาณบอกไปยังผู้ตัดสินที่ 4 ข้างสนามให้ชูป้ายทดเจ็บขึ้นมาในนาทีสุดท้ายของเกม ต้องบอกไว้ก่อนว่ากรรมการทุกคนย่อมต้องการให้มีความยุติธรรมเกิดขึ้นในสนาม เราไม่อยากเห็นการถ่วงเวลา จึงต้องทดเวลาที่เสียเปล่าเพื่อความเป็นธรรม อย่างกรณีมีผู้เล่นบาดเจ็บก็ต้องทดเวลากันตามความเป็นจริง สำหรับการเปลี่ยนตัวผู้เล่นนั้น ผู้ตัดสินจะทดไว้ประมาณ 30 วินาทีต่อครั้ง ไม่ว่าจะช่วงเวลาใดของการแข่งขัน ตรงนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้ตัดสินคนนั้นๆ เป็นสำคัญ อย่างในเกม แมนฯ ยูไนเต็ด กับ แมนฯ ซิตี จังหวะที่ แมนฯ ซิตี ได้ประตูท้ายเกมมีการฉลองกันกินเวลาค่อนข้างนาน อีกทั้ง แมนฯ ยูไนเต็ด เปลี่ยนตัวผู้เล่น ผมเข้าใจว่า มาร์ติน แอตกินสัน เห็นควรต้องเพิ่มเวลาส่วนนี้เข้าไปด้วย”
ด้านความเห็นที่ 563 ในนาม BBC’ OK ลำดับเหตุการณ์ให้เห็นภาพ หลังจากนาที 90 ผู้ตัดสินที่ 4 ชูป้ายทดเจ็บ 4 นาที หลังจาก เบลลามี ยิงประตูตีเสมอ มีการดีใจไป 56 วินาที จากนั้น แมนฯ ยูไนเต็ด เปลี่ยน คาร์ริค ลงมาทดเพิ่ม 30 วินาที ก่อนที่ โอเวน จะยิงประตูชัย 4-3 ดังนั้นเวลาที่กรรมการควรเป่าจบเกมคือ 90+4+0.56+0.30 เท่ากับ 95.26 นาที ซึ่ง โอเวน ยิงประตูนาทีที่ 95.27 เท่ากับว่าผู้ตัดสินทดเกินไป 1 วินาที (อ้างอิงจาก Match of the day 2 ของสำนักข่าวบีบีซี)
ขณะที่ ความเห็นที่ 375 มองว่า แมตช์นี้มี 7 ประตู รวมการแสดงดีใจร่วม 7 นาที ซึ่งก็มีความคิดเห็นตอบโต้ในทันทีว่า หากไม่รวมการบาดเจ็บหรือเปลี่ยนตัว ถ้าแมตช์ใดชนะกัน 5-4 ไม่ต้องทดเป็นสิบกว่านาทีเลยหรือ อย่างนัดที่ อาร์เซนอล บุกถล่ม เอฟเวอร์ตัน 6-1 ยังไม่มีการทดเวลาบาดเจ็บเท่า แมนเชสเตอร์ ดาร์บีแมตช์ เลย
ตรงนี้ ผศ.ชูชัย ทิ้งท้าย “จังหวะที่ โอเวน ยิงประตูชัยให้ แมนฯ ยูไนเต็ด ต้องบอกว่าเป็นความโชคร้ายของ แมนฯ ซิตี เนื่องจากผู้ตัดสิน (แอตกินสัน) เห็นว่าเป็นจังหวะขึ้นเกมต่อเนื่อง ถ้าจังหวะดังกล่าวไม่มีประตูเกิดขึ้น คงไม่มีประเด็นตามมา เรื่องแบบนี้ผมต้องบอกว่าเป็นวิจารณญาณของผู้ตัดสินแต่ละคนอย่างแท้จริง”
จากความคิดเห็นอันไม่ตรงกันของแฟนลูกหนัง คงเป็นเรื่องห้ามกันไม่ได้ในเมื่อต่างคนก็ต่างใจ แต่ในการแข่งขันฟุตบอลอาชีพ “กรรมการ” ถือเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในสนาม ดังนั้นวิจารณญาณใดๆ ที่ได้ตัดสินลงไปแล้วถือเป็นที่สิ้นสุด ผลการแข่งขันที่ออกมาคงต้องเป็นไปตามนั้นตามวิถีทางแห่งความเป็นมืออาชีพ