ในขณะที่เกมลูกหนังไทยพรีเมียร์ลีก 2009 มีกระแสตอบรับที่ดีจากแฟนลูกหนังชาวไทย เนื่องจากหลายสโมสรลงพื้นที่เพื่อเข้าหากลุ่มกองเชียร์มาเป็นฐานสนับสนุนทีม และผู้เล่นในแต่ละนัด รวมทั้งยังเพื่อจำหน่ายของที่ระลึกนำรายได้เข้าสู่สโมสร ดังนั้นสัญลักษณ์ หรือ "โลโก้" ที่จะบ่งบอกความเป็นทีมก็มีความสำคัญไม่น้อยต่อกองเชียร์
โดยทีมข่าวกีฬาของ "เอเอสทีวีผู้จัดการ" ได้มีโอกาสผู้คุยกับ "อ็อด" สุรัตน์ โคตรมุงคุณ ผู้ออกแบบโลโก้ของหลายสโมสรในศึกไทยลีก และปัจจุบันร่วมงานเป็นหนึ่งในทีมงานของสโมสร "มนุษย์ไฟฟ้า" การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค แชมป์เก่าของศึกไทยลีก 2008 ซึ่งเจ้าตัวเปิดเผยถึงที่มาที่ไปก่อนการนำพาตัวเองเข้าสู่แวดวงลูกหนังไทย
"จุดเริ่มต้นของการออกแบบโลโก้ทีมเกิดขึ้นด้วยความที่ผมเป็นศิษย์เก่าเพาะช่างฯ ที่สนใจฟุตบอลไทย แต่เกิดคำถามว่าทำไมสโมสรฟุตบอลในต่างประเทศเขาได้รับความนิยมผิดกับบ้านเรา ก็เริ่มมามองกันตั้งแต่สิ่งเล็กๆ แต่สำคัญอย่าง โลโก้ สโมสรที่ลงแข่งขันกัน เห็นได้ชัดว่าทีมบ้านเราถ้าเป็นทีมจังหวัด ต่างก็นิยมเอาตราสัญลักษณ์ของจังหวัดมาติดหน้าอกเสื้อแล้วแข่งกันแล้วไม่มีคนดู
"หากอยากเห็นฟุตบอลไทยได้รับความนิยมต้องปรับแต่งกันตั้งแต่ โลโก้ ให้ดูเหมือนทีมในต่างประเทศ แน่นอนว่าตราสัญลักษณ์ของจังหวัดนั้นบ่งบอกตำนาน หรือความเชื่อ แต่ไม่เกี่ยวกับฟุตบอล ไม่เกี่ยวกับกองเชียร์ ผมจึงคิดว่าเราจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่าง ซึ่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โลโก้ สโมสรแรกที่ผมออกแบบก็ได้ถูกนำไปใช้กับทีม ราชบุรี เอฟซี ด้วยความที่ผมเป็นคนท้องถิ่น และมีความสามารถด้านการออกแบบ เรื่องนี้จึงไม่ยาก ผมเสนอตัวเข้าทำแบบไม่คิดเงินแม้แต่บาทเดียว"
"สำหรับโลโก้ทีมในมุมมองส่วนตัวนั้น นอกจากจะต้องสวย และดูเป็นสากล ยังมีความหมายสื่อไปถึงแฟนบอล รวมถึงความเป็นท้องถิ่น คือเห็นแล้วรู้เลยว่าทีมฟุตบอลทีมนี้เป็นทีมอะไร อย่าง ราชบุรี เอฟซี งานชิ้นแรกที่ออกแบบในสัญลักษณ์ เดอะ ดรากอนส์ ผมใช้มังกรที่เราต่างก็ทราบกันดีว่าเมืองนี้คือเมืองโอ่งมังกร เพียงแค่นี้ทุกคนก็รู้แล้วว่านี่คือทีมอะไร"
หลังจากชิมลางการออกแบบ "โลโก้" ให้กับทีมฟุตบอลในบ้านเกิด จากนั้น สุรัตน์ ก็รับงานออกแบบโลโก้ให้กับหลายสโมสร อาทิ พิษณุโลก, นครสวรรค์, ชัยนาท, นครนายก, เชียงใหม่, นวนคร เอฟซี รวมถึงทีมดังแห่งศึกไทยพรีเมียร์ลีกอย่าง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค, สมุทรสงคราม, ราชนาวี ระยอง ด้วย
"ในส่วนของการไฟฟ้าฯ ผมมานั่งคิดว่าทำอย่างไรให้ออกมามีความหมายที่ดี แน่นอนว่าเราเป็นทีมของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จะต้องมีสัญลักษณ์ขององค์กร ขณะเดียวกันทีมนี้มีแฟนฟุตบอลชาวอยุธยามาสนับสนุน เรามองสัญลักษณ์ของกองเชียร์กรุงเก่าควรเป็นนักรบโบราณที่สะพายดาบติดหลัง พลังแห่งการฟาดฟันจะมาจากทีมผู้เล่น และกองเชียร์ของเรา ดังนั้นดาบจึงมี 2 เล่ม เพื่อสื่อถึงพลังของ 2 สิ่งนี้"
นอกจากนี้ สุรัตน์ ยังได้ออกแบบตราสัญลักษณ์รูปช้างศึกของกลุ่ม "เชียร์ไทย" ที่เจ้าตัวยอมรับว่าตั้งใจออกแบบมาเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์ของทีมชาติไทยในเบื้องต้น "งานชิ้นนี้เป็นชิ้นที่ผมภูมิใจที่สุด มันเกิดขึ้นหลังจากที่เราเห็นโลโก้ของทีมชาติไทยเป็นรูปช้างน้อย คือดูแล้วมันน่ารัก ไม่ได้น่าเกรงขามเหมือนทีมชาติอังกฤษ ใช้ตราสัญลักษณ์สิงโต 3 ตัว เพื่อบ่งบอกความเป็นทหารของพระราชินีอังกฤษ ขณะที่บ้านเราสัญลักษณ์เป็นช้างศึกอยู่คู่บ้านคู่เมืองทุกคนทราบดี แต่ช้างต้องอธิบายความเป็นชาติของคนไทยได้มากกว่านี้ ผมใช้เวลา 2 ชั่วโมง โลโก้ ชิ้นนี้ก็เสร็จ ด้วยการนำแผนที่ประเทศไทยที่เป็นรูปหัวช้าง มาปรับแต่งให้ ภาคใต้เป็นงวงช้าง เราก็ม้วนเข้าไป ภาคอีสานเป็นหูช้าง ภาคตะวันออกเป็นปากช้าง ส่วนงาช้างที่งอกออกมานั้นเป็นภาคตะวันตก แม้ว่าสุดท้ายมันจะไม่ใช่โลโก้ทีมชาติไทย แต่ผมก็ออกแบบมาเพื่อจุดประสงค์นี้"
แม้ปัจจุบัน สุรัตน์ ที่มีงานประจำทำร่วมกับสโมสร "มนุษย์ไฟฟ้า" และยังได้รับการบรรจุทำงานกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำให้รับงานออกแบบที่ตัวเองรักน้อยลงไป ทว่าโลโก้สโมสรที่หนุ่มราชบุรีรายนี้เห็นแล้วคันมืออยากจับมาทำใหม่มากที่สุดกลับเป็นสโมสร "ฉลามชล" ชลบุรี เอฟซี แชมป์ไทยลีก 2009 เลกแรกนั่นเอง
"ผมมีโอกาสคุยกับคุณอรรณพ สิงโตทอง ผู้จัดการทีม ชลบุรี เอฟซี จึงได้ทราบว่าโลโก้ของทีมนั้นมันเป็นภาพฉลามที่มาจากโปรแกรมคลิปอาร์ทในคอมพิวเตอร์ พูดง่ายๆ ว่ามันไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทีมนี้โดยเฉพาะ และรูปแบบตัวหนังสือก็ไปหยิบยืมมาจากที่อื่น เราเข้าใจว่าตอนนั้นเขาคงหยิบๆ มาผสมกันเพื่อใช้ชั่วคราว ถึงวันหนึ่งคงต้องเปลี่ยน ซึ่งผมว่ามันก็น่าจะถึงเวลาแล้ว และผมอยากทำมาก เพราะสโมสร ชลบุรี ใช้โลโก้รูปฉลามมันมีอะไรให้เล่นได้อีกเยอะ"
ขณะเดียวกันอดีตสมาชิกของกลุ่ม "เชียร์ไทย" ยังเชื่อว่าตราสัญลักษณ์ของสโมสรต่างๆ ต่อให้มีความสวยเฉียบขาดบาดใจขนาดไหนก็จะไม่มีความหมายเลยหากเกมการแข่งขันของสโมสรเหล่านั้นขาดกองเชียร์คอยหนุนหลังผู้เล่น 11 คนในสนาม
"ทุกวันนี้กระแสตอบรับของแฟนฟุตบอลดีมาก และผมก็อยากเห็นแฟนฟุตบอลอยู่คู่กับทีมตลอดไป หากปราศจากกองเชียร์ นักฟุตบอลจะเล่นไปเพื่อใคร เพื่อตัวเองเท่านั้นเองหรือ เมื่อก่อนอาจจะใช่ แต่ทุกวันนี้พวกเราในฐานะแฟนฟุตบอลมีทีมใกล้บ้านให้ติดตามเชียร์กันแล้ว ไม่จำเป็นต้องไปคลั่งไคล้ฟุตบอลอังกฤษมากก็ได้ เพราะถึงเราจะรักเขาให้ตาย ผู้เล่นของ ลิเวอร์พูล หรือ แมนฯ ยูไนเต็ด เขาก็คงไม่สนใจ ผิดกับสโมสรในประเทศที่เขาจะอยู่ได้ก็ด้วยกองเชียร์เป็นผู้สนับสนุน ถ้าสโมสรไทยไม่มีใครเชียร์แล้วลีกไทยจะอยู่รอดได้อย่างไร"