ทันทีที่ โมฮัมเหมด บิน ฮัมมัม ประธานองค์กรฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ “เอเอฟซี” เข้ารับตำแหน่ง นโยบายใหม่ที่เจ้าตัวหวังจะสร้างผลงานมากที่สุดคือความพยายามพัฒนามาตรฐานฟุตบอลในภูมิภาคนี้ให้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวส่งผลสะเทือนครั้งใหญ่ เนื่องจากข้อกำหนดใหม่นั้น การแข่งขันฟุตบอลลีกของชาติสมาชิกที่ต้องมีมาตรฐาน มีความเป็นมืออาชีพทัดเทียมกับชาติในยุโรป ทั้งนี้ยังมีเงื่อนไขแถมท้ายมาว่า หากลีกใดในเอเชียไม่มีคุณสมบัติตรงตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ จะถูกตัดจากฟุตบอลรายการ “เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก” หรือฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรเอเชียทันที
หลังจากรับทราบนโยบาย บรรดาชาติสมาชิกต้องกลับไปเริ่มต้นพัฒนาลีกในประเทศเข้าสู่ความเป็นมืออาชีพ รวมถึง “ไทยลีก” ก็ไม่เว้น ส่วนหนึ่งต้องการรักษาสิทธิ์เพื่อร่วมการแข่งขันรายการใหญ่ของเอเชีย แต่อีกส่วนที่สำคัญกว่าคือการรักษาภาพลักษณ์ลูกหนังไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
มาตรฐานใหม่เพื่อฟุตบอลอาชีพ
ตามเงื่อนไขของ "เอเอฟซี" กำหนดให้ชาติสมาชิกที่สามารถส่งทีมเข้าสู่การแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรเอเชีย หรือ "เอเอฟซี แชมเปียนส์ลีก" ในฤดูกาล 2009 นั้น มีไม่กี่ชาติที่ผ่านมาตรฐานขององค์กรลูกหนังเอเชีย ประกอบด้วยพี่เบิ้มขาประจำอย่างญี่ปุ่น, ซาอุดีอาระเบีย และเกาหลีใต้ เป็นต้น
ขณะที่การแข่งขันฟุตบอลไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ที่จัดกันมายาวนาน 12 ปี ในประเทศไทยมีคุณสมบัติไม่เข้าเกณฑ์มาตรฐานของ “เอเอฟซี” ทำให้ วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ดึงฟุตบอล "ไทยลีก" กลับมาบริหารงานเอง จากเดิมที่ปล่อยให้คณะกรรมการชุดอื่นจัดร่วมกับ การกีฬาแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยการแต่งตั้งให้ ดร.วิชิต แย้มบุญเรือง มาทำหน้าที่ประธานบริษัท ไทยพรีเมียร์ลีก จำกัด เพื่อจัดการแข่งขันฟุตบอลรายการนี้ในฤดูกาล 2009 สู่ความเป็นลีกฟุตบอลอาชีพตามวัตถุประสงค์ของ "เอเอฟซี" นั่นเอง
โดยมีการตั้งข้อกำหนด "ไทยพรีเมียร์ลีก 2009" สำหรับสโมสรที่จะเข้าร่วมนั้นมีด้วยกัน 11 ประการด้วยกัน ประกอบด้วย 1.จดทะเบียนเป็นสมาชิกของสมาคมฟุตบอลฯ 2.โค้ชจะต้องมีใบประกาศนียบัตรระดับเอ ไลเซนส์ของเอเอฟซี 3.สโมสรจะต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเชิงพาณิชย์ 4.ต้องมีการแจ้งงบประมาณการเงิน 5.มีการบันทึกจำนวนผู้ชม 6.มีการตั้งทีมระดับเยาวชน 7.จัดเจ้าหน้าที่ประสานงานสื่อมวลชน 8.จัดให้มีการลงทะเบียนสื่อมวลชน 9.มีที่นั่งสำหรับสื่อมวลชน 10.มีจุดแถลงข่าวของแต่ละสโมสร 11.อำนวยความสะดวกกับสื่อมวลชนให้เข้าถึงนักกีฬา ซึ่ง ดร.วิชิต กล่าวว่า
"นโยบายของ เอเอฟซี คือพัฒนาฟุตบอลในภูมิภาคเอเชียให้ก้าวไปทัดเทียมกับยุโรป ดังนั้น สโมสรฟุตบอลทั้งหลายจึงจำเป็นต้องมีความเป็นมืออาชีพในเรื่องการบริหารงาน คือทุกสโมสรจำเป็นต้องมีการแสดงบัญชีงบดุล มีรายรับ รายจ่าย เหมือนการบริหารธุรกิจ ซึ่งต้องมานั่งคิดกันแล้วว่าทำอย่างไรจะให้ได้กำไร ทำอย่างไรสโมสรเหล่านี้จึงจะยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง
"ไม่เฉพาะสโมสรที่ต้องมีการบริหารงานแบบมืออาชีพเท่านั้น แต่ผู้ฝึกสอนหรือโค้ชก็ต้องมีความเป็นมืออาชีพด้วย โดยเฉพาะในระดับพรีเมียร์ลีกที่เป็นลีกสูงสุดของประเทศไทย ก็ต้องเป็นผู้ฝึกสอนที่ผ่านการอบรมระดับ เอไลเซนส์ โดยระหว่างนี้ทางสมาคมฟุตบอลจะเปิดการอบรมผู้ฝึกสอนทุกระดับ เพื่อให้โค้ชชาวไทยผ่านมาตรฐานในเรื่องนี้"
การก้าวกระโดดของทีมใหญ่
แม้หลายสโมสรจะมีปัญหาเรื่องการปรับตัวสู่ไทยลีก แต่ทีมยักษ์ใหญ่อย่าง "มนุษย์ไฟฟ้า" การไฟฟ้า-อยุธยา และ "ฉลามชล" ชลบุรี เอฟซี แชมป์เก่า และรองแชมป์ กลับไม่รู้สึกวิตกกังวลกับเรื่องดังกล่าว โดย นายสมศักดิ์ รัตนผล ประธานสโมสรการไฟฟ้าฯ กล่าวเปิดใจถึงเรื่องดังกล่าวว่า
"ที่ผ่านมาสโมสรการไฟฟ้าฯ ได้รับการสนับสนุนอย่างดีจากแฟนฟุตบอลในจังหวัดอยุธยา หลังเราคว้าแชมป์มีความกังวลจากแฟนๆ ว่าเราจะย้ายไปใช้สนามเหย้าที่อื่นอีกหรือไม่ ซึ่งยืนยันได้เลยว่าเราตั้งใจจะสร้างสโมสรให้เป็นส่วนหนึ่งของแฟนฟุตบอลอยุธยา เพราะเราเล็งเห็นว่าการมีแฟนคลับนั้นคือทางออกสู่การพัฒนาฟุตบอลไทยไปสู่ความเป็นฟุตบอลอาชีพในอนาคต
“เมื่อสโมสรการไฟฟ้า–อยุธยา มีแฟนคลับ สิ่งที่ตามมาก็จะเป็นรายได้จากการขายของที่ระลึก การจำหน่ายบัตรเข้าชมการแข่งขัน และเกิดสังคมของฟุตบอลขึ้น เมื่อสโมสรมีรายได้ นักฟุตบอลก็จะมีรายได้จากสโมสรเช่นเดียวกัน เป็นการต่อยอดสู่การเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพแบบที่เอเอฟซีต้องการ”
ส่วนเรื่องการจดทะเบียนในรูปบริษัทนั้น ประธานทีม "มนุษย์ไฟฟ้า" ยืนยันว่าไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
"เรามีการจดทะเบียนเป็นบริษัทเรียบร้อยแล้ว ในชื่อว่า การไฟฟ้า-อยุธยา เพื่อเป็นเกียรติให้กับแฟนฟุตบอลในจังหวัดอยุธยาที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ"
ขณะเดียวกันประธานสโมสร "ไฟฟ้า-อยุธยา" ยังได้กล่าวต่อไปว่า
"ในฤดูกาลที่ผ่านมาเราใช้สนามกีฬากลางจังหวัดอยุธยาเป็นสนามเหย้าในการแข่งขัน ซึ่งต้องยอมรับว่าแฟนฟุตบอลจำนวนมากมาเชียร์ทำให้บรรยากาศสุดยอดมาก แต่ก็มีหลายทีมที่มาแข่งบ่นว่าสภาพสนามยังไม่ดีนัก เราจึงได้พูดคุยกับทางจังหวัดเพื่อปรับปรุงสนามแห่งนี้ให้ดียิ่งขึ้น และเป็นหน้าเป็นตาของสโมสร และเมืองอยุธยาต่อไป ซึ่งจุดนี้ทำให้เราเชื่อมั่นว่าทีมจะก้าวสู่ความเป็นสโมสรอาชีพเต็มรูปแบบในไม่ช้า เพราะมีแฟนคลับหนุนหลังจำนวนมาก"
ด้าน "ฉลามชล" สโมสรชลบุรี เอฟซี ที่มี วิทยา คุณปลื้ม นั่งหัวเรือใหญ่ในการบริหารทีม ยืนยันว่าสโมสรดังแห่งภาคตะวันออก พร้อมก้าวสู่ความเป็นสโมสรอาชีพเต็มตัวแล้วเช่นกัน
"เรื่องการจดทะเบียนนั้นผมมองว่ามันเป็นเรื่องบนหน้ากระดาษ ทางเอเอฟซีเขาคงไม่มาดูว่าสโมสรใดจดทะเบียนจริง หรือแค่ทำหลอกๆ แต่เนื้อหาสำคัญของการพัฒนาสู่ความเป็นลีกฟุตบอลอาชีพมันอยู่ที่ผลของการพัฒนาในอนาคตมากกว่า ซึ่งตอนนี้เราจดทะเบียนในรูปแบบบริษัทเอกชนไปแล้วในชื่อบริษัท ฉลามชล จำกัด เมื่อวันที่ 10 ตุลาคมที่ผ่านมา
"เรามีแผนการพัฒนาทีมอย่างต่อเนื่อง เมื่อทีมได้รับความนิยมจากแฟนคลับมากขึ้น ความจุของสนามเริ่มไม่พอ เราจึงมีโครงการสร้างสนามใหม่ เพื่อให้จุผู้ชมได้ 9,000 - 10,000 คน ตอนนี้ ชลบุรี เริ่มไปแล้วด้วยงบประมาณ 100 ล้านบาท คาดว่าน่าจะเสร็จสมบูรณ์พร้อมเปิดให้ใช้งานได้ในปีหน้า หากโชคดีเราได้แชมป์ไทยลีก ก็จะใช้สนามแห่งนี้เป็นสนามเหย้าในการแข่งขันแชมเปียนส์ลีกในปี 2010 ด้วยเลย"
ทีมเล็กเร่งปรับตัวสู่มาตรฐานใหม่
สำหรับปัญหาเบื้องต้นของสโมสรต่างๆ ในการยกระดับสู่การเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพนั้น ที่หนักที่สุดคือเรื่องการจดทะเบียนในรูป "บริษัท" เหมือนดั่งสโมสรอาชีพในยุโรป เนื่องจากที่ผ่านมาสโมสรระดับไทยลีกล้วนเป็นทีมที่ก่อตั้งโดยหน่วยงานราชการ และรัฐวิสาหกิจเข้ามาแข่งขันกัน เมื่อต้องจดทะเบียนเป็นบริษัท จึงมีผลกระทบสู่ทีมองค์กรที่ต้องรื้อกันทั้งระบบ
ซึ่งทีมที่เดือดร้อนมากที่สุดคือสโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพที่เพิ่งตกชั้นลงไปเล่นในดิวิชั่น 1 เมื่อ อภิชาติ รมยะรูป ประธานกรรมการบริหารสโมสรฟุตบอลธนาคารกรุงเทพ ประกาศยุบตัวลงทันที เนื่องจากมองว่าไม่พร้อมที่จะจดทะเบียนในรูปแบบบริษัท เพราะไม่มีนโยบายจะตั้งเป็นสโมสรฟุตบอลอาชีพ จึงเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับสโมสรเก่าแก่ที่ดำเนินงานมากว่า 50 ปี
"สโมสรไม่มีนโยบายในการสนับสนุนกีฬาอาชีพ เนื่องจากสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทย กำหนดว่าสโมสรในระดับพรีเมียร์ลีกจำเป็นต้องจดทะเบียนเป็นบริษัทที่เป็นเอกเทศจากหน่วยงานต่างๆ มีการบริหารงานด้วยการกำหนดผลกำไรขาดทุน ซึ่งเราไม่พร้อมในจุดนี้"
นอกจากทีม "บัวหลวง" ที่ประสบปัญหา สโมสรฟุตบอลใหญ่อย่าง "ยาสูบ" ก็เกือบประสบปัญหาจากมาตรฐานใหม่นี้เช่นเดียวกัน จากการเปิดเผยของ สุรจิต กัลยาณมิตร ที่ดำรงตำแหน่งประธานอนุกรรมการด้านบริหาร
"ตอนแรกที่ทราบข้อกำหนดของสมาคมฟุตบอลเรื่องการส่งทีมสู่ไทยลีก 2009 แล้วก็ตกใจเหมือนกันว่าจะทำอย่างไร ก็มีแนวความคิดว่าอาจจะต้องยุบทีมเหมือนธนาคารกรุงเทพ แต่พอมาดูรายละเอียดในสโมสรแล้วก็ทราบว่าเราจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลอยู่แล้ว และมันมีแค่ความยุ่งยากเท่านั้นที่จะเกิดขึ้น แต่ผมยืนยันได้ว่าผู้บริหารพร้อมส่งทีมลงสู้ศึกไทยลีกแน่นอน แม้จะต้องถกกันหนักก็ตาม
“ที่สำคัญคือ เราก็ต้องการแฟนคลับเข้ามาเหมือนกับทีมอื่นๆ ดังนั้นทีมยาสูบจึงต้องย้ายไปเล่นที่สนามสถาบันพลศึกษาสมุทรสาคร เพื่อดึงเอาแฟนฟุตบอลชาวมหาชัยมาร่วมเชียร์ทีมของเรา แม้เราจะเพิ่งเริ่มต้นในฤดูกาลที่แล้ว แต่ผลออกมาก็นับว่าน่าพอใจมาก เราจึงจะยังใช้สนามเดิม พร้อมจะปรับปรุงทีมครั้งใหญ่ เพื่อลุยต่อในฤดูกาลหน้า”
ขณะเดียวกับที่ สโมสรโค้ก–บางพระ ภายใต้การนำของ พันธุ์ศักดิ์ เกตุวัตถา และ อรรณพ สิงห์โตทอง จึงตัดสินใจเปลี่ยนที่ตั้งของสโมสรมาอยู่ที่พัทยา เมืองท่องเที่ยวชื่อดัง พร้อมเปลี่ยนชื่อสโมสรเป็น “พัทยา ยูไนเต็ด” โดย อรรณพ ให้เหตุผลเพื่อเข้าใกล้แหล่งเงินทุนในการพัฒนาสโมสร
“เมื่อเราตั้งใจจะทำทีมสโมสรฟุตบอลอาชีพ สิ่งสำคัญคือการระดมเงินทุนมาสร้างทีมให้ประสบความสำเร็จ ทีมบางพระ เป็นทีมเล็กๆ ซึ่งหากยังคงปักหลักอยู่ทีมเดิมอาจจะทำให้พัฒนาการหยุดนิ่ง แต่เมื่อมองดูแล้วว่าถ้าย้ายมาร่วมกับเมืองพัทยา เราจะได้มากกว่าการอยู่ที่เก่า เนื่องจากเป็นเมืองท่องเที่ยว มีประชากรมาก และมีแหล่งเงินทุนมาก จึงเป็นเรื่องที่เราต้องมองถึงความก้าวหน้าของสโมสรเป็นหลัก” พร้อมกันนี้ผู้บริหารทีมพัทยา ยูไนเต็ด ยังได้วางแผนสร้างสนามฟุตบอลใหม่เพื่อรองรับแฟนลูกหนังเมืองชายทะเลแห่งนี้อีกด้วย
ถึงจุดนี้คงเห็นได้ชัดว่าหลายสโมสรในประเทศไทย เริ่มปรับตัวสู่ความเป็นมืออาชีพมากขึ้น สำหรับแฟนลูกหนังคงต้องนับถอยหลังรอคอยการเปิดฤดูกาลใหม่ด้วยใจระทึก เพื่อจะได้เห็นโฉมหน้าใหม่ของศึกไทยลีกในฤดูกาลหน้า ที่สมาคมลูกหนังยืนยันว่านี่คือครั้งแรกของลีกอาชีพแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ในเมืองไทย
********************
เรื่อง-เชษฐา บรรจงเกลี้ยง