ความเชื่อมั่นในตนเองและการได้รับความนับถือจากเพื่อนร่วมวงการ นับเป็นสิ่งที่ มิเชล วี สาวน้อยมหัศจรรย์ที่ครั้งหนึ่งสื่อในวงการสวิงตั้งฉายาให้กับเธอว่า “บิ๊กวีซี่ย์” กำลังพยายามอย่างหนักเพื่อเรียกกลับคืนมา หลังก่อเรื่องที่ทำให้ตนเองต้องสูญเสียต้นทุนในฐานะมืออาชีพ อันเนื่องมาจากความประพฤติทั้งในสนามช่วงสองปีแรกที่เข้าสู่เส้นทางอาชีพ ซึ่งวิถีทางเดียวที่ วี จะกลับมาเป็น “บิ๊กวีซี่ย์” ได้อีกครั้งคือการทำผลงานของตนเองในฤดูกาล 2009 ให้ได้ดีที่สุดและมากที่สุดเพื่อกลบภาพติดลบในอดีตของตนเอง
หลังผ่านการคัดเลือกจนได้รับสิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันแอลพีจีเอทัวร์อย่างเต็มฤดูกาล 2009 สาวน้อยมหัศจรรย์เข้าร่วมดวลวงสวิงแล้ว 7 รายการและทำผลงานได้ไม่เลวทีเดียว เริ่มตั้งแต่คว้ารองแชมป์ เอสบีเอส โอเพน ซึ่งเป็นรายการแรกของปีเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังจบอันดับ 3 ร่วมอีกหนึ่งรายการและมีอีกสองรายการที่จบไม่เกินอันดับ 15 ส่วนที่เหลือก็ผ่านการตัดตัวทั้งหมด
ผู้เชี่ยวชาญด้านกอล์ฟหลายคนมองว่าการเล่นของ วี เริ่มกลับมาเข้าที่เข้าทางโดยเฉพาะอย่างยิ่งวงสวิงที่ดีขึ้น จนหวนกลับไปนึกถึงสมัยที่เธอยังคงเป็นเพียงผู้เล่นในระดับอเมเจอร์ แต่สามารถสร้างผลงานที่จบด้วยอันดับในท้อป 5 จากรายการระดับเมเจอร์ของแอลพีจีเอ ทัวร์ 5 รายการระหว่างปี 2005-2006
ทั้งนี้ จูดี แรนกิน อดีตโปรหญิงระดับตำนานซึ่งปัจจุบันเป็นทำหน้าที่เป็นเกจิของสถานีโทรทัศน์กีฬา “อีเอสพีเอ็น 2” แสดงทัศนะว่า วงสวิงของวีในปัจจุบันกลับไปมีความสวยงามอย่างที่เคยเป็นเมื่อสมัยอายุ 15 ปี อาจมีบางจุดที่แตกต่างไปบ้างแต่เพื่อให้เหมาะสมกับพัฒนาการของอายุเพิ่มขึ้น หากจังหวะลีลาแบบเก่าๆยังคงแฝงอยู่และมีความแข็งแกร่งเพิ่มขึ้นไปด้วย
ขณะที่ บิล ฟิลด์ส คอลัมนิสต์ของ “กอล์ฟ ไดเจสต์” ซึ่งไปสังเกตการเล่นของ มิเชล ในรอบสอง ศึกไซเบส คลาสสิก เมื่อช่วงกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา วิเคราะห์ว่า วงสวิงของสาวเลือดกิมจิมีความหนักแน่นมากกว่าในช่วง 1-2 ปีหลัง การเคลื่อนไหวมีความรวดเร็วขึ้น อาจไม่ถึงระดับสุดยอดเมื่อครั้งที่เธอเคยถูกนำไปเปรียบเทียบกับ เออร์นีย์ เอลส์ จนได้รับสมญานามล้อว่า “บิ๊ก วีซีย์” แต่ความหนักแน่นตอนนี้คล้ายคลึงกับลักษณะการตีของ คามิลโล วิลเลกาส ก้านเหล็กโคลัมเบีย ที่สามารถเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็นการ “ตี” อย่างแท้จริง
ด้านพลังการตีลูกของสาวน้อยวัย 19 ปี แม้ในอดีตอาจถูกยกย่องเกินความเป็นจริงไปบ้าง แต่จากการสังเกตของ ฟิลด์ส พบว่าตอนนี้มีความสูสีทัดเทียมกับผู้เล่นรายอื่นของทัวร์ฯอย่าง บริททานี ลินซิคัม เจ้าของแชมป์คราฟท์ นาบิส หากคอลัมนิสต์ รายเดียวกันนี้ก็ชี้ให้เห็นจุดด้อยจากการเล่นของ มิเชล นั้นคือการพัตต์ที่ยังคงเป็นปัญหาอยู่
โดยยกตัวอย่างหลุมสุดท้ายนั้นเอง หลังจากเหลือระยะ 100 หลาเพื่อตีเข้าหาธง แต่การแอพโพรชจนลูกไปตกบนกรีนห่างจากหลุมเพียง 15 ฟุต เธอกลับไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเบอร์ดี้ได้ การดวลสวิงรอบนั้น สาวน้อยมหัศจรรย์ทำเบอร์ดีจากหลุมพาร์ 5 จำนวน 4 หลุมได้เพียงเบอร์ดี้เดียว ส่วนภาพรวมจากการตีลูกขึ้นกรีนได้ถึง 15 หลุม แต่โอกาสทำสกอร์ต่ำๆกลับหลุดลอยไปเพราะสถิติตลอดทั้งวันเธอมีการพัตต์ถึง 30 ครั้ง
ฟิลด์ส ขยายความต่อว่า วี มีลักษณะของนักกีฬาอย่างเต็มเปี่ยมเมื่อได้ตีลูกแบบเต็มวงสวิง แต่การแสดงออกเช่นนี้กลับหายไปทันทีในยามพัตต์ พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า มิเชล ตั้งท่าพัตต์ด้วยการยืนห่างจากลูกเป็นระยะพอสมควรทีเดียว แน่นอนว่าการพัตต์ไม่มีรูปแบบใดตายตัวที่วงการกอล์ฟยึดถือว่าดีเยี่ยมที่สุด ตัวอย่างเช่นการตีของ ไทเกอร์ วูดส์ ย่อมต่างจาก ฟิล มิกเคลสัน แต่นักกอล์ฟชั้นยอดมีอะไรบางอย่างอันเป็นพื้นฐานที่คลายคลึงกัน นั้นคือพวกเขาดูผ่อนคลายและความตึงเครียดเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ผิดกลับลักษณะของโปรสาววัย 19 ปี ดังนั้นเธอสมควรดูตัวอย่างจากก้านเหล็กชั้นนำเหล่านี้เพื่อหาจุดดีนำมาปรับใช้ให้เหมาะกับการเล่นของตนเอง
ทั้งหมดนี้คือบทวิเคราะห์ต่อการกลับมาของ มิเชล วี สาวน้อยที่ครั้งหนึ่งเคยถูกยกให้เป็นความมหัศจรรย์แห่งวงการกอล์ฟสตรี และในวันที่เธอมีวัย 19 ปีจะยังคงรักษาความมหัศจรรย์เหมือนเมื่อครั้งยังเป็นผู้เล่นในระดับอเมเจอร์ต่อไปได้หรือไม่ ผลงานบนลีดเดอร์บอร์ดในสนามแข่งเท่านั้นที่จะเป็นเครื่องการันตี