อรรณพ สิงห์โตทอง ผู้ช่วยผู้จัดการทีม ชลบุรี เอฟซี มองว่าเหตุวุ่นวายที่แฟนบอลขว้างปาขวดใส่กันในเกมบุกเยือน การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จนมีผู้โชคร้ายสังเวยเลือดเป็นความผิดของทุกฝ่ายร่วมกัน พร้อมทั้งเสนอแนะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร่างกฎ ออกมาตรการควบคุมความวุ่นวายให้ชัดเจนกว่านี้
ศึกไทยพรีเมียร์ลีก 2009 คู่วันเสาร์ที่ 25 เมษายนที่ผ่านมาระหว่าง “มนุษย์ไฟฟ้า” กับ “ฉลามชล” เกิดเหตุปะทะรุนแรงระหว่างกองเชียร์ทั้งสองทีม หลังจาก อภิภู สุนทรพนาเวศ มิดฟิลด์ฝ่ายแรกพังประตูตีเสมอ 2-2 ในช่วงทดเวลาบาดเจ็บแล้ววิ่งไปแสดงความดีใจต่อหน้าสาวกอาคันตุกะ
ทำให้มีการปาขวดลงมาในสนาม ก่อนที่แฟนบอลจะขว้างปาขวดตอบโต้กันจนมีแฟนบอลสาวรายหนึ่งของ ชลบุรี รายหนึ่ง นามสมมุติว่า “ส้ม” ได้รับบาดเจ็บศีรษะแตก ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลอย่างทันท่วงที นอกจากนั้น เกมยังหยุดไปร่วม 1 ชั่วโมงเศษเพื่อรอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาควบคุมสถานการณ์ภายในสนามกีฬาจังหวัดอยุธยา ก่อนกลับมาเตะในช่วงที่เหลือต่อ
จากกรณีนี้ ผู้สื่อข่าว MGR Sport ได้โทรศัพท์ไปคุยกับ อรรณพ สิงห์โตทอง เพื่อถามความคิดเห็นเกี่ยวกับเหตุวุ่นวายดังกล่าว ซึ่ง “เดอะ เซนต์” ชี้แจงว่า “ถ้าจะให้พูดกันตามตรง ผมว่าเรื่องนี้มันผิดด้วยกันทุกฝ่าย ทั้ง อภิภู ที่เข้าไปดีใจต่อหน้ากองเชียร์ ชลบุรี แฟนบอลเราเองที่ระงับอารมณ์ไม่อยู่ขว้างขวดตอบโต้ กองเชียร์การไฟฟ้าฯ ที่เข้ามาผสมโรงด้วยจนเรื่องราวบานปลาย ตลอดจนเจ้าหน้าที่ควบคุมการแข่งขันที่ดูแลได้ไม่เข้มงวดพอ”
“เสี่ยณพ” กล่าวต่อไปถึงบทลงโทษที่อดีตแชมป์ไทยลีกเมื่อ 2 ปีก่อน รวมถึง สฟภ. แชมป์เก่าปีที่แล้วอาจจะได้รับจากเหตุขว้างขวดคราวนี้ว่า “เมื่อฝ่ายเรามีส่วนเกี่ยวข้องในการทำผิดก็ยอมรับตามตรง เรายินดีที่จะชดใช้โดยไม่มีบิดพลิ้วอยู่แล้ว ถ้าหากฝ่ายจัดการแข่งขันหารือกับคณะกรรมการผู้ตัดสินแล้วเห็นว่าเราควรถูกลงโทษ”
กระนั้น ผช.ผจก.ชลบุรี ได้เสนอแนะกลับไปว่า “อันที่จริงในขั้นตอนการพิจารณาบทลงโทษ พวกเขาน่าจะให้ตัวแทนของเราและการไฟฟ้าฯ ได้มีโอกาสชี้แจงในมุมมองของแต่ละฝ่ายบ้าง เพื่อให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่าหารือกันเอง สรุปกันเองแล้วคนที่ตกเป็นเหยื่อก็คือสโมสร ขณะที่ผู้ตัดสินซึ่งมีปัญหาในการทำหน้าที่อันอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้แฟนบอลไม่พอใจกลับไม่มีคนตรวจสอบ”
พร้อมกันนี้ อรรณพ ได้เสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหาในเบื้องต้นว่า “เรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นสามารถแก้ปัญหาที่ต้นเหตุได้ หากฝ่ายจัดร่างกฎระเบียบสำหรับกองเชียร์หรือมาตรการรักษาความปลอดภัยให้ชัดเจน ระบุสิ่งของที่ห้ามนำเข้าสนามอย่างเช่น ขวดน้ำ ก็ให้ดักเก็บหน้าทางเข้าสนามหรือไม่ก็ให้นำน้ำดื่มใส่ภาชนะอย่างอื่นที่ไม่เป็นอันตรายแทน รวมทั้งพลุไฟ พลุสี และอุปกรณ์เชียร์อื่นๆ ด้วยก็อาจลดปัญหาได้ ในเมื่อเรามีเคสนี้ไว้ศึกษาแล้วก็ควรจะนำไปหาทางแก้ไขในภายหลังอย่างจริงจัง”