เมื่อปี 2006 เหตุการณ์อื้อฉาวมากที่สุดเรื่องหนึ่งในวงการน่องเหล็กระดับโลกคือการริบแชมป์จักรยานทางไกลตูร์ เดอ ฟรองซ์ จาก ฟลอยด์ แลนดิส สิงห์สองล้อชาวอเมริกัน หลังถูกตรวจพบว่ามีการใช้สารกระตุ้นจำพวก “เทสโทสเตอโรน” (testosterone) พร้อมกับโดนลงโทษห้ามแข่งเป็นเวลา 2 ปี
กรณีข้างต้นเงียบหายไปนานจนกระทั่งช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมาจึงถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง หลังนักวิจัยจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ออกมาเรียกร้องว่า การตรวจโด๊ปเพื่อหาสารประเภทนี้ตามวิธีการที่ปฏิบัติอยู่ในปัจจุบันครอบคลุมไม่ทั่วถึง เนื่องจาก ความแตกต่างทางด้านเชื้อชาติของนักกีฬาทำให้บางครั้งผลตรวจที่ออกมาคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง
เทสโทสเตอโรน เป็นฮอร์โมนเพศชายที่มีอยู่ตามธรรมชาติภายในร่างกาย แต่เป็นที่ทราบกันดีในวงการกีฬาว่านำมาใช้เพื่อการโด๊ป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักกีฬาชาย เพราะสารตัวนี้มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับ “สเตียรอยด์” (streroids) ที่ช่วยให้กล้ามเนื้อมีขนาดใหญ่และแข็งแรงมากขึ้น แต่เนื่องจากร่างกายมีกลไกในการขับส่วนที่เกินออกไปจึงออกฤทธิ์ได้ไม่นานนักทำให้เหมาะกับชนิดกีฬาที่ต้องออกแรงเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ อย่างการแข่งขันจักรยานหรือกรีฑา เป็นต้น
ขณะที่ปัจจุบันรูปแบบการตรวจหาสารกระตุ้นถูกกำหนดและควบคุมผ่าน องค์การต่อต้านสารกระตุ้นโลก (วาดา) โดยกรณีของ เทสโทสเตอโรน นั้น หลังจากเจ้าหน้าที่จัดเก็บปัสสาวะจากนักกีฬาแล้ว วิธีการแยกแยะว่าสารที่พบในตัวอย่างเป็นฮอร์โมนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติหรือเป็นสิ่งที่ได้รับจากภายนอก วิเคราะห์ได้จากระดับอัตราส่วนของค่า Testosterone ต่อ Epitestosterone (t/e) โดยตามธรรมชาติของมนุษย์อยู่ที่ 1:1 แต่หากมีการโด๊ป อัตราส่วนดังกล่าวจะผิดเพี้ยนไป โดย “วาดา” ระบุว่าหากนักกีฬารายใดมีอัตราส่วนสูงเกินกว่า 4:1 ถือว่ามีความเป็นไปได้ที่อาจกระทำผิด
แต่ต้นเดือนที่ผ่านมาวิธีการตรวจสอบเช่นนี้ถูกโต้แย้งจากศูนย์ต่อต้านการใช้สารกระตุ้นซึ่งตั้งอยู่ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ที่ออกมาระบุว่ารูปแบบดังกล่าวไม่ครอบคลุมทุกกรณี โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับ ยีนที่ไม่เหมือนกันของแต่ละชาติพันธุ์ทำให้ผลตรวจสอบไม่ตรงตามความเป็นจริง ทีมวิจัยเปิดเผยว่าได้ทำการทดสอบจากนักฟุตบอลจำนวน 171 คน จาก 6 ประเทศ ประกอบด้วยเชื้อสายต่างๆ ดังนี้คือ แอฟริกัน 57 คน,เอเชีย 32 คน, คนผิวขาว 50 คน และละติน 32 คน โดยนำปัสสาวะของแต่ละรายซึ่งมีการใส่ สเตียรอยด์ ลงไปอย่างจงใจมาตรวจสอบหาค่า t/e ผลปรากฏว่า นักกีฬาเชื้อสายละตินมีอัตราส่วนมากสุดอยู่ที่ 5.8:1 ขณะที่คนผิวขาวมีค่าเป็น 5.7:1 ด้านเชื้อสายแอฟริกันมีค่าเป็น 5.6:1 ส่วนคนเอเชียต่ำสุดในกลุ่มวิจัยอยู่ที่ 3.8:1
ผลการศึกษาข้างต้นแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นไปได้สูงที่นักกีฬาเชื้อสายละตินอาจถูกตัดสินว่ามีการใช้สารกระตุ้นมากกว่า ขณะเดียวกันอาจเกิดช่องโหว่ที่ทำให้มีการเล็ดลอดของผู้กระทำผิดจากชาวเอเชียเนื่องจากมีกลไกตามธรรมชาติที่ขับฮอร์โมนส่วนเกินทิ้งออกไปจากร่างกายได้ดีกว่า
อย่างไรก็ตาม เฟรเดริก ดอนเซ โฆษกของ “วาดา” โต้กลับผลวิจัยด้วยการยืนยันว่าทางองค์กรตระหนักรู้และรับทราบปัญหาดังกล่าวเป็นอย่างดี โดยที่ผ่านมาได้มีการร่วมมือกับศูนย์วิจัยต่างๆเพื่อหาวิธีที่ทำให้แน่ใจว่าความแตกต่างเกี่ยวกับยีนไม่ส่งกระทบต่อผลการตรวจ นอกจากนี้หากเกิดกรณีข้อสงสัยจะนำการตรวจสอบรูปแบบอื่นมาใช้ควบคู่กันไปด้วย อย่างเช่นกรณีของ แลนดิส ซึ่งตรวจพบว่ามีค่าของ t/e อยู่ที่ 11:1 แต่สิ่งที่ทำให้นักปั่นชาวอเมริกันต้องจำนนด้วยหลักฐานคือผลการตรวจ “คาร์บอน ไอโซโทป” (carbon isotope test) ที่ตรวจวัดระดับอัตราส่วนระหว่าง คาร์บอน 13 ต่อ คาร์บอน 12 ซึ่งให้ข้อมูลที่ละเอียดกว่าและยืนยันว่ามีการกระทำความผิดจริง
ขณะเดียวกัน คริสตอฟ ซูดาน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของห้องแลบที่โลซานน์เจ้าของผลวิจัยดังกล่าว แสดงความเห็นแนะนำว่าวิธีการดีที่สุดสำหรับการป้องกันการโด๊ป วงการกีฬาจำเป็นต้องหันมาใช้ระบบที่เรียกว่า “พาสสปอร์ต ซิสเต็ม” (Passport Symtem) ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลของนักกีฬาเกี่ยวกับผลการตรวจเลือดและปัสสาวะในระยะเวลาติดต่อยาวนานเพราะวิธีการนี้ทำให้มองเห็นภาพรวมพฤติกรรมของนักกีฬามากกว่าการเจาะจงหาสารกระตุ้นแต่ละชนิดเพียงอย่างเดียว