ฤดูกาล 2008-09 ของพรีเมียร์ชิปอังกฤษ ทีมใหญ่แห่งกรุงลอนดอนอย่างเชลซี ถูกคาดหมายว่าจะกลับมาประสบความสำเร็จอีกครั้งหลังแต่งตั้ง หลุยส์ เฟลิเป สโคลารี เข้ามาเป็นกุนซือคนใหม่ ยิ่งผลงานของทีมช่วงแรกที่เล่นกันได้อย่างโดดเด่นสมกับการรอคอยก็ยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่แฟนบอลรวมถึง โรมัน อบราโมวิช เจ้าของสโมสรชาวรัสเซีย แต่เมื่อการแข่งขันเคลื่อนผ่านจนเลยหลักกิโลครึ่งทาง ดูเหมือนว่าผลงานของทีมมีแต่ทรงกับทรุดเผยให้เห็นถึงความไม่คงเส้นคงวา แม้ไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นขั้นวิกฤต แต่ความมั่นใจที่เคยหวังไว้ว่าจะได้เห็นถ้วยแชมป์มาประดับตู้โชว์ชักเริ่มหดหายลงไปจนเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ บรรทัดต่อจากนี้คือบทวิเคราะห์จากทีมงาน MGR Sport ที่รวบรวมจากสถิติและข่าวความเคลื่อนไหวล่าสุดของสโมสรดังแห่งกรุงลอนดอน
1. ปัญหาจากเจ้าของทีม "โรมัน อบราโมวิช"
เป็นที่รู้กันอย่างชัดเจนว่าเศรษฐีน้ำมันผู้นี้ทุ่มเทเงินให้แก่ "สิงห์บลูส์" มากเพียงใดนับแต่ซื้อกิจการมาเมื่อปี 2003 เขาใช้เงินทุนของตัวเองอุดหนุนไปแล้วเป็นจำนวนถึง 578 ล้านปอนด์ (ประมาณ 3 หมื่นล้านบาท) เพื่อยกระดับสโมสรให้กลายเป็นยักษ์ใหญ่แห่งเกาะอังกฤษ ถึงทีมจะมีภาวะขาดทุนด้านผลประกอบการตอนสิ้นปี แต่ "เสี่ยหมี" ก็นำเงินมาอุดรอยโหว่อยู่ตลอดเวลา
แต่สำหรับฤดูกาลนี้ดูเหมือนว่าท่าทีของ "เสี่ยหมี" จะผิดแผกแตกต่างออกไปตัวอย่างเช่นมีการกำหนดนโยบายให้แก่ สโคลารี ในการซื้อตัวผู้เล่นรายใหม่ที่จะต้องขายแข้งเก่าที่ไม่ใช้งานออกไปเสียก่อนจึงจะนำเงินตรงนั้นไปใช้จ่ายได้ หรือข่าวการปลดแมวมองที่ฝังตัวอยู่ในหลายประเทศทั่วโลกเพื่อเซฟค่าใช้จ่ายอีกเช่นกัน รวมถึงกรณีล่าสุดในเกมเอฟเอ คัพ ที่ เชลซี ได้สั่งลดจำนวนตั๋วพิเศษซึ่งมอบแก่บรรดาผู้เล่นของทีมตนเอง ตัวอย่างเหล่านี้เห็นได้ชัดว่าทีมกำลังรัดเข้มขัดอย่างหนัก สาเหตุก็มิใช่อื่นใดเลยเป็นผลอันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกที่กำลังอยู่ในช่วงถดถอยและไปกระทบต่อธุรกิจหลักอันเป็นแหล่งทุนของ อบราโมวิช เป็นเหตุให้ท่อน้ำเลี้ยงของเชลซี เริ่มอ่อนแรงลง
2. ปัญหาจากผู้จัดการทีม "หลุยส์ เฟลิเป สโคลารี"
กุนซือวัย 63 ปีรายนี้ได้รับการยอมรับจากผลงานการพาทีมชาติบราซิลคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกเมื่อปี 2002 รวมถึงการนำทีมชาติโปรตุเกสทำผลงานดีในช่วง 5 ปีหลังสุด ดังนั้นจึงถูกทาง เชลซี ซื้อใจให้มารับภารกิจในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ แต่สไตล์การทำทีมของ "บิ๊กฟิล"มักถูกตั้งคำถามเสมอเช่นกันว่าเหมาะสมกับการนำมาใช้ในเกมพรีเมียร์ ลีก มากน้อยเพียงใด เพราะชัดเจนว่าเขาชอบให้ลูกทีมเน้นการต่อบอลทางพื้นราบมากกว่าการโยนบอลเพื่อไปลุ้นกันในแดนหน้า แม้จะดูเป็นความคลาสสิกสวยงามแต่มีประสิทธิภาพเฉพาะกับทีมระดับเล็กๆเท่านั้น ยามสถานการณ์ของทีมคับขันจากการตกเป็นรองคู่แข่ง การใช้อาวุธทางอากาศเข้าโจมตีบางทีก็ให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจเช่นกันอย่างเช่นที่การเล่นลูกตั้งเตะสมัยของ โฮเซ มูรินโญ กุนซือคนเก่า
ขณะที่ความเชื่อมั่นในตัวนักเตะของ สโคลารีซึ่งให้ความสำคัญกับนักเตะบางคนมากเกินไปแม้ว่าบางครั้งจะมีข้อผิดพลาดอย่างเช่น เดโก ลูกทีมที่เขาไว้ใจจากผลงานสมัยคุมทีมชาติโปรตุเกส แม้ว่ามิดฟิลด์รายนี้บางนัดจะถูกตัดออกจากเกมจนไม่มีส่วนร่วมกับทีม แต่ "บิ๊กฟิล" ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนตัวออก หรือกรณีตำแหน่งกองหน้าของทีมที่จัดให้มีหน้าเป้าเพียงรายเดียวทำให้ นิโกลาส์ อเนลกา และ ดิดิเยร์ ดร็อกบา คนหนึ่งคนใดต้องนั่งข้างสนาม ทั้งที่รูปแบบการเล่นของทั้งสองคนมีความแตกต่างกัน โดยดาวยิงชาวฝรั่งเศสแม้กำลังยิงประตูเป็นกอบเป็นกำในฤดูกาลนี้แต่เป็นเพียงนัดที่พบกับทีมเล็กเท่านั้น เมื่อเจอกับทีมใหญ่แทบจะหายไปจากเกม ขณะที่ศูนย์หน้าไอเวอรี โคสต์ มีทักษะชั้นเชิงพอที่จะขับเคี่ยวกองหลังเก่งๆของทีมชั้นนำ ดังนั้นการแข่งขันบางแมตช์จึงกลายเป็นว่า "สิงห์บลูส์" กดดันเข้าใส่คู่แข่งตลอด แต่กลับยิงทิ้งยิงขว้างกันเองทำให้ทีมพลาดการทำประตูไป
3.ปัญหาจากนักเตะ
"สิงห์บลูส์" เสริมทัพเมื่อช่วงซัมเมอร์ด้วยการดึงตัวผู้เล่นใหม่เพียง 2 คนคือ โบซิงวา และ เดโก ฝ่ายแรกสามารถปรับตัวเข้ากับการเล่นฟุตบอลอังกฤษได้ดีอาจเป็นเพราะว่ามีความรวดเร็วคล่องตัว ต่างจากมิดฟิลด์ชาวโปรตุกีส ที่อาศัยชั้นเชิงเทคนิคหลอกล่อคู่แข่งจนบางครั้งกลายเป็นการขาดๆเกินๆ และเมื่อถูกเบียดถูกปะทะอย่างหนักตามสไตล์ของลีกที่นี้ย่อมมีผลกระทบต่อการเล่นเช่นกันจนนำมาซึ่งฟอร์มการเล่นที่ตกลงไปอย่างน่าใจหายเมื่อเปรียบเทียบในช่วงแรก เช่นเดียวกับ มิชาเอล บัลลัค มิดฟิลด์ชาวเยอรมนีที่อยู่ในถิ่นสแตมฟอร์ด บริดจ์ เป็นปีที่สามแต่ก็ไม่สามารถก้าวขึ้นมาเป็นคีย์แมนคนสำคัญดังที่ทำได้กับทีมชาติของตัวเอง
จำนวนผู้เล่นที่น้อยเกินไปและระดับฝีเท้าของตัวสำรองที่ไม่สามารถทดแทนได้ก็เป็นปัญหาสำคัญของทีมเช่นกัน หลังจากผู้เล่นตัวหลักอย่าง เอสเซียง และ คาร์วัลโญ เจอปัญหาบาดเจ็บรุมเร้าบ่อยผู้เล่นที่มาทดแทนอย่าง จอห์น โอบี มิเกล ในแผงกองกลาง หรือ อเล็กซ์ กองหลังชาวบราซิลในแนวรับก็ไม่สามารถเทียบชั้นกับนักเตะที่ขาดหายไปได้ การไม่ได้ลงเล่นด้วยกันบ่อยนั้นเองทำให้ไม่เข้าขากันจน "สิงห์บลูส์" เสียประตูอย่างไม่คาดคิดบ่อยครั้ง
ทั้งสามปัญหาคือปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการทำผลงานของ เชลซี ในฤดูกาลนี้หากมีการแก้ไขได้ทันท่วงทีอาการที่กำลังจะเข้าสู่ภาวะโคม่าของเชลซี น่าจะทุเลาและกลับคืนสู่ความยิ่งใหญ่มีโอกาสลุ้นแชมป์อีกเฮือกใหญ่ แต่ถ้าต้นเหตุแห่งปัญหาทั้งสามข้อยังคงปล่อยให้เรื่องเหล่านี้กัดกร่อนทีมไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะได้เห็นชื่อของ เชลซี ร่วงจากอันดับบิ๊กโฟร์ในอนาคตอันใกล้นี้ก็มีไม่น้อยเช่นกัน