ก่อนที่ศึกบาสเกตบอลเอ็นบีเอ (NBA) แต่ละฤดูกาลใหม่จะเปิดฉากขึ้นธรรมเนียมปฏิบัติอย่างหนึ่งที่สำนักข่าวเมืองลุงแซมจะทำเป็นกิจวัตรคือการเปิดโผตัวเต็งรางวัล “ตุ๊กตาทอง” ในแต่ละสาขาของลีกบาสเกตบอลอาชีพ ซึ่งฤดูกาล 2008/09 รายชื่อของผู้เล่นที่จะได้เดินบนพรมแดงขึ้นไปรับรางวัลอันทรงเกียรติถูกเปิดเผยออกมาแล้ว โดยการวิเคราะห์ของไมเคิล เดอ ลีออง แห่ง “ProjectSpurs.com” ลองมาดูกันว่า โคบี ไบรอันท์ หรือโค้ช บายรอน สกอตต์ สามารถป้องกันตำแหน่งตัวเองได้หรือไม่
ผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) : คริส พอล
เมื่อฤดูกาลก่อน โคบี ไบรอันท์ ได้รับการโหวตจากนักข่าวในสหรัฐฯ และแคนาดาถึง 1,105 เสียง ให้คว้าตำแหน่งผู้เล่นทรงคุณค่าแห่งปีไปครองเป็นครั้งแรกในชีวิต ตามโพลหลายสำนักยังมองว่าแม่ทัพ แอลเอ เลเกอร์ส มีโอกาสขับเคี่ยวกับ เลอบรอน เจมส์ ซูเปอร์สตาร์ คลีฟแลนด์ คาวาเลียร์ส แต่ เดอ ลีออง ไม่เคยมองข้าม คริส พอล ซึ่งอย่าลืมว่าเมื่อซีซั่นก่อนการ์ดจ่ายร่างจิ๋ว นิวออร์ลีนส์ ฮอร์เนตส์ ถูกโหวตเป็นอันดับ 2 ทว่าเพียงขวบปีที่ 4 สำหรับการขึ้นมาเล่นอาชีพ พอล มีโอกาสสัมผัส MVP เร็วเกินคาด ยิ่งถ้าผลงานเฉลี่ยดีกว่า 21 แต้ม 11.6 แอสซิสต์ และ 2.7 สตีล จากเมื่อปีก่อน กระจอกข่าวอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือผู้เล่นและการ์ดที่ดีที่สุดในลีก
ผู้เล่นเกมรับยอดเยี่ยม : เทรชอน ปรินซ์
ไม่มีใครปฏิเสธความแข็งแกร่งของ เควิน การ์เนตต์ เจ้าของตำแหน่งนี้เมื่อซีซั่นก่อนผู้พา บอสตัน เซลติกส์ เถลิงแชมป์เอ็นบีเอ สมัยที่ 17 หรือการป้องกันที่เต็มไปด้วยแท็คติกอันแยบยลของ บรูซ โบเวน (ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส) รวมทั้ง มาร์คัส แคมบี รีบาวด์มหากาฬแห่ง แอลเอ คลิปเปอร์ส อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เดินเข้าลีกเมื่อ 6 ปีก่อน “ไอ้ก้านยาว” เทรชอน ปรินซ์ แสดงความอึดไม่พลาดแม้แต่เกมเดียวกับ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ด้วยพื้นฐานเกมรับของต้นสังกัดที่แกร่งดั่งภูผาหิน เกื้อหนุนให้ ปรินซ์ แสดงความสามารถของตัวเองออกมาให้ประจักษ์แก่สายตาสาธารณชน
โค้ชยอดเยี่ยม : มัวริซ ชีคส์
การพา “แตนอาละวาด” ฮอร์เนตส์ คว้าชัยถึง 56 จาก 82 เกมในฤดูกาลปกติส่งให้ บายรอน สกอตต์ รับตำแหน่งโค้ชยอดเยี่ยมไปครองเมื่อฤดูกาลก่อน มาปีนี้ มัวริซ ชีคส์ ได้รับการจับตามองเป็นพิเศษว่ามีสิทธิพา ฟิลาเดลเฟีย เซเวนตีซิกเซอร์ส กลับสู่ยุครุ่งเรืองดั่งสมัย อัลเลน ไอเวอร์สัน ซิวชัยหลัก 50 เกม ในเมื่อโค้ชมีแกนหลักอย่าง อังเดร อิกัวดาลา, อังเดร มิลเลอร์, ธีโอ แรตลิฟฟ์ และการมาจุดประกายของ เอลตัน แบรนด์
ผู้เล่นปีแรกยอดเยี่ยม : ไมเคิล บีสลีย์
พอจบฤดูกาล 2008/09 ชิคาโก บูลส์ อาจมานั่งเสียดายที่ปักป้าย “นัมเบอร์วัน ดราฟท์” ให้แก่ เดอร์ริค โรส แทนที่จะเป็น ไมเคิล บีสลีย์ ถ้าฟอร์เวิร์ดหนุ่มออกตัวในปีรุคกี้ด้วยสภาพร่างกายที่แข็งแกร่ง ประกอบกับได้รับความช่วยเหลือเป็นอย่างดีจาก ดีเวน เหว็ด และ ชอว์น แมเรียน นอกจากที่ บีสลีย์ จะพาตัวเองคว้าเกียรติยศส่วนตัว ไมอามี ฮีท ก็มีโอกาสหลุดเข้าเพลย์ออฟ ทว่าหลายให้การจับตามอง เกร็ก โอเดน อยู่เช่นกัน ถ้าเซ็นเตอร์ ปอร์ทแลนด์ เทลเบลเซอร์ส ดราฟท์คนแรกปีก่อนไม่เจ็บหนักจนพลาดการลงสนามตลอดทั้งซีซั่น เควิน ดูแรนท์ คงไม่ได้ “รุคกี้แห่งปี” แบบสะดวกโยธินแน่นอน
ผู้เล่นสำรองยอดเยี่ยม : เจสัน เทอร์รี
เป็นรางวัลที่คาดเดายากลำบากที่สุดรางวัลหนึ่ง แต่ในเมื่อ มานู จิโนบิลี หนึ่งใน “บิ๊กทรี” สเปอร์ส สภาพร่างกายไม่การันตีว่าพร้อมรบตลอดทั้งปี โอกาสจึงลอยมาถึง เจสัน เทอร์รี แบ็กอัพด์ชั้นดีของ เจสัน คิดด์ การ์ดจอมเก๋า ดัลลัส แมฟเวอร์ริกส์ แม้อายุขึ้นหลัก 31 ปี แต่ความว่องไวของ เทอร์รี ไม่เคยตกลงไป ทั้งยังชำนาญการเรื่องยิงสามแต้ม ความสามารถทำสกอร์เฉลี่ย 16 แต้มจากการลุกจากม้านั่งสำรอง ไม่เหลียวมองไม่ได้แล้ว
ผู้เล่นปรับปรุงฟอร์มยอดเยี่ยม : แดนนี เกรนเจอร์
พัฒนาการดีขึ้นทุกปีหลังจากถูกดึงเข้าลีกเมื่อสามปีก่อน แดนนี เกรนเจอร์ สร้างความประทับใจให้ใครหลายคนเมื่อซีซั่นที่ผ่านมาด้วยการกดเฉลี่ย 19.6 แต้มต่อเกม แม้อาจทำได้ไม่เหมือนกับ เฮดู เทอร์โกกลู เจ้าของตำแหน่งเดิมที่พา ออร์แลนโด เมจิก เข้าเพลย์ออฟ เนื่องจาก อินเดียนา เพเซอร์ส ยังอยู่ในยุคถ่ายเลือด แต่การมาของ ที.เจ. ฟอร์ด การ์ดจ่ายมือดียิ่งเป็นการสนับสนุนให้ เกรนเจอร์ มีโอกาสทำเฉลี่ยเกินหลัก 20 แต้ม ซึ่งรางวัลตรงนี้อาจปูทางให้ฟอร์เวิร์ดวัย 25 ปีเดินเข้าสู่เกมรวมดารา (ออล-สตาร์ เกม) ในอีกไม่ช้า