คงไม่มีทีมบาสเกตบอลทีมใดในโลกที่เก่งกาจเหมือนกับ “ดรีมทีม” ชุดปี 1992 อีกแล้วและคงหาการ์ดจ่ายคนใดที่มาเปรียบกับ เมจิก จอห์นสัน หรือ จอห์น สตอคตัน ได้ยาก แต่ทีมแห่งความฝันของสหรัฐอเมริกาชุดลุยศึก “ปักกิ่งเกมส์” ถือว่ามีความหวังใหม่อยู่มากมายและหลายคนก็ต้องแย่งชิงตำแหน่งกันเองโดยเฉพาะตำแหน่งของ “พอยท์การ์ด”
เสร็จจากภารกิจในศึกบาสเกตบอล เอ็นบีเอ (NBA) ประจำฤดูกาล 2007/08 กลางเดือนมิถุนายน พอถึงช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน เจอร์รี โคลันเจโล ผู้อำนวยการฝ่ายจัดการมีการบ้านในการเลือกเชิญตัวผู้เล่นซูเปอร์สตาร์มาเข้าแคมป์ฝึกซ้อมกัน ก่อนที่ ไมค์ ครายเซวสกี หัวหน้าโค้ชจะเป็นคนตัดให้เหลือเพียง 12 ขุนพลในการไปแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ครั้งที่ 29 ที่ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 8-24 สิงหาคม
ตอนนี้ในหลายๆ ตำแหน่งเชื่อว่า “โค้ชเค” น่าจะมีลิสต์อย่างไม่เป็นทางการอยู่ในใจบ้างแล้ว แต่ในส่วนของการ์ดจ่าย เป็นงานยากไม่น้อยที่จะตัดสินใจอะไรลงไป เพราะหลายคนโชว์ฟอร์มได้น่าสนใจโดยเฉพาะ คริส พอล ผู้เล่นประสบการณ์แค่สามปีที่เกือบพา นิวออร์ลีนส์ ฮอร์เนตส์ ผ่านเข้าชิงแชมป์สายตะวันตกถ้าไม่ไปเสียท่าให้ “แชมป์เก่า” ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส เสียก่อน
แม้ “CP3” คริส พอล ไม่ถูกเรียกใช้บริการช่วงที่ สหรัฐฯ ลงทำการแข่งขันรอบคัดเลือกโอลิมปิกโซนอเมริกา แต่การได้รับเลือกให้เป็นอันดับ 2 ของลีกรองจาก โคบี ไบรอันท์ ผู้เล่นทรงคุณค่า (MVP) ทำให้ พอล สร้างเครดิตให้แก่ตัวเองมากขึ้น ฤดูกาลนี้การ์ดคิ้วหนาวัย 23 ปีเปล่งประกายความเป็นผู้นำออกมาอย่างชัดเจนเกินวัย 21.1 แต้ม 11.6 รีบาวด์ กับอีก 2.7 การขโมยบอลต่อเกมในฤดูกาลปกติ อีกทั้งความเชื่อมั่นในตัวเองกล้าเล่นกล้าลุยในเพลย์ออฟ ทำให้ชื่อของ พอล น่าจะกระเด้งเข้าไปอยู่ในใจ ไมค์ ครายเซวสกี ได้ไม่ยาก หลังจากที่ ดีเวน เหว็ด กำลังสำคัญสภาพร่างกายไม่สู้ดีอาจฟิตไม่ทัน
อย่างไรก็ตาม พอล คงต้องแข่งขันกันทำผลงานกับ เดอรอน วิลเลียมส์ การ์ดร่างตันของ ยูทาห์ แจซซ์ ที่ได้โอกาสไปโชว์ฝีมือให้ “โค้ชเค” เห็นมาแล้วในรอบคัดเลือกและก็ทำงานของตัวเองได้ดีเสียด้วย ทว่าถ้าวัดกันเฉพาะปีนี้ วิลเลียมส์ เป็นรอง พอล ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการทำสกอร์ 18.8 แต้ม 10.5 แอสซิสต์ ขโมยบอลเฉลี่ยเกมละครั้งเท่านั้น ซึ่งเหตุผลง่ายๆ คือความคล่องแคล่วว่องไวที่ต่างกัน และจุดด้อยของ วิลเลียมส์ ในปีนี้คือการเสียเทิร์นโอเวอร์บ่อยหน ถ้าต้องเลือกผู้เล่นสดๆ ในตำแหน่งการ์ดจ่ายไว้สักคน ชั่วโมงนี้ต้องยอมรับว่า พอล เหนือกว่า วิลเลียมส์ อยู่พอสมควร
ตามหลักการพอถึงการตัดใจเลือกผู้เล่นไปลุยทัวร์นาเมนต์ใหญ่ๆ โค้ชมักผสมผสานผู้เล่นดาวรุ่งกำลังห้าวบวกกับตัวประสบการณ์ไปช่วยค้ำ เพราะต้องไม่ลืมว่าพวกเก๋าๆ สามารถรับมือกับความกดดันได้ดีกว่าเด็กที่ยังสดแต่ขณะเดียวกันใจอาจฝ่อขึ้นมายามเจอภาวะคับขัน ดังนั้นชื่อของ ชอนซีย์ บิลล์อัพส์ จึงน่าสนใจไม่น้อย แม้ไม่โดดเด่นในเรื่องการทำแต้มที่หวือหวาดั่ง พอล หรือ วิลเลียมส์ แต่ยามใดที่ ดีทรอยต์ พิสตันส์ ต้องการคนช่วย ริชาร์ด แฮมิลตัน ในเรื่องของการทำคะแนน บิลล์อัพส์ มักกระโดดขึ้นมาเคียงข้างทุกครั้งไป โดยเฉพาะเกมใหญ่ๆ อย่าง NBA Final ที่การ์ดประสบการณ์ 12 ปีเคยคว้าตำแหน่ง MVP รอบชิงมาแล้วเมื่อปี 2004
อีกทั้ง บิลล์อัพส์ เป็นการ์ดที่ครองบอลได้เหนียวแน่น เสียเทิร์นโอเวอร์เฉลี่ยแค่ 2 ครั้งต่อเกมเท่านั้น ที่สำคัญผู้เล่นวัย 31 ปีเชื่อขนมกินได้ในส่วนของการชู้ตฟรีโทรล์ลงคิดเป็นถึง 91.8 เปอร์เซ็นต์ จุดแข็งตรงนี้ได้ใช้แน่ในทัวร์นาเมนต์สำคัญๆ ในส่วนของผู้ท้าชิงเห็นจะมีเพียง เจสัน คิดด์ ซึ่งเพิ่งย้ายบ้านมาอยู่กับ ดัลลัส แมฟเวอร์ริกส์ (อีกครั้ง) อย่างไรก็ตาม ฤดูกาลที่เพิ่งผ่านไปช่างไม่น่าจดจำเอาเสียเลยสำหรับผู้เล่นประสบการณ์ 13 ปีในลีก และถ้า “โค้ชเค” ต้องเลือกคำตอบไม่น่าจะยากเกินไป
สำหรับผู้เล่นระดับ NBA สามารถสลับทดแทนตำแหน่งกันได้ บ่อยครั้งที่ โคบี ไบรอันท์, เลอบรอน เจมส์ ต้องมาถือบอลให้กับต้นสังกัดเองยามเข้าได้เข้าเข็ม นั่นก็ทำให้โควตาการ์ดจ่ายอาจไม่เปิดกว้างให้ถึง 3 ตำแหน่งในการไปลุย “ปักกิ่งเกมส์” เมื่อเป็นเช่นนั้นทั้ง พอล, วิลเลียมส์, บิลล์อัพส์ และคิดด์ คงต้องโชว์ของที่ตัวเองมีอยู่ออกมาให้เต็มที่ตอนอยู่ในแคมป์ฝึกซ้อม จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของ ครายเซวสกี ในการเขียนชื่อส่งฝ่ายจัดการแข่งขันกันต่อไป