ต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ดับเบิลยูทีเอ ทัวร์ องค์กรใหญ่ดูแลเทนนิสหญิง เปิดเผย แผนการดำเนินงานที่มีเป้าหมายบรรลุผลสำเร็จในปี 2010 (Roadmap 2010) โดยแผนดังกล่าวเริ่มต้นด้วยปฏิทินการแข่งขันใหม่สำหรับฤดูกาล 2009 ซึ่งเมื่อออกสู่สายตาสาธารณชนเป็นครั้งแรกก็เรียกเสียงฮือฮาทั้งในเรื่องของเงินรางวัล และทัวร์นาเมนต์ใหม่แกะกล่องจากทั่วทุกมุมโลก
โดยเนื้อหาใหม่ๆที่ระบุไว้ในแผนการดำเนินงานนี้มีข้อดีที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือเงินรางวัลรวมของแต่ละทัวร์นาเมนต์ซึ่งจะเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านๆมาถึง 40 เปอร์เซ็นต์ แถมฤดูกาลที่ปกติยาวนานน่าเหนื่อย 11 เดือนก็จะถูกหดสั้นเหลือแค่ 9 เดือนเท่านั้น
รายการสำคัญระดับ ไทร์ 1 และ ไทร์ 2 ถูกจับขมวดรวมกันเป็น “พรีเมี่ยมเทนนิส” 20 รายการ โดยในจำนวนนั้นมีรายการน้องใหม่เงินรางวัลแตะหลัก 4.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือราว 150 ล้านบาท 4 แห่ง คือ ไมอามี่,อินเดียน เวลส์ ,มาดริด และ ปักกิ่ง บวกกับรายการ 2 ล้านเหรียญ หรือ 66 ล้านบาทซึ่งมีอยู่เดิมอย่าง แคนาดา , ดูไบ ,โรม ,ซินซิเนติ และ โตเกียว
แน่นอน ผลประโยชน์จากแผนงานใหม่มากมายจนมิอาจเมินหน้าหนีได้แต่น่าเสียดายตรงที่ ดับเบิลยูทีเอ ไม่ได้ถามความเห็นของนักเทนนิสในทัวร์แม้แต่คนเดียว แถมยังอุตส่าห์เพิ่มกฎเกณฑ์ลงไปอีกว่า มือพระกาฬ 10 อันดับแรกของโลกจะ“ต้อง”ลงแข่งอย่างน้อยๆ 10 รายการรวมกับแกรนด์สแลมอีก 4 รายการแบบไม่มีเงื่อนไข แม้กระทั่งอาการบาดเจ็บก็ไม่ใช่ข้ออ้าง มิฉะนั้นจะถูกปรับเงินและตัดคะแนนให้หลาบจำ
โดย ลาร์รี สกอตต์ ซีอีโอ ของ ทัวร์ ชี้แจงเหตุผลว่า “ต้องการส่งเสริมการเติบโตของวงการเทนนิสหญิง นักหวดชั้นนำจะปะทะกันบ่อยขึ้น ซึ่งแน่นอนตลอดปีจะมีแต่รายการใหญ่ให้แฟนๆติดตามรับความบันเทิงได้มากกว่าเดิม”แนวคิดขยายตลาดในครั้งนี้สร้างความไม่พอใจให้นักเทนนิสจำนวนหนึ่ง โดย ดินารา ซาฟีนา หวดหมีขาว มือ 2 ของโลกนำทัพโจมตีกลับทันทีว่า “พวกผู้บริหารไม่เคยฟังความเห็นของนักกีฬาเลย ถ้าผู้เล่นชั้นนำเลือกลงแข่งรายการซ้ำๆกันหมดแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น”
ซึ่งรูปการที่พอคาดเดาได้ก็คือ 20 รายการระดับ “พรีเมี่ยมเทนนิส” จะทวีความน่าสนใจขึ้นมาตีคู่กับแกรนด์สแลมทั้ง 4 ทันที หากมองในแง่ของรายชื่อผู้เล่นที่เข้าร่วมชิงชัย
เนื่องจากในรายการแกรนด์สแลมจะแข่งขันกัน 2 อาทิตย์ มีการประกอบคู่หรือจำนวนนักเทนนิสที่เข้าร่วมประมาณ 128 คน ซึ่งแน่นอนมีนักหวดทอปเทนลงประชันกัน ขณะที่รายการพรีเมี่ยมตามแผนการดำเนินงาน 2010 จะมีการแข่งขันที่สั้นกว่าถึง 1 สัปดาห์ ขนาดของการประกบคู่ก็ไม่เกิน 48 หรือ 64 คน โดยสถานที่แข่งจะกระจายไปตามภูมิภาคต่างๆไม่ว่าจะเป็นเมืองจีนหรือตะวันออกกลาง และที่สำคัญนักเทนนิสชั้นนำซึ่งลงไล่ล่าแชมป์แกรนด์สแลมอย่าง วิมเบิลดัน หรือ เฟรนช์ โอเพ่น ยังมาลงแข่งกันครบ เมื่อเป็นเช่นนี้คนในแวดวงลูกสักหลาดต่างแสดงความกังวลว่า รายการระดับแกรนด์สแลม จะถูกลดความสำคัญลง
ไม่เพียงแต่รายการระดับเมเจอร์ ที่อาจได้รับผลกระทบหากแต่รายการดั่งเดิมในดับเบิ้ลยูทีเอทัวร์ อาจต้องประสบกับภาวะที่จำนวนผู้ชมหดหายเพราะถ้าหัวขบวนแห่กันลงแข่งในสังเวียนใหม่เงินรางวัลร้อยล้าน ผลที่ตามมาก็คือรายการเล็กๆจะกลายเป็นกระชอนที่ช้อนได้แต่นักกีฬาเกรด บี ซึ่งคนดูในสนามก็คงลดจำนวนลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
สำหรับรายการเล็กบางส่วนให้เงินน้อยแต่ให้คุณค่าทางใจได้มาก ยกตัวอย่างเช่นเทนนิส เครมลิน คัพที่เพิ่งปิดฉากไปเมื่อสัปดาห์ก่อน นักหวดหมีขาวคนใดบินกลับบ้านเกิดเมืองนอนมาเข้าร่วม หลังแข่งเสร็จสิ้นจะได้รับโอกาสสำคัญในชีวิตเข้าพบประธานาธิบดีในพระราชวังเครมลิน อย่างไรก็ตามปีหน้ากลับกลายเป็นว่าทัวร์นาเมนต์นี้จะถูกกฎใหม่บังคับให้หวดสาวรัสเซียที่อยู่ในทอปเทนถึง 5 คนกลับมาลงแข่งได้ไม่เกิน 2 คนเท่านั้น เดือดร้อนถึง สเวตลานา คุซเนตโซวา มือ 7 ของโลกเป็นตัวแทนออกมากล่าวถึงกฎระเบียบใหม่ว่า “ไร้สาระสิ้นดี รายการในประเทศรัสเซีย แต่นักเทนนิสรัสเซียถูกห้ามลงเล่น !”
กระแสต่อต้านปฏิทินปี 2009 ขยายวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆทั้งที่ฤดูกาล 2008 ยังไม่ทันสิ้นสุดลงด้วยซ้ำ โดยแกนนำหน้าใหม่อย่าง ดินารา ซาฟีนา ได้ออกมาประกาศชัดแล้วว่า หาก ดับเบิลยูทีเอ ยังคงดึงดันหนุนแผนงานนี้ต่อไป ผู้เล่นหัวขบวนทั้ง 8 คนที่กำลังจะลงแข่ง โซนี อิริกสัน แชมเปียนชิฟ ในเดือนหน้าเตรียมงัดมาตรการขั้นเด็ดขาดออกมาใช้ตอบโต้ทันที ซึ่งไม่แน่ว่าอาจเป็นการประกาศบอยคอตต์ไม่ลงแข่งตามปฏิทินใหม่ในปี 2009 ก็เป็นได้
คงต้องรอดูกันว่า ดับเบิ้ลยูทีเอ ซึ่งแสดงท่าทีเพิกเฉยมาโดยตลอดกับปัญหาที่เกิดขึ้นในทัวร์ นับตั้งแต่โปรแกรมที่อัดแน่น การให้ความสำคัญกับผลประโยชน์อันได้มาจากการจัดขายลิขสิทธิ์เพียงอย่างเดียวโดยไม่สนใจว่านักเทนนิสจะได้รับความเดือดร้อนหรือไม่ หรือแม้กระทั่งปัญหาในครั้งนี้ พวกเขาก็ยังไม่แสดงท่าทีใดๆ ออกมา ขณะที่ความอดทนของเหล่านักหวดสาวก็ลดลงเรื่อยๆ หากทั้งสองฝ่ายไม่หันหน้ามาพูดคุยกันแบบเปิดอกเชื่อว่า ฤดูกาล 2009 ที่จะเป็นจุดเริ่มต้นของโรดแมป 2010 อาจเป็นจุดจบของดับเบิ้ลยูทีเอทัวร์ก็เป็นได้