ภาพที่ แมเรียน โจนส์ แถลงข่าวด้วยน้ำตายอมรับผลการกระทำผิดของตนเองที่ใช้สารกระตุ้นจนได้ครองเหรียญทองโอลิมปิกที่ซิดนีย์ นับเป็นภาพที่น่าเศร้าสลดเป็นอย่างยิ่งของวงการกีฬาที่ปัจจุบันสปิริตในเกมการแข่งขันกำลังถูกทดแทนด้วยความพยายามทุกวิถีทางเพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งชัยชนะ
ภายหลังจากกรณีอื้อฉาวดังกล่าวจบลง ดูเหมือนว่า องค์กรต่อต้านการใช้สารกระตุ้น รวมไปถึงคณะกรรมการโอลิมปิกสากลหันมาให้ความสนใจเรื่องนี้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการแข่งขันมหกรรมกีฬาแห่งมนุษยชาติ กำลังจะเริ่มขึ้นในเวลาอีกเพียงสองสัปดาห์ข้างหน้า
ทั้งนี้ คณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกของจีน หรือ BOGOC ได้เตรียมมาตรการที่เรียกได้ว่าเข้มงวดที่สุดในประวัติศาสตร์เพื่อตรวจสอบนักกีฬา ขณะที่นักกีฬาจีนก็ต้องกล่าวสาบานว่าจะไม่ขอยุ่งเกี่ยวกับกลโกงด้วยสารกระตุ้นไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม
แต่ถึงแม้จะมีความพยายามมากขนาดไหนบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการแข่งขันกลับรู้สึกกังวลใจมากกว่าเดิม เพราะเหรียญทองโอลิมปิกนั้น เป็นสิ่งเย้ายวนใจ และทำให้นักกีฬาหลายรายยอมทำทุกวถีทางเพื่อให้ได้ยืนบนจุดที่สูงที่สุดของโพเดียมรับเหรียญรางวัล นอกจากนี้ สารกระตุ้นประเภทสเตียรอยด์ และ อีพีโอ ซึ่งนิยมใช้ในหมู่นักกีฬาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพแก่ร่างกาย ล้วนเป็นฮอร์โมนการทำงานของฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อ ซึ่งมีอยู่ในมนุษย์ทุกคนและมาตรฐานการตรวจสอบที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ยังไม่สามารถแยกแยะความแตกต่างระหว่างสารกระตุ้นและฮอร์โมนตามธรรมชาติได้อย่างชัดเจน
ทั้งนี้ ศาสตราจารย์ อาร์เน ลุชวิสท์ ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากลด้านการแพทย์ กล่าวถึงปัญหาดังกล่าว ว่า “มันจะเป็นประโยชน์กว่าถ้าเราไม่เปิดเผยรายขั้นตอนในการตรวจสารกระตุ้น เพราะจะทำให้สามารถควบคุมการตรวจสอบที่เมืองปักกิ่งได้อย่างเต็มที่ แต่ถึงจะป้องกันมากเพียงใดเชื่อว่ายังคงมีนักกีฬาบางรายพยายามใช้สารกระตุ้นจำพวกฮอร์โมน และ อีพีโอ อยู่”
หากพลิกดูสถิตินักกีฬาที่ใช้สารกระตุ้นในการแข่งขันโอลิมปิกหลายครั้งที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ามีนักกีฬาจำนวนไม่น้อยที่ยินยอมจะทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตนเองคว้าเหรียญรางวัลมาคล้องคอและในปักกิ่งเกมส์ ครั้งนี้ก็คงหนีไม่พ้นเช่นกัน
สำหรับสถิติอันน่าเศร้าใจเกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้นต้องยกให้กับการแข่งกรีฑาเป็นอันดับหนึ่ง เนื่องจากผู้คว้าชัยชนะ 3 คน จากการแข่งขัน 5 ครั้งล่าสุด มีเรื่องพัวพันเกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้นเริ่มจากการแข่งขันในปี 1988 ณ กรุงโซล เบน จอห์นสัน นักวิ่งทีมชาติแคนาดา ถูกตรวจพบว่ามีการใช้สเตียรอยด์หลังจากที่เข้าเส้นชัยมาด้วยอาการผิดปกติทางอารมณ์และต้องออกจากประเทศเกาหลีใต้ ไปอย่างไร้เสียเกียรติ
ขณะที่ จัสติน กัตลิน นักวิ่งอเมริกันผู้คว้าชัยชนะในการแข่งขัน 100 เมตรชาย ณ กรุงเอเธนส์ ปี 2004 และเป็นเจ้าของสถิติโลกถูกโทษแบนเป็นเวลา 4 ปี หลังจากตรวจพบในอีกสองปีถัดมาว่ามีการใช้สารสเตียรอยด์
นอกจากนี้ ยังมีเจ้าของเหรียญทองเมื่อปี 1992 ที่บาร์เซโลนา อย่าง ลินฟอร์ด คริสตี นักกรีฑาชาวอังกฤษถูกปฏิเสธให้เป็นผู้วิ่งถือคบเพลิงไฟโอลิมปิกที่บ้านเกิดตนเองจะเป็นเจ้าภาพในปี 2012 หลังจากถูกตรวจพบว่าโกงคู่ต่อสู้ด้วยสารกระตุ้นก่อนที่จะประกาศเลิกเล่น และที่ไม่มีใครลืม คือ กรณีของ แมเรียน โจนส์ เจ้าของ 3 เหรียญทองชาวสหรัฐฯ ที่ซิดนีย์เกมส์ ปี 2000 ที่ตอนนี้ได้รับโทษจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน หลังจากศาลเมืองเทกซัสพิพากษาว่าเธอมีความผิดในข้อหาให้การเท็จเกี่ยวกับการใช้สารกระตุ้น
นอกจากกรีฑาแล้วกีฬายกน้ำหนักก็เป็นอีกหนึ่งประเภทการแข่งขันที่จอมพลังทั้งหลายมักจะพัวพันอยู่กับการใช้สารกระตุ้น ดังเช่น กรณีล่าสุดที่ทีมยกน้ำหนักบัลแกเรียประกาศถอนตัวออกจากการแข่งขันหลังตรวจพบว่า นักกีฬา 11 คนของทีมมีผลตรวจเป็นบวกจากการใช้สารสเตียรอยด์ ขณะที่เจ้าภาพเองก็ต้องพบกับความอัปยศ เมื่อ โอหยาง คุนเพิง นักว่ายน้ำเจ้าของ 3 เหรียญทอง ในเอเชียนส์เกมส์ ปี 2006 ที่ กรุงโดฮา ถูกแบนตลอดชีวิต หลังผลการตรวจเมื่อเดือนมิถุนายน พบว่า คุนเพิง ใช้สเตียรอยด์
เรื่องการใช้สารกระตุ้นของนักกีฬาในระยะหลังดูเหมือนว่าจะเป็นโรคระบาดที่แก้ไม่หาย แม้ว่าจะมีข้อโต้แย้งว่าการใช้ยาไม่ได้มีปริมาณเพิ่มขึ้น แต่เพราะหลักเกณฑ์อันไม่แน่นอนของการทดสอบและเป็นการสุ่มตรวจนักกีฬามากกว่าจะตั้งใจจับคนโกงจริงๆ ทำให้ยังมีช่องว่างอีกเหลือเฟือสำหรับนักกีฬาขี้โกงที่จะหลุดรอดสายตาไป
อันที่จริงแล้วปัญหาการใช้สารกระตุ้นในวงการกีฬานั้น มีจุดเริ่มต้นความต้องการในชัยชนะที่มากขึ้นของตัวนักกีฬาซึ่งสวนทางกับคำว่าสปิริตแห่งการแข่งขันที่นับวันจะลดน้อยลงทุกที ความพยายามที่ใช้บทลงโทษขั้นรุนแรงน่าจะเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะตราบใดที่นักกีฬามองตรงไปที่ชัยชนะโดยไม่สนใจวิธีการต่อให้ตั้งกฎรุนแรงถึงประหารชีวิตพวกเขาก็คงไม่ได้รู้สึกกลัวอะไร