xs
xsm
sm
md
lg

ความหลังเกี่ยวกับโอลิมปิก

เผยแพร่:   โดย: ชัยสิริ สมุทรวณิช

ในบรรดาโอลิมปิกเกมส์สมัยใหม่นับตั้งแต่ยุค 60’s เป็นต้นมานั้น

หากมองย้อนกลับไปดูจะเข้าใจได้ว่า การแข่งขันที่โรม, อิตาลี ในปี 1960 เป็นการแข่งขันโอลิมปิกที่มีสีสัน, มีความขัดแย้งทั้งด้านการตัดสินและด้านเงื่อนไขทางการเมือง รวมทั้งบรรยากาศของสถานการณ์โลกในขณะนั้น

เพื่อระลึกถึงความทรงจำที่กล่าวมาทั้งหมด ขณะนี้มีหนังสือล่าสุดด้วยความยาว 478 หน้า จัดพิมพ์โดยไซมอนและชูสเตอร์ ขายอยู่เล่มละประมาณ 26.95 เหรียญ หรือประมาณ 1,000 บาท โดยมีผู้เขียนชื่อ เดวิด มารานิส

เนื้อหาใจความโดยประมาณก็มีแยะครับ และหนังสือเล่มนี้ก็ออกมาได้จังหวะกับปักกิ่งโอลิมปิกกำลังจะเริ่มในอีกไม่กี่สัปดาห์นี้แล้วด้วย ซึ่งผมเห็นว่ามีหลายอย่างน่าจะใช้เป็นบทเรียนได้บ้าง

ผู้เขียนนั้นเก่งในการเก็บรายละเอียด และรู้จักค้นคว้าหาข้อมูลมาเล่าให้เห็นภาพของเหตุการณ์ ส่วนคนที่แนะนำหนังสือเล่มนี้ให้เราได้อ่านนั้นก็เป็นถึงอดีตประธานของคณะตรวจสารกระตุ้น และปัจจุบันก็เป็นกรรมการอยู่ในคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และโดยอาชีพเขาเป็นนักกฎหมาย สังกัดสำนักงานกฎหมาย Stikeman Elliott ในประเทศแคนาดา

ในปี 1960 นั้น กีฬาบางชนิดยังจับเวลาโดยใช้นาฬิกาที่เรียกว่า Stop-Watch เช่น กีฬาว่ายน้ำ

การแข่งว่ายน้ำ 100 เมตรชายที่โอลิมปิก ณ กรุงโรมนั้นมีปัญหาอยู่ตรงที่รอบชิงชนะเลิศซึ่งสำคัญที่สุด บรรดาลู่ว่ายน้ำทุกลู่จะมีคนใช้นาฬิกาที่ว่านั้น คอยกดเวลาให้หยุดเพื่อเช็คเวลาของผู้เข้าแข่งขันแต่ละคน

พวกที่ถูกทิ้งห่างนั้นไม่เป็นปัญหาหรอก

แต่ที่เบียดกันมา จนดูยากว่าใครแตะขอบสระเข้าที่หนึ่งหรือเข้าที่สองนี่จะเป็นปัญหามาก

นักว่ายน้ำชาวอเมริกัน แลนซ์ ลาร์สัน นั้นว่ายน้ำได้เร็วกว่าคู่แข่ง นักว่ายน้ำชาวออสเตรเลียที่ชื่อ จอห์น เดอวิทท์ ในรอบชิง แต่ปรากฏว่ากรรมการส่วนใหญ่กลับให้ เดอวิทท์ที่หนึ่ง โดยวิธีการนั้นทางผู้ตัดสินไปปรับเวลาให้เท่ากับ ลาร์สันเสียงั้นแหละ (ทั้งๆ ที่เวลาของลาร์สันดีกว่า)

เดอวิทท์เองก็เดินเข้าแท่นยืนในฐานะผู้ชนะแบบงงงวย และก้าวไปจับมือกับลาร์สันอย่างอบอุ่น

เสียงเพลง “God Save the Queen” (เวลานั้นเพลงชาติออสเตรเลียยังใช้ของอังกฤษอยู่) ดังกระหึ่ม

นี่คือจุดที่มีการถกเถียงกันครั้งใหญ่ในวงการกีฬาว่ายน้ำอย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนกล่าวได้ว่า เป็นตำนานของความขัดแย้งในด้านการตัดสินที่ทุกคนมองว่า มันพลาดอย่างไม่น่าเชื่อในปัจจุบัน

“เดอวิทท์ เล่าว่าเขาอยู่ใกล้กับลาร์สันเมื่อว่ายน้ำเสร็จ จำได้ว่า ลาร์สันนั่งอยู่บนเส้นเชือกในสระ และตะโกนไปถามคนในกองเชียร์ที่อยู่บนอัฒจันทร์ว่า “ผมชนะหรือเปล่า” แต่คนบนนั้นไม่ได้ยินหรอกครับ แต่คนเหล่านั้นยิ้มและโบกมือให้ ซึ่งลาร์สันก็เห็นว่ามันหมายความว่า เขาชนะแล้ว”

ครับ.... การแข่งว่ายน้ำ 100 เมตร รอบชิงชนะเลิศ เป็นหนึ่งในกีฬาที่เสมือนภาพสะท้อนการตัดสินที่อื้อฉาว และเบื้องหลังความขัดแย้งอื่นๆ อีกมาก ในโอลิมปิกสากลแห่งยุคสมัยนั้น

ผู้เขียนเองไม่ได้เคลมชื่อเสียงหรือพยายามสำทับให้ความเห็น เหมือนกับฝ่ายการตลาดที่นำข้อความพาดไว้บนปกว่า “โอลิมปิกที่เปลี่ยนแปลงโลก” สำหรับหนังสือซึ่งป่านนี้ขายดีแน่นอน

ยุค 1960 เป็นยุคของสงครามเย็นระหว่างสองอภิมหาอำนาจ คือสหรัฐอเมริกา กับโซเวียต รัสเซีย

สงครามเย็นขึ้นสูงสุดก็ในช่วงการแข่งโอลิมปิกอย่างได้จังหวะ

และสองประเทศก็ใช้โอกาสในการแข่งกีฬาแย่งชิงความเหนือกว่า ขณะที่ในด้านความมั่งคั่ง และการแข่งขันด้านอวกาศเป็นส่วนประกอบที่สำคัญ เป็นภาพซ้อนของโอลิมปิกอยู่

แน่นอนว่าโอลิมปิกเป็นการต่อสู้โดยไม่ใช้อำนาจของอาวุธ และนักกีฬาก็มิใช่นักรบด้วย

อีกเหตุการณ์ที่สำคัญก็คือ โอลิมปิกปี 1960 ที่โรมนั้น มีปัญหา 2 จีน คือจีนแผ่นดินใหญ่กับจีนไต้หวันว่าใครจะเป็นผู้ได้สิทธิ

คณะกรรมการโอลิมปิกสากลนั้น ยังไม่ได้ตัดสินใจเรื่องนโยบาย 2 จีนเสียด้วยซ้ำ และมีความคิดว่าจะให้ทั้ง 2 จีน เข้าร่วมได้

อเมริกานั้นไม่รับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน แต่รับไต้หวัน

หากไต้หวันจะร่วมด้วย จีนแผ่นดินใหญ่ก็ปฏิเสธโอลิมปิกที่โรม โดยไม่เอาด้วย

ทางคณะกรรมการโอลิมปิก จึงให้ไต้หวันใช้ชื่อ ฟอร์โมซาในฐานะเป็นตัวแทนจีน และไม่ให้ใช้คำว่าจีนด้วย เรื่องนี้สหรัฐฯ มองว่า ค่ายคอมมิวนิสต์ถือเป็นชัยชนะแล้ว

การที่ไต้หวันเข้าร่วมเป็นผลทางประชาสัมพันธ์ เพราะว่ามีนักกรีฑาใน Decathlon ชื่อ C.K. Yang น่าจะได้รับเหรียญทอง เนื่องจากเต็งหนึ่ง แต่ Yang มีคู่แข่งคือนักวิ่งราเฟอร์ จอห์นสัน จากสหรัฐฯ และการตัดสินว่าใครจะได้เหรียญทองมา อยู่ที่การวิ่ง 1,500 เมตร ซึ่ง Yang ต้องชนะให้ได้ แต่เขาทำไม่ได้

โอลิมปิกปี 1960 ยังเป็นจุดเริ่มของการถ่ายทอดทีวีเชิงพาณิชย์ ทำให้โอลิมปิกกลายเป็นเกมที่คนได้ดูกันทั่วโลก ไม่ว่าถ่ายทอดสดหรือเป็นเทปไว้ดูทีหลังก็ตาม

โอลิมปิกครั้งนี้ยังมีนักกีฬาเสียชีวิต เพราะใช้ยาด้วยเป็นนักปั่นจักรยานจากเดนมาร์ก ในการแข่งขัน 100 กิโลเมตร

นักกรีฑาผู้เป็นตำนานก็มี เช่น อาเบเบ บิกิล่า จากเอธิโอเปีย ผู้ได้เหรียญทองจากมาราธอน หรือลิวิโอ เบอร์รูติ ได้เหรียญทองจาก 200 เมตร ชาย จนได้ฉายาโตริโน เอกซเปรส

ที่เป็นตำนานอีกคนคือ รูดอล์ฟ ได้ 3 เหรียญทอง โดยวิ่งแม้ว่าจะบาดเจ็บที่ข้อเท้า มีเรื่องเล่าว่า เขาไม่รู้ว่าจะเอาน้ำแข็งมาประคบข้อเท้าได้ที่ไหน เลยไปซื้อโคคาโคลาเพื่อเอามาประคบแทน

ครับ... โอลิมปิกปี 1960 ที่โรมอาจมีความขัดแย้ง มีข้อสงสัย และมีปัญหาอีกมาก เช่นเดียวกับมีวีรบุรุษของชาติต่างๆ เกิดขึ้นมาหลายคน

มันคือความทรงจำ และการทำกีฬาให้แพร่หลายจากอิทธิพลของสื่อโทรทัศน์

โอลิมปิกปีนี้ ก็จะเป็นประวัติศาสตร์อีกครั้งหนึ่ง เพราะจัดในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก และจะมีนักกีฬาและผู้ชมเข้าชมมากที่สุดเป็นประวัติการณ์เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น