วงการลูกสักหลาดโลกนั้นชัยชนะสี่แกรนด์สแลมได้ในหนึ่งฤดูกาลนับว่าเป็นเป้าหมายสูงสุดที่เหล่านักเทนนิสทั้งชายและหญิงต่างมุ่งหมาย แต่ถ้าจะให้ถึงจุดที่เรียกว่าเพชรยอดมงกุฎต้องรวมเอาโกลเด้นสแลม ซึ่งผนวกแกรนด์สแลมสี่รายการรวมเข้ากับเหรียญทองโอลิมปิกถึงจะได้ชื่อว่าเป็นที่สุดในการจารึกชื่อตนเองไว้ในวงการ
ที่ผ่านมามีนักเทนนิสเพียงสองรายเท่านั้นที่สามารถสร้างตำนานโกลเด้นสแลมได้สำเร็จรายแรกคือ สเตฟี่ กราฟ เจ้าของโกลเด้น สแลม ที่สามารถสร้างผลงานระดับยากจะลบสถิติได้เมื่อเธอประสบผลสำเร็จดังกล่าวในหนึ่งฤดูกาลเมื่อปี 1988 ขณะที่ อังเดร อากัสซี่ ทำโกลเด้นสแลมได้สำเร็จเช่นกันแต่มิใช่ในหนึ่งฤดูกาลหากต้องใช้เวลาตั้งแต่ปี 1992 1994 1995 1996 และ 1999
เมื่อเหรียญทองเทนนิสในโอลิมปิกหมายถึงความสำเร็จที่สามารถขึ้นไปเทียบเท่าตำนานอย่าง กราฟ และ อากัสซี่ ทันทีที่การแข่งขันเวียนมาครบรอบสี่ปี เหล่านักเทนนิสชั้นนำต่างหวังที่จะได้ครอบครองชัยชนะอันทรงคุณค่านี้รวมไปถึง มือหนึ่งโลกอย่าง โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ ที่บาดแผลในโอลิมปิกยังฝังลึกหลังจาก 4 ปีก่อนที่เอเธนส์ เฟด-เอ็กซ์ ต้องหลั่งน้ำตาหลังพลาดท่าแพ้ให้กับ โธมัส เบอร์ดิช ตกรอบ 2 อย่างเหลือเชื่อกันได้และความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น เฟเดอเรอร์ ได้ให้สัมภาษณ์ว่า "เป็นแค่ ความพ่ายแพ้ 1 ใน 6 ครั้งที่กัดกินใจเขาตลอดฤดูกาล 2004"
ทั้งนี้ นิโคลาส มาสซู นักเทนนิสที่ครองสองเหรียญทองจากประเภทเดี่ยวและคู่ในโอลิมปิกปี 2004 กล่าวถึงน้ำตาเจ้าของนักเทนนิสหมายเลขหนึ่งโลกไว้ว่า "เฟเดอเรอร์ ดูผิดหวังมากกับความพ่ายแพ้และเราทุกคนเข้าใจความรู้สึกของเขาเป็นอย่างดี เพราะแม้เหรียญโอลิมปิกจะไม่มีเงินรางวัลแต่ชัยชนะบนสนามแห่งนี้นอกจากเพื่อบ้านเกิดแล้วยังหมายถึงการเก็บอีกหนึ่งผลงานเพื่อโกลเด้นสแลมอีกด้วย"
สำหรับการแข่งขันบนฮาร์ดคอร์ตในปักกิ่งเกมส์ แม้จะมีนักเทนนิสบางรายปฏิเสธไม่เข้าร่วมทีมชาติ ดังเช่น แอนดี้ ร็อดดิก ที่ให้เหตุผลว่าจะขอเตรียมตัวเพื่อศึกยูเอส โอเพ่น แต่นักเทนนิสมือหนึ่งถึงสามของโลกต่างตบเท้าเข้าลงสนามกันอย่างพร้อมเพรียงไล่เรียงมาจาก โรเจอร์ เฟดเดอเรอร์, ราฟาเอล นาดาล และ โนวัค ยอโควิช ซึ่งนักเทนนิสทั้งสามรายต่างมองว่าการได้ลงสนามแข่งโอลิมปิกคือรางวัลเกียรติยศครั้งหนึ่งในชีวิต
เช่นเดียวกันกับฟากของนักเทนนิสหญิงที่ต่างตอบรับลงสนามโอลิมปิกครั้งที่ 29 กันครบทุกมือวาง ไม่ว่าจะเป็น มาเรีย ชาราโปว่า, อนา อิวาโนวิช หรือแม้กระทั่ง พี่น้องตระกูล วิลเลี่ยมส์ เพราะที่ผ่านมาแทบสนามโอลิมปิกไม่เพียงจะเป็นสนามสร้างเกียรติยศให้กับนักเทนนิสหญิง หากแต่ยังเป็นสนามที่พวกเธอได้พิสูจน์ฝีมือก่อนที่จะคว้าแชมป์ในระดับแกรนด์แสลม
ดังเช่น เจนนิเฟอร์ คาปริอาตี้ ที่คว้าเหรียญทองในปี 1992 ด้วยวัย 16 ปีขณะที่สาวโย่งลินเซย์ ดาเวนพอร์ท ได้คล้องเหรียญทองโอลิมปิกให้กับทีมชาติสหรัฐฯในปี 1996 ขณะที่หญิงแกร่งจากสนามอาชีพอย่าง จัสติน เอแนง ก็สามารถเก็บเหรียญเกียรติยศให้กับตนเองได้สำเร็จในปี 2004 ส่วนในปี 2000 วีนัส วิลเลี่ยมส์ ได้ 2 เหรียญทองจากประเภทเดี่ยว และ ประเภทคู่กับ เซเรน่า น้องสาวของเธอรายนามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ล้วนสัมผัสแชมป์แกรนด์สแลมมาแล้วทั้งสิ้น
แต่สำหรับฝ่ายชายแม้เหล่านักเทนนิสชื่อดังพากันตบเท้าลงสนามอย่างพร้อมเพรียง หากมีไม่กี่รายที่ประสบความสำเร็จดังเช่น พีท แซมพราส เจ้าของแกรนด์สแลม 14 รายการ แต่ไม่เคยได้เหรียญทองโอลิมปิก และมิใช่เพียงรายเดียวหากแต่ยังมีจอมหวดชื่อดังอย่าง มารัต ซาฟิน, จิม คูเรียร์, แพต ราฟเตอร์, กุสตาโว เคอร์เท่น และ เลย์ตัน ฮิววิตต์ที่ไม่เคยได้สัมผัสเหรียญรางวัลแห่งเกียรติยศนี้เลยสักครั้ง จะมีก็เพียง อังเดร อากัสซี่ ที่สามารถพิชิตเหรียญทองโอลิมปิกได้สำเร็จในปี 1996 ที่แอตแลนต้า
จึงมิใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ เฟด-เอ็กซ์ ตั้งเป้าไว้ว่าโอลิมปิกครั้งนี้ต้องคว้าเหรียญทองมาคล้องคอให้ได้ในขณะที่ยังคงตำแหน่งมือหนึ่งของโลกโดยให้สัมภาษณ์ถึงเป้าหมายของตนเองในปักกิ่งเกมส์ว่า “สำหรับผมเหรียญโอลิมปิกคือเป้าหมายอันดับหนึ่งในฤดูกาลนี้"
สำหรับเทนนิสในฐานะที่เป็นสนามอาชีพได้ชื่อว่าเป็นกีฬาที่มีธุรกิจเข้ามาผสมผสานอยู่ด้วยเกินกว่าห้าสิบเปอร์เซ็นต์ แต่สำหรับเทนนิสในโอลิมปิกนี่คือการแข่งขันกีฬาแท้จริงโดยไม่มีมลภาวะของธุรกิจเข้ามาเจือปน ที่สำคัญเกียรติยศที่นักกีฬาได้รับนั้นสูงค่าเกินกว่าตีราคาเป็นเงินรางวัล