คอลัมน์ "More Than a Game" โดย สวรรยา ทรัพย์ทวี
“คุณผู้อ่านที่เป็นผู้ใหญ่สมัยนี้ได้ใช้ประโยคด้านบนนี้กันบ้างไหมคะ” ผู้เขียนเองช่วงหลังใช้มากจนเพื่อนฝูงรอบข้างเบื่อที่ฟังก็ได้แต่ปลอบกันตามประสาว่า ประโยคนี้ได้ใช้กันทุกวงการนั่นแหละไม่เพียงแต่ในแวดวงสื่อสารมวลชน วงการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ พนักงานออฟฟิศ ไปจนถึงลูกจ้างร้านสะดวกซื้อ ก่อนที่เพื่อนแสนดีจะให้บทสรุปสั้นๆว่าทำใจดีกว่าอย่าไปสนใจอะไรกับพวกเขานักเลย
แหม...มันไม่ง่ายอย่างนั้นนะสิ เพราะคนคิดมากผู้เขียนชอบนักที่จะตีเช็คล่วงหน้าให้ตนเองกังวลใจเล่น เพราะแค่ลองจินตนาการดูว่าอีก10ปี ข้างหน้าเมื่อ“เด็กสมัยนี้” เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในอนาคต ขณะที่พวกเราซึ่งเป็นผู้ใหญ่ในปัจจุบันก็ได้กลายเป็นกลุ่มผู้สูงอายุถึงเวลานั้นชีวิตมันคงยากหนักหนา
ยิ่งช่วงสัปดาห์ก่อนได้เห็นข่าว “อเล็กซานเดอร์ ฮเล็บ” มิดฟิลด์ของทีม “ปืนใหญ่” อาร์เซนอลที่ปัจจุบันกำลังจะกลายเป็นอดีตและเตรียมโผไปสร้างอนาคตใหม่กับบาร์เซโลน่า มีข่าวที่ถูกประโคมโดยสื่อในอังกฤษว่า มิดฟิลด์ทีมชาติเบลารุส ด่ากราดทั้งผู้จัดการทีมอย่าง อาร์แซน เวนเกอร์ ที่ทำทีมได้ไม่ถูกใจไม่ให้โอกาสขณะที่เพื่อนร่วมสโมสรอย่าง เชส ฟาเบรกาส ก็ถูกกล่าวหาว่าเล่นฟุตบอลเห็นแก่ตัว
แต่ก่อนที่เหตุการณ์จะบานปลาย ฮเล็บ ออกมาแก้ตัวผ่านสื่อและเว็บไซต์ของตนเองว่าไม่ได้พูด สื่อเขียนไปเองและรู้สึกเสียใจกับข่าว (อันที่จริงมีการตั้งข้อสังเกตไว้ว่าถ้าไม่มีมูลพวกแมลงวันหัวเขียวในอังกฤษคงไม่เล่นข่าวนี้ให้เมื่อยตุ้มหรอก) และหลังจากนั้นไม่นาน“ฮเล็บ” ก็มีข่าวออกมาอีกว่าเตรียมซบอกทีมเจ้าบุญทุ่มอย่าง บาร์เซโลน่า และกำลังจะได้ชูเสื้อสโมสรใหม่ในไม่ช้า
หลังจากติดตามเรื่องของมิดฟิลด์ทีมชาติเบลารุส ด้วยใจระทึกพอเหตุการณ์ดูท่าจะลงเอยด้วยดีผู้เขียนก็พลอยยินดีไปกับเขาด้วย จากนั้นก็ได้ต้องเอาสิ่งที่เห็นในวงการกีฬามาย้อนดูสังคมในปัจจุบัน แล้วก็ให้เศร้าใจว่า อาการ “เด็กสมัยนี้” ซินโดรม มันได้ระบาดไปทั่วทุกแห่งจริงๆ ในกรณีของ “ฮเล็บ” นั้นหากใครที่ติดตามข่าวกีฬามาโดยตลอดจะรู้ว่ามิใช่รายแรกที่กล้าเหวี่ยง(ขอใช้ศัพท์วัยรุ่นหน่อย) แต่มีตัวอย่างให้เห็นมาแล้วสำหรับพวกอวดดีทั้งที่ไม่มีดีจะอวดส่วนใหญ่จบอนาถเกือบทุกราย
ทีนี้ก็มีคำถามต่อมาว่าโรค “เด็กสมัยนี้” ซินโดรม มันเกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไรกันหนอ เพราะถ้าวิเคราะห์ตามหลังพุทธศาสนาโดยใช้อริยะสัจ 4 ก็จะเห็นว่าเหตุแห่งโรคนั้นได้รับการติดเชื้อมาจากผู้ใหญ่อย่างเราท่านนั่นแหละ เวลามีคำถามว่าทำไมเด็กสมัยนี้ถึงไม่อดทน ชอบแซงคิว หรือแม้แต่ใช้อำนาจบารมีพ่อแม่เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับตนเอง ก็มิใช่เพราะระบบการศึกษาหรือสิ่งแวดล้อมจากครอบครัวที่หล่อหลอมให้พวกเขาเป็นดังที่เห็นหรือ
ถามว่าทำไมเด็กสมัยนี้ถึงชอบบอกว่าจะต้องเดินตามหาตนเอง ก็มิใช่ผู้ใหญ่หรือที่สอนให้เขามั่นใจและมุ่งมั่นเพื่อเป็นที่หนึ่ง ทั้งที่ยังไม่รู้ว่าตนเองทำอะไรได้บ้าง ถามว่าทำไมเด็กสมัยนี้ถึงมีค่านิยมอยู่ที่วัตถุ ก็ผู้ใหญ่อีกนั่นแหละที่แสดงให้เขาเห็นว่าเงินซื้อได้ทุกอย่างแม้แต่ใบปริญญา และถามว่าทำไมเด็กสมัยนี้เมื่อทำผิดแล้วไม่ยอมรับผิด ก็มิใช่เพราะผู้ใหญ่ในบ้านเมืองนี้หรือที่เห็นตัวอย่างของพวก “คน..ญ..ร” ที่ชอบแก้ตัวพอถูกจับได้ว่าทำผิดกลับโทษรัฐธรรมนูญ(ฮา)
อันที่จริงแล้วอาการ “เด็กสมัยนี้” ซินโดรม มิใช่เพิ่งเกิดในพ.ศ.นี้หากแต่ไวรัสร้ายดังกล่าวสืบต่อความตกต่ำจากรุ่นสู่รุ่นถึงวันนี้สถานการณ์ก็มีทีท่าว่าจะแย่ลงเรื่อยๆ แต่ก็พอจะเห็นหนทางที่จะดับทุกข์หรือ “มรรค” ในกรณีนี้ได้บ้างโดยความรับผิดชอบนั้นคงต้องฝากไว้ในมือของผู้ใหญ่ปัจจุบันอย่างเราท่านที่ต้องแสดงให้ “เด็กสมัยนี้” เห็นว่าการเป็นคนมีคุณภาพนั้นหมายถึงผู้ที่รู้จักตนเอง รู้จักศิลปะของการรอคอยใช้ชีวิตแบบมีน้ำใจนักกีฬาเมื่อมีต้นแบบเช่นนี้มีหรือที่พวกเขาจะไม่เดินตาม....หรือคุณผู้อ่านว่าไม่จริง?