เหตุการณ์อื้อฉาวที่นายศักดิ์ชาย เนตรอาภา สตาฟฟ์โค้ชทีม ม.กรุงเทพ เดินเข้าไปผลักอกผู้ตัดสิน นิติภูมิ กุลบุตร ถึงในห้องพัก ในศึกไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก 2008 เมื่อวันที่ 19 เมษายนที่ผ่านมา หรือกรณีนักเตะสมุทรปราการปรี่เข้าไปชกผู้ตัดสิน หลังโดนใบแดงไล่ออกจากสนาม ในฟุตบอลระดับดิวิชั่น 2 วันเดียวกัน นับเป็นปัญหาการรุกรานทำร้ายผู้ตัดสินซึ่งไม่ได้เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรกในเมืองไทย และแน่นอนคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย
ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนไปทั่ววงการลูกหนัง กรณีนักเตะและเจ้าหน้าที่ทีมกุยบุรี วิ่งไล่ยำกรรมการ ประคองสุข กั้วมาลา จนได้รับบาดเจ็บสาหัส ในการแข่งขันฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานประเภท ข เพิ่งจะเกิดขึ้นไปเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา จนน่าจะเป็นบทเรียนราคาแพงที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเกิดความระมัดระวังมากขึ้น แต่ระยะเวลาผ่านไปยังไม่ถึง 3 เดือนทุกอย่างก็ดูเหมือนจะกลับเข้าสู่วังวนเดิมๆ อีกครั้ง
แน่นอนว่าการทำร้ายร่างกายผู้ตัดสิน เป็นการทำผิดกฎร้ายแรงรวมทั้งยังเป็นความผิดทางอาญา ที่ผู้กระทำสมควรจะได้รับบทลงโทษอย่างสาสม อย่างไรก็ตามทุกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งที่ฝ่ายลงมือจะใช้เป็นข้ออ้างเหมือนกันก็คือมาตรฐานการตัดสินที่ย่ำแย่ พร้อมทั้งชี้ว่านี่คือต้นเหตุของปัญหาที่แท้จริง
ทั้งนี้ โค้ชสมชาย ทรัพย์เพิ่ม กุนซือม.กรุงเทพ ที่เพิ่งพ้นโทษแบน 6 เดือนในข้อหาใช้วาจาหยาบคายกับผู้ตัดสิน และผู้ควบคุมการแข่งขัน ได้ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน ถึงมาตรฐานผู้ตัดสินไทยในปัจจุบันว่า “เท่าที่ผมอยู่กับวงการฟุตบอลมา 16 ปี ตั้งแต่เป็นนักเตะจนมาคุมทีม บอกได้เลยว่านี่เป็นช่วงที่มาตรฐานผู้ตัดสินเลวร้ายที่สุด แน่นอนความผิดพลาดเกิดขึ้นกันได้ แม้กระทั่งในระดับพรีเมียร์ชิปก็ยังมีให้เห็นบ่อยๆ แต่ไม่ใช่ผิดแบบซ้ำซากกับทีมทีมเดียวเหมือนในบ้านเราจนมีความรู้สึกว่าไม่ได้รับความยุติธรรม”
“เมื่อก่อนหากผู้ตัดสินทำหน้าที่ผิดพลาดเรามีการร้องเรียนตามขั้นตอนทุกอย่าง ทั้งส่งเทปทำรายงาน แต่รู้มาว่าพอทำไปก็ถูกโยนทิ้งตะกร้าหรือไม่ทางฝั่งผู้ตัดสินก็บอกว่ามีการลงโทษแบบเงียบๆ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าทำจริงหรือเปล่า ถึงตอนนี้ผมไม่เชื่อในกระบวนการลงโทษผู้ตัดสินเลยว่ามีความยุติธรรม อีกทั้งพอร้องเรียนไปบ่อยๆ เข้าก็กลายเป็นเราเองที่ซวย โดนเพ่งเล็งว่าชอบมีปัญหา เวลาผู้ตัดสินเป่าทีมเราก็มักเป็นฝ่ายเสียประโยชน์”
อย่างไรก็ดี อดีตนักเตะเจ้าของฉายา “มาราโดน่าเมืองไทย”ยืนยันว่าการทำร้ายผู้ตัดสินเป็นสิ่งที่นักเตะ หรือเจ้าหน้าที่ทีมไม่สมควรกระทำเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งย้ำว่าถึงเวลาทุกฝ่ายต้องหันหน้าเข้าหาเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น “มันไม่ถูกต้องอยู่แล้วกับการไปทำร้ายผู้ตัดสิน เพราะมีแต่จะทำให้วงการฟุตบอลเสื่อมเสียไปหมด แต่ขณะเดียวกันทางฝั่งผู้ตัดสินก็ต้องปรับปรุงตัวเองด้วย ไม่ใช่เป่าผิดพลาดทำทีมเขาเสียหายแต่กลับปล่อยปละละเลย ดังนั้นการสังคายนามันต้องเป็นเหรียญ 2 ด้าน ต้องมอง 2 มุม ตอนนี้มันเป็นวิกฤติแล้ว แต่เราสามารถใช้วิกฤติที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้”
“ปัญหาที่เกิดมันเป็นเรื่องของความยอมรับในการตัดสิน แต่ว่ามันจะเกิดขึ้นได้ผู้ตัดสินต้องแสดงให้เห็นว่าทำหน้าที่ได้อย่างบริสุทธิ์ ยุติธรรม รวมถึงบทลงโทษต้องชัดเจน อย่าเป็น 2 มาตรฐาน ในสังคมมันก็ต้องมีกฎหมาย มีกฎระเบียบ และก็ต้องให้การยอมรับซึ่งกันและกัน ถ้าต่างฝ่ายต่างทำดีที่สุดแล้ว”
ขณะที่ “เปาแป๊ก” ปรัชญา เพิ่มพานิช อดีตผู้ช่วยผู้ตัดสินระดับฟีฟ่าผู้เคยผ่านสังเวียนฟุตบอลโลก 2006 ณ ประเทศเยอรมนี ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขานุการคณะกรรมการผู้ตัดสินสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ให้สัมภาษณ์กับทางทีมข่าวกีฬาหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเช่นกันว่า “แน่นอนว่าความผิดพลาดในการทำหน้าที่ย่อมเกิดขึ้นได้ ซึ่งผมขอยืนยันว่าเรามีการลงโทษผู้ตัดสินอยู่ตลอด ทั้งการดร็อปหรือจับไปเป่ารายการที่เล็กกว่า เพียงแต่เราไม่ได้ป่าวประกาศเนื่องจากไม่ต้องการไปทำลายความน่าเชื่อถือ เราเข้าใจว่าเขาทำงานอย่างยากลำบากเพราะการตัดสินในสนามเกิดขึ้นในเสี้ยววินาที”
“โค้ชในเมืองไทย มักบอกว่าผู้ตัดสินไม่ได้มาตรฐานเท่าไหร่ แต่รู้หรือเปล่าขณะนี้ผู้ตัดสินฟีฟ่าของเรา เอเอฟซี สั่งให้ไปทำงานที่ต่างประเทศจนแทบจะไม่มีเวลาพักผ่อน หากไม่มีมาตรฐานจริงทำไมพวกเขาถึงได้รับความมั่นใจ แต่เมื่อเรากลับมามองฝั่งโค้ช ที่ต่างประเทศถ้าฤดูกาลไหนเขาทำทีมล้มเหลวจะพิจารณาตัวเอง หรือไม่ก็ปรับปรุงทีม แต่บ้านเราจะพยายามปกป้องเก้าอี้ตัวเอง บางทีมโค้ชได้เงินถึง 40,000-50,000 บาท หาใครโทษไม่ได้ ทางออกทางเดียวคือโยนความผิดให้ผู้ตัดสิน”
กระนั้น “เปาแป๊ก” เองก็ยอมรับว่า มาตรฐานผู้ตัดสินไทยเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดการทำร้ายร่างกายขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพของเชิ้ตดำไทยให้ดีมากกว่านี้ “ปัญหาเกิดขึ้นสิ่งแรกที่ต้องแก้ไขคือ มาตรฐานของผู้ตัดสิน เพียงแต่วงการฟุตบอลบ้านเราในขณะนี้ยังไม่พัฒนาไปถึงขั้นอาชีพ รายได้กรรมการก็มีเพียงน้อยนิดแมตช์ละพันกว่าบาท ขณะที่ต่างประเทศแค่ในอาเซียนอย่างเวียดนาม หรืออินโดนีเซีย เขามีรายได้แมตช์หนึ่ง 200-300 เหรียญสหรัฐฯ เราก็หวังว่าในอนาคตเมื่อเข้าสู่ระบบอาชีพก็น่าจะดีขึ้น แต่คงต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งสโมสรต้องรับฟังด้วย อย่าคิดว่าตัวเองถูกต้อง ผู้ตัดสินเองก็ไม่ได้คิดว่าเราถูกทุกอย่าง ไม่อย่างนั้นคงไม่มีการลงโทษหรอก เราไม่ได้เก่งกาจอะไรแต่มาทำงานให้เต็มที่ ทุกคนก็ต้องรับฟังกัน แต่ไม่ใช่อะไรก็ไปด่า”
แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่าย ต่างหวังดีที่จะพัฒนาวงการฟุตบอลให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ เพียงแต่นอกเหนือจากมาตรฐานของผู้ตัดสินที่ถูกหยิบยกมาอ้างแล้ว การยอมรับในมุมมองที่แตกต่างดูจะเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรก ที่จะทำให้ทั้ง 2 ฝ่ายหันหน้าเข้าหากันเพื่อร่วมมือแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น มิฉะนั้นกรณีการทำร้ายผู้ตัดสินที่รังแต่จะทำให้ศรัทธาของแฟนบอลชาวไทยเสื่อมลงคงจะเกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน