xs
xsm
sm
md
lg

NBA Awards / ลุงแซม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คอลัมน์ "Final Quarter" โดย ลุงแซม

เปิดฉากกันไปเป็นที่เรียบร้อยสำหรับเพลย์ออฟ เอ็นบีเอ (NBA) แค่รอบแรกหลายคู่ห้ำหั่นสนุกดุเดือดกันตั้งแต่เกมแรก เลอบรอน เจมส์ สะบักสบอมกว่าจะนำ คลีฟแลนด์ แคฟวาเลียร์ส เปิดบ้านเล่นงาน วอชิงตัน วิซาร์ดส, ทิม ดันแคน ร้อยวันพันปีจะชู้ตสามแต้มลงสักหนก็ดันมาทำสำเร็จต่ออายุ “แชมป์เก่า” ซานอันโตนิโอ สเปอร์ส ก่อนคว้าชัยเหนือ ฟีนิกซ์ ซันส์ หืดจับแบบต้องต่อเวลาถึงสองหน ทว่า ดีทรอยต์ พิสตันส์ ทำเอาผมหน้าแตกโดน ฟิลาเดลเฟีย เซเวนตีซิกเซอร์ส คัมแบ็กจากเป็นรอง 15 แต้มกลับมาขึ้นนำซีรีส์ 1-0 เกมหน้าตาเฉย

         บอสตัน เซลติกส์ ทีมอันดับ 1 ฝั่งตะวันออก และแอลเอ เลเกอร์ส ซึ่งมีสถิติดีที่สุดในฤดูกาลปกติของสายตะวันตก เก็บชัยได้ตามคาดเหนือ แอตแลนตา ฮอว์คส และเดนเวอร์ นักเก็ตส์ ตามลำดับ ขณะที่ ออร์แลนโด เมจิก ไม่มีปัญหากับการเปิดรังทุบ โตรอนโต แร็พเตอร์ส ด้าน นิวออร์ลีนส์ ฮอร์เน็ตส์ ทีมที่ผมแอบปันใจเชียร์ในเพลย์ออฟปีนี้ไม่แพ้ วิซาร์ดส อาศัย คริส พอล และเดวิด เวสต์ โค่นล้ม ดัลลัส แมฟเวอร์ริกส์ ส่วน ฮุสตัน ร็อคเก็ตส์ บู่คาถิ่นทั้งที่ได้โอกาสเล่นในบ้านที่มากกว่า ยูทาห์ แจซซ์ ทำทีทำท่าย้ำชัยในซีรีส์ได้อีกปีเสียกระมัง

         นี่เป็นสถานการณ์คร่าวๆ กับเกมแรกของการแข่งขันเพื่อหาทีมที่ชนะ 4 จาก 7 เกมก่อนเข้ารอบ แต่ประเด็นที่อยากนำมาพูดคุยกันในวันนี้เป็นเรื่องจากที่เปรยกันไว้ในสัปดาห์ก่อน นั่นก็คือการประกาศรางวัลของศึกบาสเกตบอล เอ็นบีเอ ประจำฤดูกาล 2007/08 ตามธรรมเนียมหลังเสร็จศึกในฤดูกาลปกติ บรรดานักข่าวมะกันและแคนาเดียนจะรวมใจกันชูมือโหวตให้แก่บุคลากรที่พวกเขาเห็นควรได้รับเกียรติยศส่วนตัวจากความพยายามทำงานหนักกันมาตลอดทั้งปี

         ซึ่งรางวัลแรกที่มีการประกาศออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ปรากฏว่าเป็นไปตามความคาดหมาย มานู จิโนบิลี จอมแม่นของสเปอร์ส รับตำแหน่ง “ผู้เล่นสำรองยอดเยี่ยมแห่งปี” (sixth man award) ไปครองโดยนักข่าวถึง 123 จาก 124 คนเลือกให้การ์ดทีมชาติอาร์เจนตินาเป็นที่ 1 เบ็ดเสร็จรวม 615 คะแนน เอาชนะ เลอันโดร บาร์โบซา การ์ดจอมคล่องชาวบราซิเลียนเจ้าของรางวัลนี้เมื่อปีก่อนที่คว้าอันดับ 2 ได้โหวตไป 283 คะแนน

         สำหรับ จิโนบิลี ฤดูกาลนี้ลงสนามเป็นตัวสำรองตามแท็คติกของ เกร็ก โพโพวิช ไปทั้งสิ้น 51 จาก 74 เกม ชู้ตทำคะแนนเฉลี่ยสูงสุดในอาชีพได้ถึง 19.5 แต้มต่อเกม ยิงสามแต้มลงห่วงคิดเป็น 40 เปอร์เซ็นต์ รั้งอันดับ 6 ของลีก และก็เป็น “มานู” นี่แหละที่เลื้อยผ่าน ราจา เบลล์ ขึ้นไปเลย์อัพก่อนหมดเวลาแค่ 1.8 วินาทีในช่วงต่อเวลาพิเศษหนที่สองช่วยให้ สเปอร์ส เก็บเกี่ยวความได้เปรียบเหนือ ซันส์ ไปก่อนในซีรีส์สุดมันของเพลย์ออฟรอบแรก

         ส่วนรางวัลอื่นคงทยอยออกตามกันมา ทว่าก่อนจะถึงวันนั้นผมมีโอกาสเข้าไปอ่านความคิดเห็นเกี่ยวกับ NBA Awards ที่ ไมค์ คาห์น คอลัมนิสต์ foxsports.com เขียนเอาไว้เลยอยากนำมาเล่าสู่กันฟังพร้อมการกะเก็งไปด้วยในตัว ปีนี้ตำแหน่ง “ผู้เล่นทรงคุณค่า” หรือ MVP (Most Valuable Player) เห็นท่าจะหนีไม่พ้น โคบี ไบรอันท์ การ์ดแม่ทัพที่เคยร่ำๆ อยากลา แอลเอ เลเกอร์ส ทว่าสุดท้ายความเป็นมืออาชีพที่สูงส่ง โคบี นำพาทีมล่องมาไกลเกินคาด รอคอยมา 12 ปีเต็ม เลอบรอน เจมส์ หรือว่า คริส พอล หลีกทางให้รุ่นพี่ก่อนก็แล้วกัน

         มาต่อกันที่ตำแหน่งโค้ชยอดเยี่ยมแห่งปี คาห์น เลือกให้ ริค อเดลมัน เฮดโค้ชร็อคเก็ตส์ เพราะเห็นว่าอดีตนายใหญ่ ซาคราเมนโต คิงส์ ทำได้อย่างไรจึงพา “จรวด” พวยพุ่งชนะ 22 เกมติดต่อกัน (เยี่ยมที่สุดเป็นอันดับ 2 ของประวัติศาสตร์เอ็นบีเอ) ทั้งๆ ที่ขาดกำลังสำคัญอย่าง เหยา หมิง เซ็นเตอร์ชาวจีน ส่วนผมยังคิดว่ารางวัลดังกล่าวจะตกอยู่ในมือ ด็อกซ์ ริเวอร์ส ผู้กุมบังเหียน “บิ๊กทรี” (เควิน การ์เนตต์, พอล เพียร์ซ, เรย์ อัลเลน) และบรรดาดาวรุ่งของเซลติกส์ แม้ใจจริงแอบปันใจให้ บายรอน สกอตต์ (ฮอร์เน็ตส์) ก็ตาม

         ในส่วนของตำแหน่งรุคกี้ยอดเยี่ยมทั้ง คาห์น และผมมองไม่เห็นจริงๆ ว่าดาวรุ่งคนใดจะมาแย่งเกียรติยศดังกล่าวไปจาก เควิน ดูแรนท์ ดาวเด่น ซีแอตเทิล ซูเปอร์โซนิกส์ ด้านรางวัลเกมรับยอดเยี่ยม “เค.จี.” การ์เนตต์ ไม่แคล้วซิวไปเป็นการปลอบใจที่วืด MVP นอกจากผู้เล่นแล้วผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จอย่าง “ผู้จัดการทีม” ก็มีรางวัลติดไม้ติดมือเช่นกัน ปีนี้ คาห์น เห็นว่า แดนนี เอนจ์ ทำผลงานเข้าตาจากการเทรด การ์เนตต์ และอัลเลน มาผนึกกำลังกับ เพียร์ซ ทำให้เซลติกส์มีลุ้นแชมป์สมัยที่ 17 สำหรับผมแล้วมองว่าผลงานของ เอนจ์ ระดับชิ้นโบแดงแต่ มิทช์ คัพแชค ก็ควรได้รับเครดิตจากการไปนำเอา พาว กาซอล เซ็นเตอร์ทีมชาติสเปนมาทำให้ เลเกอร์ส สมดุลดั่งทุกวันนี้

         ยังมีรางวัลปลีกย่อยอีกพอสมควรซึ่งก็ขออนุญาตไม่พูดถึงเนื่องจากพื้นที่ในคอลัมน์ตอนนี้หมดลงเสียแล้ว สำหรับแฟนๆ ก็ลองลุ้นดูแล้วกันว่า “ออสการ์ เอ็นบีเอ” ในแต่ละสาขาจะตกต้องอยู่กับใครบ้าง ส่วนผมเองคงลุ้นอยู่หน้าคอมพิวเตอร์เช่นกันว่าจะกะเก็งได้ใกล้เคียงมากน้อยเพียงใด
กำลังโหลดความคิดเห็น