หากลองนับนิ้วย้อนเวลาไปไม่เกิน 20 ปีก่อนหน้านี้ คงต้องบอกว่าสโมสรฟุตบอลจากประเทศไทย เคยสร้างความเกรียงไกรบนเวทีลูกหนังระดับเอเชียได้อย่างน่าประทับใจ ไม่ว่าจะเป็นผลงานการคว้าแชมป์ฟุตบอลรายการ "เอเชียนแชมเปี้ยนส์คัพ" ได้ถึง 2 สมัยติดต่อกันในปี 1994 และ 1995 ของทีม “รวงข้าว” สโมสรฟุตบอลธนาคารกสิกรไทย ก่อนจะมาเปลี่ยนชื่อเป็น "เอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก" ในปี 2002 ซึ่ง 1 ปี ให้หลังทีมดังในปัจจุบัน "มังกรไฟ" บีอีซี เทโรศาสน ผ่านเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศก่อนแพ้ให้กับทีม อัลไอน์ จากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
แม้ว่าผลงานในอดีตของสโมสรลูกหนังเมืองไทยจะได้จารึกความยิ่งใหญ่ไว้ไม่น้อย ทว่าปัจจุบันความเกรียงไกรในอดีตแทบจะกลายเป็นความฝันเมื่อ โมฮัมหมัด บิน อัมมาน ประธานสมาพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือ เอเอฟซี ชาวมาเลเซีย มีนโยบายยกระดับการแข่งขันฟุตบอลเอเอฟซีแชมเปียนส์ลีกในฤดูกาล 2009 ด้วยการกำหนดคุณสมบัติของสโมสรฟุตบอลอาชีพและมาตรฐานของฟุตบอลลีกในประเทศต่างๆ และปรากฏว่ามีเพียง 14 ประเทศเท่านั้นที่ผ่านมาตรฐานดังกล่าว ประกอบด้วย ออสเตรเลีย, ซาอุดิอาระเบีย, อิหร่าน, มาเลเซีย, อุซเบกิสถาน, เวียดนาม, อินเดีย, ซีเรีย, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, จีน และ กาตาร์ แต่ไม่มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย
โดยเหตุผลหลักที่ทาง เอเอฟซี ตั้งใจจะตัดสโมสรจากแดนสยามออกไป หลังปล่อยให้ทนทู่ซี้เปิดไทยลีกมาถึง 12 ฤดูกาลก็เพราะมองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการที่เด่นชัด โดยกฎเกณฑ์ใหญ่ๆ ที่ส่งผลกระทบให้สโมสรจากไทยลีกโดนตัดสิทธิ์ก็ประกอบด้วยเรื่องจำนวนผู้ชมในสนามที่มีน้อยอย่างน่าใจหาย รวมทั้งราคาบัตรเข้าชมที่มีราคาเพียง 20-50 บาทต่อนัดซึ่งนับว่าถูกมาก ประการถัดมาคือเรื่องการแสดงบัญชีรายรับ รายจ่ายของสโมสรต่างๆ ล้วนไม่มีให้เห็น รวมถึงไม่มีหลักการตลาดมาปลุกลีก และสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรม ส่วนเหตุผลสุดท้ายคือการที่สโมสรในไทยลีกส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดล้วนไม่มีการจัดการในรูปแบบองค์กรธุรกิจเหมือนบริษัทเอกชน จึงไร้อิสระในการบริหารจัดการ เนื่องจากต่างเป็นสโมสรที่มาจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ, รัฐวิสาหกิจ, บริษัทห้างร้าน และสมาคมกีฬาจังหวัดทั้งสิ้น
หากดูตามเงื่อนไขต่างๆ ที่ถูกหยิบยกมาอ้างในการผลักไสสโมสรจากประเทศไทยให้หลุดวงโคจรของฟุตบอล “เอเอฟซีแชมเปียนส์ลีก” ในฤดูกาลหน้าแล้ว นับเป็นความจริงที่เจ็บปวดและไม่อาจปฏิเสธได้ ซึ่งความรับผิดชอบเหล่านี้จะตกไปอยู่ที่ใครไม่ได้นอกจาก “บิ๊กยี” วรวีร์ มะกูดี นายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่อุตส่าห์เดินทางไกลไปคลุกคลีและเห็นการทำงานของแมนเชสเตอร์ ซิตี้ สโมสรอาชีพในอังกฤษอย่างใกล้ชิด แต่สำหรับลีกไทยไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าใด สุดท้ายก็ยังไม่มีการวางรากฐานลูกหนังอาชีพให้เป็นรูปธรรมมากกว่านี้
เรื่องดังกล่าวนับว่าเป็นข่าวร้ายอย่างยิ่งสำหรับวงการลูกหนังไทย ทำให้ต้องคณะกรรมการจัดการแข่งขันต้องรีบจัดประชุมด่วนเมื่อวันศุกร์ที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมาแต่งานนี้ยังไร้เงา “บิ๊กยี” เพียงแต่ส่ง องอาจ ก่อสินค้า เลขาธิการสมาคมลูกหนังไทยมารับหน้า 16 สโมสรสมาชิก และแจ้งกฎเกณฑ์ต่างๆ ของเอเอฟซี อย่างปัจจุบันทันด่วนให้บรรดาสโมสรต่างๆ เร่งไปจัดการการดำเนินงานภายในสโมสรตัวเองให้ก้าวสู่ความเป็นมืออาชีพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจำหน่ายบัตรเข้าชม การเร่งปรับปรุงสภาพสนามแข่งขัน การระดมแฟนฟุตบอลเข้าสู่สโมสร การจัดการบัญชีรายได้ และการตั้งสโมสรเป็นรูปบริษัทนิติบุคคล เพื่อยื่นเอกสารความเรียบร้อยให้กับคณะกรรมการฟุตบอลลีกอาชีพของเอเอฟซี ที่จะเดินทางมาตรวจถึงเมืองไทยในวันที่ 30 มีนาคมนี้ ซึ่งเรื่องต่างๆ เหล่านี้ไม่มีทางทำเสร็จภายในชั่วเวลาข้ามคืนแน่นอน หากแต่เป็นปัญหาระดับโครงสร้างของไทยลีกเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตาม “บิ๊กแน็ต” ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ ประธานคณะกรรมการจัดการแข่งขันไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก ก็ยังเชื่อว่าด้วยบารมีของนายกลูกหนังไทยที่สวมหมวกอีกใบนั่งเป็นรองประธานเอเอฟซี จะช่วยให้ทีมสโมสรในไทยลีกไม่ถูกตัดสิทธิ์ในฤดูกาลหน้า
“ที่ผ่านมาในอดีตทีมสโมสรจากประเทศไทยก็สร้างผลงานไว้มากมาย ที่สำคัญคือทีมของเรามีดีกว่าทีมจากประเทศเพื่อนบ้านที่ได้สิทธิ์เข้าแข่งขันในปีหน้าเยอะ ดังนั้นเรื่องนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องหยิบยกมาพูดกันในที่ประชุมเอเอฟซี แต่ที่ผมมั่นใจว่าเราจะยังมีสโมสรได้เล่นในแชมเปียนส์ลีกปีหน้า ก็เพราะเรายังมีคุณวรวีร์ มะกูดี ที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในเอเอฟซีอยู่ด้วย”
ทว่า “บิ๊กแน็ต” ยอมรับว่าหลายสโมสรในประเทศไทยคงต้องถึงคราวปรับตัวให้มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา หากอยากก้าวสู่ความเป็นสโมสรฟุตบอลมืออาชีพเหมือนในต่างประเทศ
“ตอนนี้ทางคณะจัดการแข่งขันไทยลีกก็เป็นนิติบุคคลแล้ว คือเราตั้งเป็นบริษัทไทยแลนด์พรีเมียร์ลีก มา 2 ปีแล้ว ผมอยากให้สโมสรสมาชิกตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ หลายทีมยังไม่มีสนามเหย้าต้องเช่า ไม่มีแฟนฟุตบอลมากพอ ผมแนะนำง่ายๆ ให้พวกคุณไปจับคู่กับจังหวัดต่างๆ อย่างจังหวัดนครราชสีมา, สงขลา, เชียงใหม่ เขามีสนามฟุตบอลที่ดีมาก ถ้าสโมสรต่างๆ ไปอยู่กับจังหวัดเหล่านั้น มันจะส่งผลดีในเรื่องแฟนฟุตบอลที่เพิ่มขึ้น แต่ผมสงสัยว่าทำไมไม่ทำกัน มันไม่ยากเลย”
ถูกที่สุดขืนปล่อยให้เป็นทีมจากหน่วยงานกระจุกอยู่ในกรุงเทพฯต่อไป คงต้องรอพบกับความจริงที่เจ็บปวดว่า ไม่มีทางที่จะมีกลุ่มแฟนติดตามเหนียวแน่นเหมือนทีมจากจังหวัดต่างๆ อย่าง ชลบุรี เรื่องของการบริหารทีมก็จะไม่มีอิสระและทิศทางที่แน่ชัด เพราะเป็นแค่ส่วนประกอบเล็กๆของหน่วยงานนั้น ผู้บริหารทีมมาแล้วก็ไป
สุดท้ายคงได้แต่รอความหวังว่าเมื่อไหร่จะมีอัศวินขี่ม้าขาวมาช่วยจัดการบริหาร ร่างกฎเกณฑ์และฟันธงว่าอนาคตของไทยลีกเราจะเอาอย่างไรกันแน่ หรือจะปล่อยให้วังเวงกันต่อไป?