“ฮอว์กอาย” อาจเป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในวงการกีฬาหลายประเภท ทว่าในวงการเทนนิสว่ากันว่า ระบบไลน์แมนดิจิตอลนี้ อาจมีส่วนทำให้เสน่ห์ของเกมลูกสักหลาดหดหายไปบ้างไม่มากก็น้อย อันเนื่องมาจากปัญหาและความผิดพลาดที่กระทบถึงผลการแข่งขันของเครื่องมือคอมพิวเตอร์ชนิดนี้
ทั้งนี้ ปัญหาล่าสุดของฮอวก์อาย เกิดขึ้นในการแข่งขันแกรนด์ สแลมแรกของปี อย่าง ออสเตรเลียน โอเพ่น ซึ่งได้มีการนำผู้ตัดสินไฮเทคมาใช้เป็นครั้งแรกที่สนามโวดาโฟน อารีน่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสนามเซ็นเตอร์ รองจาก ร็อด เลเวอร์ อารีน่า
โดยปัญหาดังกล่าวเกิดเนื่องจากแสงและเงาที่เล็ดลอดเข้ามายังสนามโวดาโฟน ที่ทำให้ฮอว์กอายไม่สามารถคำนวณตำแหน่งลูกตกออกมาได้อย่างถูกต้อง จนทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขันต้องประกาศปิดการใช้งานไลน์แมนดิจิตอลชั่วคราวระหว่างเวลา 16.45-17.45 น. ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดปัญหาดังกล่าวมากที่สุด
ทั้งนี้ เคร็ก ไทลี่ย์ ผู้อำนวยการแข่งขัน กล่าวว่า “ในเวลาดังกล่าว ฮอว์กอาย ไม่สามารถคำนวณการตกของลูกได้ถูกต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเราจึงต้องปิดการใช้เครื่องในช่วงเวลานั้น และนักเทนนิสจะต้องได้รับการแจ้งให้ทราบ เมื่อฮอว์กอายจะไม่ทำงาน”
ทว่าก่อนที่ปัญหาแสงและเงา ซึ่งกระทบต่อการทำงานของฮอว์กอายจะได้รับการแก้ไขแบบเฉพาะหน้า ด้วยการสั่งปิดการใช้งานชั่วคราว ผู้ตัดสินไฮเทครายนี้ ก็สร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้กับนักเทนนิสหลายคน อาทิ ดาวิด นัลบานเดียน ในการแข่งขันรอบสอง และ อนา อิวาโนวิช ในการแข่งขันรอบแรก ซึ่งจู่ๆ เจ้าเครื่องมือไฮเทคนี้ก็ไม่ทำงานเอาดื้อๆ
“มันไม่ใช่เรื่องที่ไร้เหตุผลที่ฉันจะหวังให้เครื่องมือไฮเทคทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อมันมีปัญหา สมาธิของคุณก็จะหลุดไปด้วย แค่ลำพังคู่ต่อสู้ก็สร้างปัญหาให้ฉันมากแล้ว และนี่ยังต้องมากังวลว่า เจ้าเครื่องมือนี้จะทำงานได้อีกหรือเปล่า” หวดสาวจากเซอร์เบีย ซึ่งสุดท้ายคว้ารองแชมป์รายการนี้ไปครอง กล่าวอย่างหัวเสีย
ขณะที่สนามหลัก อย่าง ร็อด เลเวอร์ อารีน่า ซึ่งนำเทคโนโลยีฮอว์กอาย มาใช้ตัดสินตั้งแต่ปีที่แล้ว กลับไม่มีรายงานปัญหาแสงและเงาที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของเครื่องมือไฮเทคนี้เลย
สำหรับฮอว์กอาย นั้นเป็นเครื่องมือเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นโดย พอล ฮอว์กิ้นส์ และ เดวิด เชอร์รี่ 2 วิศวกรแห่งบริษัท Roke Research Limited ในปี 2001 ซึ่งภายหลัง ฮอว์กิ้นส์ ได้ออกมาตั้งบริษัทเอง ภายใต้ชื่อ Hawkeye Innovations Limited โดยมีจุดประสงค์ คือ ส่งเสริมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ ด้วยการฉายภาพรีเพลย์ เพื่อให้เห็นการตกของลูกชัดเจนยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ดี ภายหลังได้มีการพัฒนาและปรังปรุงจนสามารถนำฮอว์กอาย มาใช้ร่วมในการตัดสินกีฬาหลายประเภทอาทิ คริกเก็ต เบสบอล อเมริกัน-ฟุตบอล และรวมถึงเทนนิส ซึ่งกว่าที่สมาพันธ์เทนนิสนานาชาติ (ไอทีเอฟ) จะอนุญาตให้มีการนำฮอว์อาย มาใช้ร่วมในการตัดสินนั้นก็ต้องผ่านการทดสอบหลายขั้นตอน
จนกระทั่งในการแข่งขัน แนสเด็ก 100 โอเพ่น ที่ไมอามี ในปี 2006 ได้มีการนำฮอว์กอาย มาใช้ในการตัดสินเป็นครั้งแรก และในปีเดียวกัน การแข่งขันยูเอส โอเพ่น ก็ได้กลายเป็นแกรนด์ สแลม รายการแรกที่นำเอาเทคโนโลยีชนิดนี้มาช่วยในการตัดสิน
แม้ต่อมาจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงความแม่นยำของฮอว์กอาย โดยเฉพาะในเกมการแข่งขันนัดสำคัญ ยกตัวอย่าง เกมการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ศึกเทนนิสดูไบ โอเพ่น เมื่อปีที่แล้ว ระหว่าง ราฟาเอล นาดาล กับ มิคาอิล ยุซห์นีย์ ซึ่งในชอตชี้เป็นชี้ตาย ยุซห์นีย์ อาศัยฮอว์กอายเอาชนะนาดาลไปได้ท่ามกลางความผิดหวังของหวดหนุ่มจากแดนกระทิงดุ ที่ต่อว่าต่อขาน ไลน์แมนคอมพิวเตอร์อย่างหัวเสีย และยังท้าว่า ให้นำฮอว์กอายไปตัดสินในเคลย์คอร์ต ซึ่งจะได้รู้กันำแเสียทีว่า ฮอว์กอายนั้นแม่นยำแค่ไหน
อย่างไรก็ดี ก่อนอื่นคงต้องทำใจยอมรับว่า “ในโลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ” ดังนั้นการที่จะคาดหวังให้เจ้าฮอว์กอาย ทำงานได้อย่างแม่นยำ 100 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่ในเว็บไซต์ของมันก็ระบุเอาไว้ว่า ฮอว์กอายจะมีการคำนวณผิดพลาดโดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 3.6 มิลลิเมตร คงเป็นไปได้ยาก และแทนที่จะเอาเวลาไปจับผิดหรือหาข้อตำหนิ ผู้ช่วยกรรมการรายนี้ ควรหันมาพัฒนาและปรับปรุงให้เจ้าเครื่องมือไฮเทคนี้ชนิดแสดงความผิดพลาดให้น้อยที่สุดเพื่อประโยชน์ของทุกฝ่ายน่าจะดีกว่า