xs
xsm
sm
md
lg

"สแลม ออสซี่" 10 แม็ตซ์แห่งความทรงจำ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ขณะที่ศึกเทนนิสออสเตรเลียน โอเพ่นประจำปี 2008 ดำเนินมาถึงครึ่งทาง ต่อจากนี้ไปการแข่งขันเริ่มงวดเข้าไปทุกขณะ เช่นเดียวกับการประมือกันระหว่างนักเทนนิสระดับหัวแถวก็คงมีให้เห็นถี่มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าเกมการแข่งขันที่เปี่ยมไปด้วยคุณภาพย่อมเกิดขึ้นตามมาอย่างแน่นอน

อย่างไรก็ดี ก่อนที่แฟนเทนนิสจะได้ชมเกมอันดุเดือดไม่แพ้อุณหภูมิสนามในการแข่งขันอีกครึ่งทางที่เหลือ อยากให้ย้อนกลับไปทบทวนแม็ตซ์แห่งความทรงจำที่ยังติดตาตรึงใจอยู่ 10 แม็ตซ์ ด้วยกัน โดยแบ่งออกเป็นของฝ่ายชายและหญิง อย่างละ 5 แม็ตซ์ ดังนี้

1 รอบรองชนะเลิศ ปี 2005 : มารัต ซาฟิน ชนะ โรเจอร์ เฟเดอเรอร์ 3-2 เซต (5-7, 6-4, 5-7, 7-6 (9), 9-7)
ซาฟิน ฉลองเบิร์ธเดย์ปีที่ 25 ด้วยการปราบนักเทนนิสฟอร์มฮอต อย่าง เฟดเอ็กซ์ ได้สำเร็จลงพร้อมคำถามที่ว่า เขาชนะได้เพราะโชคช่วยหรือไม่ ทว่าก็ได้คำตอบกลับมาโดยเร็ว เมื่ออดีตหวดมือ 1โลกจากรัสเซีย สามารถคว้าแชมป์ในแดนออสซี่มาครองได้อย่างสมศักดิ์ศรี พร้อมประโยคเด็ดที่ว่า “ผมคือผู้ชายโชคดีที่มากด้วยประสบการณ์”

2 รอบชิงชนะเลิศ ปี 1975 : จอห์น นิวคอมบ์ ชนะ จิมมี่ คอนเนอร์ส 3-1 เซต (7-5, 3-6, 6-4, 7-6 (7))
ยุคนั้นไม่อาจปฏิเสธได้ว่า คอนเนอร์ส ในวัย 22 ปี คือ หวดหนุ่มที่มีฟอร์มการเล่นร้อนแรงมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเขา ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงแชมป์เก่า และสามารถกวาดแชมป์แกรนด์ สแลมมาได้ถึง 3 รายการก่อนหน้านี้ เดินหน้าเข้าสู้รอบสุดท้ายเพื่อป้องกันแชมป์ ผิดกับผู้ท้าชิง ที่แม้จะเคยครองบัลลังแชมป์โลกมาก่อน แต่ด้วยวัย 30 ปี โอกาสคว้าแชมป์ดูเหมือนจะน้อยกว่าเด็กหนุ่มไฟแรงเป็นไหนๆ ทว่าเหมือนเข้าตำรา “ขิงยิ่งแก่ยิ่งเผ็ด” เมื่อนิวคอมบ์ ปราบคอนเนอร์ ซะอยู่หมัด ก่อนคว้าแชมป์ในบ้านเกิดเป็นสมัยที่ 2 ไปแบบพลิกความคาดหมาย

3 รอบชิงชนะเลิศ ปี 1988 : แม็ตส์ วิลันเดอร์ ชนะ แพ็ต แคช 3-2 เซต (6-3, 6-7 (3), 3-6, 6-1, 8-6)
ถูกยกให้เป็นสุดยอดคู่ชิงในรอบ 40 ปี สำหรับการประชันแรกเก็ตระหว่าง วิลันเดอร์ แชมป์เก่า 2 สมัย (เมื่อครั้งยังใช้สนามเก่า คูยองลอนเทนนิสคลับ ) กับ แคช ที่เพิ่งคว้าแชมป์วิมเบิลดันมาหมาดๆ และยังแบกความหวังของชาวออสซี่ ในการเป็นนักเทนนิสเจ้าถิ่นคนแรกในรอบ 12 ปี ที่สามารถคว้าแชมป์ในบ้านเกิดสำเร็จ ทว่ากองเชียร์จิงโจ้ ก็ต้องอกหักไปตามๆ กัน เมื่อ วิลันเดอร์ อาศัยความครบเครื่องและมันสมองอันเป็นอัจฉริยะในการเล่นเทนนิส พิชิตเจ้าแห่งลูกเสิร์ฟและลูกวอลเล่ย์ อย่าง แคช ไปได้สุดมัน 3-2 เซต

4 รอบควอเตอร์ไฟนัล ปี 1995 : พีท แซมพราส ชนะ จิม คูเรียร์ 3-2 เซต 6-7 (4), 6-7 (3), 6-3, 6-4, 6-3
เมื่อเพื่อนรักและคู่ปรับตลอดกาลโคจรมาเจอกัน ย่อมไม่ใช่แม็ตซ์ที่ธรรมดาอย่างแน่นอน แซมพราส เข้ารอบมาเพื่อป้องกันแชมป์ ขณะที่คูเรียร์ ก็พกพาดีกรีแชมป์เก่า 2 สมัย (ปี 1992-3) มาด้วย สองเซตแรกตกเป็นของคูเรียร์ ทว่าจุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อมีเสียงตะโกนจากข้างสนามให้สู้เพื่อโค้ช “ทิม กูลลิคสัน” ที่ต้องบินกลับอเมริกากะทันหันเนื่องจากป่วยเป็นโรคมะเร็งในสมอง ทำให้ “สวีตพีท” มีแรงฮึดกลับมาเล่นได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ และคว้าชัยไปในที่สุด

5 รอบควอเตอร์ไฟนัล ปี 2003 : แอนดี้ ร็อดดิก ชนะ ยูเนส เอล อานาอุย 2-3 เซต 4-6, 7-6 (5), 4-6, 6-4, 21-19
นับเป็นแม็ตซ์มาราธอนประวัติศาสตร์โดยแท้จริงสำหรับการปะทะกันระหว่างร็อดดิก วัย 20 ปี กับ อานาอุย วัย 31 ปี ทั้งคู่ใช้เวลาหวดกันทั้งสิ้น 5 ชั่วโมง และเกมที่บีบหัวใจก็เกิดขึ้นในเซตที่ห้า ซึ่งกินเวลานานกว่า 2 ชั่วโมง และแม้สุดท้ายชัยชนะจะตกเป็นของหวดหนุ่มจากสหรัฐฯ แต่สิ่งหนึ่งที่เชื่อว่าจะติดตาตรึงใจกองเชียร์ไปตลอดกาล ก็คือ การต่อสู้ด้วยหัวใจของยอดนักเทนนิส อย่าง เอร็อด และ อานาอุย

6 รอบชิงชนะเลิศ ปี 2002 : เจนนิเฟอร์ คาปริอาตี้ ชนะ มาร์ติน่า ฮินกิส 2-1 เซต 4-6, 7-6 (7), 6-2
ฮินกิส ดีกรีแชมป์ออสฯ 3 สมัย ทำแชมป์สมัยที่ 4 หลุดมือไปอย่างน่าเสียดาย หลังพลาด 4 แม็ตซ์พอยต์ ในเซตที่สอง ส่งให้อดีตมือหนึ่งโลกชาวมะกันพลิกกลับมาแย่งแชมป์ไปครองอย่างเหลือเชื่อท่ามกลางอากาศอันร้อนระอุในวันชิงชัยที่ 107 องศาฟาเรนไฮต์ และกลายเป็นนักเทนนิสหญิงคนแรกนับตั้งแต่ปี 1962 ที่สามารถพลิกสถานการณ์จากการเสียแชมเปี้ยนชิปพอยต์กลับมาคว้าแชมป์ได้สำเร็จ

7 รอบชิงชนะเลิศ ปี 1981 : มาร์ติน่า นาฟาติโลว่า ชนะ คริส เอเวิร์ต 2-1 เซต 6-7 (4), 6-4, 7-5
ถือเป็นคู่ชิงที่สมศักดิ์ศรีกันมากสำหรับ นาฟาติโลว่า กับ เอเวิร์ต หลังจากเคยพบกันมา 44 ครั้ง ซึ่งเอเวิร์ต ถือไพ่เหนือกว่าด้วยสถิติชนะ 29 ครั้ง ขณะที่นาฟาติโลว่า คว้าชัยได้เพียง 15 ครั้ง อย่างไรก็ตาม เอเวิร์ต ที่เก็บเซตแรก ด้วยการเอาชนะในไทเบรก ไม่อาจต้านทานฟอร์มการเล่นอันยอดเยี่ยมของคู่แข่งได้ พ่ายไปใน 2 เซตสุดท้าย

8 รอบชิงชนะเลิศ ปี 1993 โมนิก้า เซเลส ชนะ สเตฟฟี่ กราฟ 2-1 เซต 4-6, 6-3, 6-2
สองนักเทนนิสหญิงที่ดีที่สุดของโลกโคจรมาพบกันในรอบชิงชนะเลิศ และเป็นเซเลส ที่สามารถเฆี่ยนกราฟ ลงได้ด้วยการเอาชนะใน 2 เซตสุดท้าย อย่างไรก็ตาม 3 เดือนให้หลังทั้งโลกต้องช็อก เมื่อ จู่ๆ แชมป์ออสเตรเลียน โอเพ่นคนล่าสุดถูกลอบทำร้ายระหว่างการแข่งขันที่ฮัมบูว์ก ซึ่งเธอต้องใช้เวลามากกว่า 2 ปีในการรักษาตัวก่อนที่จะกลับมาคว้าชัยที่เมลเบิร์นอีกครั้งในปี 1996

9 รอบชิงชนะเลิศ ปี 2003 : เซเรน่า วิลเลียมส์ ชนะ วีนัส วิลเลียมส์ 2-1 เซต
ศึกสายเลือดระหว่างพี่น้องตระกูลวิลเลียมส์ ร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง ณ. เมลเบิร์น ปาร์ค ซึ่งมีอุณหภูมิพุ่งทะยานไปถึง 111 องศาฟาเรนไฮต์ จนฝ่ายจัดการแข่งขันตัดสินใจปิดหลังคาสนาม ก่อนที่เซเรน่า จะย้ำชัยชนะเหนือพี่สาวในรอบชิงชนะศึกแกรนด์ สแลมเป็นคำรบที่ 4 พร้อมคว้าแชมป์แรกในแดนจิงโจ้

10 รอบควอเตอร์ไฟนัล ปี 1996 : ชานด้า รูบิน ชนะ อรันต์ช่า ซานเชซ วิคาริโอ 2-1 เซต 6-4, 2-6, 16-14
ขณะที่ซานเชซ ได้รับการยกย่องให้เป็นตัวเต็ง หลังจากเคยทะลุเข้าถึงรอบชิงมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ ส่วนรูบินสาวน้อยวัย 19 ปี ที่ขึ้นชื่อในเรื่องลูกหวดอันหนักหน่วง ก็เพิ่งจะสร้างเซอร์ไพร์สด้วยการพลิกล็อกเอาชนะมือวางอันดับ 6 ของรายการในรอบที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครคาดคิดว่า ดาวรุ่งจากสหรัฐฯ จะสามารถสร้างปาฏิหาริย์ได้เป็นคำรบที่สอง แม้เธอจะเป็นฝ่ายกำชัยในเซตแรกไปก่อนก็ตาม



กำลังโหลดความคิดเห็น