xs
xsm
sm
md
lg

หลายปัจจัยทำ “ราคาทองคำลาว” ลดฮวบ! ลือสนั่น “ร้านทอง-รัฐบาลลาว” ทุบเอง-เก็บเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รศ.ดร.อัทธ์” ชี้สาเหตุที่ “ราคาทองคำลาว” ปรับตัวลดลงกว่า 6 พันบาทต่อ 1 บาททองคำ ในช่วงเวลาแค่ 2 วัน เป็นเพราะความตื่นตระหนกต่อข่าวลือที่ว่าราคาทองในลาวกำลังดิ่งเหว ส่งผลคนลาวแห่ขายทอง เนื่องจาก “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์อย่างเดียวที่ลาวถือว่ามีความมั่นคง แต่เพียงชั่วข้ามคืนราคาดีดกลับมาเท่าเดิม เชื่อร้านทองต้นตอปล่อยข่าว-ฟันกำไร ขณะที่ชาวบ้านขาดทุนยุบ อีกทั้งผู้ค้าทองยังปิดร้านหนี ทำคนลาวหมดโอกาสซื้อคืน ลือสนั่น! รัฐบาลลาวทุบราคาเอง หวังกว้านซื้อทองเก็บเข้าคลังเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ



นับเป็นปรากฏการณ์แปลกประหลาดสำหรับราคาทองคำของ สปป.ลาว ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยวันพฤหัสที่ 25 ก.ค.2567 ราคาทองคำของ สปป.ลาว ตกลงจาก 31 ล้านกีบ หรือเท่ากับ 43,200 บาทต่อ 1 บาททองคำ ลงไปเหลือ 39,700 บาท หรือตกลงถึง 3,500 บาทต่อ 1 บาททองคำ ต่อมาวันศุกร์ที่ 26 ก.ค.2567 ก็ตกลงไปอีก 3,100 บาทต่อ 1 บาททองคำ เหลือบาทละ 36,000 บาท คือแค่ 2 วันราคาทองคำในลาวตกลงไปถึง 6,600 บาทต่อ 1 บาททองคำ ส่งผลให้คนลาวพากันแห่ขายทองเนื่องจากเกรงว่าราคาทองคำจะตกลงไปอีก ทั้งที่ราคาทองในตลาดโลกไม่ได้มีความผันผวน คือปรับลดลงแค่ 100 บาทต่อ 1 บาททองคำเท่านั้น แต่แค่ข้ามคืน เช้าวันรุ่งขึ้นราคาทองคำของลาวดีดตัวกลับขึ้นมาอยู่ที่ 43,200 บาทต่อ 1 บาททองคำตามเดิม ส่งผลให้คนลาวจำนวนมากขาดทุนอย่างหนักจากการเทขายทองครั้งนี้

มิหนำซ้ำบรรดาร้านทองใน สปป.ลาวยังพากันปิดร้านไม่มีการซื้อขาย ทำให้คนที่ต้องการขายซื้อหรือขายทองหลังจากราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นต้องพากันผิดหวัง กระทั่งเกิดเสียงวิจารณ์จากชาวลาวว่าเป็นการปิดร้านหนีหลังจากที่ร้านทอง “ฟันกำไร” ในอัตราบาทละ 6,600 บาท จากการ “หลอกซื้อทอง” ของชาวบ้านที่ไม่รู้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยม บ้างก็คาดการณ์กันว่าอาจเป็นฝีมือของรัฐบาลลาวที่เข้ามา “ทุบ” ราคาทอง แล้วกว้านซื้อทองคำเก็บเข้าคลังเพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศและใช้หนี้ที่รัฐบาลลาวกู้ยืมจากต่างประเทศ

ส่วนว่าข้อเท็จจะเป็นเช่นไร? เกิดอะไรขึ้นกับตลาดค้าทองของ สปป.ลาว คงต้องไปฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจในอินโดจีน

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช นักวิชาการด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ทำให้ราคาทองคำใน สปป.ลาวตกลงอย่างหนักในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ว่า ปกติราคาทองคำในประเทศต่างๆ รวมถึง สปป.ลาวจะผันผวนตามราคาทองคำในตลาดโลก อย่างไรก็ดี แม้ขณะนี้ราคาทองคำในตลาดโลกจะค่อนข้างผันผวนแต่ไม่น่าเกี่ยวข้องกับราคาทองคำใน สปป.ลาวที่ขึ้นลงแบบผิดปกติ ซึ่งระบบเศรษฐกิจของลาวนั้นจะถือว่า “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ประเภทเดียวที่คนลาวมองว่ามีความมั่นคงที่สุด ไม่ว่าจะคนที่มีเงินหรือไม่มีเงินก็พยายามเก็บสะสมทองคำ คนลาวไม่นิยมเก็บเงินสดเนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาค่าเงินกีบผันผวนทั้งในตลาดปกติและในตลาดมืด อีกทั้งยังอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเป็นนักธุรกิจอาจจะจำเป็นต้องถือเงินกีบไว้เพื่อการลงทุน ขณะที่ประชาชนทั่วไปนั้นไม่อยากถือเงินกีบแต่นิยมถือทองคำมากกว่า

แต่เมื่อราคาทองคำของลาวปรับตัวลดลงในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา คนที่มีเงินอาจจะยังถือทองไว้อยู่ แต่คนลาวส่วนใหญ่ซึ่งฐานะไม่มั่นคงจะรีบเอาทองออกมาขายเพราะกลัวว่าราคาทองคำจะตกลงไปอีก ซึ่งจะเท่ากับว่ามูลค่าทรัพย์สินหลักที่ตนเองถืออยู่นั้นลดลง ที่สำคัญมีข่าวลือสะพัดว่าราคาทองจะตกลงไปอีก คนลาวจึงพากันแห่ขายทอง ยิ่งคนเอาทองออกมาขายกันมากขึ้นก็ยิ่งส่งผลให้ราคาทองคำในตลาดปรับตัวลดลงเรื่อยๆ จึงเกิดปรากฏการณ์ “ราคาทองคำลาวดิ่งเหว” ในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา และเนื่องจากแนวคิดในการซื้อขายทองของคนลาวนั้นเป็นไปในลักษณะ “ถ้าราคาทองขึ้นจะรีบซื้อ ถ้าราคาทองตกลงจะรีบขาย” ซึ่งต่างจากคนไทยที่จะซื้อทองเมื่อราคาทองคำปรับตัวลดลง และจะขายเมื่อราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ดังนั้นจึงสุ่มเสี่ยงที่คนลาวจะขาดทุนจากการซื้อขายทอง

พนิดา ชาลีกุล กรรมการผู้จัดการ (ฝ่ายขาย) บริษัท เซเว่นตี้ไนน์ จำกัด
รศ.ดร.อัทธ์ กล่าวต่อว่า ตอนนี้มีความตื่นตระหนกจากหลายปัจจัยในประเทศลาว เนื่องจากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจไม่ดี ไม่มั่นใจว่าจะมีนักลงทุนเข้าไปลงทุนในลาวหรือไม่ ทองคำที่ขายอยู่ในตลาดเป็นทองจริงหรือทองปลอม เมื่อซื้อมาแล้วจะนำไปขายคืนได้หรือไม่ ระบบหลายๆ อย่างของลาวยังไม่นิ่ง ยังไม่เป็นสากล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวล้วนมีผลเชิงจิตวิทยา ข่าวลือต่างๆ ที่เกิดขึ้นในลาวส่งผลให้ทั้งค่าเงินกีบและราคาทองผันผวนอย่างหนัก

“สาเหตุหลักที่ทำให้ราคาทองคำของลาวตกลง (คิดเป็นเงินบาท) จาก 43,200 บาทต่อ 1 บาททองคำ เหลือ 36,600 บาทต่อ 1 บาททองคำ หรือตกลงไปกว่าบาทละ 6,600 บาท ในช่วงเวลาแค่ 2 วัน เพราะความตื่นตระหนกจากข่าวลือที่เกิดขึ้น อีกทั้งคนลาวไม่มีกำลังพอที่จะถือทองไว้เก็งกำไร คือเงินหรือสินทรัพย์เขามีจำกัด เมื่อเงินเฟ้อสูง สินค้าแพง เศรษฐกิจไม่ดี บางคนเลยเอาทองมาขาย แล้วส่วนหนึ่งราคาทองคำมันเป็นเรื่องของจิตวิทยา สภาพเศรษฐกิจและข่าวสารต่างๆ ที่ออกล้วนมีผลต่อความเชื่อมั่น พอมีข่าวว่าราคาทองจะตกลงไปอีกคนลาวเลยไม่กล้าถือทองไว้ในมือ จึงเกิดการแห่ขายทองออกมาแล้วเปลี่ยนไปถือเงินบาทหรือเงินกีบ ราคาทองยิ่งตกลงไปอีก แต่พอได้ยินข่าวว่าราคาทองไม่ได้มีแนวโน้มจะลดลงตามที่เป็นข่าวคนลาวจึงเริ่มกลับไปซื้อทอง ราคาทองจึงขยับขึ้น อย่างไรก็ดี คนส่วนหนึ่งไม่มั่นใจว่าราคาทองในปัจจุบันเกิดจากการเก็งกำไรหรือไม่ จึงไม่แน่ใจว่าถ้าถือทองคำไว้และนำไปขายในอนาคตจะได้เงินหรือเปล่า สถานการณ์ของตลาดทองคำในลาวเลยสับสนปั่นป่วนอย่างที่เห็น” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

สอดคล้องกับ “พนิดา ชาลีกุล” กรรมการผู้จัดการ (ฝ่ายขาย) บริษัท เซเว่นตี้ไนน์ จำกัด ซึ่งเข้าไปลงทุนในธุรกิจเหมืองหินใน สปป.ลาว ที่ให้ข้อมูลว่า คนลาวนิยมเก็บสินทรัพย์ในรูปแบบของทองคำ ดอลลาร์ และเงินหยวน แต่ส่วนใหญ่จะเก็บเป็นทอง ซึ่งถือเป็นวิถีของชาวลาวเมื่อได้เงินมาจะไปซื้อทองคำมาเก็บไว้ และหากต้องการใช้เงินจำนวนมากก็จะนำทองไปขาย ทองคำถือเป็นสินทรัพย์ที่คนลาวนิยมสะสมและเป็นเครื่องแสดงฐานะ เวลามีงานบุญหรือออกงานสำคัญคนลาวจะใส่ทองเต็มตัว

“เนื่องจากทองคำเป็นสินทรัพย์ที่มีความสำคัญสำหรับคนลาว ดังนั้นปัจจัยทางเศรษฐกิจต่างๆ จึงมีผลทางจิตวิทยาต่อราคาทองด้วย เช่น ค่าเงินกีบที่อ่อนตัวลงส่งผลให้ราคาทองคำในลาวตกลงตามไปด้วย หรือราคาทองตก คนก็แห่เอาทองไปขาย” พนิดา กล่าว


ส่วนกรณีที่หลายคนสงสัยว่าเหตุใดหลังจากราคาทองคำในลาวปรับตัวลดลงไปถึง 6,600 บาทต่อ 1 บาททองคำ แต่ภายในเวลาแค่ 2 วัน ราคาดีดกลับขึ้นมาบาทละ 6,600 บาทต่อ 1 บาททองคำ หรือกลับมาเท่าเดิมนั้น “รศ.ดร.อัทธ์” มองว่า น่าจะเป็นเพราะข่าวสารใน สปป.ลาวมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกัน รัฐบาลลาวสร้างความเชื่อมั่นว่าทองคำลาวเป็นทองที่มีคุณภาพ ซื้อไปแล้วสามารถนำมาขายได้ราคา อย่างไรก็ดี มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนลาวจำนวนไม่น้อยว่า รัฐบาลลาวเป็นคนทุบราคาทองเองเพื่อกว้านซื้อทองราคาถูกเก็บเข้าคลัง บ้างก็ว่าคนที่ปั่นราคาก็คือบรรดาร้านขายทองของลาวนั่นเอง

รศ.ดร.อัทธ์ ยังให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ว่า ตลาดทองคำในลาวกับไทยนั้นมีความแตกต่างกัน โดยเฉพาะเรื่องการตั้งราคาซื้อขายทอง ซึ่งของไทยจะมีมาตรฐานเรื่องดีมานด์-ซัปพลายที่ชัดเจนกว่า ไทยมีสมาคมค้าทองคำที่กำกับดูแลมาตรฐานในการซื้อขายทอง มีผู้ซื้อและผู้ขายทองที่เป็นกลุ่มก้อนชัดเจน ซึ่งตลาดค้าทองของไทยเป็นตลาดที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับสากล ขณะที่ตลาดค้าทองคำของลาวนั้นแม้จะมีสมาคมทองคำแต่ประชาชนยังมีปัญหาเรื่องความเชื่อมั่น เช่น ไม่มั่นใจว่าทองคำที่ร้านทองนำมาขายเป็นทองจริงหรือทองปลอม เมื่อซื้อมาแล้วในอนาคตถ้านำไปขายจะได้เงินหรือเปล่า อีกทั้งการที่เศรษฐกิจลาวไม่มีเสถียรภาพ เงินเฟ้อสูง ค่าเงินกีบตกต่ำ การท่องเที่ยวหดตัว หนี้สาธารณะต่อจีดีพีสูง จึงส่งผลต่อเสถียรภาพและความเชื่อมั่นในการซื้อขายทองคำในลาวด้วย ตลาดทองคำของลาวมีความอ่อนไหว พอมีข่าวลือว่าราคาทองจะปรับตัวลดลงเรื่อยๆ ชาวบ้านก็พากันเทขายทอง พอข่าวซาลงคนก็แห่ซื้อทองกลับมา

“ที่มีข่าวลือว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาทองคำในลาวปรับตัวสูงขึ้นเพราะรัฐบาลลาวเข้ามากว้านซื้อทองเพื่อเป็นทุนสำรองหรือเตรียมใช้หนี้ต่างประเทศนั้นมีความเป็นไปได้ เพราะตอนนี้รัฐบาลของทุกประเทศต่างเก็บทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ และเป็นหนึ่งในภารกิจของธนาคารกลางของลาวที่จะเก็บทรัพย์สินที่มีความมั่นคงและเป็นที่ยอมรับของนานาประเทศทั่วโลก นั่นคือ สกุลเงินที่มีเสถียรภาพ และทองคำ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ค่อยดี รัฐบาลลาวอาจจะกว้านซื้อทองคำได้ไม่มากนัก” รศ.ดร.อัทธ์ กล่าว

ร้านทองใน สปป.ลาว
ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าทำไมช่วงที่ทองคำในลาวราคาตก ค่าเงินกีบเมื่อเทียบกับเงินบาทจึงแข็งค่าขึ้นผิดปกติ ขณะที่เงินกีบเมื่อเทียบกับหยวนหรือดอลลาร์ไม่ได้แข็งค่าขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งค่าเงินกีบยังอ่อนตัวลงทันทีเมื่อราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้นนั้น


“รศ.ดร.อัทธ์” อธิบายว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเงินบาทถือเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าและมีอิทธิพลต่อระบบเศรษฐกิจของลาว โดยสินทรัพย์ที่ถือว่ามีค่าในระบบเศรษฐกิจลาวนั้น ได้แก่ ทองคำ เงินกีบ เงินบาท เงินดอลลาร์ และเงินหยวน แต่ปัจจุบันเงินกีบไม่มีเสถียรภาพ ค่าเงินตกลงอย่างต่อเนื่อง คนเลยไม่นิยมถือเงินกีบ ขณะที่เงินดอลลาร์ไม่ใช่สกุลเงินที่มีอิทธิพลต่อชาวลาว เนื่องจากทั้งนักลงทุนและนักท่องเที่ยวสหรัฐฯ ยังเข้าไปในลาวไม่มาก ส่วนใหญ่จะใช้ดอลลาร์ในการซื้อขายบ้านและดินในลาว ซึ่งสัดส่วนดอลลาร์ที่ใช้ใน สปป.ลาวน่าจะอยู่ที่ประมาณ 15% เท่านั้น โดยดอลลาร์จะมีบทบาทต่อรัฐบาลลาวที่ต้องถือเงินดอลลาร์ไว้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศมากกว่า ส่วนเงินหยวนยังไม่มีบทบาทในลาวเท่าใดนัก เพราะเศรษฐกิจจีนไม่ดีจึงชะลอการลงทุนในลาว

ขณะที่เงินบาทมีอิทธิพลต่อลาวค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องการซื้อขายสินค้ากับไทยและการท่องเที่ยว ซึ่งต่างชาติที่เข้าไปเที่ยวลาวมากที่สุดคือนักท่องเที่ยวชาวไทย อีกทั้งเป็นไปได้ว่ารัฐบาลลาวอาจจะตุนเงินบาทเพื่อใช้เป็นทุนสำรอง เนื่องจากทุนสำรองของลาวประกอบด้วย ดอลลาร์ 60-70% ตามด้วยยูโร หยวน และเงินบาท ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนของเงินบาทในตะกร้าเงินอาจจะมากขึ้น โดยคาดว่าน่าจะอยู่ที่ 20% เนื่องจากความต้องการใช้เงินหยวนมีน้อยลงเพราะจีนชะลอการลงทุนในลาว และสมมติว่ารัฐบาลลาวเก็บเงินบาทไว้เยอะและวันหนึ่งต้องการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค น้ำมัน และวัสดุก่อสร้างจากไทยก็เอาเงินบาทที่ถือไว้มาซื้อได้เลย

“ปัจจุบันคนลาวถือเงินบาทอยู่ถึง 70% ของสกุลเงินทั้งหมด โดยเงินบาทเป็นเงินที่คนลาวใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะส่วนใหญ่คนลาวนำเข้าสินค้าจากไทย ข้ามฝั่งจากเวียงจันทน์เข้ามาอุดร-หนองคายก็ใช้เงินบาทซื้อสินค้าได้เลย แต่ถ้าถือดอลลาร์มาซื้อสินค้าไทยต้องเสียส่วนต่างอัตราแลกเปลี่ยน ที่สำคัญสกุลเงินในประเทศกลุ่มอินโดจีนนั้นเงินบาทถือว่าเป็นเงินสกุลเดียวที่มีเสถียรภาพมากที่สุด คนลาวจึงนิยมถือเงินบาทเพราะปลอดภัยที่สุด ไม่ผันผวนเยอะ ส่วนที่มีข่าวว่าธนาคารลาวกว้านซื้อเงินบาทนั้นอาจจะเป็นไปได้ เพราะเงินบาทเป็นสกุลเงินที่มีเสถียรภาพมากที่สุดและเป็นสกุลเงินซึ่งเป็นที่ต้องการของคนลาวมากที่สุดด้วย แล้วเศรษฐกิจไทยก็แข็งแกร่งที่สุดในอินโดจีน” รศ.ดร.อัทธ์

รศ.ดร.อัทธ์ ชี้ว่า ไม่เฉพาะราคาทองคำใน สปป.ลาวเท่านั้นที่หากมีกระแสข่าวด้านลบแล้วจะส่งผลให้เกิดความผันผวนผิดปกติ ข่าวลือที่มีต่อปัจจัยอื่นๆ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นเช่นกัน เช่น เงินกีบอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องเพราะมีกระแสข่าวว่าเงินกีบจะอ่อนค่าลงมากกว่านี้เนื่องจากทุนสำรองระหว่างประเทศของลาวเหลือไม่ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นควรรีบขายเงินกีบออกไป มีข่าวว่าราคาน้ำมันจะแพงขึ้นไปมากกว่านี้ คนลาวจึงรีบซื้อน้ำมันมากักตุนไว้ มีข่าวว่านักลงทุนจีนจะไม่เข้าไปลงทุนในลาวแล้วเพราะเศรษฐกิจภายในของจีนไม่ดี จีนจึงจำเป็นต้องชะลอการลงทุนในต่างประเทศ และมีข่าวลือว่ารัฐบาลลาวอาจไม่มีความสามารถในการจ่ายคืนหนี้เงินกู้จากต่างประเทศ จึงส่งผลให้ค่าเงินกีบอ่อนลงเพราะคนลาวไม่มีความมั่นใจต่อเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ากรณีดังกล่าวล้วนมีผลด้านจิตวิทยาทั้งต่อคนลาวเองและต่อนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้าไปลงทุนใน สปป.ลาว ผลกระทบที่ตามมาคือทำให้เศรษฐกิจของลาวผันผวน ไม่มีความแน่นอน

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่


Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/

Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j


กำลังโหลดความคิดเห็น