พบอาจารย์ชูชีพ ภัทรกรินทร์ สายธรรมกาย ร่วมป้องน้องไนซ์ ยันเชื่อมจิตเป็นภาษาธรรม อยู่ในหมวดธรรมมรรค 8 ร่วมกิจกรรมบุญกับวัดพระธรรมกายหลายครั้งดันสำนักสงฆ์พระธาตุเติมบุญขึ้นเป็นวัด แถมกฐินปี 2566 พบ องอาจ ธรรมนิทรามาร่วมงาน ส่วน “นิรมิตเทวาจุติ” แถลงการณ์เข้มเดินหน้าฟ้องสื่อ-ร้องศาลเพิกถอนใบอนุญาต
เรื่องอาจารย์น้องไนซ์ เด็กอายุ 8 ขวบที่เป็นวิทยากรสอนธรรมะให้คนจำนวนมาก ถูกปลุกให้กลับเข้ามาสู่ความสนใจอีกครั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ด้วยการที่ฝ่ายน้องไนซ์กล่าวถึงพิธีกรดังอย่างหนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย ถึงเรื่องที่เคยเกิดขึ้นมาในช่วงปลายปี 2566 จากนั้น แพรรี ไพรวัลย์ วรรณบุตร จึงออกมาปกป้องพิธีกรดัง พร้อมตอบโต้ฝ่ายผู้สนับสนุนน้องไนซ์ ทำให้กระแสน้องไนซ์ กลับเข้ามาอยู่ในความสนใจอีกครั้ง
จากนั้นมีกระแสน้องใบบุญ ขึ้นมา กลายเป็นการแสดงความคิดเห็นทางธรรมะผ่านเด็ก และเรื่องน้องไนซ์ ถูกยกระดับขึ้นหลังจากมีการเพิ่มตัวละครเข้ามาที่มีการใช้ภาพทนายอนันต์ชัย ไชยเดช มาใช้ประกอบในกิจกรรมของทางกลุ่มนิรมิตเทวจุติ (น้องไนซ์) จนทนายดังจากมูลนิธิทนายกองทัพธรรม เรียกร้องให้สำนักงานพระพุทธศาสนาเข้ามาตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว
ตามมาด้วยกลุ่มนิรมิตเทวาจุติ พร้อมด้วยทนายธรรมราช ได้เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อ ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 29 เมษายน 2567 เนื้อหาสรุปได้ดังนี้
ในกรณีที่สื่อสารมวลชน และสื่อสารสนเทศประเภทใดได้เผยแพร่ภาพถ่ายของอาจารย์น้องไนซ์ และนำเสนอเนื้อหาอันเป็นเท็จทั้งหมด หรือบางส่วน
การกระทำดังกล่าวของสื่อสารมวลชนทำให้อาจารย์น้องไนซ์ และครอบครัว และทีมนิรมิตเทวาจุติถูกสังคมเข้าใจผิด จึงถูกด่าทอต่างๆ นานา
ด้วยเหตุนี้กลุ่มนิรมิตเทวาจุติ พร้อมด้วยทนายธรรมราชจึงมีความประสงค์ยื่นเรื่องราวร้องเรียนร้องทุกข์ต่อนายกรัฐมนตรี ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ทำเนียบรัฐบาล เพื่อให้ท่านนายกรัฐมนตรี และผู้มีอำนาจในบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องได้มีมาตรการในการควบคุมพฤติกรรมของสื่อ และวางแนวทางในการออกกฎหมายควบคุมเอาผิดสื่อสารมวลชนที่นำเสนอข่าว นำเสนอเรื่องราวอันเป็นเท็จทำให้สังคมรับข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือน เป็นเหตุให้เกิดความขัดแย้งกันขึ้นเป็นวงกว้างในสังคม สาเหตุจากการกระทำ การนำเสนอข่าวเท็จของสื่อสารมวลชน
รวมทั้งขอเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีได้ตั้งคณะทำงานเพื่อการปฏิรูปการทำงานของสื่อสารมวลชนขึ้นด้วย
ช่องว่างที่ไม่มีใครแก้
แหล่งข่าวจากวงการพุทธศาสนากล่าวว่า นี่คือช่องทางที่เกิดขึ้น สำนักพุทธฯ บอกเสมอว่าดูแลเฉพาะพระสงฆ์ที่กระทำผิด กรณีน้องไนซ์ เป็นฆราวาส ไม่ใช่พระ ไม่ใช่เณร จึงไม่มีอำนาจเข้าไปดูแล แล้วปัญหาที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบความถูกต้องของหลักธรรมคำสอน ไม่ว่าจะมาจากฆราวาส หรือพระหรือเณร ทั้งๆ ที่เมืองไทยมีพระที่มีความรู้เรื่องหลักธรรมคำสอนไม่น้อย
“เชื่อมจิต มีในพระไตรปิฎกหรือไม่ ก็เถียงกันอยู่อย่างนี้ ฝ่ายหนึ่งบอกไม่มี อีกฝ่ายหนึ่งบอกมี ก็ไม่ต่างอะไรกับนิพพานเป็นอนัตตาหรืออัตตาที่เถียงกับวัดพระธรรมกายที่ทุกวันนี้ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป”
ทุกวันนี้เรื่องของศาสนา เรื่องของวัด มีกระบวนการทางการตลาดเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ ไม่มีใครบอกได้ว่านี่คือเจตนาบริสุทธิ์ในการเผยแผ่หลักธรรมคำสอน หรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทางธุรกิจ มันเป็นภาพซ้อนที่แยกออกจากกันยาก
แหล่งข่าวจากวงการสื่อมองเรื่องที่เกิดขึ้นว่า ที่จริงข้อพิพาทเรื่องสื่อนำเสนอไม่เป็นธรรมนั้น ที่ผ่านมา ผู้เสียหายสามารถฟ้องกับสื่อนั้นๆ โดยตรงอยู่แล้ว เช่น หลวงพี่น้ำฝนฟ้องอาจารย์จาตุรงค์ จงอาษา และฟ้องสื่อที่เผยแพร่ ผลของคดีก็ว่ากันไป ส่วนการยื่นเรื่องให้นายกฯ ตรวจสอบนั้น ในทางปฏิบัตินายกรัฐมนตรี ไม่มีอำนาจตรวจสอบสื่อหรือปฏิรูปสื่อ เชื่อว่ากุนซือของอาจารย์น้องไนซ์ น่าจะทราบดี และไม่น่าจะมีผลใดๆ ตามมา แต่ผู้ยื่นได้ภาพว่างานนี้เอาจริง
ในทางปฏิบัติแล้วสื่อมวลชนนอกจากทำหน้าที่รายงานข่าวที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีหน้าที่ในการตรวจสอบเรื่องต่างๆ ภายในสังคม บางเรื่องย่อมสร้างความไม่พอใจให้ฝ่ายที่ถูกตรวจสอบ การชี้แจงข่าวเป็นวิธีการหนึ่ง การฟ้องเป็นอีกวิธีการหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าผู้เสียหายจะเลือกวิธีการใด
“อ.ชูชีพ” ป้องน้องไนซ์
อย่างไรก็ตาม ภายใต้กลุ่มญาติธรรมของอาจารย์น้องไนซ์ พบว่า มีชื่อของอาจารย์ชูชีพ ภัทรกรินทร์ ระบุว่าเป็นประธานสภาวัฒนธรรมคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เป็นหนึ่งในญาติธรรมและเป็นแขกรับเชิญร่วมบรรยายงานนิรมิตเทวาจุติ เสวนาธรรม ไขข้อสงสัย เมื่อ 22 เมษายน 2567 ช่วง 19.30-20.30 น.
จากนั้น อ.ชูชีพ ได้ออกมาโพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวที่เกี่ยวข้องกับน้องไนซ์หลายข้อความดังนี้ “คำว่าเชื่อมจิต เป็นภาษาธรรมอยู่ในหมวดธรรมมรรคมีองค์ 8 ทางพ้นทุกข์ สัมมาวาจานั่นเอง คำพูดที่ดีงาม พูดที่ถูกต้อง พูดแล้วคนสามัคคีธรรม”
“น้องไนซ์อ้างว่าเป็นพุทธบุตร ผิดตรงไหน เอาธรรมะของพระพุทธเจ้ามาสั่งสอนคนให้เข้าถึงศีลสมาธิปัญญา”
“พุทธบุตรเป็นภาษาธรรม แปลว่าเป็นลูกพระพุทธเจ้า เรานับถือในพระธรรมคำสั่งสอน นับถือพระพุทธเจ้าเหมือนพ่อ”
จากการตรวจสอบล่าสุด พบว่า ข้อความดังกล่าวผู้โพสต์ได้มีการลบโพสต์ออกไปแล้ว
พบ “ชูชีพ ภัทรกรินทร์” สายธรรมกาย
จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า อ.ชูชีพ มักโพสต์ข้อความชักชวนทำบุญวัดแถวๆ คลองหนึ่ง ปทุมธานี ดังนี้ ขอเชิญพุทธศาสนิกชนร่วมสวดมนต์ เสริมดวง สร้างบารมี วัดพระธาตุเติมบุญ ทุกวันพระเวลา 18.00 น. เดิมวัดแห่งนี้เป็นสำนักสงฆ์และยกฐานะขึ้นเป็นวัด
แน่นอนว่าพื้นที่วัดดังกล่าวอยู่ในตำบลคลองหลวง ที่มีวัดพระธรรมกายเป็นวัดใหญ่ที่ปทุมธานี และยังพบอีกว่า งานทอดกฐินสามัคคี สำนักสงฆ์พระธาตุเติมบุญประจำปี 2566 เมื่อ 3 ธันวาคม 2566 ภาพงานวันดังกล่าวมีนายองอาจ ธรรมนิทา โฆษกคณะศิษย์วัดพระธรรมกายมาร่วมงาน
นอกจากนี้ ยังพบอีกว่า อ.ชูชีพ เข้าร่วมกิจกรรมบุญกับวัดพระธรรมกายต่อเนื่อง เช่น เคยมาร่วมสวดมนต์ธรรมจักรกัปปวัตตนสูตรที่มหาธรรมกายเจดีย์
เคยตอบโพสต์กระทู้ ยกเลิกพระราชบัญญัติอิสลาม ไว้ดังนี้ “ส่งเสริมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาให้เกิดศรัทธาเข้มแข็ง ดังหมู่คณะวัดพระธรรมกายเป็นตัวอย่างการต่อสู้ด้วยบุญ ความดีล้วนๆ ใครจะใส่ร้ายป้ายสี หาเรื่องราว ไม่หวั่นไหว ทีนี้จึงเกิดศรัทธามากขึ้น มากขึ้น”
ยังมีอีกหลายข้อความที่โพสต์ให้เห็นถึงความศรัทธาในวัดพระธรรมกาย เช่น นำ link ของบุคคลอื่นที่โพสต์ภาพวัดพระธรรมกายจัดงานตักบาตรพระ ที่มัณฑะเลย์ พม่าเมื่อปี 2562 โดย อ.ชูชัย โพสต์ว่า สาธุๆ แสงธรรมอำไพ นำทางสว่างให้ผุ้นำพม่าพบความเจริญรุ่งเรือง ทั้งด้านจิตใจ เศราฐกิจ ค้าขายดีๆ รวยๆ
ขณะเดียวกัน ยังพบนามบัตรของอาจารย์ชูชีพ ภัทรกรินทร์ พร้อมเบอร์โทรศัพท์ ระบุว่า ปรึกษา ดูดวงชะตา แม่นความรัก คู่รักแท้ คนอุปถัมภ์ ศัตรู ธุรกิจ ค้าขาย เจ้าที่หวงร่าง
ภาพธรรมกายติดตัว
แหล่งข่าวในวงการพระพุทธศาสนากล่าวว่า อ.ชูชีพ ตามตำแหน่งเป็นประธานสภาวัฒนธรรม คลองหนึ่ง ปทุมธานี ดังนั้น โอกาสที่จะต้องไปร่วมงานกับวัดพระธรรมกายก็ต้องมี ส่วนจะเป็นศิษย์วัดพระธรรมกายหรือไม่นั้น ไม่ยืนยัน แต่หลายโพสต์ของ อ.ชูชีพชื่นชมวัดพระธรรมกาย ส่วนการเข้ามาร่วมให้ความรู้กับทีมงานน้องไนซ์ ถือเป็นสิทธิของท่าน ซึ่งเป็นการบรรยายตามหลักธรรมทางพุทธศาสนาปกติ เพียงแต่ภาพของวัดพระธรรมกายติดตัวอาจารย์ชูชีพไปด้วยเท่านั้น
ที่ผ่านมา วัดพระธรรมกายเจอปัญหาที่คนเห็นต่างกับวัดเช่นกัน ระยะแรกๆ อาจใช้กระบวนการทางกฎหมายบ้าง แต่หลังๆ ทางวัดพระธรรมกายไม่ตอบโต้ใดๆ ชี้แจงบ้างในบางครั้ง แต่ยังมีคนที่ศรัทธาวัดพระธรรมกายอยู่ไม่น้อยเช่นกัน แม้จะเกิดวิกฤตใหญ่มาแต่ผ่านพ้นมาได้ ปัจจุบัน วัดพระธรรมกายยังมีศาสนกิจตามปกติ
ส่วนวัด หรือกลุ่มธรรมะใดๆ จะเลือกใช้กระบวนการทางกฎหมายฟ้องคนเห็นต่าง ฟ้องสื่อยังมีอยู่เช่นกัน ถือว่าเป็นสิทธิของผู้ที่คิดว่าได้รับความเสียหาย
“สื่อเขามีกฎหมายคุ้มครองตัวเองเช่นกัน ถ้าการนำเสนอข่าวนั้นเป็นไปโดยสุจริตและเป็นการรายงานไปตามข้อเท็จจริง หรือเป็นการติชมโดยสุจริต แต่สื่อที่ถูกศาลพิพากษาลงโทษก็มีเช่นกัน ถือว่าเป็นเรื่องปกติคนที่ฟ้องสื่อ วันฟ้องแถลงข่าวใหญ่โต แต่วันที่พิพากษาออกมาแล้วยกฟ้องก็เงียบกริบ”
“นิรมิตเทวาจุติ” ฟ้องสื่อ-ฟ้องสถานี
2 พฤษภาคม 2567 เพจนิรมิตเทวาจุติ ได้ออกแถลงการณ์ 2 ข้อดังนี้
1.ดำเนินการฟ้องร้องเอาผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญากับสื่อสารมวลชนที่จงใจนำเสนอข่าวเท็จ ทำให้อาจารย์น้องไนซ์ และครอบครัว พร้อมทั้งทีมแอดมินนิรมิตเทวาจุติ ให้ได้รับความเสียหาย รวมไปถึงฟ้องร้องเจ้าของช่องที่เป็นผู้ถือใบอนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ให้ได้รับผิดตามกฎหมายด้วย รวมทั้งเสนอคำฟ้องต่อศาล ขอให้เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการสื่อต่อศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจ ให้พิจารณาพิพากษาคดีดังกล่าวตามกฎหมายบ้านเมืองต่อไป
2.แถลงข้อเท็จจริงชี้แจงความคืบหน้าการดำเนินคดีทางช่องทางออนไลน์ช่องนิรมิตเทวาจุติ ติ๊กต็อก ยูทูป และเฟซบุ๊ก เพื่อให้พี่น้องประชาชนได้ทราบถึงความคืบหน้าในกรณีดังกล่าวอย่างทั่วถึงกัน
คดีตัวอย่าง
อย่างไรก็ตาม การฟ้องบุคคลพูดหรือโพสต์ข้อความหรือการออกรายการทางทีวีที่สร้างความเสียหายให้อีกฝ่ายหนึ่ง ล่าสุดมีคดีตัวอย่างคือ การฟ้องร้องระหว่างหลวงพี่น้ำฝนกับอาจารย์จาตุรงค์ ที่ศาลมีคำพิพากษาออกมาแล้ว
วันที่ 22 สิงหาคม 2566 พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือหลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม มอบอํานาจให้ทนายความแถลงข่าวฟ้องร้องดำเนินคดี นายจตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระ เชียร์ ทิฆัมพร และผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ช่องดัง และผู้ประกาศข่าว บรรณาธิการข่าวกับพวกรวม 10 คน ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา และดูหมิ่นด้วยการโฆษณาหลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ในพิธีการเปลี่ยนผ้าครองสรีระสังขารหลวงพ่อพูล
2 พฤษภาคม 2567 ศาลจังหวัดนครปฐม อ่านคำพิพากษา ศาลพิเคราะห์ว่า การพิจารณาเจตนาของจำเลยที่โพสต์ข้อความที่จำเลยใช้นั้น ต้องพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่เกิดขึ้นด้วย มิใช่พิจารณาตามความรู้สึกของโจทก์
ซึ่งจำเลยวิพากวิจารณ์ไปตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นปรากฏเป็นข่าวต่อสื่อมวลชน เกี่ยวกับกิจกรรมที่ไม่ใช่กิจของสงฆ์ เป็นการตั้งคำถามให้สังคมโดยไม่ได้ยืนยีนข้อเท็จจริง ส่วนข้อความที่อ้างว่าเป็นคำผวนก็ไม่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจได้ว่ามีความหมายอย่างไร ส่วนการเปรียบเทียบสมณศักดิ์ว่าโจทก์มีสมณศักดิ์ต่ำกว่าพระพยอม เป็นความจริง
พยานหลักฐานของโจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท หรือดูหมิ่นด้วยการโฆษณา "พิพากษายกฟ้อง"
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j