“รศ.ดร.ธนวรรธน์” ระบุทั้งแบงก์ชาติ ก.คลัง และศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจฯ ม.หอการค้า ต่างประเมินจีดีพีไทยปี 67 ต่ำกว่า IMF ซึ่งคาดการณ์ไว้ที่ 2.7% แต่ที่น่าวิตกคือ IMF มองว่าอีก 5 ปีข้างหน้า ศก.ไทยจะโตแค่ 3% ซึ่งส่งผลกระทบต่อยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ชี้ 8 ปัจจัยทำเศรษฐกิจไทยโตช้ากว่าเวียดนาม-มาเลย์ พร้อมแนะรัฐบาล 6 แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจ
หลังจากที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ออกมาประกาศประมาณการเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ว่าจะเติบโต 3.2% และเป็นการเติบโตแบบช้าๆ ซึ่งจะส่งผลให้ในอีก 5 ปีข้างหน้าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวแค่ 3.1% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ตกต่ำที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ขณะที่เศรษฐกิจไทยน่าเป็นห่วงเช่นกัน เนื่องจากไอเอ็มเอฟประมาณการว่าในปีนี้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยจะอยู่ที่ 2.7% เท่านั้น
อย่างไรก็ดี หน่วยงานด้านเศรษฐกิจของไทยหลายแห่งกลับประมาณการต่ำกว่านั้น ส่วนว่าจะประมาณการจีดีไทยไว้ที่เท่าไร และเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น คงต้องฟังความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ และอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า หลายฝ่ายเชื่อว่าตัวเลขจีดีพีของไทยในปี 2567 ถ้าไม่รวมการแจกเงินดิจิทัล จะต่ำกว่า 3% โดยในส่วนของธนาคารแห่งประเทศไทยนั้นช่วงแรกประเมินว่าจีดีพีไทยอยู่ที่ 2.8% แต่ล่าสุดปรับลดลงมาเหลือ 2.6% ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เดิมมองว่าปีนี้จีดีพีไทยจะอยู่ที่ 3.2% ก็ปรับลดลงมาเหลือ 2.6% เช่นกัน ด้านกระทรวงการคลัง เดิมมองว่าจีดีพีไทยอยู่ที่ 2.8% แต่ปรับลดลงมาเหลือ 2.4% ส่วนสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ประเมินว่าปีนี้จีดีพีอยู่ 2.7% เช่นเดียวกับไอเอ็มเอฟ ดังนั้น การที่ไอเอ็มเอฟประเมินว่าปีนี้จีดีพีไทยอยู่ที่ 2.7% จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจอะไร เพราะสอดคล้องกับที่หน่วยงานด้านเศรษฐกิจต่างๆของไทยประเมินไว้
อย่างไรก็ดี การประเมินดังกล่าวของไอเอ็มเอฟนั้นออกมาก่อนที่จะอิหร่านกับอิสราเอลจะเริ่มเปิดศึกกัน และราคาน้ำมันยังไม่มีสัญญาณว่าจะปรับตัวสูงเกินกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่หลังจากการประเมินตัวเลขเศรษฐกิจไทยของไอเอ็มเอฟ ก็เกิดการตอบโต้กันระหว่างอีหร่านกับอิสราเอล ขณะที่ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสยังไม่จบ และแม้ราคาน้ำมันจะปรับลดลงมาอยู่ที่ 88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ยังมีแนวโน้มว่าจะปรับตัวสูงขึ้น ส่วนทะเลแดงซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งน้ำมันที่สำคัญยังมีการสู้รบกัน ซึ่งส่งผลต่อปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งล่าสุดอยู่ที่ 3.5% ทำให้แนวโน้มที่สหรัฐฯ จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนั้นเป็นไปได้ยาก ขณะที่บางฝ่ายคาดการณ์ว่าสหรัฐฯ อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจากปัจจัยดังกล่าว รวมถึงปัญหาการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปีของไทยซึ่งล่าช้าไปมาก อาจส่งผลให้ตัวเลขจีดีพีของไทยต่ำกว่าที่ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ไว้
“ดังนั้น ตัวเลขจีดีพีหลังจากที่นำปัจจัยต่างๆ มาประเมินแล้วน่าจะเป็นไปตามที่แบงก์ชาติระบุ คืออยู่ที่ 2.6% แต่ประเด็นที่น่ากังวลคือไอเอ็มเอฟประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในอีก 5 ปีข้างหน้าจะโตประมาณ 3% และในปีหน้าเศรษฐกิจไทยจะโตไม่เกิน 3.5% ขณะเดียวกัน ก็ไม่เคยมีหน่วยงานเศรษฐกิจในระดับสากลที่ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะโตเกิน 4% ซึ่งจะส่งผลให้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เราวางไว้ว่าเศรษฐกิจไทยจะโต 5% ต่อปีนั้นผิดไปจากเป้าหมายอย่างมาก ซึ่งปัจจัยสำคัญนั้นสืบเนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และเชื่อว่าแม้จะนำนโยบายแจกเงินดิจิทัลมาใช้ก็ไม่สามารถกระชากให้เศรษฐกิจไทยโตขึ้นได้มากนัก” รศ.ดร.ธนวรรธน์ ระบุ
รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า ประเด็นหนึ่งที่ไม่อาจมองข้ามคือตอนนี้ประเทศคู่แข่งของไทย ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซีย หรือเวียดนาม อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจล้วนแต่เกิน 4% โดยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของมาเลเซียในปี 2567 ขยายตัว 4.5% ส่วนอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามขยายตัว 5-7% ขณะที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในปีนี้คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 2.2-3.2% เท่านั้น อีกทั้งความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวของไทยไม่มีความชัดเจน
โดยปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้เติบโตน้อยกว่าประเทศคู่แข่ง และเติบโตน้อยกว่าที่ควรจะเป็น ได้แก่
1.ประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโควิดเนื่องจากเศรษฐกิจไทยพึ่งพาต่างประเทศสูงมาก หลังจากสถานการณ์โควิดไทยจึงฟื้นตัวช้า
2.ไทยพึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยวถึง 20% ของจีดีพี เมื่อเกิดโควิดไทยปิดประเทศรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นศูนย์ เมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายจีนซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวรายใหญ่ของไทยก็เจอปัญหาวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ซึ่งส่งผลให้นักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยน้อยลง การท่องเที่ยวของไทยจึงฟื้นตัวได้ไม่ดีนัก
3.การส่งออกของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด หลังจากโควิดเริ่มคลี่คลายไทยเจอปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียกับยูเครนซึ่งส่งผลให้การส่งออกมีปัญหา อีกทั้งยังเจอปัญหาผลไม้ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญออกผลผลิตช้าเนื่องจากปัญหาภัยแล้ง
4.ไทยประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้น โดยเมื่อเศรษฐกิจไทยเริ่มจะฟื้นตัวจากโควิดก็เจอผลกระทบจากการสู้รบระหว่างยูเครนกับรัสเซียซึ่งเป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ โดยไทยนำเข้าน้ำมัน 10% ของจีดีพี เมื่อราคาน้ำมันแพง ต้นทุนการผลิตต่างๆ ของไทยสูงขึ้นตามไปด้วย
5.ปีนี้ภาคการเกษตรของไทยประสบกับวิกฤตภัยแล้งเนื่องจากอากาศร้อนจัด
6.ประเทศไทยมีปัญหาการเมืองมายาวนาน ส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากที่เคยโต 5% ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ก็ลดเหลือ 4% กว่าๆ และช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยโตแค่ 3% กว่าๆเนื่องจากเรามีปัญหาการเมืองอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการที่ไทยมีปัญหาการเมืองซ้ำซากทำให้เศรษฐกิจถูกฉุดรั้ง ขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านไม่มีปัญหาอย่างเรา
7.การอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ล่าช้าอย่างมาก ส่งผลให้โครงการลงทุนต่างๆ หยุดชะงัก โดยปกติงบลงทุนของไทยจะถูกใช้ปีละ 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่สูงกว่ารายได้จากการท่องเที่ยวในแต่ละปี งบลงทุนจึงมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
8.รัฐบาลเศรษฐาไม่มีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ นอกจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตซึ่งจนถึงขณะนี้ยังไม่แน่ว่าจะเกิดได้จริงหรือไม่
“แม้ว่าปีนี้รายได้จากนักท่องเที่ยวจะเข้ามาเยอะ แต่เหมือนเอาไม้ซีกไปงัดไม้ซุงเพราะผลกระทบต่อเศรษฐกิจในด้านอื่นๆ มีเยอะมาก ทั้งปัญหาการส่งออก ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น การเบิกจ่ายงบประมาณล่าช้ามาก ขณะเดียวกัน นอกจากดิจิทัลวอลเล็ตก็ไม่มีโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ เลย ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยต่ำมาก” รศ.ดร.ธนวรรธน์ กล่าว
ส่วนแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยนั้น รศ.ดร.ธนวรรธน์ ชี้ว่า รัฐบาลควรดำเนินการต่างๆ ดังนี้
1.รัฐบาลควรมีความชัดเจนในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต คือถ้าทุกคนมั่นใจว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเกิดแน่ ผู้ประกอบการจะเริ่มผลิตสินค้า ขณะที่ประชาชนจะเริ่มใช้จ่ายมากขึ้น แต่ถ้าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตไม่ชัดเจน ประชาชนจะไม่มีความเชื่อมั่น โดยหากไม่มีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเศรษฐกิจจะโตไม่ถึง 3% แต่หากมีโครงการดิจิทัลวอลเล็ตคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตเกิน 3% แต่ตอนนี้คนส่วนใหญ่คิดว่าดิจิทัลวอลเล็ตไม่ถูกใช้ ดังนั้นรัฐบาลต้องทำเรื่องนี้ให้ชัดเจน ส่งให้กฤษฎีกาตีความให้ชัดว่าผิดกฎหมายหรือไม่ ถ้าชัดเจนว่ามีโครงการนี้แน่เศรษฐกิจจะเริ่มขับเคลื่อน แต่ถ้าชัดเจนว่าไม่มีโครงการนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้นำเงินไปใช้ในโครการอื่นเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อไป
2.รัฐบาลต้องเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบลงทุนซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งปกติจะใช้ปีละ 5 แสนล้านบาท
3.เร่งจัดสรรงบประมาณให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการจัดซื้อจัดจ้าง สร้างสาธารณูปโภคต่างๆ และเกิดการจ้างแรงงานในพื้นที่
4.เร่งส่งเสริมการส่งออก โดยรัฐบบาลควรให้ทูตไทยประจำประเทศต่างๆ ช่วยประสาน
4.เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยอาจใช้นโยบายฟรีวีซ่ากับหลายๆ ประเทศ
6.เร่งแก้ปัญหาภัยแล้ง และเตรียมป้องกันปัญหาน้ำท่วมที่อาจจะตามมาหากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา เพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคการเกษตร ซึ่งหากภาคการเกษตรไปได้ดีเกษตรกรจะมีกำลังในการจับจ่ายใช้สอย
ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่
Facebook :https://www.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/
Instragram :https://instagram.com/special.scoop.mgronline
Tiktok :https://vt.tiktok.com/ZSe4j