xs
xsm
sm
md
lg

อำนาจนิยมใต้อำนาจของทักษิณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ



ภาพของเศรษฐา ทวีสิน ไปพักผ่อนสงกรานต์กับครอบครัวที่หัวหิน กับภาพทักษิณ ชินวัตร ห้อมล้อมด้วยรัฐมนตรีและ สส.ของพรรคเพื่อไทยที่เชียงใหม่นั้น สะท้อนความเป็นจริงว่า อำนาจที่แท้จริงอยู่ที่ทักษิณไม่ใช่เศรษฐาซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีสแตนด์อิน ผู้รับบทบาทในทางพิธีกรรม

พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคของทักษิณ อย่างไม่ต้องสงสัย พรรคนี้แม้นับจากพรรคไทยรักไทยที่ก่อตั้งในปี 2541 จะมีอายุนับรวมกันถึงปัจจุบันแล้ว 26 ปี แต่สภาพของพรรคไม่ใช่พรรคมวลชนแต่เหมือนกับเป็นพรรคที่มีเจ้าของเสียมากกว่า แม้ว่าพรรคการเมืองพรรคนี้จะเรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย แต่ความจริงที่เกิดขึ้นในพรรคก็คืออำนาจการตัดสินใจนั้นเป็นของทักษิณเพียงคนเดียว

พรรคเพื่อไทยแท้จริงแล้วจึงเป็นธุรกิจในครอบครัวของตระกูลชินวัตร อำนาจการตัดสินใจจะวางใครเป็นนายกรัฐมนตรีจึงขึ้นกับทักษิณคนเดียว แม้จะมีนายสมัคร สุนทรเวช และเศรษฐาเป็นคนนอกมากั้น แต่เขาวางตัวคนในตระกูลให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีต่อจากเขามาแล้ว 2 คน ก็คือ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ น้องเขย และยิ่งลักษณ์ น้องสาวของเขา และถ้าจะว่าไปแล้วเศรษฐาก็คือคนกันเองในครอบครัวของเขานั่นเอง

ไม่เช่นนั้นแล้วหญิงสาววัย 36 ปีอย่างอุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ที่ไม่ได้มีประสบการณ์ทางการเมืองและความสำเร็จด้านอื่นๆ มาก่อน ก็คงก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรคไม่ได้ คุณสมบัติหนึ่งเดียวของแพทองธารก็คือ การเป็นลูกสาวของทักษิณที่เป็นเจ้าของพรรคนั่นเอง

ทุกคนรู้ว่าอำนาจการตัดสินใจและการเดินเกมทางการเมืองของรัฐบาลเศรษฐาในเวลานี้จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของทักษิณอย่างไม่ต้องสงสัย เดิมพันของทักษิณมีมากกว่าเศรษฐาที่ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีก็เหนือความคาดหมายของชีวิตนักธุรกิจคนหนึ่งแล้ว 

แต่ทักษิณมีภารกิจสำคัญนั่นคือ “ดีล” ที่คนส่วนใหญ่เชื่อกันว่า เป็นเงื่อนไขสำคัญให้ทักษิณกลับประเทศโดยไม่ต้องติดคุกแม้แต่วันเดียว และภารกิจสำคัญคือ สานต่อทายาททางการเมืองของตัวเองเพื่อผลักดันอุ๊งอิ๊งให้ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ต่างกับการสืบทอดตำแหน่งในกัมพูชาและเกาหลีเหนือ

อำนาจทางการเมืองในทางนิตินัยนั้นเป็นของเศรษฐานายกฯ สแตนด์อินอย่างไม่ต้องสงสัย เศรษฐามีหน้าที่จะต้องเล่นบทนายกรัฐมนตรีไปให้สมบทบาทที่ได้รับมอบหมาย เราจะเห็นเขาใช้เวลาเดินทางไปประเทศต่างๆ ทั่วโลก และเดินสายไปต่างจังหวัดหรือคอยรับแขกบ้านแขกเมืองอยู่ในทำเนียบรัฐบาล

เพราะในความเป็นจริงวันนี้ทักษิณกลับมามีอำนาจเต็มอีกครั้ง คนเป็นรัฐมนตรีและ สส.พรรคต่างรู้ว่า อนาคตของพวกเขานั้นขึ้นอยู่กับบัญชาของทักษิณคนเดียว พวกเขาจึงรู้ว่าต้องพินอบพิเทากับใคร ส่วนเศรษฐานั้นเป็นเหมือนคนผ่านทางมาแล้วไม่นานก็ผ่านไป ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เศรษฐาจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจนครบสมัยไหม เพราะทักษิณอาจจะเคาะให้เศรษฐาลงจากตำแหน่งเพื่อดันอุ๊งอิ๊งขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีวันไหนก็ได้

ไม่แปลกหรอกที่มีข่าวออกมาจากพรรคเพื่อไทยว่า จะมีการปรับครม. และรัฐมนตรีหลายคนจะไม่ได้ไปต่อ จึงวิ่งไปหาทักษิณโดยใช้ประเพณีสงกรานต์บังหน้าเพราะการตัดสินใจทั้งหมดจะอยู่ที่ทักษิณเจ้าของพรรคไม่ใช่เศรษฐาที่คงมีหน้าที่แต่เพียงการลงนามเท่านั้นเอง

พรรคเพื่อไทยแม้จะเรียกตัวเป็นฝ่ายประชาธิปไตย แต่ไม่เคยมีประชาธิปไตยในพรรคของตัวเอง กระนั้นนักการเมืองบ้านใหญ่หลายจังหวัดก็ยังมั่นคงกับทักษิณ เพราะรู้ว่าการอยู่ในพรรคเพื่อไทยสามารถอาศัยบารมีของทักษิณเพื่อก้าวเข้าสู่ตำแหน่งแห่งหนการเมืองได้มากกว่าพรรคการเมืองอื่น การภักดีต่อทักษิณคือความมั่นคงทางการเมืองของพวกเขา และข้อดีของทักษิณคือ การให้รางวัลตอบแทนกับคนที่จงรักภักดี

ทักษิณในตอนที่เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น แม้เขาจะมาจากการเลือกตั้งด้วยชัยชนะที่ท่วมท้น แต่เขากลับใช้อำนาจของเขาไปแบบอำนาจนิยมไม่ใช่นักการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยอำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของทักษิณคนเดียวแบบรวมศูนย์ที่เหมือนกับเขาเป็นซีอีโอของประเทศ นอกจากถือเสียงข้างมากในสภาผู้แทนแล้ว เขายังเข้าไปแทรกแซงวุฒิสภา แทรกแซงองค์กรอิสระ กระทั่งเข้าไปเซ็นเซอร์สอดแนมปิดปากฝ่ายตรงข้ามกับเขาโดยเฉพาะการตรวจสอบสื่อมวลชนที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลของเขาทำให้การตรวจสอบและถ่วงดุลอ่อนแอลง

ทักษิณและรัฐบาลของเขาเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตมากมาย มีการทุจริตเป็นที่ประจักษ์ด้วยคำพิพากษาของศาลหลายคดี สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคสมัยของทักษิณก็คือ ทุจริตเชิงนโยบายเพื่อธุรกิจของตัวเองได้ประโยชน์ เมื่อเขากลับมาเพื่อถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษเขายอมรับว่า ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหาทั้งหมด แต่ไม่กี่วันก่อนเขากลับพูดว่า เขาถูกยัดคดี

ในยุคสมัยของทักษิณมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างชัดแจ้ง โดยเฉพาะในสงครามยาเสพติดซึ่งส่งผลให้มีการวิสามัญฆาตกรรมเกิดขึ้นมากมาย โดยคนเหล่านั้นไม่ได้ถูกนำมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม และกล่าวกันว่า มีบริสุทธิ์หลายคนกลายเป็นเหยื่อของสงครามยาเสพติดของเขา รวมไปถึงข้อกล่าวหาเรื่องการละเมิดในการก่อความไม่สงบในภาคใต้ที่กรือเซะและตากใบ

กล่าวได้ว่าในระหว่างมีอำนาจเขาใช้อำนาจทางการเมืองเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวบ่อนทำลายสถาบันประชาธิปไตยสิทธิมนุษยชนและหลักนิติธรรม

แน่นอนข้อดีของทักษิณก็มี เขาใช้นโยบายประชานิยมเพื่อให้คนยากจนในชนบทได้อานิสงส์จากนโยบายนี้ เช่น กองทุนหมู่บ้าน จนมีคำกล่าวกันว่า แม้ทักษิณจะโกงแต่ชาวบ้านก็ได้ประโยชน์ต่างจากนักการเมืองอื่นๆ ทักษิณสร้างพื้นฐานของระบบสาธารณสุขที่ทำให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วยนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค สิ่งเหล่านี้นี่เองที่ทำให้ทักษิณยังคงมัดใจคนรากหญ้าเอาไว้ได้มาก

แต่การสร้างนโยบายประชานิยมโดยใช้งบประมาณของแผ่นดินเพื่อซื้อใจประชาชนก็มีผลเสียเกิดขึ้นมากมาย เพราะนโยบายประชานิยมไม่ใช่ความยั่งยืนในระยะยาว และทำให้ประชาชนเคยชินกับการรอคอยความช่วยเหลือจากรัฐบาลมากกว่าจะสร้างรายได้ด้วยตัวเองซึ่งส่งผลดีต่อประเทศมากกว่า นโยบายประชานิยมเป็นเพียงการสร้างความพึงพอใจให้กับมวลชนบางกลุ่มชั่วขณะ แต่สร้างภาระทางงบประมาณและความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจในระยะยาว

เราต้องยอมรับว่าหลังการกลับมาประเทศของทักษิณโดยที่เขาไม่ติดคุกแม้แต่วันเดียวนั้น สะท้อนการกลับมามีอำนาจของทักษิณเหมือนเดิม บรรยากาศเก่าๆ ที่เราได้สัมผัสที่สะท้อนความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม และความเป็นอภิสิทธิชนได้กลับมาอีกครั้งทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิมก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะถูกรัฐประหารโดยพล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

เรารู้ว่าวันนี้ประเทศชาติของเราตกอยู่ในภาวะอะไร ภัยอันตรายจากกระแสแห่งความเปลี่ยนแปลงที่เป็นเสียงเรียกร้องของคนรุ่นใหม่กำลังท้าทายระบอบและรูปแบบของรัฐ เราอาจจะมีทางเลือกที่ไม่มากกว่านี้ อนาคตจะเป็นคำตอบว่านี่เป็นดีลที่คุ้มค่าหรือไม่ หรือมันกลับถ่วงรั้งวิกฤตให้หนักหนากว่าเก่า

แต่เราก็คงไม่สามารถโทษทักษิณคนเดียวได้ เพราะการที่ทักษิณมีวันนี้นั้น คงไม่ใช่การตัดสินใจของทักษิณตามลำพัง แต่น่าจะมีคนมีอำนาจหลายคนที่มีส่วนในการตัดสินใจ เพื่อหวังจะพึ่งพาทักษิณรับมือกับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่ท้าทายสังคมไทย
 
 ติดตามผู้เขียนได้ที่
https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น