xs
xsm
sm
md
lg

ข่าวลึกปมลับ : ช่องโหว่กฎหมาย เอื้อลัทธิ ‘เชื่อมจิต’ สำนักพุทธ มีไว้ทำไม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม



“ข่าวลึกปมลับ” เผยแพร่ทางแอปพลิเคชั่น SONDHI APPสถานีโทรทัศน์ NEWS1 ช่องยูทูปNEWS1 และเฟซบุ๊กแฟนเพจNEWS1 โดย นพรัฐ พรวนสุข บก.ข่าวการเมืองและกระบวนการยุติธรรม เครือผู้จัดการ วันพฤหัสบดีที่ 16 พฤษภาคม 2567 ตอน ช่องโหว่กฎหมาย เอื้อลัทธิ ‘เชื่อมจิต’ สำนักพุทธ มีไว้ทำไม



ข่าวกระแสสังคมในประเทศไทยตอนนี้ไม่มีเรื่องไหนจะมีความน่าสนใจและต่อเนื่องยาวนานเท่ากับกรณีของเด็กชายนิรมิต หรือ น้องไนซ์ วัย 8 ขวบ ที่อ้างตัวเองว่าสามารถเชื่อมจิต และเป็นร่างอวตารองค์เพชรภัทรนาคานาคราช ที่มีความสามารถในการรู้เห็นอนาคต

กรณีของน้องไนซ์กลายเป็นเรื่องร้อนแรงของสังคม เนื่องจากพบว่ามีการเผยแพร่คลิปวิดีโอที่เป็นการสอนสมาธิ พร้อมกับประกาศขายคอร์สเข้าอบรมในหลายรูปแบบ ในราคาตั้งแต่ 19,00-4,200 บาท เมื่อเรื่องเริ่มแดงขึ้นมาทำให้เกิดกระแสวิจารณ์อย่างหนักหน่วงว่าเป็นขบวนการบิดเบือนพระพุทธศาสนาเพื่อแสวงหาประโยชน์ พร้อมกับเป็นห่วงน้องไนซ์ว่าจะสามารถเติบโตและอยู่ในสังคมได้เหมือนเด็กปกติทั่วไปหรือไม่ โดยเฉพาะผู้ปกครองของน้องไนซ์ที่เข้ามาเป็นตัวตั้งตัวตีในกิจกรรมต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ปัญหาสำคัญของกรณีนี้ คือ การที่กฎหมายไม่สามารถเข้าไปจัดการได้ ซึ่งเป็นการยอมรับที่มาจากมือกฎหมายของรัฐบาลอย่าง 'พิชิต ชื่นบาน' รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ระบุว่า ยอมรับว่าไม่อยู่ในกรอบอำนาจของสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานฯ หนักใจ เนื่องจากไม่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์

เมื่อมองไปที่อำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่หลายฝ่ายมองว่าน่าจะมีอำนาจเข้ามาจัดการได้ พบว่าเอาเข้าจริงๆแล้วกฎหมายก็มีช่องว่างพอสมควร โดยกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พ.ศ.2557 กำหนดอำนาจหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติไว้เป็นหลักการ 9 ประการ

1. ดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ รวมทั้งกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง 2. รับสนองงาน การบริหารการปกครองคณะสงฆ์ 3. เสนอแนวทางการคุ้มครองพระพุทธศาสนา 4. ทํานุบํารุงศาสนสถานและศาสนวัตถุทางพระพุทธศาสนา 5. ดูแล รักษา และจัดการวัดร้างและศาสนสมบัติกลาง

6. พัฒนาพุทธมณฑลให้เป็นศูนย์กลางทางพระพุทธศาสนา 7. ทํานุบํารุงพุทธศาสนศึกษา 8. ส่งเสริมการเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งในประเทศและต่างประเทศ และ 9. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกําหนดหรือตามที่นายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าต้องเป็นเรื่องของมนุษย์ห่มเหลือง หรือ เป็นกิจของสงฆ์โดยแท้เท่านั้นสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จะเข้าไปจัดการได้

ดังนั้น กรณีของน้องไนซ์นั้นอาจเป็นเรื่องที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติยังไม่มีอำนาจเข้าไปถึง

ส่วนกรณีที่มีเครือข่ายภาคประชาสังคมด้านพุทธศาสนา นำโดยนายอนันต์ชัย ไชยเดช ประธานมูลนิธิทนายกองทัพธรรม ไปร้องต่อกองบัญชาการตำรวจสอบสวน ให้เอาผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ไปจนถึงข้อหาฉ้อโกงตามประมวลกฎหมายอาญานั้น คงเป็นเรื่องที่ต้องรอให้มีการสอบสวนและส่งฟ้องศาล เพื่อดูว่าศาลจะพิพากษาวางบรรทัดฐานอย่างไร

ซึ่งในทางปฏิบัติก็ยังไม่มีการตีความที่ชัดเจนเท่าใดนัก เนื่องจากเหตุการณ์ลักษณะนี้เหมือนเป็นการสมยอมกันทั้งสองฝ่าย และเรื่องความเชื่อที่มีความแตกต่างกัน การจะบอกว่าเป็นความผิดฉ้อโกงหรือแม้แต่กฎหมายคอมพิวเตอร์ ก็ยังยากต่อการฟันธงและชี้ขาดลงไป

ครั้นจะนำไปเทียบกับการดำเนินคดีกับวัดพระธรรมกายนั้น ก็ไม่อาจเทียบกันได้เสียทีเดียว เป็นเพราะกรณีของวัดพระธรรมกายมีประเด็นเรื่องการฟอกเงินเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จึงเป็นอำนาจหน้าที่โดยตรงของกรมสอบสวนคดีพิเศษ โดยที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ แทบจะไม่ได้ทำอะไรเลย

ดังนั้น ทางแก้ปัญหาที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ในยามที่กฎหมายยังมีช่องโหว่ตอนนี้ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสังคม เพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของพุทธศาสนา ป้องกันไม่ให้ขบวนการบิดเบือนเข้ามาครอบงำ เพราะถึงอย่างไรเสียไม่มีทางที่ปรบมือข้างเดียวจะเกิดเสียงดัง

------------------------------
**หมายเหตุ
ดาวโหลดแอป Sondhi App ได้แล้ว
ระบบ iOS ไปที่ AppStore :https://apps.apple.com/th/app/sondhi-app/id1588046647
ระบบ android ไปที่ Google Play :https://play.google.com/store/apps/details?id=com.sondhitalk.asia.android


กำลังโหลดความคิดเห็น