xs
xsm
sm
md
lg

“ม.ล.กร” ชี้อยากให้ประชาชนใช้น้ำมันถูก “รมว.พลังงาน” ต้องแก้ 3 เรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ม.ล.กรกสิวัฒน์” นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน หนุนนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี ชี้ต้องแก้ข้อจำกัด 3 ประการ โดยให้ “ผู้ค้ารายอื่น” ซึ่งไม่ใช่ผู้ค้าตามมาตรา 7 สามารถนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป และได้ใบอนุญาตขายน้ำมันในประเทศเช่นเดียวกับรายใหญ่ รวมทั้งแก้ “สเปกน้ำมัน” ของไทยให้เป็นสากล ป้องกันปัญหานำเข้ามาแล้วขายไม่ได้ โดยให้ใช้เบนซินล้วน-ดีเซลล้วนเป็นหลัก ส่วน “น้ำมันผสม” เป็นแค่ทางเลือก เชื่อหาก “ผู้ค้าตามมาตรา 7” ไม่อาจใช้อำนาจเหนือตลาด และมีการแข่งขันที่เป็นธรรม จะสามารถดึงราคาน้ำมันให้ลดลงได้

นับว่าเป็นที่ฮือฮาอย่างมากสำหรับการประกาศ “นโยบายนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี” ของพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ขับเคลื่อน เพราะเชื่อว่าจะสามารถทำให้ราคาน้ำมันของไทยลดลงได้ ซึ่งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนได้ไม่น้อยทีเดียว เนื่องด้วยนายพีระพันธุ์ นั้นมีผลงานชนะคดี “ค่าโง่ทางด่วน” ช่วยให้ประเทศไม่ต้องสูญเงินกว่า 10,000 ล้านบาท รวมทั้งสามารถรื้อฟื้นคดีมหากาพย์ “ค่าโง่โฮปเวลล์” ที่ยืดเยื้อมากว่า 30 ปี จึงเชื่อว่าบุตรชายของอดีตเจ้ากรมการพลังงานทหาร และผู้อำนวยการองค์การเชื้อเพลิงคนนี้จะไม่ทำให้คนไทยผิดหวัง!

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการผลักดันให้มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพื่อดึงราคาน้ำมันในไทยให้ลดลงนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องฝ่าฟันอุปสรรคหลายประการ

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ให้ความเห็นว่า ต้องชื่นชมว่าการจะเปิดให้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีนั้นเป็นนโยบายที่ดี เพราะการที่มีผู้ค้ามากขึ้นจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา เพียงแต่กระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปแก้กติกาเพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมจึงจะสามารถดึงดูดให้เกิดธุรกิจนำเข้าน้ำมัน เนื่องจากปัจจุบันประเทศไทยสามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้อยู่แล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดบางประการ โดยอุปสรรคซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ต้องแก้ไข มีดังนี้

1) ความได้เปรียบในเชิงธุรกิจของผู้ค้าตามมาตรา 7... เนื่องจากประกาศของกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ปี 2552 ระบุว่า ผู้มีสิทธินำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ ได้แก่ 1.ผู้ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี 2.ต้องเป็นผู้ค้าน้ำมัน ตามมาตรา 7

ซึ่งผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 (แห่งพระราชบัญญัติการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2543) ได้แก่ ผู้ค้าน้ำมันที่มีปริมาณการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงแต่ละชนิดหรือรวมกันทุกชนิดปีละตั้งแต่ 100,000 เมตริกตัน หรือประมาณ 120 ล้านลิตรขึ้นไป หรือผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลวเพียงชนิดเดียวปีละตั้งแต่ 50,000 เมตริกตันขึ้นไป

ดังนั้น จึงจำเป็นต้องแก้ไขข้อกำหนดดังกล่าวเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ค้ารายอื่นสามารถนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศได้

"ผู้ค้าตามมาตรา 7 นั้นมีทั้งทั้งโรงกลั่น และไม่ใช่โรงกลั่น เช่น เจ้าของแบรนด์ปั๊มน้ำมัน ขณะที่ธุรกิจปั๊มน้ำมันส่วนใหญ่จะมีความเกี่ยวเนื่องกับโรงกลั่นและผู้ค้าตามมาตรา 7 อยู่แล้ว เช่น ปั๊มยี่ห้อนี้เป็นของโรงกลั่น A ปั๊มยี่ห้อนั้นเป็นของโรงกลั่น B ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่โรงกลั่นทำธุรกิจโรงกลั่นอย่างเดียว โรงกลั่นบางแห่งถือหุ้นโดยผู้ค้าตามมาตรา 7 ซึ่งทุกรายล้วนเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ทั้งนั้น ถามว่าใครจะเข้ามาแข่ง"

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จากพรรครวมไทยสร้างชาติ
2) ข้อกำหนดเรื่องสเปกน้ำมันของไทย ... เนื่องจากปัจจุบันสเปกน้ำมันของไทยไม่เป็นสากลและไม่เหมือนอาเซียน โดยไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่ใช้น้ำมันผสม ส่งผลให้น้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้ามาจากต่างประเทศไม่สามารถใช้ในไทยได้ ดังนั้นไทยจึงควรเปลี่ยนสเปกน้ำมันจากน้ำมันผสมให้เป็นน้ำมันเบนซินล้วนและน้ำมันดีเซลล้วนเช่นเดียวกับที่ใช้กันทั่วโลก โดยยกเลิกน้ำมันผสม เช่น น้ำมันแก๊ซโซฮอล์ ไบโอดีเซล หรือให้น้ำมันผสมเป็นแค่ทางเลือกเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อให้น้ำมันสำเร็จรูปที่นำเข้ามาสามารถจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปได้เลย ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา และไม่ต้องขายต่อให้ผู้ค้ารายเดิมนำไปผสมก่อนจำหน่าย

ที่สำคัญสูตรผสมของผู้ประกอบการไทยทำให้น้ำมันแพงขึ้น ต่างจากประเทศอื่นๆ อย่างเช่น อเมริกาซึ่งสูตรทำให้น้ำมันถูกลง เนื่องจากเอทานอลจะถูกกว่าน้ำมันเบนซิน เมื่อนำเอทานอลมาผสมเบนซินทำให้ราคาน้ำมันถูกลง ขณะที่น้ำมันผสมของไทยนั้นยิ่งผสมยิ่งแพง มีการกระทำบางอย่างเกี่ยวกับสูตรน้ำมัน ทำให้เอทานอลของไทยแพงกว่าเอทานอลในตลาดโลก แพงกว่าอเมริกาและบราซิล ทั้งที่ไทยสามารถผลิตเอทานอลได้เอง ยิ่งนำเอทานอลไปผสมกับน้ำมันเบนซินหรือน้ำมันดีเซล น้ำมันที่ได้ออกมาก็ยิ่งแพง เรียกได้ว่าน้ำมันผสมของไทยนั้นแพงเกินจริง (เอทานอลมีค่าออกเทนสูงนำไปผสมกับน้ำมันเบนซินเรียกว่าน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ถ้าผสมกับน้ำมันดีเซล เรียกว่าน้ำมันดีโซฮอล์)

“ถามว่าน้ำมันสำเร็จรูปที่จะนำเข้ามาจากต่างประเทศสามารถใช้ได้เลยไหม ตอบเลยว่าไม่ได้ คือนำเข้ามาได้แต่ขายไม่ได้เพราะไม่ตรงกับสเปกน้ำมันที่ประเทศไทยกำหนด เนื่องจากน้ำมันสำเร็จรูปของต่างประเทศเป็นเบนซินล้วนและดีเซลล้วน ดังนั้น ถ้าจะแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพงโดยการเปิดให้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรี ไทยต้องให้มีน้ำมันเบนซินล้วนและดีเซลล้วนขาย พร้อมทั้งยกเลิกน้ำมันผสม หรือกำหนดให้น้ำมันผสมไม่ใช่น้ำมันที่บังคับใช้ แต่เป็นน้ำมันทางเลือก เช่น มีแก๊สโซฮอล์ และไม่ต้องมีกองทุนน้ำมันไปอุ้มเพื่อกดให้ราคาน้ำมันผสมที่แพงเกินจริงมีราคาถูกลงเหมือนที่ทำอยู่ในปัจจุบัน คนจะหันไปใช้น้ำมันเบนซินล้วนและดีเซลล้วนเองเพราะราคาถูกกว่า และในที่สุดน้ำมันผสมที่แพงเกินจริงจะลดราคาลงมาให้ถูกกว่าเบนซินล้วนและดีเซลล้วนเพื่อช่วงชิงตลาด”

นอกจากนั้น แม้น้ำมันสำเร็จรูปของไทยบางตัวจะตรงกับน้ำมันที่ใช้ในตลาดโลกแต่มาตรฐานยังต่างกัน ดังนั้นจึงต้องแก้สเปกน้ำมันของไทยให้ตรงกับมาตรฐานโลกด้วย เช่น นํ้ามันยูโร 4 (นํ้ามันเบนซิน หรือดีเซลที่เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสะอาดซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีคุณภาพตามมาตรฐานของกลุ่มประเทศยุโรประดับ 4) น้ำมันยูโร 5 (น้ำมันเชื้อเพลิงสะอาดซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีคุณภาพตามมาตรฐานของกลุ่มประเทศยุโรประดับ 5) ซึ่งปัจจุบันไม่ตรงกับน้ำมันยูโร 4 ยูโร 5 ที่ใช้ในสิงคโปร์ ปัญหาที่ตามมาคือผู้ที่นำเข้าน้ำมันยูโร 4 ยูโร 5 จากต่างประเทศเข้ามาจะไม่สามารถขายในไทยได้ ดังนั้นจึงต้องแก้สเปกน้ำมันของไทยให้ตรงกับมาตรฐานโลกด้วย


3) เมื่อมีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเข้ามาจะมีปัญหาตามมาว่าจะไปขายให้ปั๊มไหน ... ดังนั้นรัฐบาลต้องส่งเสริมให้ผู้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปสามารถเป็นผู้ค้าน้ำมันในประเทศได้ โดยต้องมีการออกใบอนุญาตในการขาย รวมถึงต้องแก้กฎระเบียบเพื่อเปิดช่องให้ผู้นำเข้าสามารถขายน้ำมันสำเร็จรูปได้หลายช่องทาง นอกจากขายให้ประชาชนโดยตรงแล้วสามารถขายให้ผู้ค้ารายอื่นได้ด้วย ซึ่งเชื่อว่าถ้ามีกฎกติกาที่ดีกว่าเดิมและธุรกิจไปได้จะมีคนอยากเข้ามาแข่งขันในธุรกิจนี้

เช่น ในอดีตผู้ค้าเอทานอล 85 (E85) ซึ่งเป็นน้ำมันผสมที่ประกอบด้วย เอทานอล 85% น้ำมันเบนซิน 15% เขาจะไม่สามารถซื้อน้ำมันสำเร็จรูปมาผสมกับเอทานอลแล้วขายเป็น E85 เพราะกฎหมายไม่อนุญาต ดังนั้นจึงต้องแก้ระเบียบเรื่องนี้ โดยอนุญาตให้ผู้ที่ผลิตเอทานอลสามารถซื้อน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปที่นำเข้ามา หรือซื้อน้ำมันเบนซินสำเร็จรูปจากโรงกลั่น เพื่อนำมาผสมเป็น E85 ขายได้ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถขายได้ในราคาที่ถูกกว่าท้องตลาดด้วยเพราะเขาผลิตเอทานอลเอง ซึ่งเมื่อเกิดการแข่งขันด้านราคา คนที่ได้ประโยชน์ก็คือประชาชน

“การนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีเป็นเรื่องที่ดี แต่จำเป็นต้องแก้กติกาเยอะมาก เพราะต้องยอมรับว่าปัจจุบันผู้ค้าตามมาตรา 7 มีส่วนแบ่งการตลาดค่อนข้างเยอะ ในภาษาวิชาการเรียกว่ามีอำนาจเหนือตลาดพอสมควร ซึ่งกลไกแบบนี้แก้ไขค่อนข้างยาก แรงเสียดทานเยอะ ผู้ค้ารายใหม่ก็เกิดยาก เพราะรายใหญ่ครองตลาดอยู่และมีสายสัมพันธ์กับปั๊มน้ำมันอยู่แล้ว ซึ่งในธุรกิจน้ำมันเนี่ยคนที่น่าเห็นใจที่สุดคือปั๊มน้ำมันของผู้ผลิตรายย่อย เพราะไม่มีอำนาจต่อรอง ผูกกับใครก็ผูกกับคนนั้น ไม่มีทางเลือก สมมติปั๊ม A B C จะไปเอาน้ำมันจากเจ้าอื่นมาขายก็ทำไม่ได้เพราะมีสัญญากับเจ้าเดิม”


ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวต่อว่า วิธีที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาราคาน้ำมันของประเทศไทยคือ นอกจากเปิดให้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีโดยมีการแก้กติกาต่างๆ ให้สอดรับกันแล้ว ต้องดูว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ผู้ค้าตามมาตรา 7 ใช้อำนาจเหนือตลาด เพื่อให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม อีกทั้งต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นของไทยเท่ากับราคาที่ส่งออกไปสิงคโปร์ซึ่งปัจจุบันถูกกว่าราคาหน้าโรงกลั่นของไทยมาก

“การจะนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเสรีเพื่อแก้ปัญหาราคาน้ำในไทยนั้นคิดว่าการดำเนินการอาจจะไม่เร็วนัก เพราะประเทศไทยเป็นประเทศกลั่นล้นเกิน ดังนั้นผู้ค้าเดิมพร้อมที่จะสู้เต็มที่อยู่แล้ว เช่น ช่วงแรกอาจจะลดราคาสู้ ดังนั้นต้องดูว่าในระยะยาวผู้นำเข้าซึ่งมีต้นทุนค่าขนส่งจะสู้ได้ไหม เพราะปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปสามารถแข่งขันได้คือต้นทุนราคาน้ำมัน ซึ่งพื้นที่ที่น่าจะพอสู้ได้คือการนำเข้าน้ำมันจากสิงคโปร์เข้ามาขายในแถบภาคใต้ซึ่งค่าขนส่งน่าจะต่ำกว่าการส่งน้ำมันจากภาคตะวันออกของไทยไปภาคใต้ หรือกรณีที่สั่งซื้อน้ำมันจากตะวันออกกลางหากสั่งซื้อจำนวนมากก็สามารถซื้อในราคา Spot ได้ ซึ่งจะต่ำกว่าราคาในตลาดโลก เมื่อรวมกับค่าขนส่งแล้วก็อาจจะสามารถแข่งขันได้” ม.ล.กรกสิวัฒน์ ระบุ

ข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่

Facebook :https://m.facebook.com/SpecialScoopManagerOnline/?locale2=th_TH





กำลังโหลดความคิดเห็น