เจาะปฏิบัติการ IO ของ “พรรคก้าวไกล” กับการสร้างสงครามข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดีย “ดร.กิตติธัช” ชี้เป็นการดึงหัวคะแนนขึ้นสู่ระบบออนไลน์ ใช้ “ห้องแชตด้อมส้ม” เป็นฐาน แยกกลุ่มตามพื้นที่-ภูมิภาค โดยมี “ลีดเดอร์” คอยแนะนำประเด็นที่จะใช้โจมตี-วิธีการตอบโต้ ใช้ “อินฟลูเอนเซอร์” ชี้นำความคิด เปิดแอ็กเคานต์ปลอม สร้างจิตสำนึกเทียม ด้าน “กูรู TikTok” เผยมือถือเครื่องเดียวสร้างติ๊กต็อกได้ 8 แอ็กเคานต์ ตัวอยู่ต่างประเทศก็คอมเมนต์การเมืองไทยได้ ขณะที่ “อาจารย์ฝน ไซเบอร์” ระบุ ใช้บอทระดมยิงข้อมูลซ้ำๆ ผ่านแอ็กเคานต์อวตาร ล้างสมองเด็กให้เกลียดสถาบัน!
ท่ามกลางการชิงไหวชิงพริบในการจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลซึ่งต่างไม่มีใครยอมใคร “สงครามข่าวสาร” ที่เรียกกันว่า “ปฏิบัติการ IO” นับเป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำคัญที่ถูกนำมาใช้เพื่อเรียกเสียงสนับสนุนจากประชาชนหรือปลุกระดมให้มวลชนลุกขึ้นมาต่อต้าน ซึ่งพรรคที่ถูกจับตาว่ามีการใช้ปฏิบัติการ IO มากที่สุดในขณะนี้ เห็นจะหนีไม้พ้นพรรคน้องใหม่มาแรงอย่าง “ก้าวไกล” ที่บรรดาแฟนคลับด้อมส้มต่างไล่ถล่มคนที่แสดงทัศนะในเชิงลบต่อพรรคก้าวไกลอย่างไม่ลดละ
ส่วนว่าแท้จริงแล้วปฏิบัติการ IO จะมีความหมายตื้น-แคบ กว้าง-ลึกเพียงใด ประกอบด้วยกลยุทธ์อะไรบ้าง และพรรคก้าวไกลมี IO จริงหรือไม่ ทำงานอย่างไร? คงต้องสอบถามข้อมูลจากผู้รู้
ระบบออนไลน์
หาเสียงได้ 24 ชั่วโมง
ดร.กิตติธัช ชัยประสิทธิ์ นักวิชาการอิสระ และอาจารย์พิเศษด้านปรัชญาการเมือง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับปฏิบัติการ IO หรือ Information Operation (ยุทธการทางข้อมูลข่าวสาร) ว่า ปฏิบัติการ IO นั้นถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการเมือง ซึ่งบรรดาพรรคการเมืองในประเทศไทยนั้นทำกันทุกพรรคทุกฝ่าย โดยปัจจุบันพรรคการเมืองต่างๆ เริ่มมองเห็นว่าระบบโซเชียลมีเดียมีผลต่ออารมณ์และความคิดของผู้คน และปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารที่นำมาใช้หาเสียงผ่านระบบออนไลน์สามารถทำได้ 24 ชั่วโมง ไม่ต้องรอให้มีการเลือกตั้งเหมือนสมัยก่อน เพราะปัจจุบันคนตื่นขึ้นมาก็เปิดมือถือและเห็นคอนเทนต์ต่างๆ แล้ว พรรคการเมืองจึงหาเสียงได้ 24 ชั่วโมง ดังนั้น ปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียจึงทำกันทุกพรรค พรรคไหนทำช้ามักจะไม่ได้รับความนิยม
ทั้งนี้ ยังไม่รวมถึงตัวผลิตภัณฑ์หรือสินค้า ซึ่งคือ ชุดความคิด คุณสมบัติ และภาพลักษณ์ของนักการเมืองและพรรคการเมือง เช่น บางพรรคมีจุดขายเรื่องการปฏิรูปประเทศ สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น บางพรรคมีจุดขายเรื่องการส่งเสริมคนดีให้ปกครองบ้านเมือง ปกป้องสถาบัน หรือบางพรรควางภาพลักษณ์เป็นคนรุ่นใหม่ มีไลฟ์สไตล์ที่ทันสมัย ซึ่งอาจจะถูกใจคนรุ่นใหม่ แต่ไม่ว่า IO หรือปฏิบัติการข่าวสารจะดีแค่ไหน ถ้าสินค้าไม่โดนใจก็อาจจะพ่ายแพ้ได้
“อย่างพรรคก้าวไกล ถ้าดูแค่แบรนดิ้งจะพบว่าเป็นพรรคการเมืองที่ตอบโจทย์ผู้คนในยุคสมัยนี้ ไม่ว่าจะเป็นโลโก้พรรค ลักษณะตัวอักษรหรือข้อความที่ใช้ในการพาดหัว มันเข้ากับคาแร็กเตอร์คนรุ่นใหม่ ขณะที่บางพรรคนโยบายดี แต่แบรนด์ดูเชย คนก็ไม่เลือก นี่คือผลของปฏิบัติการข่าวสารผ่านโซเชียลมีเดียในยุคปัจจุบัน มันคือซอฟต์ เพาเวอร์ เมื่อคนชื่นชอบจะรู้สึกสนิทสนมและผูกพันในที่สุด” ดร.กิตติธัช ระบุ
“อัลกอริทึม” ของ AI
ช่วยให้ IO ประสบความสำเร็จ
ดร.กิตติธัช กล่าวต่อว่า ปัจจัยหนึ่งที่มีส่วนสำคัญต่อปฏิบัติการ IO คือ ระบบการคัดสรรของ AI ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการผลักให้ผู้คนเห็นข้อมูลข่าวสารที่ตนเองสนใจ เนื่องจากอัลกอริทึม (ระบบการประมวลผล) ของโซเชียลมีเดียจะคัดเลือกข่าวสารที่เราสนใจมานำเสนอ เช่น เมื่อเราเห็นคลิปเกี่ยวกับพรรค A บน TikTok เลื่อนผ่านมาแล้วเรากดเข้าไปดู อัลกอริทึมจะส่งข่าวสารหรือคอนเทนต์ที่เกี่ยวกับพรรคการเมือง A เข้ามาอีก เพราะระบบเชื่อว่าเราต้องกดเข้าไปดูแน่ๆ เมื่อเราเห็นข้อมูลเกี่ยวกับพรรค A ซ้ำๆ เราก็จะรู้สึกคล้อยตาม และรู้สึกว่าพรรค A เป็นพรรคที่คนส่วนใหญ่นิยม
อีกปัจจัยหนึ่งที่ขับเคลื่อนปฏิบัติการ IO ในปัจจุบันก็คือ “อินฟลูเอนเซอร์” (บุคคลที่มีผู้ติดตามบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย) ซึ่งในการทำมาร์เกตติ้งทางการเมืองนั้น บางครั้งอินฟลูเอนเซอร์อาจจะเป็นคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเมืองเลย เช่น ดารา นักแคสเกม เน็ตไอดอล แต่อยู่ๆ บุคคลเหล่านี้มาแซวเรื่องการเมือง หรือชูภาพลักษณ์ดีๆ ของพรรคการเมืองบางพรรคผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้มีทั้งที่รับงานจากพรรคการเมือง และคนที่พูดเพราะความชื่นชอบส่วนตัว ซึ่งความเห็นของอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้ส่งผลให้คนที่ตอนแรกอาจจะไม่ได้สนใจการเมืองหรือไม่ได้สนใจพรรคการเมืองนั้นๆ เลย แต่ตามเพจหนัง หรือช่องแคสเกมของอินฟลูเอนเซอร์อยู่จะเริ่มหันมาสนใจและซึมซับแนวคิดและอุดมการณ์ จนกลายเป็นความชื่นชอบศรัทธาพรรคการเมืองนี้ในที่สุด ซึ่งวิธีนี้ใช้หลักการเดียวกับการ “ไทอินสินค้า” นั่นเอง
“ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีกลุ่มการเมืองของพรรคเข้าไปสร้างความสนิทสนมกับอินฟลูเอนเซอร์ต่างๆ ค่อยๆ พิกอัปอินฟลูเอนเซอร์เข้ามาในเครือข่ายของพรรค โดยเริ่มจากการจ้างงานบ่อยๆ เสร็จแล้วพาไปกินข้าว เวลามีมิตติ้งก็ชวนไปร่วมวงด้วย ค่อยๆ หยอดความไว้เนื้อเชื่อใจ สุดท้ายอินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้จะรู้สึกเป็นเนื้อเดียวกับพรรคการเมือง มีการสร้างชุดความคิดและความหวังทางการเมืองร่วมกัน เมื่อรู้สึกเป็นเนื้อเดียวกันแล้วต่อไปก็ไม่ต้องจ้างแล้ว อินฟลูเอนเซอร์เหล่านี้จะใช้ช่องทางโซเชียลของตนเองสนับสนุนพรรคโดยอัตโนมัติ กลายเป็นหัวคะแนนโดยธรรมชาติ เป็นการสร้างเครือข่ายมวลชนรูปแบบหนึ่ง นี่คือวิธีที่พรรคก้าวไกลทำมาตลอด” ดร.กิตติธัช กล่าว
“บริษัทเคมบริดจ์” ผู้ริเริ่ม
สงคราม IO บนออนไลน์
ด้าน นายนรินทรฤทธิ์ เปรมอภิวัฒโนกุล หรือ “อาจารย์ฝน ไซเบอร์” ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และอุปนายกสมาคมความมั่นคงปลอดภัยระบบ ให้ข้อมูลที่น่าสนใจ ว่า ระบบหัวคะแนนออนไลน์ที่บ้านเราเรียกว่า IO นั้นมีมาหลายปีแล้ว โดยถูกนำมาใช้ครั้งแรกในการเลือกตั้งของสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2016 โดยครั้งนั้น “โดนัลด์ ทรัมป์” ได้ใช้บริการช่วยหาเสียงของบริษัทเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า (Cambridge Analytica) ซึ่งมีข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ Facebook ในสหรัฐอเมริกาถึง 87 ล้านคน โดยบริษัทเคมบริดจ์นำข้อมูลดังกล่าวมาใช้วิเคราะห์พฤติกรรมของผู้มีสิทธิเลือกตั้งประธานาธิบดีในสหรัฐอเมริกา และเลือกเจาะกลุ่มที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกทรัมป์ หรือฮิลลารี คลินตัน จากนั้นจึงส่งโฆษณาหาเสียงที่ตรงใจไปยังกลุ่มเป้าหมายผ่านโซเชียลมีเดีย โดยก่อนการเลือกตั้งประธานธิบดีกลุ่มเป้าหมายจะเห็นโฆษณาที่เป็นเรื่องดีๆ ของทรัมป์และเห็นแต่เรื่องแย่ๆ ของฮิลลารี จึงส่งผลให้ทรัมป์ชนะการเลือกตั้ง และได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 45 ของสหรัฐอเมริกา
“หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในครั้งนั้น ประเทศอื่นๆ ที่มีการเลือกตั้งก็เรียกใช้บริการของบริษัทเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า ช่วงก่อนการเลือกตั้งในไทย คีย์แมนของบริษัทเคมบริดจ์ อะนาไลติก้า มานอนอยู่ที่เกาหลี” อาจารย์ฝน กล่าว
ปฏิบัติการ IO “ก้าวไกล”
ทำ “เพื่อไทย” เสียศูนย์
ทั้งนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ไม่เพียงแต่พรรคก้าวไกลเท่านั้นที่มีปฏิบัติการ IO พรรคการเมืองอื่น โดยเฉพาะเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่มีฐานเสียงใกล้เคียง-ทับซ้อนกับก้าวไกล และเป็นคู่แข่งกันกลายๆ ก็มีปฏิบัติการ IO เช่นกัน โดย ดร.กิตติธัช ได้เปรียบเทียบปฏิบัติการ IO ของพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทย ว่า มีลักษณะแตกต่างกัน โดยหากพูดถึงการใช้ IO เพื่อโจมตีหรือเปิดแผลของฝ่ายตรงข้ามนั้นถือว่าเพื่อไทยกับก้าวไกล รวมถึงพรรคการเมืองอื่นๆ ทำได้ใกล้เคียงกัน แต่ในแง่ของการชูแนวคิดทางการเมืองนั้นแม้เพื่อไทยจะทำอย่างต่อเนื่อง แต่ต้องยอมรับว่าก้าวไกลประสบความสำเร็จมากกว่า สามารถครองใจอินฟลูเอนเซอร์และคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า เนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ได้อินกับ “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งเป็นแบรนด์หรือจุดขายของเพื่อไทย เพราะผลงานที่ทักษิณทำและถือว่าประสบความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นมานานกว่า 10 ปีแล้ว เด็กรุ่นใหม่ไม่รู้จัก จึงโน้มเอียงไปทางพรรคก้าวไกลมากกว่า ขณะที่การสร้างเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์ซึ่งเป็นตัวช่วยในการประชาสัมพันธ์พรรคนั้นพรรคก้าวไกลทำได้ดีกว่าเช่นกัน
“นอกจากมีเครือข่ายอินฟลูเอนเซอร์แล้ว พรรคก้าวไกลยังมีการจัดค่ายเยาวชน มีการจัดกิจกรรมโดยคณะก้าวหน้า มีการจัดกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่เข้าถึงเยาวชนได้ดีกว่าเพื่อไทย ขณะที่เพื่อไทยแม้จะทำ IO สื่อ มีเครือข่ายสื่อ มีอินฟลูเอนเซอร์ แต่ไม่เยอะเท่าก้าวไกล ภาพลักษณ์ของเพื่อไทยไม่ทันสมัยเท่าก้าวไกล ดังนั้นแม้เพื่อไทยจะสามารถเจาะกลุ่มวัยรุ่นได้บ้างแต่ไม่มากเท่าก้าวไกล เพราะเด็กไม่อินกับคุณทักษิณ แฟนคลับเพื่อไทยส่วนใหญ่จึงเป็นวัย 30 อัป” ดร.กิตติธัช ระบุ
นอกจากนั้น การสร้างและเผยแพร่ “วาทกรรม” ผ่านบุคลากรของพรรคมีส่วนสำคัญต่อปฏิบัติการ IO เช่นกัน โดย “ดร.กิตติธัช” มองว่า ก้าวไกลสร้างวาทกรรมเก่งกว่าเพื่อไทย จะเห็นได้ว่าเพื่อไทยจะเน้นในการตีประเด็นทางการเมือง โดยใช้ตัวนักการเมือง เช่น โฆษกพรรค หรือนักการเมืองของพรรค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักการเมืองรุ่นเก่า จะมีใหม่อยู่บ้างคือ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร ขณะที่ก้าวไกลเน้นการสร้างวาทกรรมที่มีลักษณะชี้นำ สรุปประเด็น และเข้าใจง่าย ตัวผู้เล่นของก้าวไกลสดกว่า มีความหลากหลายในสาขาวิชาชีพมากกว่า เช่น เจ้าของคราฟต์เบียร์ ตัวแทน LGBT พรรคก้าวไกลจึงสามารถครองใจคนได้หลากหลายกลุ่ม หลากหลายสาขาอาชีพ
“การสร้างวาทกรรมเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางการเมือง ถ้าไม่มีการบิดเบือน อยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริงเป็นสิ่งที่ยอมรับได้ แต่ละพรรคก็สู้กันไป อยู่ที่ว่าคุณนำสังคมได้ไหม สังคมเชื่อคุณหรือเปล่า แต่ถ้าเลยจุดที่ถูกต้อง เริ่มบิดเบือนจากข้อเท็จจริง พูดความจริงครึ่งเดียว เสี้ยวเดียว ก็ถือว่าอันตราย เพราะในระยะยาวจะนำสังคมไปสู่โลกของข่าวลวง” ดร.กิตติธัช กล่าว
“ก้าวไกล” สร้างหัวคะแนน
ผ่าน “ห้องแชตด้อมส้ม”
ดร.กิตติธัช ยังชี้ว่า พรรคก้าวไกล รวมถึงคณะก้าวหน้า เป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีการจัดตั้งชุดความคิดให้มวลชนอย่างชัดเจน มีการจัดอบรมผ่านระบบโซเชียล โดยลีดเดอร์จะบอกว่าถ้าเป็นเรื่องนี้ ประเด็นนี้ มวลชนต้องชี้แจงแบบนี้ มวลชนจึงสื่อสารไปในทิศทางเดียวกันหมด มีการจัดตั้งห้องแชตที่เรียกว่า “ห้องด้อมส้ม” บนระบบโซเชียล เช่น ไลน์ facebook ทวิตเตอร์ เพื่อรวบรวมแฟนคลับของพรรคที่อยู่ในแต่ละจังหวัด แต่ละพื้นที่มาร่วมกันทำปฏิบัติการ IO ซึ่งคือการยกหัวคะแนนในระบบเก่ามาไว้บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งพรรคสามารถเข้าถึงหัวคะแนนได้ง่ายกว่า และเข้าถึงแบบ 24 ชั่วโมง
“ก้าวไกลจะมีห้องแชตต่างๆ ซึ่งลีดเดอร์จะบอกเลยว่าตอนนี้พรรคเรากำลังถูกโจมตีเรื่องนี้ เราควรจะชี้แจงอย่างนี้ ตอบโต้แบบนี้ หรือถ้าจะโจมตีฝ่ายตรงข้ามต้องตีเรื่องไหน อาจจะแบ่งเป็นห้องย่อยๆ โดยอิงกับจังหวัด หรือพื้นที่ที่ด้อมส้มอยู่ สุดท้ายมวลชนที่เป็นแฟนคลับ หรือหัวคะแนนธรรมชาติจะรู้ว่าถ้ามีเหตุแบบนี้ จะต้องนำข้อมูลที่ลีดเดอร์ให้มาไปสื่อสารต่ออย่างไร โดยด้อมส้มที่ทำปฏิบัติการ IO มีทั้งแบบอาสา 100% และแบบมีค่าตอบแทนให้เล็กน้อย ซึ่งวิธีนี้จึงทำให้พรรคก้าวไกลสามารถปฏิบัติการ IO ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.กิตติธัช ระบุ
เปิดแอ็กเคานต์ปลอม
สร้างอุปทานหมู่
ส่วนกรณีที่มีการสร้างแอ็กเคานต์ปลอมขึ้นมาเพื่อแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ IO นั้น ดร.กิตติธัช มองว่า โดยส่วนตัวแล้วถ้าเป็นการแสดงความเห็นแบบ 1 คน 1 แอ็กเคานต์ ถือว่าเป็นการแสดงออกทางการเมืองด้วยพลังบริสุทธิ์ แต่หากมีการปั๊มเป็น 10 แอ็กเคานต์ เพื่อไปแสดงความเห็นจะถือเป็นการ “สร้างจิตสำนึกเทียม” ไม่ใช่การแสดงความเห็นโดยสุจริต จึงเป็นเรื่องที่อันตราย และเป็นสิ่งที่สังคมไม่สามารถยอมรับได้
“การสร้างแอ็กเคานต์ปลอมเพื่อแสดงความเห็นทางการเมืองจะทำให้สังคมเข้าใจผิดว่านี่คือเสียงส่วนใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมมีผลในทางจิตวิทยา จากสิ่งที่ตอนแรกเราอาจจะไม่เห็นด้วย แต่เมื่อมีคนมาโพสต์แสดงความเห็นในทิศทางเดียวกันเป็นจำนวนมาก เราจะเริ่มไม่แน่ใจว่าสิ่งที่เราคิดตอนแรกถูกต้องไหม ยิ่งเลื่อนไปหลายๆ เพจ หลายๆ ช่องก็เจอแต่ความเห็นในลักษณะเดียวกัน เราอาจจะเปลี่ยนใจได้ อันนี้คือหลักจิตวิยาการตลาด แบบเดียวกับการเอาหน้าม้าไปยืนต่อแถวหน้าร้าน เพื่อให้คนคิดว่าร้านนี้อร่อยเลยขายดี เราต้องไปซื้อบ้าง” ดร.กิตติธัช ระบุ
ขณะที่ นายวุฒิพงษ์ ลิขิตชีวัน Online Content Creator และเจ้าของช่องอาตี๋รีวิว บน TikTok ให้ข้อมูลว่า เนื่องจากปัจจุบัน TikTok เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก และการจะใช้ TikTok เพื่อสร้างกระแส โน้มน้าวใจ หรือแม้แต่สร้างอุปทานหมู่ก็สามารถทำได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสังคม วัฒนธรรม หรือการเมือง เนื่องจากการสมัคร TikTok มีขั้นตอนที่ไม่ยุ่งยาก อีกทั้งแต่ละคนสามารถมี TikTok ได้หลายแอ็กเคานต์โดยโทรศัพท์มือถือ 1 เครื่องสามารถสมัครติ๊กต็อกได้ 3-8 แอ็กเคานต์ (ขึ้นอยู่กับเครื่อง) ซึ่งการสมัคร TikTok ทำได้หลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสมัครโดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ Facebook Google Account ผ่าน Gmail LINE, Twitter Apple ID หรืออีเมล ซึ่งการที่คนคนเดียวใช้หลายแอ็กเคานต์ไปแสดงความเห็นในเรื่องเดียวกันนั้นในโลกออนไลน์จะถูกเรียกว่า “IO”
ในเชิงจิตวิทยานั้น สมมติพรรค A ถูกนาย B วิจารณ์ในเชิงลบ ทางด้าน IO ของพรรค A จำนวน 10 แอ็กเคานต์ ก็จะไปแสดงความเห็นถล่มนาย B หรือถล่มคลิปของนาย B ที่มีคนนำมาโพสต์ เมื่อคนที่เข้ามาอ่านเห็นแต่คอมเมนต์ที่ไปในทิศทางเดียวกันจะเริ่มคล้อยตาม ดังนั้น คอมเมนต์ที่ 11 อาจแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกับ IO หรือหาก IO หลายร้อยแอ็กเคานต์ไปโพสต์ชื่นชมพรรค A อย่างต่อเนื่องในทุกแพลตฟอร์ม เปิดไปแพลตฟอร์มไหนก็เจอ จะทำให้เกิดอุปทานหมู่ จากเฉยๆ ก็เริ่มชื่นชม และกลายเป็นแฟนคลับ หรือ FC ในที่สุด และ FC เหล่านี้อาจไปเป็นหัวคะแนนธรรมชาติ หรือ IO ออแกนิกของพรรคต่อไป
“ยกตัวอย่าง ถ้าสมัคร TikTok ด้วยอีเมล เนื่องจากระบบไม่ได้จำกัดการเปิดอีเมล แต่ละคนจะมีอีเมลกี่อันก็ได้ ดังนั้นถ้ามีมือถือ 10 เครื่อง แต่ละเครื่องสมัคร TikTok ได้ 8 แอ็กเคานต์ คนคนเดียวจะมี TikTok ถึง 80 แอ็กเคานต์ ถ้ามีมือถือ 100 เครื่อง ก็ 800 แอ็กเคานต์ ส่วนอุปกรณ์เสริมอื่นๆ นั้นเท่าที่เคยเห็น IO ของจีนเขาจะใช้มือถือเป็นร้อยเครื่อง โดยแต่ละเครื่องจะมีอุปกรณ์ที่แปะไว้ตรงหน้าจอมือถือทำให้เกิดไฟฟ้าสถิตเพื่อกดหัวใจให้ช่อง TikTok ที่กำลังไลฟ์สด ซึ่ง IO เหล่านี้สามารถโพสต์แสดงความเห็นจากที่ไหนของโลกก็ได้ เช่น อยู่เวียดนามก็ยังเห็นช่อง TikTok ภาษาไทย หรือถ้าไม่เห็นสามารถเสิร์จหาได้ ยกเว้นกรณีที่เป็นไลฟ์สดจะมองไม่เห็น” นายวุฒิพงษ์ ระบุ
ด้าน อาจารย์ฝน แสดงความวิตกว่า ปัจจุบันมีแนวโน้มที่คนไทยจะตกเป็นเหยื่อของข้อมูลข่าวสารมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเผยแพร่ข่าวสารเพื่อหวังผลทางการเมือง ซึ่งจริงบ้างเท็จบ้าง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลเหล่านี้มีผลต่อการชี้นำสังคม ซึ่งปัจจุบันคนที่ใช้โซเชียลเป็นเครื่องมือสร้างสงคราวข่าวสารนั้นเก่งมาก สามารถสร้าง avatar หรืออวตารในโซเชียล แล้ว bombard (ระดมยิง หรือโจมตี) ข้อมูลเข้าไป โดยทีมงานของพรรคการเมืองจะมีหลายทีม ทั้งทีมยุทธศาสตร์ ทีมวางแผน ทีมคิดข้อมูล ทีมสร้างข้อมูล และทีมกระจายข้อมูล โดยทำเป็นบอท (โปรแกรมอัตโนมัติสำหรับทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งบนอินเทอร์เน็ต) ต่างๆ ซึ่งมีทั้งบอทประดิษฐ์ และบอทธรรมชาติ ซึ่งบอทธรรมชาติคือผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของข้อมูลข่าวสารแล้วตั้งตัวเป็นผู้เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารนั้นอีกที
“ข้อมูลทางการเมืองต่างๆ จะมีทีมงานสร้างขึ้นมา ส่วนการเผยแพร่นั้นสามารถใช้บอทและสคริปต์ได้ อย่างเยาวชนที่ไม่เคยดูข่าวพระราชกรณียกิจของในหลวงเลย ในทางกลับกันเขาได้แต่ข้อมูลให้ร้ายในหลวงทุกวัน ก็ไม่ต่างจากอเมริกันโหวตเตอร์ที่ได้รับข่าวในทางเลวร้ายของนางฮิลลารี ข่าวดีๆ ไม่เคยปรากฏ เพราะข้อมูลในโซเชียลที่ข่าวไม่ดีเกี่ยวกับฮิลลารี คนก็เชื่อว่าฮิลลารีเลว และทรัมป์คือเทพบุตร ไม่ต่างอะไรกันเลย ที่เด็กเกลียดราชวงศ์เข้าไส้ทุกวันนี้เพราะได้รับข้อมูลในลักษณะเดียวกัน” อาจารย์ฝน แสดงความเป็นห่วง
ทั้งนี้ ดร.กิตติธัช ยังได้ให้คำแนะนำในการเสพข่าวการเมือง ว่า ประชาชนควรจะคลิกดูคอนเทนต์หรือข่าวสารจากหลากหลายพรรคการเมือง ทั้งฝ่ายซ้าย ฝ่ายขวา ทั้งกลุ่มที่เชียร์ กลุ่มที่ต่อต้าน เพื่อที่จะนำข้อมูลมาถ่วงน้ำหนักกัน จะได้วิเคราะห์ได้ว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร อีกทั้งการคลิกดูข่าวสารในลักษณะดังกล่าวยังทำให้ "อัลกอริทึม" ส่งข้อมูลที่หลากหลายมาให้เราดู ทำให้เราไม่ถูกโน้มไปทางใดทางหนึ่งจนเกินไป