xs
xsm
sm
md
lg

เปิดปฏิบัติการเอาคืน "แอปเงินกู้เถื่อน" เหยื่อรวมหัว “บิด-บล็อก-ปั่น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เผยสารพัดกลโกง “แอปเงินกู้เถื่อน” บีบให้คืนใน 7 วัน กู้ 1 พัน ดอก 3 ร้อย ยิ่งใช้คืน หนี้ยิ่งงอก ไม่ได้กู้ แต่อยู่ๆ กลายเป็นหนี้นับสิบแอป จากกู้เงินหลักพัน กลายเป็นหนี้หลักล้าน สุดอำมหิต ดูดรายชื่อคนรู้จักในมือถือโทร.ประจานให้อับอาย บางคนหมดอนาคตต้องออกจากงาน บ้างถึงขั้นฆ่าตัวตาย! พบตัวการใหญ่คือ “กลุ่มทุนจีน” ตั้งสำนักงานในปอยเปต เหตุแอปส่วนใหญ่อยู่ใน Play Store ผู้กู้จึงไม่รู้ว่าเป็นมิจฉาชีพ ปัจจุบันมีไม่ต่ำกว่า 300 แอป ล่าสุด “เหยื่อเงินกู้” รวมหัวเอาคืน เปิดปฏิบัติการบิด-บล็อก-ปั่น หวังตัดวงจรอุบาทว์

ในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ของแพงค่าแรงถูก และผลกระทบจากวิกฤตโควิดยังไม่จางหาย หลายคนจึงชักหน้าไม่ถึงหลัง บ้างก็ธุรกิจมีปัญหา จึงต้องหายืมเงินจากแหล่งเงินกู้ต่างๆ จึงเป็นช่องทางให้แอปพลิเคชันสินเชื่อเถื่อน หรือที่เรียกกันว่า "แอปเงินกู้เถื่อน" ซึ่งมีพฤติกรรมเป็น “มิจฉาชีพ” เข้ามาทำงานหากินสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่มีปัญหาการเงิน โดยใช้สารพัดกลโกงสูบเงินจากเหยื่อ จากหนี้หลักพันกลายเป็นหลักหมื่นหลักแสน ใช้กลโกงผูกมัดให้เหยื่อไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนลูกหนี้ ชนิดที่เรียกว่า “จ่ายเท่าไหร่ก็ไม่จบ” อีกทั้งยังใช้วิธีข่มขู่คุกคามประจานให้เหยื่ออับอายจนบางคนต้องลาออกจากงาน บ้างก็ฆ่าตัวตายเพื่อจบปัญหา จนเกิดคำถามว่าเหตุใดโศกนาฏกรรมอันเลวร้ายเช่นนี้จึงเกิดขึ้นกับสังคมไทย และจะหยุดมิจฉาชีพเหล่านี้ได้อย่างไร?

กระทั่งล่าสุด ได้มีผู้ที่เคยตกเป็นเหยื่อลุกขึ้นมาช่วยเหลือโดยแนะนำแนวทางในการรับมือกับแอปเงินกู้เถื่อน และแนะวิธีที่จะหลุดพ้นจากวงจรลูกหนี้ของมิจฉาชีพเหล่านี้

“ยุทธ” ธีรยุทธ ชาติเจริญ เจ้าของเพจ “แอพเงินกู้เถื่อน เตือนภัย มิจฉาชีพ” ช่องยูทูบ Life style by yut (ยุทธ)
ล้วงข้อมูลไว้แบล็กเมล์

“ยุทธ” ธีรยุทธ ชาติเจริญ เจ้าของเพจ “แอพเงินกู้เถื่อน เตือนภัย มิจฉาชีพ” ช่องยูทูบ Life style by yut (ยุทธ) และ Tiktok : @yutartist ซึ่งให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแอปเงินกู้เถื่อน ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันมีแอปเงินกู้เถื่อนที่มีจุดขายว่ากู้ง่าย-ได้เงินไว ซึ่งหากินกับคนไทยอยู่ไม่ต่ำกว่า 300 แอป ที่สำคัญแอปเหล่านี้ยังอยู่ใน Play Store ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเป็นแอปเงินกู้เถื่อน และเป็นมิจฉาชีพ โดยขั้นตอนการกู้เงินจากแอปเถื่อนเหล่านี้นั้นง่ายมาก แค่กดดาวน์โหลดแอปแล้วลงทะเบียนด้วยหมายเลขโทรศัพท์มือถือ กดยินยอมให้ระบบสามารถเข้าถึงข้อมูลที่อยู่ในมือถือของผู้กู้ได้ ระบุวงเงินและระยะเวลาการกู้ พร้อมทั้งกรอกข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-ที่อยู่ เบอร์มือถือ ที่อยู่-เบอร์โทร.ที่ทำงาน หน้าบัญชีธนาคารของผู้กู้ และถ่ายรูปบัตรประชาชนแนบกับใบหน้าของผู้กู้แล้วส่งเข้าระบบ กดยืนยันการสมัคร หลังจากนั้นเงินจะถูกโอนเข้าบัญชีธนาคารตามที่แจ้งไว้

เบื้องหน้าดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่จริงๆ แล้วมิจฉาชีพได้แอบดูดข้อมูลสำคัญที่อยู่ในโทรศัพท์มือถือของเหยื่อ โดยเฉพาะเบอร์โทร.ที่เจ้าของเครื่องบันทึกไว้ในมือถือ ซึ่งแก๊งเงินกู้จะโทร.ไปเบอร์เหล่านี้เพื่อข่มขู่คุกคามและประจานให้เหยื่ออับอายเพื่อกดดันให้เหยื่อจ่ายเงินตามที่พวกมันต้องการ ขณะที่การกดยินยอมทำให้แก๊งเงินกู้สามารถเข้าถึงสื่อโซเชียล อย่าง Line facebook ของผู้กู้ได้ ซึ่งแม้จะไม่สามารถเข้าใช้ facebook และ Line ในฐานะเจ้าของ แต่สามารถเข้ามาแสดงความเห็นคุกคามประจานใน facebook ของเหยื่อ ดึงเอารูปของเหยื่อไปตัดต่อในลักษณะอนาจารเพื่อสร้างความอับอาย และส่งรูปใบหน้าและบัตรประชาชนที่เหยื่อใช้เป็นหลักฐานในการกู้เงินไปในไลน์ของเพื่อนๆ เพื่อประจานเหยื่อ

“แก๊งเงินกู้สามารถเข้าถึงเบอร์มือถือทุกเบอร์ที่เราเมมไว้ ซึ่งเบอร์เหล่านี้จะแอดไลน์โดยอัตโนมัติ มิจฉาชีพจึงมีไลน์ของเพื่อนๆ เหยื่อด้วย มันจะส่งหลักฐานการกู้เงินของเหยื่อไปในไลน์คนรู้จักเพื่อประจานให้เหยื่ออับอาย แล้วก็โทร.ไปเบอร์ญาติ หรือหัวหน้างานโดยอ้างว่าเหยื่อเอาชื่อคนเหล่านี้ไปค้ำประกัน เพื่อให้ญาติมากดดันให้เหยื่อใช้หนี้ บ้างก็โทร.ไปป่วนที่ทำงานจนหัวหน้าเรียกไปคุย บางรายต้องลาออกจากงานเพราะทนอับอายไม่ไหว น่าสงสารมาก บ้างก็ขู่จะดำเนินคดีเหยื่อ จะบุกไปถึงบ้านหรือที่ทำงาน ทั้งที่จริงๆ มันทำไม่ได้เพราะพวกนี้เป็นมิจฉาชีพที่ปล่อยกู้ผิดกฎหมาย” ธีรยุทธ กล่าว

สินเชื่อฉับไว เป็นแอปเงินกู้เถื่อนที่คนไทยใช้บริการมากที่สุดในขณะนี้
สารพัดกลโกงแอปเงินกู้

ที่สำคัญแอปเงินกู้เถื่อนเหล่านี้จะใช้สารพัดกลโกงเพื่อให้เหยื่อเป็นหนี้ในวงเงินที่สูงที่สุด และไม่สามารถหลุดพ้นจากวงจรการเป็นหนี้ได้ โดย “ยุทธ” อธิบายถึงกลโกงของแก๊งเงินกู้เถื่อน ว่า ในการกู้ครั้งแรกแอปจะให้กู้แค่ 1,000-3,000 บาทเท่านั้น และบีบให้กู้เพิ่มขึ้น ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น

1.โกหกทั้งเรื่องระยะเวลาชำระคืนและอัตราดอกเบี้ย โดยโฆษณาว่าระยะเวลาชำระคืนอยู่ที่ 91-180 วัน โดยคิดดอกเบี้ยแค่ 20 กว่าบาท ต่อยอดเงินกู้ 1,000 บาท (ระยะเวลากู้ 91 วัน) แต่พอกู้จริง หลังจากกู้ไปได้เพียง 5-7 วัน มิจฉาชีพจะเริ่มโทร.ทวงเงิน โดยอ้างว่าระยะเวลา 91-120 วันที่แจ้งตอนแรกเป็นแค่กลยุทธ์การตลาด และคิดอัตราดอกเบี้ยสูงถึงสัปดาห์ละ 300 บาทต่อยอดเงินกู้ 1,000 บาท ทั้งนี้ เพื่อให้เหยื่อหาเงินมาใช้หนี้ไม่ทัน

2.เมื่อเหยื่อหาเงินใช้หนี้ไม่ทันก็ต้องจ่ายเงิน "ค่าขยายระยะเวลากู้" ซึ่งแม้จะจ่ายเงินค่าขยายเวลาแล้วก็ยังต้องจ่ายทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ค้างจ่าย

3.ให้เงินกู้ไม่ครบตามสัญญา เช่น กู้ 3,000 บาท ได้รับเงินแค่ 1,200 บาท แต่ต้องชำระคืน 3,000 บวกดอกเบี้ยที่คิดจากยอดเงินกู้ 3,000 บาท

4.การชำระงวดสุดท้ายมักมีปัญหา เช่น ระบบไม่รับโอนเงิน หรือโอนไปแล้วโอนกลับคืนมายังบัญชีลูกหนี้อีกเพื่อให้เป็นหนี้ต่อไป จากนั้นจะมีการโทร.ทวงเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยอีก เมื่อไม่มีเงินใช้หนี้ก็ต้องไปหยิบยืมเพื่อน หรือญาติมาใช้หนี้แอป บ้างก็ไปกู้เงินจากแอปเงินกู้เถื่อนอื่นๆ มาใช้หนี้แอปแรก

เพจ “แอพเงินกู้เถื่อน เตือนภัย มิจฉาชีพ” ซึ่งให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแอปเงินกู้เถื่อน
5.นอกจากแอปที่มีการทำสัญญากู้แล้ว อยู่ๆ ก็จะมีแอปเงินกู้อื่นที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกันโอนเงินเข้ามาให้โดยผู้กู้ไม่รู้เรื่อง แม้จะปฏิเสธและโอนเงินคืนไปแล้วทางแอปก็จะโอนกลับเข้ามาอีก ทำให้ผู้กู้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มจนไม่สามารถใช้คืนได้

6.นอกจากนั้นยังมีบางแอปที่หลอกให้ผู้กู้โอนค่าดำเนินการไปก่อนจึงจะได้รับเงินตามวงเงินที่ขอกู้ แต่พอโอนไปแล้วกลับแจ้งว่าใส่เลขบัญชีผิด ให้โอนไปใหม่ สุดท้ายก็เสียเงินฟรี

“ที่โหดร้ายที่สุดคือคนที่กู้จะไม่สามารถหลุดจากวงจรหนี้ได้ แล้วแอปพวกนี้คิดดอกเบี้ยสูงมาก กู้ 1,000 บาท ต้องจ่ายคืนพร้อมดอกเบี้ย รวม 1,300 บาท ภายในเวลาแค่ 7 วัน แต่พอจ่ายคืนไปไม่ถึง 5 นาที มันก็โอนเข้ามาอีก 1,500 บาท แล้วส่วนใหญ่ไม่ได้โอนเข้ามาแค่แอปเดียว มีอีก 1-2 แอปโอนเข้ามาแอปละ 1,500 บาท แล้วจากแอปละ 1,500 ต้องจ่ายคืน 2,035 บาท คืออยู่ๆ มีหนี้งอกขึ้นมา 6,000 กว่าบาท และต้องจ่ายคืนภายใน 7 วัน หรือบางทีกู้ 10,000 บาท ได้เงินแค่ 6,000 บาท แต่ต้องจ่ายรายวันวันละ 2,000 บาทให้ครบ 10,000 บาท บางแอปก็หลอกซ้ำหลอกซ้อน คือถ้าโอนจ่ายหนี้จะต้องสแกนจ่ายตามยอดเงินต้นบวกดอกเบี้ยเท่านั้น จะมีพนักงานแจ้งมาทางไลน์ว่าสามารถโอนเงินเข้าอีกบัญชีหนึ่งก็ได้ไม่คิดดอกเบี้ย แต่พอโอนไปแล้วระบบกลับแจ้งว่าไม่ได้รับเงิน ยังเป็นหนี้อยู่ จากที่ตอนแรกกู้แค่แอปเดียว ไม่มีเงินจ่ายก็ต้องไปกู้แอปที่ 2 แอปที่ 3 มาจ่ายแอปแรก สุดท้ายกลายเป็นหนี้ 20-30 แอป จากกู้เงินแค่หลักพันกลายเป็นหนี้หลักหมื่นหลักแสน รายที่มาปรึกษาผมบางคนโดนไปเป็นล้าน หลายคนถึงขั้นคิดจะฆ่าตัวตาย” ยุทธ ระบุ


“ทุนจีน” ตั้งสำนักงานในปอยเปต

ยุทธ กล่าวต่อว่า แอปเงินกู้เหล่านี้มีพฤติกรรมเป็นมิจฉาชีพอย่างชัดเจน โดยจะไม่มีการแจ้งที่อยู่ของบริษัท โดยพนักงานมักอ้างว่าบริษัทอยู่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ แต่ไม่สามารถบอกเลขที่ตั้งของอาคารได้ พนักงานทวงหนี้ส่วนใหญ่จะเป็นต่างด้าวที่สามารถพูดภาษาไทยได้แต่พูดไม่ชัด และอาจมีคนไทยบ้างประปราย ผู้กู้ไม่สามารถโทร.ติดต่อเจ้าหน้าที่ของแอปที่ให้กู้ได้ ต้องรอทางแอปติดต่อมาเท่านั้น พนักงานจะไม่กล้าโทร.คอลกับลูกค้า หากมีการโทร.คอลจะไม่ให้เห็นหน้าพนักงาน วิธีการทวงหนี้ของแอปเหล่านี้จะด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ซึ่งต่างจากการทวงถามหนี้ของสถาบันการเงินทั่วไป

จากข้อมูลคาดว่าแอปเงินกู้เถื่อนที่หากินกับการปล่อยกู้ให้คนไทยในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 300 แอป โดยมีทั้งแอปที่อยู่ใน Play Store และไม่ได้อยู่ใน Play Store มีทั้งแอปหลักที่เป็นบริษัทแม่ แอปย่อยที่เป็นบริษัทลูก และแอปที่เป็นเครือข่าย เช่น แอปหลักได้แก่ แอปกระเป๋า ซุปเปอร์วอลเล็ท แฮปปี้ตังค์ สินเชื่อที่มีน้ำใจ ส่วนแอปย่อยชื่อมักจะลงท้ายด้วยโลน หรือแคช ส่วนแอปเครือข่ายก็มีไม่น้อย เช่น สินเชื่อมงคล ซึ่งเป็นเครือข่ายเดียวกับแอปฉับไว จะสังเกตได้ว่าเมื่อกู้จากแอปใดแอปหนึ่ง หลังจากนั้นจะมีแอปอื่นๆ ที่เป็นเครือข่ายหรือแอปย่อยโอนเงินเข้ามาให้โดยที่เหยื่อซึ่งเป็นผู้กู้ไม่รู้เรื่อง เพื่อให้เหยื่อเป็นหนี้มากที่สุดและไม่สามารถออกจากวงจรอุบาทว์นี้ได้ ที่สามารถทำเช่นนั้นได้เพราะแอปย่อยได้ข้อมูลของเหยื่อจากแอปหลักนั่นเอง

“แอปหลักแต่ละแอปจะมีแอปย่อยอยู่ 40-50 แอป พอกู้แอปหลักปุ๊บ สัปดาห์ต่อมาจะมีแอปย่อยโอนเงินเข้ามาอีกไม่ต่ำกว่า 10 แอป โดยแอปที่ได้รับความนิยมที่สุดในตอนนี้คือ แอปฉับไว ซึ่งคนกู้มากที่สุดมาเป็นอันดับหนึ่ง เท่าที่รู้แอปเงินกู้พวกนี้มีนายทุนเป็นคนจีน และตั้งสำนักงานอยู่ในแถบประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะปอยเปต ประเทศกัมพูชา พนักงานที่ทวงหนี้มีลักษณะเหมือนแก๊งคอลเซ็นเตอร์คืออยู่รวมกันในห้องเล็กๆ วันๆ มีหน้าที่โทร.ข่มขู่ให้เหยื่อใช้หนี้ พวกนี้ส่วนใหญ่จะพูดไทยไม่ชัด และถูกตั้งโปรแกรมมาให้ด่าอย่างเดียว เบอร์ติดต่อก็เป็นเบอร์อินเทอร์เน็ตที่ทางมิจฉาชีพใช้โทร.ออกอย่างเดียว แต่ลูกหนี้โทร.กลับไม่ได้” ยุทธ กล่าว

แอปพลิเคชันเงินกู้ที่ถูกกฎหมายในปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 9 แอป
แนะวิธีแก้เกมแอปเงินกู้

อย่างไรก็ดี ช่วงเวลากว่า 1 ปีที่ผ่านมา “ยุทธ” ได้ใช้สื่อออนไลน์ทั้งเพจ “แอพเงินกู้เถื่อน เตือนภัย มิจฉาชีพ” ช่องยูทูบ Life style by yut (ยุทธ) และ Tiktok : @yutartist ในการให้คำแนะนำแก่ลูกหนี้ถึงวิธีรับมือกับแอปเงินกู้เถื่อน และช่องทางที่จะหลุดพ้นจาก “วงจรหนี้” ของแอปเหล่านี้ โดยเขาแนะนำว่าหากหลงกู้กับแอปเถื่อนไปแล้วต้องดำเนินการ ดังนี้

1) "บิด" หรือหยุดจ่ายเงินให้แอปเงินกู้เถื่อนทุกแอปทันที เพราะถึงจะจ่ายก็ไม่จบ เนื่องจากแอปเหล่านี้จะใช้กลอุบายทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ลูกหนี้ "หลุด" ออกจากการเป็นหนี้

2) เตรียมรับมือกับการข่มขู่คุกคามของแอปเหล่านี้ โดยพูดคุยกับเพื่อน หัวหน้างาน และญาติพี่น้องให้เข้าใจว่ากำลังถูกมิจฉาชีพคุกคาม และหากแอปเหล่านี้โทร.ไปก่อกวนก็ไม่ต้องสนใจ

3) นำหลักฐานที่ถูกแอปเงินกู้เถื่อนหลอกลวงไปแจ้งความ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจลงบันทึกประจำวัน และนำเอกสารการลงบันทึกประจำวันไปโพสต์ใน facebook ส่วนตัว และไลน์กรุ๊ปเพื่อบอกกล่าวให้คนรอบข้างรับรู้ รวมถึงอาจนำเอกสารดังกล่าวไปแสดงกับหัวหน้างานเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ใจว่าเราตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดแรงกดดันจากคนรอบข้างได้อย่างมาก และมีไม่น้อยที่คนรอบข้างเห็นใจและหันมาช่วยเหยื่อรับมือกับมิจฉาชีพ

4) ตั้ง facebook และ Line เป็นส่วนตัว เพื่อไม่ให้แอปเหล่านี้เข้าถึงได้

5) เข้าไปที่แอปเงินกู้เถื่อนที่เราเป็นลูกหนี้ และคลิกปฏิเสธการเข้าถึงข้อมูลของเราทั้งหมด เพื่อให้แอปเหล่านี้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลของเราและคนใกล้ชิดได้อีกต่อไป

6) จากนั้นลบแอปเงินกู้เถื่อนทั้งหมดของจากมือถือ

7) เปลี่ยนเบอร์มือถือ หรือโหลดแอป Whoscall ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่แจ้งเตือนว่าสายที่โทร.มาเป็นสายที่ไม่รู้จัก ช่วยป้องกันสแปม และยังช่วยสแกนลิงก์ในข้อความ SMS ที่อาจมีอันตรายได้อีกด้วย โดยสามารถดาวน์โหลดแอป Whoscall ฟรี จาก App Store และ Play Store

เพจ หนุมานชักธงรบ ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อแอปเงินกู้เถื่อน
ช่วยลูกหนี้ได้กว่า 3 หมื่นราย

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันมีลูกหนี้ซึ่งเดือดร้อนจากการตกเป็นเหยื่อของแอปเงินกู้เถื่อนจำนวนไม่น้อยที่เริ่มตื่นตัวและหาวิธีแก้เกมแอปเงินกู้เถื่อนเพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากวงจรลูกหนี้ของแอปเงินกู้เหล่านี้ โดยมีการรวมกลุ่มกันทั้งในรูปแบบไลน์กลุ่ม และเพจ facebook เช่น เพจหนุมานชักธงรบ (แอปเงินกู้ผิดกฎหมาย) เพื่อช่วยเหลือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของแอปเงินกู้เถื่อน

ขณะที่ยุทธ ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มและผลักดันปฏิบัติการ “หยุดจ่าย” ยังคงให้คำแนะนำแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อผ่านเพจ “แอพเงินกู้เถื่อน เตือนภัย มิจฉาชีพ” ช่องยูทูบ Life style by yut (ยุทธ) และ Tiktok : @yutartist อย่างต่อเนื่อง โดยช่วงเวลา 1 ปี 3 เดือนที่ยุทธทำสื่อออนไลน์เพื่อให้ความรู้ดังกล่าว ปรากฏว่ามีคนเข้ามาขอคำปรึกษาจากเขาเป็นจำนวนมาก

อีกทั้งยังมีแนวร่วมที่เข้ามาช่วยให้คำแนะนำแก่เหยื่อแอปเงินกู้อีกด้วย โดยวิธีที่พวกเขาใช้จัดการกับมิจฉาชีพคือ ปฏิบัติการ “บิด บล็อก ปั่น” ซึ่ง “บิด” ก็คือการหยุดจ่ายเงินให้แอปเงินกู้ “บล็อก” คือการที่เหยื่อซึ่งเป็นลูกหนี้ตัดช่องทางการติดต่อของแอปเงินกู้ทั้งหมด และ “ปั่น” คือการที่ยุทธ และแนวร่วมช่วยกันรับสายแอปเงินกู้แทนเหยื่อ โดยจะให้เหยื่อโอนสายของเจ้าหน้าที่แอปเงินกู้ที่โทร.มาให้ยุทธ และทีมแนวร่วมคุยแทน ซึ่งพวกเขาจะใช้วิธีปั่นประสาทให้คนของแอปเงินกู้ปวดหัวจะได้เลิกตอแย บางครั้งพวกเขาก็อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้แก๊งเงินกู้หวาดกลัว และบางครั้งใช้วิธีประชุมสาย คือตั้งระบบให้เจ้าหน้าที่จากแอปเงินกู้ต่างๆ 2-3 สายคุยกันเอง ซึ่งวิธีการเหล่านี้สามารถช่วยให้ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยหลุดพ้นจากวงจรของแอปเงินกู้เถื่อนและได้มีชีวิตใหม่ที่ไม่ต้องเคร่งเครียดหวาดกลัวอีกต่อไป

“ดีใจที่ตลอด 1 ปี 3 เดือนที่ผ่านมา ผมสามารถช่วยลูกหนี้ที่ตกเป็นเหยื่อได้ไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นราย สิ่งแรกที่แนะนำให้ทุกคนทำคือหยุดจ่าย แล้วทำความเข้าใจกับคนรอบข้าง ถ้าแอปพวกนี้ยังโทร.มาก็ไม่ต้องไปสนใจ ไม่ต้องกลัว มันทำอะไรเราไม่ได้เพราะเป็นมิจฉาชีพ เป็นแอปเงินกู้เถื่อน มันไม่สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีอะไรเราได้ มันอาจจะขู่ว่าจะบุกมาถึงบ้าน แต่มันเข้าไทยไม่ได้หรอก มันเป็นต่างด้าว หรือถ้ามันขู่ว่าจะเอาบัตรประชาชนไปทำเรื่องไม่ดี เราก็ไปแจ้งบัตรหาย แล้วทำบัตรใหม่ เก็บใบแจ้งความไว้ แค่นี้มันก็ทำอะไรไม่ได้แล้ว ถ้าเราหยุดจ่ายมันจะโทร.ตามอย่างมากไม่เกิน 1 เดือน เพราะคนพวกนี้ไม่ใช่เจ้าของเงิน หน้าที่หลักของมันคือหารายได้จากลูกค้าเพื่อกินเปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่ง ถ้าตามไม่ได้จริงๆ มันก็ไม่เสียเวลาโทร. หยุดจ่ายแรกๆ อาจจะเจอแรงกดดันหน่อย ก็ต้องอดทน ดีกว่าต้องจ่ายให้แอปพวกนี้แบบไม่มีวันจบ สิ้นเนื้อประดาตัว พังทั้งชีวิต” ยุทธ กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น