xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด กสทช. ประเคนประมูล ดาวเทียม IP Star สมบัติของชาติให้เอกชนต้องเข้าคุกหรือไม่?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และ ผศ.ดร.จตุรงค์ สุคนธชาติ



ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
อาจารย์ประจำสาขาวิชา Citizen data science
และ Actuarial Science and Risk Management
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

และ
ผศ.ดร.จตุรงค์ สุคนธชาติ
ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


ไทยได้ส่ง ดาวเทียมท.ดวงที่ 4 (IP STAR) ขึ้นสู่วงโคจรในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2548 เป็นดาวเทียมรุ่น LS-1300 SX เป็นดาวเทียมดวงแรกที่ออกแบบมาเพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ที่ความเร็ว 45 Gbps เป็นดาวเทียมสื่อสารเชิงพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ และมีน้ำหนักมากถึง 6,805 กิโลกรัม และทันสมัยที่สุดโคจรบริเวณพิกัดที่ตำแหน่ง 119.5 องศาตะวันออก

ดาวเทียม IP Star 4 เป็นดาวเทียมที่มีประวัติมีปัญหาในทางกฎหมายและอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐมาหลายประการ โดยมีข้อสังเกตดังนี้

ประการแรก ดาวเทียมไอพีสตาร์ยื่นขอส่งเสริมการลงทุนกับ BOI ในโครงการ มูลค่า 16,000 ล้านบาท ระบุว่าได้สร้างอุปกรณ์ไว้โดยเฉพาะเพื่อเชื่อมต่อกับภาคพื้นดิน สำหรับใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศต่าง ๆ 18 แห่ง มากกว่า 14 ประเทศ โดยมีแผนการตลาดมีลูกค้าต่างชาติสูงถึง 94% และใช้ในประเทศเพียง 6% ในขณะที่สัญญาสัมปทานเป็นสัญญากิจการดาวเทียมสื่อสารในประเทศเป็นหลัก การทำเช่นนี้ถือว่าผิดสัญญาสัมปทานหรือไม่


ประการสอง เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานดาวเทียม 30 ปีระหว่างรัฐกับเอกชนเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564ตามสัญญาสัมปทานดาวเทียมข้อ 15 ที่ต้องส่งมอบคืนดาวเทียมไอพีสตาร์ทั้งหมดเมื่อหมดอายุสัมปทาน ซึ่งในปัจจุบันนี้ได้หมดลงแล้ว ต้องส่งมอบแม้กระทั่งบัญชีและสัญญาของลูกค้า แต่การส่งคืนยังไม่ครบถ้วน ยังไม่ได้ส่งคืน Gateway, uplink และ downlink โดยกล่าวว่าเป็นของบริษัท ท. ที่ลาดหลุมแก้วไม่ต้องส่งคืน และยังไม่ได้มีการฝึกอบรมให้เจ้าหน้าที่ของกระทรวงดีอีเอส หรือบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ในลักษณะของ on-the-job training ในห้องควบคุมจริงๆ เพื่อให้ขับและบังคับดาวเทียมได้จริง รัฐจึงได้สูญเสียผลประโยชน์ที่ควรได้รับตามสัญญาสัมปทาน หรือไม่

ประการสาม มีคำพิพากษาศาลฎีกาลงคดีหมายเลขแดงที่ อม. 1/2553 ได้พิพากษามาแล้วว่าดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมนอกสัญญาสัมปทาน และต้องนับว่าเป็นดาวเทียมหลักไม่อาจจะนับเป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมท. 3 ได้เลย เนื่องจากดาวเทียมท.3 ซึ่งเป็นดาวเทียมหลัก มีช่องสัญญาณความถี่ ซี-แบน (C-band) จำนวน 25 Transponder และเคยู-แบน (Ku-band) 14 Transponder แต่ดาวเทียมไอพีสตาร์นั้น คุณสมบัติทางเทคนิคพัฒนาขึ้นเป็นการเฉพาะครั้งแรกของโลกซึ่งมีการจดสิทธิบัตรไว้ โดยใช้ความถี่ เคยู-แบน รับและส่งข้อมูลให้ลูกค้าในลักษณะสปอตบีม 84 บีม เซพบีม 3 บีม และบรอตคาสต์บีม จำนวน 7 บีม และใช้ความถี่ เคเอ-แบน (Ka-band) ในการสื่อใช้ความถี่เคเอแบนด์ในการสื่อสาร รับส่งข้อมูลจากสถานีภาคพื้นดินกับดาวเทียมบนอวกาศในการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต ทั้งนี้ไม่ได้ใช้งานความถี่ ซี-แบน แต่อย่างใด จึงทำให้ดาวเทียมไอพีสตาร์เป็นดาวเทียมสำรองของดาวเทียมท.3 ตามเงื่อนไขของสัญญาสัมปทาน

ประการที่สี่ ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังได้วินิจฉัยว่ามีการลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทช ที่ต้องถือในบริษัทท. จากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 นั้น โดยไม่มีการนำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ อันผิดเงื่อนไขในข้อ 4 ของสัญญาสัมปทาน การอนุมัติให้แก้ไขสัญญาสัมปทานจึงเป็นการอนุมัติโดยมิชอบและเป็นการเอื้อประโยชน์ให้เอกชน หรือไม่

ประการที่ห้า ศาลฏีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังได้พิพากษาว่าการอนุมัติให้รัฐบาลสหภาพพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัทท. หรือการเช่าสัญญาณดาวเทียมไอพีสตาร์ โดยเฉพาะนั้นเป็นการปล่อยกู้โดยมีผลประโยชน์ทับซ้อน ผู้ถูกกล่าวหา นายกรัฐมนตรี ท. ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญาและเป็นเจ้าพนักงานซึ่งมีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการของธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยได้กระทำการในการบริหารราชการแผ่นดิน ดำเนินนโยบายต่างประเทศเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทท. ที่ผู้ถูกกล่าวหาและครอบครัวช. กับพวกมีผลประโยชน์ให้ได้รับงานจ้างในการพัฒนาระบบโทรคมนาคมจากรัฐบาลสหภาพพม่าโดยใช้เงินกู้สินเชื่อดังกล่าว เป็นเหตุให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้รับความเสียหาย

เมื่อเร็วๆ นี้ กสทช. ได้ทำการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2566 ที่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในลักษณะจัดชุด (Package) ลงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 มิได้เป็นการรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ตามเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60

กสทช. ได้จัดให้มีการประมูลชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 3 ซึ่งประกอบด้วยข่ายงานดาวเทียมจำนวน 4 ชุด ที่ตำแหน่งวงโคจร 119.5 และ 120 องศาตะวันออก ด้วยราคาขั้นต่ำ 397,532,000 บาท

ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเพิ่งได้รับกรรมสิทธิ์ของดาวเทียมท. 4 หรือ IPSTAR พร้อมด้วยบัญชีลูกค้ามาเป็นสมบัติของชาติ และดาวเทียมดวงนี้ยังคงปฏิบัติงานอยู่ในปัจจุบัน หากรัฐโดยบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติสามารถดำเนินการส่งดาวเทียมขึ้นไปทดแทนดาวเทียม IPSTAR ได้ทันเวลา รัฐโดยบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติจะมีโอกาสทำธุรกิจอย่างต่อเนื่องกับลูกค้าที่ใช้บริการอินเทอร์เนตบอร์ดแบนด์ผ่านดาวเทียม ดวงนี้ใน 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย, กัมพูชา, อินเดีย, อินโดนีเซีย, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, มาเลเซีย, นิวซีแลนด์, ฟิลิปปินส์, ไต้หวัน, เวียดนาม และประเทศไทย ซึ่งเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศ (รัฐหรือบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ) อย่างต่อเนื่อง การที่ กสทช. จัดการประมูลชุดข่ายงานดาวเทียมที่ 3 นี้ หากเอกชนประมูลได้จะทำให้รัฐสูญเสียโอกาสที่จะส่งดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นไปทดแทน ดาวเทียม IP Star จึงเป็นการสูญเสียลูกค้าและรายได้ที่ได้รับทั้งหมด นอกจากนั้นการเปิดประมูลในครั้งนี้เป็นเสมือนการส่งมอบลูกค้าที่เป็นของรัฐให้กับเอกชนเป็นการเอื้อประโยชน์ประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชน หรือไม่

ดังนั้นการกระทำของบอร์ด กสทช. ในครั้งนี้จึงน่าจะเข้าข่ายการจงใจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง และเป็นการเปิดประมูลเพื่อประเคนสมบัติของชาติที่เพิ่งได้รับมอบมากลับไปให้เอกชนโดยมิชอบเช่นกัน น่าจะเป็นการกระทำผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ซึ่งน่าจะมีผู้ที่ได้รับความเสียหายไปฟ้องต่อศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง หรือร้องเรียน ต่อ ปปช. ได้เช่นกัน

สิ่งที่น่าสงสัยคือทำไมคณะกรรมการหรือผู้บริหารบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จึงไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของหน่วยงานของตนเองและสมบัติของชาติ กลับยอมให้กสทช. จัดประมูลเพื่อประเคนสิทธิวงโคจรดาวเทียมและรวมถึงดาวเทียมไอพีสตาร์ซึ่งเพิ่งได้รับคืนมาเป็นสมบัติของชาติไปเช่นนี้ โดยไม่ได้มีการคัดค้านอย่างแข็งขันทั้งที่ควรจะกระทำ

หรือสหภาพแรงงานของ NT ในฐานะของผู้เสียหายควรเป็นผู้ร้องต่อศาลสถิตยุติธรรมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและขององค์กรอีกด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น