เปิดหมดเปลือก พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ ที่จะใช้หลังยุบ ศบค.เปิดช่อง ตั้งคณะกรรมการโรคติดต่อชุดพิเศษ ที่มีนายกฯเป็นประธาน ให้อำนาจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข มีสิทธิตั้งเลขาฯ ซ้อนเลขาฯ และแต่งตั้งกรรมการผู้เชี่ยวชาญ โดยยังมีฝ่ายความมั่นคงเข้าร่วม สามารถสั่งปิดห้างร้านต่างๆ อีกทั้ง จนท. จะไม่ถูกฟ้องร้อง-รัฐไม่ต้องชดเชยความเสียหาย “กรมควบคุมโรค” ระบุ เป็นการทำงานแบบ multi-sector ขณะที่บางฝ่ายเชื่อแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ ด้าน “หมอสุภัทร” ชี้ฝ่ายความมั่นคงไม่ควรเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาสาธารณสุข
จากกรณีที่รัฐบาลตัดสินใจไม่ต่ออายุ “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน” ที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย.นี้ และกลับไปใช้กลไกเดิมของกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 นั่นก็คือ “พ.ร.บ.โรคติดต่อ” ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม หรือที่เรียกกันว่าฉบับใหม่ อันจะส่งผลให้ “ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19” หรือ ศบค. ถูกยุบไปด้วยนั้น ทำให้หลายฝ่ายจับตาว่า หลังจากนี้การแก้ไขปัญหาจะมีทิศทางอย่างไร? การดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ เป็นการคืนอำนาจให้กระทรวงสาธารณสุขจริงหรือไม่? และเพราะเหตุใจจึงต้องยุบ ศบค.?
นพ.ทวีทรัพย์ ศิรประภาศิริ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยถึงหลักการและรายละเอียดที่สำคัญของ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ ว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะเป็นการยกระดับการทำงานของ พ.ร.บ.โรคติดต่อให้มีความใกล้เคียงกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยในสถานการณ์ปกติซึ่งมีการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ อยู่บ้างแต่ไม่รุนแรงหรืออันตรายเข้าขั้นวิกฤต โครงสร้างของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติจะมี รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน และมีอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นเลขาธิการคณะกรรมการ
แต่หากเป็นภาวะที่เกิดโรคระบาดร้ายแรงอันตราย จะมีการแต่งตั้ง “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน” โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานขึ้นมากำกับดูแลการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สามารถสั่งการกระทรวงต่างๆ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหา อีกทั้งนายกฯ สามารถแต่งตั้งเลขาธิการร่วมขึ้นมาทำงานควบคู่กับอธิบดีกรมควบคุมโรคซึ่งทำหน้าที่เป็นเลขาธิการคณะกรรมการโรคติดต่ออยู่แล้ว ส่วนคณะกรรมการในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น นอกจากจะมีคณะกรรมการชุดเดียวกับภาวะปกติแล้ว ยังมีผู้เชี่ยวชาญที่นายกฯ แต่งตั้งเพิ่มเข้ามา เช่น ตัวแทนจากกระทรวงต่างๆ และฝ่ายความมั่นคง ส่วนจะมาจากหน่วยงานใดบ้างขึ้นกับคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉินจะพิจารณา
นพ.ทวีทรัพย์ กล่าวต่อว่า เมื่อยกระดับคณะกรรมการฯ เป็นคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน อำนาจหน้าที่จะเพิ่มมากขึ้น จากเดิมที่มีอำนาจหน้าที่เฉพาะด้านสาธารณสุข จะมีอำนาจหน้าที่ด้านสังคมซึ่งจะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย ส่วนอำนาจตรงนี้จะมีอะไรบ้างขึ้นอยู่กับประกาศที่จะตามมา โดยคณะกรรมการดังกล่าวจะมีอำนาจในการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เช่น การสั่งเปิดปิดกิจการขนาดใหญ่เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค
“จะเป็นการยกระดับ พ.ร.บ.โรคติดต่อเดิมให้มีศักยภาพ สามารถรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยไม่ต้องออกเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) หากอยู่ในภาวะวิกฤตโรคระบาดร้ายแรงอันตราย พ.ร.บ.โรคติดต่อ จะสามารถยกระดับอำนาจหน้าที่ และยกระดับคณะกรรมการ โดยตามขั้นตอนจะต้องมีการประกาศว่าโรคติดต่อดังกล่าวเป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง และยกระดับคณะกรรมการ โดยให้นายกฯ เป็นประธาน พร้อมทั้งให้อำนาจนายกฯ ในการแต่งตั้งเลขาธิการร่วม และผู้ช่วยเลขา รวมถึงตั้งคณะกรรมการเพิ่มเติมเข้ามาได้ ทุกฝ่ายจะร่วมกันทำงานแบบ multi-sector คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉินจะมาทำหน้าที่แทน ศบค. โดยผ่องถ่ายงานของ ศบค. มาทั้งหมด” นพ.ทวีทรัพย์ ระบุ
อย่างไรก็ดี ประเด็นที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือ หากพิจารณาจากเนื้อหาของร่าง “พ.ร.บ.โรคติดต่อ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม” ที่มีการนำเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 17 ส.ค.2564 ที่ผ่านมา จะพบว่านอกจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้จะให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเข้ามาเป็นคีย์แมนในการแก้ปัญหาโรคระบาด ซึ่งไม่ต่างจากการที่นายกฯ นั่งเป็นผู้อำนวยการ ศบค. แล้ว พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังมีเนื้อหาที่ว่าด้วยการปกป้องเจ้าหน้าที่ของรัฐจากการถูกฟ้องร้องทางปกครองและไม่ต้องชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้มาตรการควบคุมโรคในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ซึ่งทำให้เกิดความเคลือบแคลงใจว่านี่คือการ “สอดไส้” พ.ร.ก.นิรโทษกรรมวัคซีนหรือไม่?
โดย พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ มีประเด็นสำคัญ ดังนี้
- องค์ประกอบของ “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน” ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน รองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นรองประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรรมการในภาวะปกติเดิมเป็นกรรมการ และสามารถเพิ่มกรรมการผู้เชี่ยวชาญที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งได้อีก 4 คน
- คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในภาวะปกติ ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นรองประธาน และกรรมการโดยตำแหน่งอีก 17 คน
- ในส่วนหมวดบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขนั้นกำหนดให้นายกรัฐมนตรี โดยความเห็นชอบของ ครม. สามารถประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในพื้นที่ต่างๆ โดยมีกำหนดให้มีระยะเวลาได้ไม่เกิน 3 เดือนนับตั้งแต่วันประกาศ และขยายได้คราวละไม่เกิน 3 เดือน
- ส่วนบทบัญญัติในเรื่องการรับผิดนั้น มาตรา 44/11 ระบุว่า ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ คำสั่ง มาตรการ หรือการกระทำที่คณะกรรมการกำหนดหรือดำเนินการตามหมวดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข "จะไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง และโดยให้มีผลใช้บังคับตามระยะเวลาที่คณะกรรมการกำหนดเฉพาะในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข"
- และเพิ่มข้อความในมาตรา 48 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 ซึ่งระบุไว้ว่า "ในการดําเนินการของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามพระราชบัญญัตินี้ หากเกิดความเสียหายแก่บุคคลหรือทรัพย์สินของบุคคลใดจากการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคให้ทางราชการชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นให้แก่ผู้นั้นตามความจําเป็น การชดเชยความเสียหายตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง" โดยร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อให้เติมข้อความว่า "ความในวรรคหนึ่งไม่ใช่บังคับแก่กรณีที่มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข" ซึ่งเข้าใจได้ว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากมาตรการหรือนโยบายใดๆ ที่บังคับใช้ในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขนั้นรัฐไม่ต้องชดเชย
ทั้งนี้ การที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ กำหนดให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉินนั้น ในมุมมองของผู้ที่ทำงานด้านสาธารณสุขเห็นว่าไม่มีความจำเป็น เนื่องด้วยภารกิจของนายกรัฐมนตรีที่มีมากมายทำให้ไม่มีเวลามากพอที่จะลงมาแก้ปัญหาทุกเรื่องได้
นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะนะ และประธานชมรมแพทย์ชนบท มองว่า ปัญหาของ ศบค.ในช่วงที่ผ่านมาคือไม่สามารถบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ ได้ ซึ่งแม้นายกฯ จะมานั่งเป็น ผอ.ศบค. ก็ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าว แม้แต่ ศบค.ชุดเล็กอย่าง ศบค.กทม. ก็ไม่สามารถบูรณาการความร่วมมือระหว่าง กทม.กับกระทรวงสาธารณสุขได้ นายกฯ ต้องมานั่งหัวโต๊ะ เป็น ผอ.ศบค.กทม. ซึ่งการที่นายกฯ มานั่งเป็น ผอ.ศบค.ช่วยอะไรไม่ได้เพราะนายกฯ ไม่มีเวลา และปัญหาแต่ละเรื่องมีรายละเอียดมากมาย
เป็นไปไม่ได้ที่คนคนเดียวจะรู้ทุกเรื่อง แก้ปัญหาทุกอย่าง นายกฯ ทำได้แค่เซ็นอนุมัติข้อเสนอที่ฝ่ายประจำเสนอมา แต่สิ่งที่งานด้านสาธารณสุขต้องการจริงๆ คือการระดมสมอง ถกข้อมูล เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาที่แท้จริง ซึ่งตรงนี้อาจไม่ใช่บทบาทของนายกรัฐมนตรี อีกทั้งการที่ฝ่ายความมั่นคงเข้ามามีบทบาทนำใน ศบค. ในช่วงที่ผ่านมาเป็นเรื่องผิดฝาผิดตัวเช่นกัน
“ถ้าถามว่า ในภาวะวิกฤตโรคระบาดจำเป็นต้องมีฝ่ายความมั่นคงเข้ามาร่วมในการวางแผนและดำเนินการต่างๆ หรือไม่ ต้องถามกลับว่าแล้วในการทำสงครามต้องมีหมอเข้าไปร่วมวางแผนการรบ หรือร่วมปกป้องชายแดนหรือเปล่า ไม่น่าจำเป็นนะ มันไม่เกี่ยวกันเลย มันเป็นความมั่นคงด้านสุขภาพ ไม่ใช่ความมั่นคงด้านอธิปไตย คือฝ่ายความมั่นคงมาร่วมเป็นกรรมการในการแก้ไขปัญหาโรคระบาดได้อยู่แล้ว แต่ไม่ควรเข้ามาเป็นกลไกหลัก เพราะไม่มีความชำนาญ คือท่านนายกฯมีทหารเต็มไปหมดในทุกวงการเพราะท่านใช้แต่ทหาร เห็นชัดมาก ประธานและรองประธานบอร์ดรัฐวิสาหกิจเกือบทุกแห่งเป็นทหาร ประสิทธิภาพของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ไม่ค่อยเวิร์กเพราะทหารไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่มานั่งเป็นประธานเพื่อรักษาฐานอำนาจ ให้ทุกองคาพยพของประเทศถูกสอดส่อง เผื่อต้องใช้ประโยชน์” นพ.สุภัทร กล่าว
ขณะที่แหล่งข่าวในแวดวงสาธารณสุขชี้ว่า การยุบ ศบค.ครั้งนี้เพื่อลดกระแสแรงกดดันที่พุ่งตรงมาที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ผอ.ศบค. ที่รวบอำนาจการบริหารจัดการแบบเบ็ดเสร็จ แต่การแก้ไขปัญหาโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมากลับล้มเหลวไม่เป็นท่า โดยเฉพาะการบริหารจัดการวัคซีนที่ล่าช้าและเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ไม่สามารถสกัดกั้นการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ซึ่งนำไปสู่ผลกระทบต่อชีวิตประชาชนและผลกระทบด้านเศรษฐกิจอย่างรุนแรง
โดยนายกฯ ไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบเรื่องนี้ได้ เนื่องจาก "ศูนย์บริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 แบบเบ็ดเสร็จ" ที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นหลังรวบอำนาจมาจากกระทรวงสาธารณสุข มี พล.อ.ประยุทธ์ นั่งบัญชาการเช่นกัน อีกทั้งยังมี พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการโควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็น "มือขวา" ยิ่งทำให้หลายฝ่ายเคลือบแคลงว่าการนำฝ่ายความมั่นคงซึ่งไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานั้นมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือไม่
ดังนั้น เชื่อว่าการยุบ ศบค. และโอนงานต่างๆกลับคืนไปให้กระทรวงสาธารณสุข ที่ทำงานภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ น่าจะสามารถลดแรงเสียดทานลงได้ระดับหนึ่ง
“อย่างไรก็ดี การที่ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ กำหนดให้มีคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติในสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่มีนายกฯ เป็นประธาน ซึ่งแน่นอนว่าในเมื่อสถานการณ์ของโควิด-19 ยังรุนแรงอยู่ คณะกรรมการชุดนี้ต้องเข้ามารับไม้ต่อจาก ศบค. ขณะที่โครงสร้างคณะทำงานไม่ต่างจาก ศบค.เท่าไหร่ เพราะให้อำนาจนายกฯ ตั้งเลขาธิการฯ และกรรมการบางส่วนเอง ดังนั้น จึงเท่ากับเป็น ศบค.ในร่างของคณะกรรมการฯ หรือเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่นั่นเอง” แหล่งข่าว ระบุ