xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจง ศบค.ตั้งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ศบค.ก็ต้องพ้นไป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกฯ แจง ศบค.ตั้งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หากเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ศบค.ก็ต้องพ้นไป ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ กฤษฎีกากำลังดูอยู่

วันนี้ (8 ก.ย.) เวลา 12.20 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีที่มีกระแสข่าวเตรียมยุบ ศบค.หากมีกฎหมายอื่นมารองรับแทนการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 ว่า ไม่ควรใช้คำว่ายุบ และต้องอธิบายว่า ศบค.เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และตั้งชื่อเรียกว่า ศบค.แต่ขณะนี้รัฐบาลกำลังขอแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ด้านสาธารณสุขได้ โดยแยกจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2548 ที่ใช้รวมกับเหตุการณ์ฉุกเฉินหลายเรื่อง ที่เริ่มใช้กับการก่อการร้าย การก่อความไม่สงบ แต่สามารถนำไปใช้ในกรณีเกิดภัยพิบัติ โรคระบาดได้ แต่วันนี้อนุโลมไปใช้กับโรคระบาด แต่พอใช้ไปสักพักเห็นว่าไม่ค่อยตรง จึงคิดว่าควรแก้กฎหมายโรคติดต่อ เพื่อรองรับเวลามีโรคระบาด เกิดสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ที่ต้องมีมาตรการต่างจากด้านอื่น ทั้งนี้ อย่าไปคิดว่าเรื่องยุบ ศบค.เป็นเรื่องใหญ่ จะต้องยุบหรือไม่ยุบ เพราะไม่ใช่ว่ายุบไปแล้วจะไม่มีอะไรเกิดขึ้น อาจจะมีใหญ่กว่า ศบค.ด้วยก็ได้

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า หากประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข และมีผลบังคับใช้ได้ ก็ไม่ต้องใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อไม่ใช้ ศบค.ก็ไม่มีความจำเป็น แต่อาจจะเปิด “ศ”(ศูนย์) ใหม่ขึ้นมาตามกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข โดยสรุปศบค.เกิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เมื่อหยุดประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ศบค.ต้องเลิก ส่วน นายกรัฐมนตรี หรือใครจะนั่งเป็นประธานก็แล้วแต่ ทั้งนี้ ศบค.ที่แปลงสภาพ ยังทำงานต่อได้เพราะในบทเฉพาะกาลเขียนว่าในระหว่างที่ยังไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอะไร คำสั่งเก่าก็ยังใช้อยู่ไม่สะดุด ในระหว่างที่รอ พ.ร.บ.โรคติดต่อฉบับใหม่ออกมา และต้องเข้าใจว่า ไม่ใช่การยกเลิก พ.ร.ก.แต่ยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ร.ก.คือ ตัวกฎหมาย ถ้าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นให้ครม.ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินได้ ถ้าไม่ประกาศตัว พ.ร.ก.ยังอยู่

เมื่อถามว่า จะนำเรื่องนี้หารือในการประชุม ศบค.ใหญ่วันที่ 10 ก.ย.นี้ เลยหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี เป็นการประชุมทั่วไป พิจารณาเพิ่มมาตรการให้เข้มขึ้นหรือเบาลง หรือจะผ่อนคลายอะไรบ้าง ส่วนความคืบหน้าการแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ จะต้องเร่งดำเนินการเพื่อเสนอสภาประกาศใช้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา กำลังดูอยู่ ถ้าเสนอเข้าสภาฯจะเสนอเป็นกฎหมายปฏิรูปก็จะทำได้เลย โดยทั้ง 2 สภา พิจารณาพร้อมกัน และวันที่ 1 พ.ย.สภาก็เปิดแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น