xs
xsm
sm
md
lg

นักรัฐศาสตร์ชี้ “RT Movement” แค่ยุทธศาสตร์ดึงมวลชนของ “คณะราษฎร”

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สัญลักษณ์การเคลื่อนไหวตามแนวทาง RT Movement ของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าคล้ายกับค้อน-เคียวซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ พรรคคอมมิวนิสต์
“รศ.ดร.ยุทธพร” ชี้การประกาศแนวทาง “RT Movement” ของคณะราษฎร แค่เปิดประเด็นใหม่เพื่อดึงความสนใจ หลังจำนวนมวลชนลด ด้าน “ดร.ปณิธาน” เชื่อแนวคิดที่ม็อบเสนอ ไม่ใช่คอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิม แต่เป็นแนวทางผสมผสานเช่นเดียวกับที่มีการเคลื่อนไหวในหลายประเทศ ระบุ การชูประเด็น “กดขี่แรงงาน” ไม่สามารถเรียกแขก นักรัฐศาสตร์ฟันธง เป็นไปไม่ได้ที่ม็อบไม่มีแกนนำ

สร้างความงงงวยให้สังคมไม่น้อย เมื่ออยู่ๆม็อบที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่าง "ม็อบคณะราษฎร" ที่นำโดย “กลุ่มเยาวชนปลดแอก” และ “กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ก็ลุกขึ้นมาประกาศจะขับเคลื่อนในแนวทาง RT Movement หรือ Restart Thailand Movement โดยชูประเด็นว่าทุกคนคือ "แรงงานที่ถูกกดขี่" และเรียกร้องให้ "ทุกคนเท่ากัน" ที่สำคัญการใช้สัญลักษณ์ซึ่งคล้ายค้อน-เคียว และข้อความที่สื่อออกมา ไม่ว่าเป็นจะคำว่า “สหาย” หรือการเปิดประเด็นเรื่อง "สาธารณรัฐ" ล้วนชวนให้นึกถึงแนวทางของคอมมิวนิสต์ ซึ่งสวนทางกับข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยที่รณรงค์มาตั้งแต่ต้น ส่งผลให้เกิดปรากฏการณ์ “เสียงแตก” ในแนวร่วมคณะราษฎร โดยมีแนวร่วมจำนวนไม่นอยที่ไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ทำให้หลายฝ่ายต่างตั้งคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับม็อบคณะราษฎร!!

นอกจากนั้น การที่ม็อบประกาศจะจัดการชุมนุมที่ไม่มีแกนนำ ไม่ตั้งเวที ไม่มีการ์ด ไม่มีการเจรจาต่อรอง ก็ทำให้หลายฝ่ายสงสัยว่าจะทำได้จริงหรือไม่?

รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มองว่า การประกาศแนวทาง RT Movement ของคณะราษฎรนั้นเป็นเรื่องของยุทธศาสตร์ในการหล่อเลี้ยงมวลชน เนื่องจากตอนนี้ผู้ชุมนุมลดลงเพราะโดยธรรมชาติของม็อบหากการเคลื่อนไหวไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงคนจะมาร่วมชุมนุมน้อยลง ซึ่งที่ผ่านมา ประเด็นข้อเรียกร้องต่างๆ ไม่มีความคืบหน้า ดังนั้น ถ้าไม่มีการขยับประเด็นเลย ผู้ชุมนุมจะรู้สึกเหมือนการชุมนุมย่ำอยู่กับที่ ซึ่งจะทำให้มวลชนลดน้อยลงอีก แต่การประกาศแนวทางนี้ก็มีทั้งคนที่เห็นว่าแนวทางของคณะราษฎรเปลี่ยนไป และคนที่มองว่าเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรอยู่แล้วคือพูดเรื่องความเสมอภาค อย่างไรก็ดี หากการขับเคลื่อนครั้งนี้ไม่ได้นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลง มวลชนก็จะลดลงไปอีก

“ที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์ในการชุมนุมของคณะราษฎรไม่ได้ทำเพื่อให้รัฐทำงานไม่ได้ แต่เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อสร้างแนวร่วม ซึ่งแนวร่วมคณะราษฎรมี 2 ส่วน คือ ม็อบที่ออกมาร่วมชุมนุมตามท้องถนน และม็อบที่อยู่ในโลกออนไลน์ ซึ่งต้องยอมรับว่าตอนนี้มวลชนที่ออกมาชุมนุมลดลง แต่ในโซเชียลไม่ลด อย่างไรก็ดี แนวคิดการรีสตาร์ทประเทศไทยเป็นเรื่องในเชิงอุดมการณ์ ซึ่งแนวคิดนี้ กปปส.ก็เคยประกาศ โดยใช้คำว่าชัตดาวน์ประเทศ แต่ในความเป็นจริงจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใดก็อยู่ที่พลังของผู้ชุมนุม” รศ.ดร.ยุทธพร ระบุ

รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ขณะที่ รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เชื่อว่า แนวทางที่คณะราษฎรประกาศนั้นเป็นแนวทางคอมมิวนิสต์ แต่ไม่ใช่คอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิมแบบที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เนื่องจาก

1) ปัจจุบันแนวคิดการทำให้ทุกคนเท่าเทียมแบบระบอบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิม ซึ่งประชาชนไม่สามารถถือทรัพย์สินได้ และไม่มีการลงทุนแบบทุนนิยมนั้น ได้มีบทพิสูจน์แล้วว่าล้มเหลว เนื่องจากไม่มีแรงจูงใจในการผลิต เพราะผลิตได้เท่าไหร่ก็ให้รัฐหมด ประเทศจึงไม่พัฒนา ขณะที่แนวคิดเรื่องความเสมอภาคเท่าเทียมก็ไม่สามารถทำได้จริงเพราะระบอบคอมมิวนิสต์ยังมีชนชั้นปกครองที่ผูกขาดอำนาจ ซึ่งปัจจุบันทั้งสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือสังคมนิยมเวียดนาม ที่เคยปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ล้วนเปลี่ยนเป็นการปกครองแบบผสมผสาน บ้างก็เป็นเผด็จการประชาธิปไตย บ้างก็เป็นสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ และแต่ละประเทศล้วนเป็นแบบกึ่งทุนนิยม โดยมีการลงทุนของภาคเอกชน มีเพียงสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี หรือเกาหลีเหนือประเทศเดียวเท่านั้นที่ยังเป็นคอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิม

2) แนวคิดคอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิมนั้นเป็นประเด็นที่มีการศึกษาและถูกบ่มเพาะในรั้วมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งมานานแล้ว มีการศึกษาแนวคิดแบบมาร์กซิสต์ซึ่งวิพากษ์ทุนนิยมว่ามีลักษณะขูดรีด แรงงานถูกกดขี่ กลุ่มคณะราษฎรซึ่งมีนักศึกษาเป็นแกนนำก็ได้รับแนวคิดนี้มาเช่นกัน ประกอบกับปัจจุบันพวกเขาเห็นว่าประเทศไทยมีลักษณะของทุนนิยมแบบผูกขาดซึ่งทำให้เกิดความเหลี่อมล้ำในสังคม จึงเรียกร้องให้เกิดความเปลี่ยนแปลงเพื่อความเสมอภาค

3) เมื่อประเทศมีระบบทุนนิยมแบบผูกขาด แต่ระบบคอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิมก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงเกิดแนวทางแบบผสมผสานระหว่างระบอบคอมมิวนิสต์กับการปกครองรูปแบบอื่นที่ตอบสนองความต้องการของภาคประชาชน ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าแนวทางที่คณะราษฎรเสนอนั้นมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบเป็นคอมมิวนิสต์กึ่งทุนนิยมแบบเปิด ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้คนมากกว่า

“ผมมองว่าแนวทางการเคลื่อนไหวของคณะราษฎรตอนนี้เป็นลักษณะเดียวกับที่มีการเคลื่อนไหวในหลายประเทศที่มีการปกครองแบบเผด็จการขวาจัด เช่น ในละตินอเมริกา ซึ่งมีผู้หยิบยกแนวทางของระบอบคอมมิวนิสต์ขึ้นมาเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านเผด็จการขวาสุดโต่ง มีการชูประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำโดยเฉพาะในภาคแรงงาน ซึ่งสหภาพถูกครอบงำจากระบบทุน

อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริงแล้วระบอบคอมมิวนิสต์ซึ่งเป็นซ้ายสุดโต่งก็มีลักษณะเป็นเผด็จการเช่นกัน ดังนั้น หนุ่มสาวในหลายประเทศจึงนำแนวคิดแบบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิมผสมระบบรัฐสวัสดิการมาใช้ในการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ซึ่งกลุ่มคณะราษฎรก็มีลักษณะแบบนี้เช่นกัน อย่างไรก็ดี ขณะนี้คณะราษฎรยังไม่ได้อธิบายขยายความว่าแนวคิดของเขามีรายละเอียดอย่างไร จึงต้องรอฟังพวกเขาก่อน” รศ.ดร.ปณิธาน ระบุ

โปสเตอร์โปรโมตการเสวนาของ รุ้ง - ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และเพนกวิน - พริษฐ์  ชิวารักษ์
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.ปณิธาน มองว่า การที่คณะราษฎรหยิบประเด็นเรื่องแรงงานถูกกดขี่ขึ้นมาเป็นประเด็นหลักเพื่อใช้ในการระดมมวลชนนั้นอาจไม่ตอบโจทย์เท่าไหร่นัก เนื่องจากปัจจุบันปัญหาแรงงานไทยส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากการกดขี่แรงงาน แต่มีหลายปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเรื่องทักษะแรงงาน การแข่งขันเรื่องค่าแรง รวมถึงผลกระทบจากโควิด-19 อีกทั้งยังมีกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่ช่วยรักษาสิทธิประโยชน์ให้แก่แรงงานไทยด้วย ดังนั้นประเด็นเรื่องการถูกกดขี่แรงงานจึงอาจไม่มีน้ำหนักพอที่จะทำให้เกิดความรู้สึกร่วม

ส่วนแนวทางการชุมนุมที่ประกาศว่าจะไม่มีแกนนำ และไม่มีการเจรจาต่อรองนั้น รศ.ดร.ยุทธพร มองว่า เป็นไปได้ยาก เนื่องจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองต้องมีเรื่องของการกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางการชุมนุม ซึ่งตรงนี้เป็นหน้าที่ของแกนนำ
อีกทั้งสถานการณ์ตอนนี้ก็ยังไม่สุกงอมถึงขั้นที่ประชาชนต่างลุกขึ้นมาเรียกร้องพร้อมๆ กัน

ขณะที่ รศ.ดร.ปณิธาน ชี้ว่า ที่ผ่านมาแนวคิดการชุมนุมแบบไม่มีการนำเกิดขึ้นในการเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง หรือบางประเทศในยุโรป แต่ไม่ใช่ไม่มีแกนนำโดยสิ้นเชิง เพราะหากเป็นเช่นนั้นการชุมนุนจะขับเคลื่อนไปไม่ได้ อย่างการชุมนุมที่ฮ่องกงก็มี โจชัว หว่อง เป็นแกนนำ สำหรับแนวทางการชุมนุมแบบไม่มีแกนนำของม็อบคณะราษฎรนั้นอาจใช้วิธีนัดหมายกันผ่านโซเชียล เมื่อลงมาชุมนุมบนท้องถนนอาจไม่มีแกนนำขึ้นเวที แต่ยังไงก็ต้องมีแกนนำในการกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน ซึ่งรูปแบบการชุมนุมอาจจะเปลี่ยนไป หรือแตกต่างจากการชุมนุมที่ผ่านมา เช่น มีประเด็นหลากหลายในการขับเคลื่อน เช่น สิ่งแวดล้อม การศึกษา มีการชุมนุมกลุ่มย่อย ใครสนใจประเด็นไหนก็ไปชุมนุมจุดนั้น ซึ่งหากจัดการชุมนุมในลักษณะนี้ได้ก็จะทำให้การชุมนุมมีความน่าสนใจมากขึ้น




กำลังโหลดความคิดเห็น