xs
xsm
sm
md
lg

หนุนม็อบไม่ใช่มีแค่ธนาธร-ทักษิณ ร่วมวงเปิดทาง รพ.พระราม 9

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คลี่ปมทีมหนุนยืนหลังม็อบคณะราษฎร 2563 ไม่ได้มีแค่คณะก้าวหน้าอย่างธนาธร-ปิยบุตร-พรรณิการ์ เริ่มเห็นความชัดเจนของเพื่อไทยตามลำดับ ชัดสุดรับ 3 แกนนำม็อบรักษาตัวในโรงพยาบาลพระราม 9 ที่มีคุณหญิงอ้อ ถือหุ้นใหญ่ คาดงานนี้ต้องระดับนายใหญ่สั่ง เพิ่มบทบาทต่อรองกับคดีตัวเองและน้องสาวอีก 2 คน ส่วน “กฤษฎางค์ นุตจรัส” ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อดีต 6 ตุลา รับงานทั้งแกนนำก้าวหน้า และผู้ชุมนุม

การชุมนุมของคนรุ่นใหม่ กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่อายุยังไม่มากนัก และครั้งนี้มีเยาวชนเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก ยื่นข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แม้แกนนำที่ออกมาเรียกร้องจะถูกจับกุมดำเนินคดีไปหลายราย แต่ฝ่ายผู้ชุมนุมปรับสถานการณ์ให้ทุกคนเป็นแกนนำ

แต่หากมองในเรื่องยุทธศาสตร์การชุมนุมแล้ว ทั้งการกำหนดทิศทาง เนื้อหา การขับเคลื่อนไปยังสถานที่ต่างๆ ไปจนถึงคำแถลงการณ์ล้วนแล้วแต่มีการจัดเตรียมมาเป็นอย่างดี บางถ้อยคำสามารถดิ้นได้ในทางกฎหมาย ทุกฝ่ายต่างเห็นตรงกันว่าม็อบชุดนี้มีกลุ่มบุคคลที่ให้การสนับสนุนอยู่หลายกลุ่ม

เพียงแต่ไม่ออกหน้ามาอย่างชัดเจน โดยเป็นการผสมผสานกันระหว่างวิธีการของคนรุ่นใหม่ที่ถนัดผสมผสานกับการให้ทิศทางที่กุนซือคอยกำกับ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งเมื่อ 24 มีนาคม 2563 คนรุ่นใหม่ต่างเลือกพรรคอนาคตใหม่เข้ามาจนมีเสียงมากพอที่จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล เพียงแต่ไม่สามารถรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาล ดังนั้น จึงอยู่ในสถานะของพรรคฝ่ายค้านร่วมกับพรรคเพื่อไทย

สำหรับนักการเมืองที่มีแนวคิดสนับสนุนการชุมนุมในครั้งนี้ เห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีอดีต 3 แกนนำของพรรคก้าวไกล ในนามคณะก้าวหน้าอย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ นายปิยบุตร แสงกนกกุล และ น.ส.พรรณิการ์ วานิช เข้ามาร่วมกิจกรรมการชุมนุมด้วยในหลายครั้ง หลายเหตุการณ์ รวมถึงการเข้าไปให้ความช่วยเหลือทางด้านกฎหมายกับแกนนำที่ถูกดำเนินคดี

มีการใช้ประโยชน์จากการชุมนุมสนับสนุนแนวทางของตนเอง พร้อมกับการโจมตีรัฐบาล โดยเฉพาะท่าทีต่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่เดินคู่ไปกับแนวทางของผู้ชุมนุม


เพื่อไทยชิมลาง-หญิงหน่อยพ้น ป.ยุทธศาสตร์

ขณะที่พรรคฝ่ายค้านอันดับ 1 อย่างพรรคเพื่อไทย ในระยะแรกดูเหมือนจะเลือกจุดยืนของการสนับสนุนการชุมนุมในแนวหลังของคณะก้าวไกล แม้ช่วงเริ่มต้นแกนนำผู้ชุมนุมจะประสานไปยังผู้ใหญ่บางคนในพรรคเพื่อไทย แต่ด้วยเงื่อนไขบางประการทำให้ โดยเฉพาะข้อเรียกร้องข้อที่ 3 ทำให้เพื่อไทยไม่กล้าออกตัวกับสถานการณ์เช่นนี้

แต่เมื่อม็อบจุดติดมีมวลชนเข้ามาร่วมเป็นจำนวนมาก ท่าทีของพรรคเพื่อไทยก็เริ่มโดดเข้ามาในฝ่ายของผู้ชุมนุม มีการตั้งเต็นท์คณะทำงานคณะกรรมาธิการการปกครอง สภาผู้แทนราษฎร สังเกตุการณ์ชุมนุม ระหว่าง 16-19 กันยายน 2563 โดยมีนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะทำงานติดตามการชุมนุมกลุ่มนักเรียน นักศึกษาและประชาชน พร้อมทั้งระบุว่า 

เนื่องจากในปัจจุบันมีการชุมนุมของกลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน ซึ่งเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย และเป็นหน้าที่ของรัฐในการดูแลคุ้มครองความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนที่เข้าร่วมการชุมนุม รวมไปถึงพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม

เสมือนเป็นการเริ่มต้นหยั่งทิศทางของการชุมนุม แต่ท่าทีของเพื่อไทยต้องชะงักไปเมื่อเกิดปรากฏการณ์ของคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ เมื่อ 24 กันยายน 2563 ส่งให้คนเสื้อแดงบางกลุ่มออกมาประกาศว่าจะไม่เคลื่อนไหวร่วมกับม็อบของคณะราษฎร 2563 ทั้งๆ ที่ช่วงเริ่มต้นของการชุมนุมรอบนี้ มีกลุ่มคนเสื้อแดงจากต่างจังหวัดเข้ามาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก

แต่ในวันรุ่งขึ้น 25 กันยายน 2563 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊ก
คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ Sudarat Keyuraphan โดยเนื้อหาระบุว่า “เรียนพี่น้องประชาชนที่เคารพ วันนี้ดิฉันได้ขอลาออกจากประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทยแล้ว” ส่งผลให้ทีมงานสายของคุณหญิงสุดารัตน์ ลาออกจากคณะทำงาน

รวมไปถึงนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรค จากนั้นมีการเลือกตั้งใหม่ได้นายสมพงษ์ กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคอีกครั้ง 1 ตุลาคม 2563

ส.ส.เพื่อไทยโชว์

ระหว่างที่คุณหญิงสุดารัตน์ ลาออกจากประธานยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้สร้างวีรกรรมกรีดแขนตนเองระหว่าง ระหว่างอภิปรายเพื่อเสนอความเห็นต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาสมัยวิสามัญ เมื่อ 27 ตุลาคม 2563

ในวันเดียวกัน นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความ 27 ตุลาคม 2563 จี้ บิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ อดีตนักแสดงรุ่นใหญ่และนักสังคมสงเคราะห์ ออกมาแสดงรายละเอียดบัญชีเงินบริจาคน้ำท่วม โดยอ้างว่ามีประชาชนต้องการให้แสดงเพื่อความสบายใจของผู้บริจาค ซึ่งเหตุการณ์รับบริจาคน้ำท่วมเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม 2561

หลังจากที่นายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ นักสังคมสงเคราะห์และดารานักแสดงคนดัง ได้ออกไลฟ์สดประกาศลาออกจาก “มูลนิธิร่วมกตัญญู” แสดงจุดยืนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และนัดแนะประชาชนที่มีความรักและศรัทธาต่อสถาบันฯ ออกมารวมพลังสวมเสื้อเหลือง-ชมพู ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 ณ บริเวณวัดพระแก้ว

โดยนายบิณฑ์ บรรลือฤทธิ์ ได้แถลงใช้ 422 ล้านบาท เพื่อช่วยน้ำท่วมไปหมดแล้ว และทำด้วยความโปร่งใส

นับเป็นการแสดงออกถึงท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อกลุ่มผู้ชุมนุมในทิศทางที่ชัดเจนมากขึ้นทุกขณะ ย้อนแย้งกับท่าทีของคุณหญิงพจมาน อดีตภรรยาของทักษิณ ชินวัตร ในช่วงที่ผ่านมา 


รพ.ตระกูลชินรับ 3 แกนนำต้านสถาบันฯ

แต่เหตุการณ์ในช่วงเช้ามืดของวันที่ 31 ตุลาคม 2563 แกนนำของการชุมนุม 3 ราย ประกอบด้วย นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือเพนกวิน นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือรุ้ง แกนนำผู้ชุมนุมในนาม “คณะราษฎร 2563” ที่เข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลพระราม 9

หลังจากที่หลังจากทั้ง 3 คนถูกปล่อยตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และถูกตำรวจ สถานีตำรวจนครบาลประชาชื่น อายัดตัวไปดำเนินคดีต่อ จนมีมวลชนจำนวนหนึ่งเข้ามาปิดล้อมรถคุมผู้ต้องหามีการทุบกระจกจนเกิดเหตุชุลมุนในช่วงดึกคืนวันที่ 30 ตุลาคม ต่อเนื่องถึงเช้ามืดวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ซึ่งทั้ง 3 คนมีอาการป่วย

เป็นที่ทราบกันดีว่า โรงพยาบาลพระราม 9 เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 คือ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ ถือหุ้นจำนวน 292.06 ล้านหุ้น คิดเป็น 37.14% เป็นอีกธุรกิจหนึ่งของตระกูลชินวัตร

นี่จึงกลายเป็นจุดถูกจับตามองเป็นอย่างมาก ถึงท่าทีของคุณหญิงพจมาน ที่กิจกรรมก่อนหน้านี้เสมือนเป็นการส่งสัญญาณบางประการต่อสถาบันฯ แต่เมื่อโรงพยาบาลพระราม 9 รับแกนนำ 3 รายที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ เข้ารักษาตัว จึงเหมือนย้อนแย้งกับท่าทีเดิม

ขณะที่ฝ่ายบริหารของโรงพยาบาลพระราม 9 แถลงว่า เป็นการประสานมาจากนายแพทย์ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.เพื่อไทย ที่เป็นคนไข้ประจำของทางโรงพยาบาล ซึ่งที่ผ่านมา น.พ.ทศพร เข้ามามีส่วนร่วมกับการชุมนุมตลอด

งานนี้ต้อง "นายใหญ่" สั่ง

อดีตคนพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นที่รู้กันดีว่าโรงพยาบาลพระราม 9 คนในพรรคเพื่อไทยไปใช้บริการที่เป็นประจำ รวมถึงกลุ่มคนเสื้อแดงที่บาดเจ็บในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 แกนนำเสื้อแดงบางคนก็เข้ารักษาตัวที่นี่เช่นกัน

ลำพังเพียงหมอทศพร คงไม่สามารถพาน้องๆ ทั้ง 3 คนเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลพระราม 9 ได้ ทั้งๆ ที่แถวประชาชื่นก็มีโรงพยาบาลเอกชนอยู่ใกล้ๆ การมาที่พระราม 9 หนึ่งคือค่าใช้จ่ายสูง สองต้องมีคนที่สูงกว่าหมอทศพร ในพรรคเพื่อไทยเคลียร์ทางให้ สามภาพที่ออกมาย่อมไม่ดีต่อคุณหญิงพจมาน

การที่สามารถฝ่าข้อจำกัดต่างๆ ได้ ย่อมต้องมีคนเคลียร์และเปิดไฟเขียวให้น้องๆ ทั้ง 3 คน แน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นเป็นเรื่องของคนในครอบครัวของผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องเคลียร์กันเอง แน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นนายใหญ่ของพรรคเพื่อไทยคือ ทักษิณ ชินวัตร

ไม่ว่าคนในพรรคเพื่อไทยจะใหญ่ขนาดไหน คงไม่กล้าดำเนินการโดยพลการกับกิจการของคุณหญิง หากไม่ได้รับอนุญาตจากนายใหญ่ เพราะกรณีนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน งานนี้นายใหญ่กับคุณหญิงคงต้องเคลียร์กันเอง

“อย่าลืมว่าคุณทักษิณยังมีอีกหลายคดีของตัวเองที่คาอยู่ และยังมีคดีของน้องสาวอีก 2 คน การแสดงบทบาทต่อเหตุการณ์เหล่านี้จึงมีผลต่อการต่อรองคดีที่ค้างอยู่ โดยใช้พรรคเพื่อเป็นตัวเดินหมาก

จะเห็นได้ว่าท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อการชุมนุมเริ่มชัดมากขึ้นทุกขณะ ไม่ได้ปล่อยให้ทีมของก้าวหน้า หรือพรรคก้าวไกลชิงความฐานมวลชนเพียงฝ่ายเดียว เพราะฐานของคนรุ่นใหม่ย่อมมีผลต่อการเลือกตั้งในครั้งต่อไปอยู่ไม่น้อย เพิ่มเติมจากฐานคนเสื้อแดงที่อาจจะลดลงไปบ้างในระยะยาว

ถ้ามองข้ามช็อตไป ในอนาคตหากแกนนำของคณะก้าวหน้าต้องมีอุบัติเหตุในทางการเมืองจากการถูกดำเนินคดี ไม่สามารถทำการเมืองได้เหมือนก่อน ฐานคนรุ่นใหม่เหล่านี้ย่อมต้องย้ายมาซบกับทางเพื่อไทย


ทนายรับงานคณะก้าวหน้า-ผู้ชุมนุม

ตัวละครที่น่าสนใจอีกรายนั่นคือ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งทีมทนายความแห่งนี้ได้ให้ความช่วยเหลือแกนนำผู้ชุมนุมที่ถูกดำเนินคดีมาโดยตลอด และหนึ่งในแกนนำของคณะราษฎร์ นายอานนท์ นำภา ก็เป็นทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

นอกจากนี้ นายกฤษฎางค์ นุตจรัส ยังเป็นทนายความให้แก่แกนนำของคณะก้าวหน้า ทั้งธนาธร ปิยะบุตร และพรรณิกา มาก่อนหน้านี้ อีกทั้งยังเป็นแกนนำนักศึกษายุค 6 ตุลาคม 2519 ที่เพื่อนๆ ในยุคนั้นต่างเป็นใหญ่เป็นโตในทางการเมืองแทบทั้งสิ้นและหลายคนก็อยู่ในพรรคเพื่อไทย

ตอนนี้เสมือนเป็นการประสานความร่วมมือกันของทั้งก้าวหน้าและเพื่อไทย เนื่องจากมีเป้าหมายร่วมกันนั่นคือการกำจัดรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ ให้พ้นทางไปก่อน ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องที่ค่อยมาพูดคุยกันในภายหลัง

ในส่วนของเพื่อไทยอาจมีอดีตกับคณะนายทหารเพราะทั้งถูกยึดอำนาจ 2 ครั้ง ถูกยุบพรรค แน่นอนว่าสายเพื่อไทยจึงไม่ชอบรัฐบาลแบบนี้เป็นทุนเดิม การออกตัวครั้งนี้จึงเป็นการแสดงสถานะและสร้างฐานการต่อรองบางประการ ส่วนอนาคตใหม่ ก้าวหน้า ก้าวไกล เป็นเรื่องของอุดมการณ์ แกนนำมาจากฐานที่มีความคิดด้านลบต่อสถาบันฯ เพียงแต่ประดิษฐ์คำพูดให้ออกมาว่าเป็นการปฏิรูปสถาบันฯ

ดังนั้น ม็อบในครั้งนี้จะบอกว่าไม่มีแกนนำก็ไม่เชิง เพียงแต่เป็นการออกแบบมาโดยให้น้องๆ คนรุ่นใหม่เป็นคนนำการชุมนุม ส่วนการกำหนดทิศทางหรือยุทธศาสตร์ต่างๆ มีกลุ่มคนให้คำแนะนำอยู่เบื้องหลัง โดยเฉพาะสหายเก่าของคนเดือนตุลาคม








กำลังโหลดความคิดเห็น